สำคัญอย่างไร ที่ต้องปลูกฝังให้ลูกน้อยเห็นคุณค่าและนับถือตัวเอง

สำคัญอย่างไร ที่ต้องปลูกฝังให้ลูกน้อยเห็นคุณค่าและนับถือตัวเอง

สำคัญอย่างไร ที่ต้องปลูกฝังให้ลูกน้อยเห็นคุณค่าและนับถือตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การรับหน้าที่เป็นพ่อแม่ของลูกในช่วง 2-3 ปีแรกนั้น เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของคน 2 คนที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ยิ่งถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ช่วงเวลาที่ลูกของคุณหัดพูด หัดเดิน จนถึงอายุ 3 ปี คุณจะรู้สึกว่าเร็วมาก เพราะแทบไม่ได้สัมผัสการเจริญเติบโตของพวกเขา ที่สำคัญ พวกเขาจะเริ่มสงสัยว่าทำไมพ่อแม่ถึงออกจากบ้านไปทำงาน แล้วปล่อยให้เขาอยู่ที่บ้านกับญาติ พี่เลี้ยง หรือสถานรับเลี้ยง

การที่เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ อาจทำให้เขารู้สึกขาดอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรักและความอบอุ่น ในช่วงที่เด็กอายุประมาณ 3 ปี เขากำลังเติบโตเพื่อจะเข้าโรงเรียน ไปอยู่ในสังคมที่ใหญ่ขึ้น และเขาก็ต้องใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียน อยู่กับเพื่อน นั่นอาจจะทำให้ได้เจอหน้าพ่อแม่น้อยลงไปอีก ดังนั้น แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ช่วงเวลานั้นถือว่ามีคุณค่ากับลูกมาก แต่จะทำอย่างไรให้เขาได้รับความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่ จากพ่อแม่ที่มีเวลาจำกัด

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะยุ่งมากแค่ไหน คุณควรต้องเผื่อเวลามาให้ลูก ๆ ของคุณบ้าง ถึงมันจะเป็นเวลาสั้น ๆ แต่ก็ทำให้พวกเขาสนุกสนานและมีความสุขที่สุดในช่วงเวลานั้นได้ ความรักความอบอุ่นที่คุณมอบให้ สำคัญอย่างมากในการสร้างความมั่นใจ ความนับถือ และเห็นคุณค่าในตัวเองของลูกของคุณ

การเห็นคุณค่าและนับถือตัวเองสำคัญอย่างไร

การเห็นคุณค่าในตัวเองและนับถือตัวเอง ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในสังคม เนื่องจากการเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นมีผลต่อการตัดสินใจ อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้กล้าที่จะทำอะไรเพื่อตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม เมื่อเติบโต เด็ก ๆ จะต้องเข้าสังคมที่ใหญ่ขึ้น หากพวกเขาไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่นับถือตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เขาจะรู้สึกว่าสังคมนี้ไม่มีที่ยืนสำหรับเขาเพราะทำอะไรก็ไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ได้รับการยอมรับ

เด็กที่มีความนับถือในตัวเองต่ำ หรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เขาจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเมื่อต้องไปอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นว่าทำอะไรก็ไม่ดีเท่า ไม่ชอบเรื่องท้าทาย ไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ ๆ โทษตัวเองอยู่เสมอ ปลีกตัวออกจากสังคมเพราะรู้สึกว่าสู้คนอื่นไม่ได้ สงสัยในความสามารถตัวเอง มากกว่าจะมองว่าตัวเองทำอะไรได้ ซึ่งนั่นจะมีผลกระทบต่อบุคลิกภาพและชีวิตของเขาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างแน่นอน

ซึ่งการเห็นคุณค่าและนับถือตัวเองนั้น คือการที่คนเรามีความสุขในแบบที่เราเป็นตัวเอง รักในสิ่งที่ตัวเองเป็นและสิ่งที่ตัวเองทำ สิ่งเหล่านี้พัฒนามาจากประสบการณ์และการเลี้ยงดูในวัยเยาว์ การปลูกฝังให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเองตั้งแต่ยังเป็นเด็กจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กนี้ ก็คงไม่มีใครทำได้ดีเท่ากับพ่อแม่ หรือคนที่เลี้ยงดูเด็กมา

การนับถือตัวเองต่ำ หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เมื่อเด็กเติบโต เขาจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ยาก เพราะต้องเผชิญกับภาระหน้าที่ที่ใหญ่และมากขึ้น เขาก็จะเป็นคนที่ไม่กล้าทำอะไรเนื่องจากไม่เชื่อว่าตัวเองทำได้ เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งอาจกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ การที่ใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข ก็จะกลายเป็นปมที่คลายไม่ออกไปตลอดชีวิต

กุญแจสำคัญในการปลูกฝังความนับถือและเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นไม่มีอะไรมาก

1. ให้เด็กได้เห็นตัวอย่าง และได้ทำซ้ำ ๆ

หากคุณเคยสังเกตรายการโทรทัศน์หรือหนังสือสำหรับเด็กดู จะพบว่าตัวละครในรายการหรือหนังสือ มักจะสวมชุดอยู่เพียงชุดเดียวเสมอ การดำเนินเรื่องราวในแต่ละตอนก็จะดำเนินไปในลักษณะเดียวกันหรือคล้าย ๆ กัน เพลงประกอบก็เป็นเพลงเดิมที่ติดหูเด็ก นี่เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งในการเชิญชวนเด็ก ซึ่งลักษณะซ้ำ ๆ เดิม ๆ นั้น ช่วยให้พวกเขาตั้งตารอที่จะดูรายการหรือให้หนังสือนั้น ๆ และรู้สึกสนุกด้วยในเวลาที่ดูหรืออ่าน

สำหรับผู้ใหญ่ การทำอะไรเดิมซ้ำ ๆ อาจเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่สำหรับเด็กเล็ก การที่เขาได้เห็นอะไรซ้ำ ๆ จะช่วยสร้างความคุ้นเคย ความเชื่อใจตัวเอง และความมั่นใจได้ สำหรับเด็ก ๆ โลกเป็นสถานที่ใหม่และซับซ้อน การที่เด็กได้เห็นอะไรในรูปแบบเดิม ๆ จะทำให้เขาจดจำได้อย่างแม่นยำ จากนั้นก็จะเลียนแบบ และถ้าพวกเขาเห็นมันอีกในชีวิตจริง เขาก็จะรู้สึกคุ้นเคย ปลอดภัย และรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้น ฉะนั้น ในช่วงนี้ พ่อแม่ก็ต้องพยายามหาสื่อหรือคอนเทนต์สำหรับเด็กที่สร้างสรรค์ให้พวกเขาได้ดูได้อ่าน และแนะนำเสมอว่าอะไรไม่ดีไม่เหมาะสม

2. แค่เรื่องเล็กน้อยก็คุ้มค่ากับผลลัพธ์

ปกติแล้ว เด็ก ๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรจากพ่อแม่มากไปกว่าการที่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่สนใจเขาหรอก ดังนั้น แค่ขอให้พ่อแม่มีเวลามาให้ความรักพวกเขาสักเล็กน้อย พวกเขาก็พอใจแล้ว การมอบความรักให้พวกเขาทุกวัน จะทำให้เขาตั้งตารอและตื่นเต้นเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เช่น พวกเขารู้ว่าคุณจะกอดเขาแบบเดียวกันทุกวันเมื่อคุณกลับมาถึงบ้าน จะได้ร้องเพลงโปรดด้วยกันระหว่างทางเดินทางกลับจากสถานรับเลี้ยงเด็ก เช้าวันหยุดก็ได้ร่วมโต๊ะกินอาหารกับพ่อแม่ หรือพาเขาเข้านอนทุกคืน พวกเขาจะรู้สึกว่ามีพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ เขาตลอดเวลา

ส่วนพ่อแม่ที่ปฏิบัติกับลูกเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ คุณก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะแสดงความรักกับลูก และจะเป็นธรรมชาติที่จะเข้าหาลูก เมื่อพวกเขาเติบโต คุณกับเขาก็จะไม่ห่างเหินกันเท่าไรนัก ทั้งนี้ต้องค่อย ๆ ปรับการมอบความรักให้พวกเขาเมื่อพวกเขาโตขึ้นด้วย

3. ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม

การให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้าน เช่น งานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ จนรู้สึกคุ้นเคยและสามารถทำเป็นกิจวัตรได้อย่างสม่ำเสมอนั้น ช่วยให้พวกเขารับรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า อย่างน้อยที่สุดก็คือ เขาจะรู้สึกว่ามีคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเขา งานบ้านที่จะให้เด็กช่วยทำ ก็ให้เริ่มจากงานเล็ก ๆ เช่น เก็บเสื้อผ้าออกจากตะกร้ามาให้พ่อแม่ซัก เก็บของเล่นของตัวเองที่เล่นเสร็จแล้ว นำมาเช็ดมือไปวางที่โต๊ะอาหาร หรือช่วยน้ำที่หกเลอะโต๊ะ

นี่คือการสร้างนิสัยให้พวกเขารู้ว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น และพวกเขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อจัดการสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน มันจะค่อย ๆ สร้างความสามารถในการแก้ปัญหา และการนับถือชื่นชมตัวเอง เมื่อได้ช่วยคนอื่นทำอะไรบางอย่างได้สำเร็จ พวกเขาก็พร้อมที่จะรับภาระหน้าที่ที่ใหญ่ขึ้นตามวัยวุฒิและคุณวุฒิ เช่น ซักผ้า หรือรับผิดชอบการบ้านตัวเองโดยไม่ต้องมีใครเตือน ต้องเตือนพ่อแม่ว่า อย่าลงมือทำเองเพราะคิดว่ามันเร็วกว่า หรือรอให้เขาโตก่อนแล้วมอบหมายงานให้ทำ เพราะไม้แก่นั้นดัดยากกว่าไม้อ่อนแน่นอน

เด็ก ๆ จะรู้ว่าการช่วยเหลือผู้อื่นของพวกเขานั้นมีคุณค่า ยิ่งเขาช่วยคนอื่นได้มากเท่าไร เขาก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นเท่านั้น ส่วนพ่อแม่ที่ทำงานนอกบ้านก็จะเหนื่อยน้องลง เพราะไว้ใจให้ลูกดูแลบ้านได้ ฉะนั้น หน้าที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกทำมันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เด็ก ก็ทำให้พ่อแม่ได้อยู่กับลูกมากขึ้นได้เช่นกัน และยังประโยชน์ให้ตัวพวกเขาเองในอนาคต เมื่อต้องเข้าสังคมและต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง

ทุก ๆ ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่ลูก ล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างความนับถือและเห็นคุณค่าในตัวเองทั้งสิ้น หากเริ่มไม่แน่ใจหรือกลัวว่าลูกจะมีความรู้สึกเช่นนี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก และขอคำแนะนำมาปฏิบัติใช้ ก่อนที่พวกเขาจะเติบโตไปแล้วใช้ชีวิตในสังคมได้ยากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook