เป็นเหี้ยอะไร? รวมชนิดของน้องเหี้ยที่พบในไทย ควรรู้ไว้จำแนกประเภท
เหี้ย มีศัพทมูลวิทยาโดยใช้คำว่า Varanidae หรือ Varanus โดยน้องเป็น สัตว์เลื้อยคลานที่มีวิวัฒนาการของตัวเองมาแล้วนานกว่า 300 ล้านปี เป็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นสัตว์กินซากที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ เพราะเป็นผู้ขจัดซากของสัตว์ที่ล้มตายไปแล้ว
โดยน้องเหี้ย มีรูปร่างโดยรวม จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายกับจระเข้ มีโคนหางที่แข็งแรง และหางยาว ซึ่งใช้ฟาดเป็นอาวุธเพื่อป้องกันตัว ลิ้นยาวมี 2 แฉก ซึ่งมักจะแลบออกมาบ่อย ๆ เพื่อเป็นประสาทสัมผัสเช่นเดียวกับงู ขาทั้ง 4 มีเล็บที่แหลมคมใช้สำหรับขุดหลุมเพื่อวางไข่ ปีนต้นไม้ และป้องกันตัว เกล็ดมีลักษณะเป็นตุ่มนูนออกมาเห็นได้ชัดเจน มีสีสันและลวดลายต่างออกไปในแต่ละชนิด เป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้หลากหลาย ทั้งทะเลทราย, ป่าดิบ หรือแม้แต่กระทั่งชุมชนเมืองใหญ่ของมนุษย์ นอกจากนี้แล้วยังว่ายน้ำได้เก่ง ดำน้ำได้ดี และในบางชนิดยังชอบที่จะอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทยส่วนใหญ่พบอยู่ 6 สายพันธุ์ โดยแต่ละชนิดที่พบแม้ไม่มีพิษโดยตรง แต่ในน้ำลายมีการสะสมของแบคทีเรีย ดังนั้นหากโดนกัดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลได้ มีดังนี้
เหี้ย / มังกรดอก / ตัวเงินตัวทอง
Water Monitor ; Varanus salvator ถือเป็นรุ่นใหญ่ของตระกูล Varanus ที่พบในประเทศไทย เพราะตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่น ชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำพบได้ทั่วทุกภาคในเมืองไทย โดยสามารถปีนต้นไม้ได้และกินซากเป็นอาหาร ลำตัวสีดำ แต่มีลายดอกสีขาว หรือ เหลืองอ่อน พาดขวางลำตัว หางมีสีดำ หรือ ลายปล้องดำสลับเหลืองอ่อน บางตัวมีจุดแดงเล็กๆ ที่หาง
เห่าช้าง
Roughneck monitor lizard ; Varanus rudicollis มีขนาดรองลงมาจากเหี้ย สีผิวและหางสีดำสนิท มีลายสีจางๆ เป็นปื้น หรือ ปล้องตามลำตัว หัวมีสีเทาคล้ำ มีเกล็ดตะปุ่มตะป่ำบริเวณคอ เห่าช้างถือเป็นสัตว์ที่หาตัวได้ยาก ส่วนใหญ่อาศัยตามป่าทึบทางภาคใต้และภาคตะวันตก ถือเป็น Varanus ที่ดุมาก โดยเมื่อตกใจ หรือ จวนตัวจะมีอาการพองคอขู่ฟ่อๆ ทำให้เรียกกันว่า “เห่าช้าง”
ตะกวด
Bengal monitor ; Varanus bengalensis ชอบอาศัยอยู่บนที่แห้งและบนต้นไม้ เพราะปีนต้นไม้เก่ง แต่ชอบอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ สามารถพบได้ทุกภาคทั่วไทย ลำตัวเป็นสีพื้นเหลืองอ่อน เหลืองหม่น สีน้ำตาล ไม่มีลวดลายเหมือนเหี้ย ส่วนหัวมักมีสีอ่อนกว่าตัว มีหางเรียวยาวเป็นพิเศษ วิธีสังเกตเพื่อแยกระหว่างเหี้ย กับ ตะกวดแบบง่ายๆ คือ “เหี้ย จมูกอยู่ใกล้ปลายปาก ชอบอยู่ในน้ำ – ตะกวด จมูกอยู่ใกล้ตา ชอบอยู่บนต้นไม้”
เหี้ยดำ หรือ มังกรดำ
Black water monitor, Black dragon ; Varanus salvator komaini คล้ายเหี้ยแต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวสีดำด้านทั้งตัว ท้องสีเทาเข้ม ลิ้นสีเทาม่วง มักพบทางภาคใต้ ชายทะเลและเกาะเล็กๆ
แลนดอน
Yellow monitor ; Varanus flavescens คล้ายตะกวด แต่หัวมีสีเหลืองสด หรือ สีส้ม ชอบอยู่บนที่ดอน ทำให้ถูกเรียกว่าแลนดอน มักพบตามพื้นที่ชายแดนที่ติดกับพม่า
ตุ๊ดตู่
Red-headed Monitor (Harlequin Monitor) ; Varanus dumerilii มีขนาดเล็กที่สุดแต่ก็มีสีสันลวดลายสวยงามสุดในตระกูล Varanus บ้านเรา ทำให้ถูกลักลอบจับอยู่บ่อยครั้ง ลำตัวของตุ๊ดตู่จะมีสีน้ำตาลเทา มีลายเป็นปล้องเป็นวงแหวนสีอ่อน หัวมีสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน ข้างใต้คอมีสีอ่อนจนเกือบขาว พบอาศัยอยู่ทางภาคใต้เป็นหลัก