คุยกับญาติผู้ใหญ่อย่างไรไม่ให้ทะเลาะกันจนบ้านแตก
หลายคนรู้ดี (เพราะเคยเผชิญปัญหานี้มาด้วยตัวเอง) ว่าการที่ผู้น้อยอย่างเรา ๆ จะพูดให้ความรู้ สร้างความเข้าใจใหม่ หรือชี้แจงข้อมูลที่เชื่อกันมาผิด ๆ จากการบอกเล่าหรือแชร์กันต่อ ๆ มาให้กับญาติผู้ใหญ่เนี่ย มันเป็นเรื่องที่ยากเสียเหลือเกิน บางทีไม่เชื่ออย่างเดียวไม่พอ แต่ไม่แม้แต่จะเปิดใจฟังด้วย ซึ่งบางเรื่องมันก็เป็นเรื่องใหญ่ที่พวกเขาจำเป็นต้องรู้ข้อเท็จจริง จะได้ไม่ปฏิบัติแบบผิด ๆ หรือมีแนวโน้มว่าจะอันตราย แต่เพราะเราเป็นเด็กนี่แหละ พวกเขาเลยไม่ยอมฟังยอมเชื่อ
ถ้าหากการพยายามจะคุยกับญาติผู้ใหญ่ในบ้านเป็นเรื่องยากทุกที แค่คิดว่าต้องพูดก็เสียสุขภาพจิตจะแย่แล้ว งั้นลองมาดูทริกเหล่านี้หน่อยไหม ว่าจะสามารถนำไปปรับใช้เพื่อพูดสร้างความเข้าใจระหว่างเราและผู้ใหญ่อย่างไร ก่อนที่จะเถียงกันไปมาจนน้ำตาร่วงแล้วบ้านแตกกันไปข้าง
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีก่อน
สังเกตไหมว่าครอบครัวที่สมาชิกในบ้านมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไร ใครเอ่ยปากพูดอะไรมา มีโอกาสน้อยมากที่จะเชื่อจะฟัง พูดกันได้ดี ๆ ไม่กี่คำก็ทะเลาะกันซะแล้ว เวลาทะเลาะกันก็เสียงดังสามบ้านแปดบ้าน เถียงกันจนบ้านแตกนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องหันมาให้ความสำคัญ สำหรับครอบครัวที่ไม่ได้มีเรื่องบาดหมางรุนแรงมาก่อน ก็พอจะเริ่มต้นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ขึ้นมาได้ง่ายกว่า ผลัดกันฟังผลัดกันพูด ผลัดกันนำผลัดกันตาม ก็พอจะช่วยให้พวกเขาเปิดใจมองเราในแง่ดีขึ้นมาบ้าง อาจจะยังไม่เชื่อ แต่อย่างน้อยยอมฟังก็ยังดี
สร้างความน่าเชื่อถือ
การที่เราจะเปิดใจรับฟังใครสักคน ก็แปลว่าเราต้องเชื่อถือเขาในระดับหนึ่งแล้วว่าคำชี้แนะของพวกเขาสามารถเชื่อได้ ส่วนจะเชื่อจริง ๆ ไหมก็อยู่ที่วิจารณญาณ ดังนั้น จะพูดอะไรให้ญาติผู้ใหญ่ฟังก็ต้องดูเป็นคนน่าเชื่อถือก่อน พูดอะไรรักษาคำพูด ไม่รู้ก็ไปหาคำตอบให้รู้ พยายามกัดฟันคุยด้วยเหตุผล สิ่งนี้จะค่อย ๆ สร้างความไว้วางใจให้ญาติผู้ใหญ่รู้ว่าเราโตแล้ว และได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง แน่นอนว่ามันต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ แต่ถ้าสิ่งที่เราพยายามพูดอยู่มันเป็นจริงขึ้นมาสักครั้งหรือสองครั้ง เขาก็จะเริ่มลังเลในความเชื่อตัวเอง ถ้าต่างฝ่ายต่างเย็น ค่อยจับเข่าอธิบายไปตรง ๆ
หาวิธีพูดแบบฉลาด ๆ
เราจะรู้ซึ้งถึงความยากลำบากก็ต่อเมื่อต้องอธิบายอะไรหลาย ๆ อย่างให้ญาติผู้ใหญ่ฟัง มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความเข้าใจไหมให้เขาโดยไม่มีปัญหา เพราะงั้น เราก็ต้องสรรหาเทคนิคพูดแบบดูฉลาด ๆ มาใช้ดู ซึ่งไม่ใช่การหาศัพท์วิชาการมาใช้ (ไม่เข้าใจหนักกว่าเดิม) แต่พยายามเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกับอะไรก็ได้ที่เข้าใจง่าย ๆ ที่เขาคุ้นเคยในชีวิตจริง มันจะได้เห็นภาพง่าย ๆ ที่สำคัญอีกอย่างคือ ฟังให้มาก ฟังจนรู้ถึงความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ เมื่อนั้นเราจะจับทางได้ว่าต้องไปตะล่อมจากตรงไหน แล้วค่อยเริ่มแผนใหม่ ใช้ภาษาแบบผู้ใหญ่ จริงจังแต่ไม่ก้าวร้าว
หาวิธีโกง ๆ ดูบ้าง
ปัญหาที่หลาย ๆ บ้านเจอเหมือน ๆ กันก็คือ ญาติผู้ใหญ่ของตัวเองน่ะเชื่อทุกอย่างที่ทุกคนบอก ยกเว้นสิ่งที่ลูกหลานบอก ไม่ต้องแปลกใจ เพราะพวกเขามองเราเป็นเด็ก แถมเป็นเด็กที่เขาเลี้ยงมาด้วย พวกเขาจะมีชุดความคิดว่าเด็กที่เขาเลี้ยงมาจะมาฉลาดกว่าได้ยังไง ฉะนั้น พูดให้ตายก็ไม่เชื่อไม่ฟังหรอก ทว่าเราน่ะหรือจะยอมแพ้ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไหน ๆ ก็เชื่อทุกอย่างที่คนอื่นแชร์มา ก็ลองเอาเรื่องที่เราอยากอธิบายแชร์เข้าไปบ้าง ทำรูปภาพหรือวางข้อความแบบเฟกนิวส์ที่พวกผู้ใหญ่ชอบส่งต่อกัน แต่ต้องมั่นใจข้อมูลตัวเองด้วยนะ เพราะพวกเขาได้แชร์ต่อแน่ ๆ
ปล่อยได้ก็ปล่อย
ถ้ามันยากมากนักก็ต้องปลงแล้วล่ะ บางเรื่องที่มันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงคอขาดบาดตาย ปล่อยได้ก็ปล่อย รู้ ๆ กันอยู่ว่าผู้หลักผู้ใหญ่เขาเชื่อแบบนั้นมาทั้งชีวิต จะไปเปลี่ยนความเชื่อเขาในเวลาอันสั้นมันไม่ง่าย ผู้ใหญ่บางบ้านก็เชื่อคนอื่นมากกว่าคนในบ้าน ยิ่งเราพูดก็เหมือนเราไปตำหนิแหล่งข่าวเขา ไม่ก็เหมือนเราไปว่าเขาที่เชื่อแต่คนนอก ป่วยการขนาดนี้และไม่ใช่เรื่องร้ายแรงก็เลิกพยายาม อย่าต่อความยาวสาวความยืด เสียเวลาทะเลาะกัน เสียแรง เสียสุขภาพจิต ไว้มีโอกาสเหมาะ ๆ ค่อยใช้วิธีโกง ๆ แบบข้อที่ผ่านมาป้อนข้อมูลใหม่ไปทีละน้อย