“ประเพณีการรับน้อง” ควรไปต่อหรือพอแค่นี้
ทุก ๆ ปี ในช่วงที่เปิดปีการศึกษาใหม่ นิสิต-นักศึกษาใหม่ที่มีที่มาจากต่างที่ต่างถิ่นก็จะเข้ามาอยู่ในรั้วสถาบันการศึกษาเดียวกัน “ประเพณีรับน้อง” จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยอ้างว่ามีจุดประสงค์เพื่อละลายพฤติกรรมของคนที่มาจากหลาย ๆ ที่ การเจอกันครั้งแรกก็ไม่แปลกที่แต่ละคนจะมีกำแพงในการเข้าหากัน แม้ว่าจะพยายามหาเพื่อนและสร้างมิตรภาพอยู่ก็ตาม การรับน้องจะมีกิจกรรมที่ช่วยให้คนกลุ่มนี้ลดกำแพงลงและทำความรู้จักกันง่ายขึ้น
ประเพณีการรับน้องที่เราเห็นกันก็มีทั้งแบบสร้างสรรค์ เน้นสร้างความสัมพันธ์แรกพบระหว่างกันได้ดี มีกิจกรรมที่ช่วยให้น้องใหม่ลดกำแพงต่อกันได้จริง ๆ อีกทั้งยังได้ทำความรู้จักกับรุ่นพี่ที่ในอนาคตอาจมีโอกาสได้พึ่งพากัน ใครใคร่ร่วมก็ร่วม ใครไม่ใคร่ร่วมก็ไม่บังคับ ในท้ายที่สุดก็ยังสามารถเป็นเพื่อน เป็นรุ่นพี่ รุ่นน้องได้เหมือนเดิม
แต่ประเพณีการรับน้องแบบไม่สร้างสรรค์ก็มีให้เห็นอยู่ทุกปีเช่นกัน กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง คุกคามทางเพศ ลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งล้วนสร้างบาดแผลให้กับรุ่นน้องทั้งร่างกายและจิตใจ และที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือ “ความตาย” ที่มีให้เห็นทุกปี ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในรั้วสถาบันการศึกษาและไม่ควรจะเกิดขึ้นจากคนที่ไม่รู้จักกันแต่อ้างตัวว่าเป็น “รุ่นพี่” พ่อแม่ผู้ปกครองถึงกับใจสลาย เพราะการส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือ เหมือนกับส่งให้ไปตาย และแต่ละสถาบันก็ไม่ใช่สถาบันโนเนม จำนวนไม่น้อยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ
แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าการรับน้องหรือระบบโซตัส (SOTUS) มีจุดกำเนิดมาจากไหน และในต่างประเทศมีการรับน้องเหมือนในเมืองไทยหรือไม่?
จุดกำเนิดการรับน้องหรือระบบโซตัส
การรับน้องหรือระบบโซตัส (SOTUS) มีจุดกำเนิดมาจากระบบอาวุโสของโรงเรียนกินนอนในประเทศอังกฤษ ที่เรียกว่า Fagging System ระบบนี้จะมีการแต่งตั้งดรุณาณัติ หรือ Prefect/Fag-Master โดยครูในโรงเรียนเลือกเอานักเรียนอาวุโสที่เรียนดี ประพฤติดีเข้ามาเป็นผู้ช่วยครูในการดูแลและควบคุมพฤติกรรมของนักเรียน ควบคุมและวางกรอบให้นักเรียนต้องประพฤติตนอยู่บนหลักการพื้นฐานของโซตัส ระบบนี้จึงเป็นระบบที่เอื้ออำนาจให้แก่ครูอย่างแท้จริง ในการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนมาปกครองนักเรียนอีกทอดหนึ่ง
คำว่าโซตัส (SOTUS) ประกอบด้วยคำว่า
- Seniority หมายถึง การเคารพความอาวุโส ซึ่งหมายความถึงวัยวุฒิและอาวุโสในตำแหน่งหน้าที่ นับเป็นหัวใจของระบบโซตัส
- Order หมายถึง ความมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม
- Tradition หมายถึง การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีเพื่อสืบทอดต่อไป
- Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สมานสามัคคี
- Spirit หมายถึง ความเสียสละ ความมีน้ำใจ
ต่อมาระบบนี้ก็ถูกนำไปใช้ในสถาบันการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสถาบันการศึกษาสายสังคม สายทหาร และสายเกษตรศาสตร์ โดยระบบในอเมริการุ่งเรืองบนฐานความคิดที่ต้องการควบคุมนักศึกษา จากประเทศโลกที่สามที่ถูกจัดให้เป็นประเทศด้อยพัฒนาที่เข้ามาเรียนในอเมริกา ต่อมาเมื่อเรียนจบบรรดานักศึกษาเหล่านั้น ก็นำระบบนี้ไปใช้ในประเทศของตน เช่น ระบบโซตัสในฟิลิปปินส์ เป็นต้น
การรับน้องในประเทศไทย : มรดกตกค้างของการศึกษาสมัยอาณานิคม
การรับน้องภายใต้ระบบอาวุโสด้วยหลักการโซตัส (SOTUS) เริ่มเข้ามาในประเทศไทย เมื่อมีการตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน และเมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งกลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อมา ก็มีการนำเอาระบบโซตัสเข้าไปใช้ ตั้งแต่ 23 กันยายน 2445 ดังเห็นได้จากเพลงเกียรติภูมิจุฬาฯ ที่แต่งโดย ศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์ ในปี 2510 ซึ่งบรรจุอุดมการณ์ทั้งหมดของโซตัสไว้ในเพลง
“มาเถิดมา ภราดาจุฬาฯทุกแหล่ง มาร่วมแรง รวมรักและสามัคคี
อาวุโสเทิดไว้ น้ำใจระเบียบเรานี้ พร้อมประเพณี เสริมให้มีแต่วัฒนา
สีชมพู เชิดชูไว้คู่แดนไทย แสนยิ่งใหญ่และเกรียงไกรในวิทยา
น้องพี่เราล้วนยิ้มแย้ม พักตร์แจ่มหฤหรรษา ยึดมั่นอุดมการณ์มา เพื่อผองประชาชาติไทยทั้งมวล
ทั่วราชอาณาจักรนี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน ชาวจุฬาฯ จึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ
พร้อมกันอภิรักษ์ พิทักษ์ให้อยู่คู่ฟ้า วุฒิศักดิ์จุฬาฯ วัฒนาอยู่นิจนิรันดร์”
อย่างไรก็ตาม ระบบรุ่นพี่รุ่นน้องและการรับน้องของจุฬาฯ นั้น ไม่ได้เป็นที่มาของระบบว้ากแต่อย่างใด ผู้นำระบบ SOTUS มาใช้ร่วมกับการว้ากนั้น ได้แก่ โรงเรียนป่าไม้ภาคเหนือ หรือวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน) เนื่องจากอาจารย์ยุคบุกเบิกส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จบมาจากวิทยาลัยเกษตรกรรมลอสบานยอส (Los Banos) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ ในยุคที่อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าอาณานิคมอเมริกา
อีกทั้งอาจารย์บางท่านก็ถูกส่งไปยังมหาวิทยาลัยโอเรกอน หรือมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งคอร์แนลล์นี้เองที่เป็นต้นฉบับการว้าก และส่งต่อประเพณีดังกล่าวให้แก่มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ เช่น ประเพณีการปีนเสา รวมถึงประเพณีและธรรมเนียมซึ่งเป็นชาติเจ้าอาณานิคม นำมาเป็นเครื่องมือใช้กำกับประเทศใต้อาณานิคม
ต่อมาเมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น ในปี 2486 ในช่วงแรกมีการรับเอานักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้มาเรียนต่อ การว้ากจึงถูกถ่ายทอดมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย โดยเชื่อว่าการกดดันรุ่นน้องจะเป็นการละลายพฤติกรรมและช่วยให้อยู่ร่วมกันได้ ลดทอนความต่างของฐานะและมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
ระบบการรับน้องของเกษตรศาสตร์ จึงเป็นระบบการว้ากผสมไปกับระบบ SOTUS ที่รับมาจากจุฬาฯ ดังคำบอกเล่าของระพี สาคริก ว่าเมื่อรุ่นน้องปีหนึ่งไปปรับทุกข์กับอาจารย์ที่จบจากเมืองนอก ก็จะได้คำตอบกลับมาว่า “ปีหน้าก็คงถึงทีเธอบ้าง ไม่ต้องเสียอกเสียใจอะไรไป” คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างในระบบอุดมศึกษาไทยดำรงอยู่ได้ด้วยการอุปถัมภ์และสนับสนุนของบุคลากรทางการศึกษามาตั้งแต่ต้นแล้ว
กระแสประชาธิปไตยที่เบ่งบานในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับการใช้อำนาจในการรับน้องและความรุนแรงในการรับน้องเบาบางลงไป และล้มเลิกไป เช่น คณะอักษรศาสตร์ คณะครุศาสตร์ แพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตามด้วยคณะอื่น ๆ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ยกเลิกเป็นคณะสุดท้าย ในปี 2519 ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และขอนแก่น ก็ยกเลิกการรับน้องเช่นกัน คงเหลือแต่เพียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ยังคงการรับน้องตามประเพณีอย่างที่สุด
แต่เพียง 3 ปีให้หลัง เมื่อเกิดการปลุกกระแสว่านักศึกษามีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และต้องการล้มล้างสถาบันฯ ทำให้เกิดการปราบปรามนักศึกษาครั้งใหญ่ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยรัฐกังวลกับปัญหานักศึกษาและภัยความมั่นคง การรับน้องจึงถูกนำกลับมาใช้ เพื่อควบคุมนักศึกษาใหม่ให้อยู่ในกรอบของรุ่นพี่ ซึ่งมีบุคลากรมหาวิทยาลัยและรัฐกำกับควบคุมอีกต่อหนึ่ง ระบบรับน้องจึงธำรงความชอบธรรมได้ ผ่านการค้ำจุนของรัฐในนามสถาบันการศึกษา ดังที่ยังคงเป็นมรดกตกทอดมาจนปัจจุบัน
ในต่างประเทศไม่มีการรับน้องแบบของไทย
จากการค้นหาข้อมูลว่าปัจจุบันนี้ในต่างประเทศมีการรับน้องเหมือนในเมืองไทยหรือไม่ พบว่ามหาวิทยาลัยในอเมริกา จะมีการปฐมนิเทศ ซึ่งเป็นการตั้งกลุ่มสมาคม คล้าย ๆ ว่าเป็นคลับของคนที่มีความยึดโยงอะไรบางอย่างด้วยกัน สร้างระบบคุณค่าร่วมกัน และมีการทำกิจกรรมด้วย แต่ไม่เกี่ยวกับคณะและมหาวิทยาลัย
ส่วนมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียจะมี O-week ซึ่งย่อมาจาก Orientation week นั่นก็คือสัปดาห์ปฐมนิเทศ หรือกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่ เพื่อทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัย ปกติ O-week จะมีการจัดขึ้นทุกเทอมการศึกษาก่อนวันเปิดเรียน 1 สัปดาห์ จะมีการพาชมมหาวิทยาลัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และบริการของมหาวิทยาลัย ได้รู้จักเพื่อนใหม่ในรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ในคณะ และทีมงานที่ให้ความช่วยเหลือนักเรียนต่างชาติของมหาวิทยาลัย รวมถึงยังได้ร่วมกิจกรรมสนุกที่ทางคณะและมหาวิทยาลัยจัดต้อนรับ
ในโซนเอเชียอย่างมหาวิทยาลัยในเกาหลี ก็จะมีกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกเปิดเทอมใหม่คือ MT หรือ Membership Training เป็นการรวมตัวกันของรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัย โดยอาจจะจัดที่มหาวิทยาลัยหรืออาจจะจัดเป็นทริปเที่ยวก็ได้ โดยกิจกรรมหลักก็เน้นให้มีการทำความรู้จักกันมากขึ้น ด้านประเทศญี่ปุ่น ก็ไม่มีการรับน้องแบบของไทยเช่นกัน แต่จะมีวัน Guidance แทน ซึ่งในวันนั้นจะมีอาจารย์มาพูดเกี่ยวกับวิธีลงเรียน และมีรุ่นพี่มาแนะนำชมรมของคณะนั่นเอง