ชะตากรรม “เด็กจบใหม่” ในวิกฤตโควิด-19
สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ คนทำงาน ในทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ “เด็กจบใหม่” จากที่เคยวาดฝันถึงอนาคตการทำงาน หรือ การไปเรียนต่อกลับพบความจริงที่ว่า ชีวิตที่พ้นรั้วมหาวิทยาลัยแล้วช่างยากกว่าที่คิด อีกทั้งเด็กจำนวนมากต้องแบกรับภาระการค้นหาตัวตน รวมไปถึงความคาดหวังจากครอบครัว สังคม ยิ่งกว่านั้น สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กลายเป็นอุปสรรคที่คาดไม่ถึงทำให้แผนการสำหรับอนาคตที่วางไว้ รวมถึงจิตใจพังลงไม่เป็นท่า สิ่งเหล่านี้สร้างแรงกดดันอันมหาศาลให้กับชีวิตของเด็กจบใหม่ ดังนั้น Sanook จึงขอพาทุกคนไปสำรวจความคิดของเด็กจบใหม่ ถึงปัญหาที่ต้องพบเจอ และ แรงกดดันที่ต้องแบกรับ แล้วพวกเขาจะผ่านมันไปได้อย่างไร ในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตร้ายที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบลง
สิ่งที่เด็กจบใหม่ต้องเผชิญ
ปัญหาสุดคลาสสิกที่เด็กจบใหม่เจอคงหนีไม่พ้นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน การพบเจอสิ่งใหม่ๆ คนจากหลากหลายวัยที่มีทัศนคติแตกต่างกัน ทำให้เด็กจบใหม่ต้องเจอกับการปรับตัวครั้งใหญ่ในชีวิต
“ไม่ว่าจะยุคไหน คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ก็มีปัญหาในการเข้าใจเด็กจบใหม่ ผู้ใหญ่บางคนชอบมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน ทำงานนิดๆหน่อยๆ ก็ลาออก ไม่ได้เงินเดือนที่ต้องการก็ไม่ทำงาน เลือกงาน สุดท้ายก็ไม่ได้หางานอะไร” บัณฑิตจบใหม่จากคณะอักษรศาสตร์คนหนึ่งเริ่มต้นเล่าปัญหา ขณะที่บัณฑิตจากคณะเดียวกันอีกคนหนึ่งเล่าถึงแรงกดดันจากการเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังว่า
“แม้ผู้ใหญ่จะเข้าใจว่าเราเป็นเด็กจบใหม่ แต่ยังคงรู้สึกกดดัน เพราะเขาก็คาดหวังว่า เราจบจุฬาฯ มา เราต้องทำได้อย่างนี้สิ พอเราทำไม่ได้ เลยรู้สึกกดดันมาก”
จบมาทำอะไร?คำถามนี้กลายเป็นสิ่งที่ตอบได้ยากสำหรับเด็กบางกลุ่ม เช่น เด็กอักษรศาสตร์ ที่มีหลักสูตรที่กว้างขวาง ครอบคลุมหลายสาขาวิชาจนสามารถทำงานได้หลากหลาย ไม่มีสายงานที่ตรงตัวอย่างคณะอื่นๆ เช่น เรียนแพทยศาสตร์เพื่อเป็นหมอหรือเรียนครุศาสตร์และเป็นครูเมื่อเรียนจบ ทำให้หลายคนประสบปัญหาในการหางานเช่นกัน
“ด้วยความที่อักษรฯ เรียนกว้างครอบจักรวาล และสายงานกว้าง ทำให้คนที่จบอักษรฯ ส่วนใหญ่ทำงานไม่ตรงสาย ไปเป็นนักแปล ล่าม ครู ซึ่งถ้าเราอยากได้อาชีพที่ให้เงินเดือนมากกว่านี้ เราก็รู้สึกว่างานแค่นี้มันยังไม่พอ เลยต้องออกไปหาทำอาชีพอื่น รู้สึกว่าอักษรประยุกต์ได้หมด แต่มีความเป็นเป็ดอยู่ในตัว พอทำได้ในแต่ละอย่าง แต่ถ้าจะให้ไปเก่งแบบแพทย์ วิศวะ ช่างกล เราทำไม่ได้ อันนี้เราว่ามันเป็นจุดเสียเปรียบที่ใหญ่ที่สุด ตอนแรกที่เข้าไปเราต้องเรียนรู้ทุกอย่างทุกฝ่ายทุกส่วน พยายามเรียนรู้ให้เร็วที่สุดถึงแม้เราจะไม่ได้เรียนแบบเฉพาะทางตรงนั้น” บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์กล่าว
นอกจากนี้ ด้วยความที่ระบบการศึกษาไทย ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เด็กๆ ค้นหาตัวเอง แต่กลับสอนให้เด็กไปในทิศทางเดียวกันหมด ทำให้ปัญหาสุดคลาสสิกที่เด็กจบใหม่เกือบทุกคนจะต้องเจออีกอย่าง คือ “ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดงานอะไร”
“เราจบสาขาวิศวกรรมนาโน ถ้าตรงกับสายงานจริงๆ คือ การทำวิจัย เราเคยฝึกงานมาสองครั้ง เป็นวิจัยทั้งคู่ ครั้งแรกไม่เท่าไหร่ แต่ครั้งที่สองกลับเริ่มรู้สึกว่างานวิจัยไม่ใช่ทางของตัวเองแล้ว ส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันช้า แพลนงานวิจัย ถึงจุดหนึ่งต้องมานั่ง execute งานทดลอง ซึ่งตอน execute มันช้ากว่าจะได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่างานวิจัยไม่เหมาะกับตัวเรา เพราะทำให้ความรู้เราแคบ รู้แค่เรื่องวิจัยที่เราทำอย่างเดียว เราเลยตัดสินใจทำงานไม่ตรงสาย ลองทำงาน บริษัทที่ปรึกษาส่วนหนึ่งมาจากการปรึกษารุ่นพี่เพราะมีรุ่นพี่หลายคนทำงานด้านนี้อยู่ และอยากลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ จากนั้นค่อยคิดว่าจะเอาอย่างไรต่อ” บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมไทย “ค่าตอบแทน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกทำงานของเด็กจบใหม่ แต่ในความเป็นจริงคือ ไม่ใช่ทุกคนจะเลือกค่าตอบแทนที่ตรงใจได้ ทำให้ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนเป็นสิ่งที่เด็กจบใหม่ต้องเผชิญอยู่ร่ำไป
“เงินเดือนน้อย เมื่อเทียบกับค่าครองชีพของไทยที่สูงมาก ซึ่งเงินเดือนแค่ 300 บาทต่อวัน หรือ 15,000 บาท ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในประเทศนี้ เรารู้สึกว่ามันส่งผลกระทบต่อเด็กต่างจังหวัด เพราะต่างจังหวัดไม่ได้มีงานเยอะเหมือนกับกรุงเทพฯ แต่หากมาหางานที่กรุงเทพฯ แค่ค่าหอก็ 5,000 บาท แล้ว ขนาดยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ที่เหลือต้องประหยัดอย่างมากถึงจะมีเงินเก็บ” บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์กล่าวถึงเงินเดือนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในเมืองหลวง
“เงินเดือนน้อยและไม่ยุติธรรมมากๆ เด็กจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ก็ต้องมี bar set มาตรฐาน เราอุตส่าห์เรียนอุตส่าห์ตั้งใจอ่านหนังสือสอบ กว่าจะสอบเข้าได้ กว่าจะเรียนจบ และเราก็รู้สึกว่ามันเป็นการขอเงินเดือนในสิ่งที่ทำได้ ถ้าสมมติเราเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย จะไปขอเงินเดือนสูงๆ ก็ไม่ได้ แต่นี่เราเรียนจบในมหาลัยท็อปๆ คือมันมีโอกาสที่จะขอได้ ก็เลยตั้งเอาไว้ ไม่ใช่ว่าแบบตั้งแล้วเป็นไปไม่ได้ก็ไม่ควรตั้ง” บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์อีกคนกล่าวถึงความไม่สมเหตุสมผลกับการเรียนจบมหาวิทยาลัยดัง พร้อมอธิบายถึงทัศนคติของนายจ้างที่ส่งผลกระทบต่อการประเมินรายได้
“นายจ้างหลายคนมองว่าการเรียนภาษา ไวยากรณ์ เป็นเรี่องที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่จริงๆ แล้ว เราเรียนวัฒนธรรม การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ พูดอย่างไรให้คนเข้าใจ บางคนเก่งวิศวะ เก่งคอมพิวเตอร์ แต่อาจจะไม่ถนัดด้านการสื่อสารก็มี ไม่อยากให้มองว่าอักษรศาสตร์เทียบสายอื่นไม่ได้ เพียงเพราะเป็นสายที่กว้าง ไม่เฉพาะเจาะจง การมองแบบนี้ทำให้ลดค่าเราลงไป ซึ่งหมายความว่า เงินเดือนที่ลดตามลงไปด้วย”
ความสูญเสียจากวิกฤตโควิด-19
โควิด-19 ถือเป็นวิกฤตร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อเด็กจบใหม่เป็นอย่างมาก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องเรียนออนไลน์ ขาดประสบการณ์ด้านการฝึกงาน การทำงาน และอีกมากมาย รวมถึงต้องเผชิญกับปัญหาการหางาน เพราะเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงักจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 หลายบริษัทต้องปิดตัวลง หรือไม่สามารถรับเด็กจบใหม่เข้าทำงานเพิ่มได้
“เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยไม่ดีขึ้นสักที ชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยช่วงสองปีสุดท้ายก่อนจบหายไปหมด ไม่ได้เรียนที่มหาวิทยาลัย ไม่ได้เจอเพื่อน เรียนออนไลน์ทั้งเหนื่อยและลำบากมาก ตอนแรกรู้สึกกังวลเรื่องการหางาน แต่พอสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้นกลับต้องกังวลเรื่องโควิดมากกว่าค่ะ กังวลว่าคนในครอบครัวจะอยู่รอดไหม พ่อแม่ไปฉีดวัคซีนที่หน่วยงานจัดสรรไว้ให้จะปลอดภัยหรือเปล่า สถานการณ์โควิดในประเทศจะดีขึ้นหรือเปล่า ถ้าหากเรากลับบ้านจะติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ กลับไปแพร่ใส่คนที่บ้านไหม” บัณฑิตจบใหม่จากคณะอักษรศาสตร์กล่าว
ด้านบัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เธอไม่สามารถฝึกงานก่อนจบการศึกษาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริง ทำให้ขาดประสบการณ์การทำงาน ขณะที่บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์อีกคนเล่าถึงความกังวลของตัวเองว่า
“กลัวตกงานมาก เพราะเมื่อมีสถานการณ์โควิดเข้ามา บริษัทเขามีแต่จะคัดคนออก จะมีบริษัทที่ไหนรับคนเพิ่ม หรือต่อให้รับคนเพิ่มเขาก็ไม่พร้อมที่จะให้เงินเดือนที่เราพอใจ อีกทั้งยังต้อง work from home เป็นส่วนใหญ่ ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานกับเพื่อนร่วมงานไม่เต็มที่ ประสบการณ์ที่เราควรจะได้กลับได้น้อยลง”
เด็กจบใหม่ต้องการอะไร
ไม่ใช่ทุกปัญหาจะสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง บางปัญหาเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเด็กจบใหม่ เช่น ปัญหาจากครอบครัว สังคม และวิกฤตโรคระบาด เมื่อถามถึงสิ่งที่เด็กจบใหม่ต้องการให้ช่วยเหลือ บัณฑิตคนหนึ่งกล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องอำนาจการต่อรองค่าตอบแทนว่า
“ปัญหาของเงินเดือนขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ถ้าเกิด demand ของตลาด กับ supply ของมหาวิทยาลัย ออกมาเท่ากันจริงๆ คงไม่เกิดปัญหานี้ เพราะอำนาจต่อรองเรื่องเงินเดือนจะขึ้นอยู่กับเด็กจบใหม่มากขึ้น เพราะว่าตอนนี้เราพูดไปว่าเงินเดือนไม่พอ แต่ถามว่าบริษัทหรือหน่วยงานที่เขาจะจ้างก็ไม่สนอยู่แล้ว ในเมื่อตำแหน่งงานหนึ่งเสนอเงิน 15,000 บาท เด็กจบใหม่คนนี้ไม่เอา เขาก็เลือกคนที่ยื่นเงินเดือนต่ำสุดมาทำได้ ในกรณีที่คุณภาพของตัวเด็กมันเท่ากัน เป็นปัญหาที่แก้ยาก ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร”
ด้านบัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์มองว่า สิ่งที่เธอต้องการจริงๆ คือคนทั่วไปต้องให้เลิกตัดสินเด็กจบใหม่จากมุมมองความคิดแบบคนรุ่นเก่า
“คนรุ่นก่อนควรทำความเข้าใจว่า ยุคสมัยไม่เหมือนกัน จะใช้มุมมองของตัวเองมองเด็กจบใหม่คงไม่ได้ เพราะว่า ปัญหาของสมัยนั้นก็เป็นปัญหาของสมัยนั้น ปัญหาของสมัยนี้ก็เป็นปัญหาของสมัยนี้ อีกทั้งมุมมองความคิดของเด็กจบใหม่กับผู้ใหญ่ในสมัยนั้นไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือนเท่านี้สมัยฉันก็อยู่ได้ หากมองจริงๆ สมัยก่อนข้าวธรรมดาแค่ 20 บาท พิเศษ 25 บาท ในขณะที่สมัยนี้ธรรมดา 50 บาท พิเศษ 60 บาท เงินเดือนเพียงเท่านี้จะไปพอได้อย่างไร”
แต่เหนือสิ่งอื่นใด สำหรับวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออนาคตของเด็กจบใหม่ทั้งหมด บัณฑิตคนหนึ่งระบุว่า อยากเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะกู้วิกฤตได้
“ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่มีการแก้ไขเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กจบใหม่ คนที่จบไปแล้ว เด็กหลายคนไม่สามารถวางแผนอนาคตตัวเองได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนแบบนี้ หากเด็กจบใหม่อยากไปเรียนต่อนอก ซึ่งประเทศที่เราอยากไปศึกษาต่อไม่รับคนจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะสามารถไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศได้ หรือแม้แต่การทำงาน เด็กจบใหม่ไม่สามารถทำงานแบบมีประสิทธิภาพได้ เนื่องจาก work from home อีกทั้งหลายโรงงานปิด และไม่รู้จะเปิดเมื่อไหร่” บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์กล่าว
อนาคตของเด็กจบใหม่
แม้แผนที่วางไว้จะพังลง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่มีใครคาดคิดแต่สุดท้ายเด็กจบใหม่ทุกคนก็ต้องก้าวข้ามผ่านจุดนี้ไปให้ได้ เมื่อถามถึงแผนในอนาคตของตัวเองนับต่อจากนี้ไป บัณฑิตคนหนึ่งกล่าวว่า
“ขอลองกับงานนี้ไปก่อน ลองพยายาม ทุ่มเทดูว่าเราสามารถปรับตัวเข้ากับสายงานนี้ได้ไหม ดูว่าทำงานแล้วเราชอบไหม ประสบความสำเร็จไหม ทำแล้วไม่รู้สึกเครียดหรือกดดันกับงาน ลองทำไปก่อนจากนั้นค่อยมาวางแผนอีกทีว่าจะเอาอย่างไรต่อไป เบื้องต้นแอบคิดว่าอยากจะเรียนต่อ แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ อยากลองงานไปก่อนสักปีหนึ่ง”
เช่นเดียวกับบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ที่ต้องการลองค้นหาตัวเองจากงานที่ทำไปก่อนเช่นกัน
“คงทำกับบริษัทนี้ต่อไป ตอนนี้เราเป็นเด็กจบใหม่ทำงานตามที่เขาสั่ง ในอนาคตเราก็จะค้นพบว่าเราชอบด้านนี้เป็นพิเศษ ด้านนั้นเป็นพิเศษ พอเรารู้แล้วก็จะไปต่อยอดทางด้านนั้น”
ในขณะที่ บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์อีกคนกลับมองว่า อนาคตของตัวเองน่าจะอยู่ที่ต่างประเทศมากกว่า
“ในอนาคตคงหวังว่าจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ แก้ปัญหาที่ตัวเอง เพราะรู้สึกว่าตอนนี้มืดมน การบริหารของรัฐบาลนี้แย่มากๆ ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยไม่ว่าจะทั้งโควิด-19 หรือเศรษฐกิจ จึงคิดว่าย้ายไปอยู่ต่างประเทศง่ายที่สุด ส่วนตัวตอนนี้ก็ศึกษา เตรียมตัวเรื่องภาษาไปเรื่อยๆ หากประเทศเปิดเมื่อไหร่ คงไปต่างประเทศ จะได้มีลู่ทางมากขึ้น” บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์กล่าวทิ้งท้าย
Story: Pornnapat W