ถามใจกูรูสอนภาษา “พูดอังกฤษด้วยภาษาคาราโอเกะ” ผิดไหม?
หากย้อนไปตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมศึกษา หลายคนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษด้วยการใช้ตัวอักษรไทยเป็นตัวกำกับเสียงต่างๆ ในภาษาอังกฤษ เช่น การสะกด พอ-เอ-นอ เพ็น ‘Pen’ ปากกา ซึ่งเมื่อลองอ่านออกเสียงดูแล้ว ก็ดูเหมือนจะไม่ผิดอะไร แต่เมื่อคำต่างๆ ถูกนำมาร้อยเรียงกันเป็นประโยคหรือข้อความ โดยใช้ตัวอักษรไทยเทียบตามเสียงภาษาอังกฤษแบบที่ใช้ในการร้องเพลงคาราโอเกะ ปัญหาที่ตามมาก็คือ แม้ว่าเราจะท่องจำและออกเสียงคำได้ครบทั้งประโยค แต่ผู้ฟังกลับไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูด และกลายเป็นปัญหาด้านการสื่อสารตามมา
การท่องจำภาษาอังกฤษด้วยการถอดเสียงเป็นภาษาคาราโอเกะมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เหตุใดผู้เชี่ยวชาญจึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ Sanook จะพาคุณไปหาคำตอบ พร้อมเทคนิคที่จะช่วยให้คุณสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาษาคาราโอเกะผิดตรงไหน
ดร.อนุชิต ตู้มณีจินดา อาจารย์ประจำหน่วยวิชาศึกษาทั่วไปและวิชาเชิงบูรณาการคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า การใช้ตัวอักษรไทยกำกับการออกเสียงภาษาอังกฤษ อาจทำให้การออกเสียงผิดเพี้ยนไป และอาจส่งผลต่อความเข้าใจร่วมกับระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง เนื่องจากภาษาแต่ละภาษามีจำนวนเสียงไม่เท่ากัน มีโครงสร้างและกฎเกณฑ์ทางเสียงที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการรับรู้เสียงที่แตกต่างกันของผู้ใช้ภาษาแต่ละภาษา ในภาษาอังกฤษ เสียงท้ายต้องมีการปล่อยเสียง เช่น ‘robe’ เสียงของอักษร ‘b’ ต้องมีการออกเสียงหรือปล่อยเสียงให้ได้ยิน ในขณะที่ในภาษาไทย ไม่ต้องมีการปล่อยเสียงของพยัญชนะท้ายแต่อย่างใด เช่น ในคำว่า ‘กบ’ เสียง ‘บ’ นั้นไม่ต้องมีการปล่อยเสียง ดังนั้น หากจะต้องถ่ายถอดเสียงภาษาอังกฤษเพื่อให้สามารถออกเสียงได้ถูกต้อง จึงต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “สัทอักษรสากล” (International phonetic alphabets—IPA)
“สัทอักษรสากล (IPA) หรือตัวอักษรพิเศษที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้แทนเสียงที่มนุษย์สามารถผลิตได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากในประเทศไทยมีครูผู้สอนภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ไม่มากนักที่มีความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ และได้รับการฝึกฝนในการใช้ตัวอักษรพิเศษดังกล่าว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วความรู้ในการใช้สัทอักษรควรจะเป็นความรู้เบื้องต้นของครูผู้สอนภาษาและผู้ที่เรียนภาษาต่างประเทศทุกคน” ดร.อนุชิตกล่าว
เช่นเดียวกับอาจารย์อดัม แบรดชอว์ ในฐานะเจ้าของภาษา และอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ในการสอนภาษาอังกฤษ ที่แนะนำให้ใช้สัทอักษรสากล เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการเทียบเสียงระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษโดยตรง
“สุดท้ายแล้ว ผมก็จะแนะนำให้นักเรียนเรียน IPA ที่เป็นอักษรสากล ที่ใช้ในพจนานุกรม ว่าคำนี้ออกเสียงว่าอะไรกันแน่ เพราะว่าภาษาอังกฤษไม่ได้อ่านตามตัวอักษร ในหลายครั้ง อย่างคำว่า ดาบ s-w-o-r-d ที่ตัว ‘w’ ไม่ออกเสียง เป็น /sɔːd/ แต่หลายคนอ่านว่า /swɔːd/ (สะ.หวอด) เพราะว่าเห็นตัว ‘w’ มันก็ นี่คือเหตุผลที่ IPA มันช่วยได้ คำอ่านสากลดีที่สุดแล้ว” อาจารย์อดัมกล่าว
ภาพสะท้อนคุณภาพการสอน
อย่างไรก็ตาม การเทียบเสียงภาษาอังกฤษแบบภาษาคาราโอเกะไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาการสอนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยด้วย ซึ่ง ดร.อนุชิตระบุว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงแนวการสอนอย่างต่อเนื่องโดยมีแนวโน้มที่มุ่งแสวงหาและรอคอยแนวการสอนหรือวิธีการสอนที่ดีที่สุด หรือวิธีการสอนสำเร็จรูปที่สามารถนำไปใช้ได้ในทันที ทว่าวิธีการเหล่านั้นอาจจะเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง
“เราไม่มีทางเลยที่จะสามารถหาแนวการสอนหรือวิธีการสอนที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมกับผู้เรียนทุกคนได้ เพราะผู้เรียนมีความหลากหลาย ดังนั้นการส่งเสริมให้ครูมีแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง พัฒนาวิธีการสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ครูเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างองค์ความรู้และการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย ในปัจจุบันการสอนภาษาอังกฤษรวมไปถึงการสอนวิชาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ครูไม่ควรจะเป็นเพียงผู้สอนเพียงอย่างเดียว แต่ยังควรต้องเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไปในตัวด้วย แต่ การที่ครูผู้สอนจะทำอย่างนั้นได้ก็คงต้องกลับมาดูที่ระบบใหญ่ของประเทศแล้ว ว่าได้ช่วยส่งเสริมครูแล้วหรือยัง”
"ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม"
สำหรับวิธีในการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารภายให้มีประสิทธิภาพในระยะเวลาอันสั้นนั้น ดร.อนุชิต กล่าวว่า การพยายามท่องจำ เป็นวิธีการที่สามารถใช้ฝึกการออกเสียงภาษาอังกฤษได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ แต่ปัญหาที่ตามมาคือหากเจอถ้อยความหรือประโยคที่ไม่ได้ฝึกมา ก็อาจจะออกเสียงได้ไม่ถูกต้อง การเรียนภาษาโดยอาศัยทางลัดจึงไม่ใช่ทางออก หากแต่ต้องอาศัยความทุ่มเทในการฝึกทักษะ
“การเรียนภาษาไม่เหมือนกับการเรียนวิชาอื่นๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ที่ต้องอาศัยการใช้กฎและหลักการ หรือการเรียนพลศึกษาที่ต้องอาศัยการพัฒนาทักษะ หรือการเรียนสังคมศึกษาที่ต้องอาศัยการจดจำและการใช้เหตุผล ทั้งนี้เพราะการเรียนภาษาคือการบูรณาการทั้งการใช้กฎและหลักการ การพัฒนาทักษะ และการจดจำและการใช้เหตุผลเข้าไว้ด้วยกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการเรียนภาษาจึงเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน ใช้เวลา และต้องอาศัยความทุ่มเทของทั้งผู้เรียนเองและตัวผู้สอนด้วย เพราะฉะนั้นการจะเป็นอัจฉริยะข้ามคืนทางด้านภาษา อันนี้น่าจะทำได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเราใช้เวลาทุ่มเทกับมัน ผมคิดว่ายังไงก็ทำได้ครับ”
เช่นเดียวกับอาจารย์อดัม ที่มองว่า ภาษาไม่ใช่แค่วิชาหนึ่ง แต่คือทักษะที่ต้องใช้เวลาในการฝึกปรือและค่อยๆ ปรับแก้ทีละนิด อาจเทียบได้กับการต่อจิ๊กซอว์ทีละชิ้น ดังนั้นการจะฝึกภาษาให้เก่ง ต้องยอมที่จะใช้เวลาในการพัฒนา ดังสุภาษิตที่ว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม”
“มีทางเดียวคือ ฝึกอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานานครับ หลายเดือน หลายปี ถ้าอยากได้ทางลัด จริงๆ มันคือแค่ท่องประโยคสมบูรณ์แบบ แทนที่จะไปท่องศัพท์อย่างเดียว คุณก็เลือก 3-4 ประโยคที่ตัวเองอยากจะพูด แล้วไปท่องเลย เวลาไปเจอบริบทหรือเหตุการณ์ที่ต้องใช้ประโยคพวกนี้ก็นำไปใช้ได้ โดยที่ไม่ต้องมานั่งคิดไวยากรณ์หรืออะไร แต่มันไม่ได้ทำให้พูดได้ คือสุดท้ายก็ต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมนะครับ” อาจารย์อดัมสรุป