12 บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์ กล้องถ่ายรูป

12 บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์ กล้องถ่ายรูป

12 บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์ กล้องถ่ายรูป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กล้องถ่ายรูป เป็นอีกสิ่งประดิษฐ์ที่มีพัฒนาต่อเนื่องมานานกว่าพันปีและจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่หยุดพัฒนาตั้งแต่หลักการทำงานของกล้องรูเข็มถูกบันทึก มนุษย์ก็เริ่มเสาะหาวิธีการเก็บภาพความทรงจำจากแสงให้อยู่กับเรานานเท่านาน Sarakadee Lite ชวนย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์กล้องถ่ายรูปอีกครั้ง ผ่าน 12 บุคคลสำคัญของโลกผู้อยู่เบื้องหลังการกำเนิดกล้อง

4800x520-main-2

อิบน์ อัลฮัยษัม 

ผู้บันทึกหลักการ “กล้องรูเข็ม”

หลักการทำงานของกล้องรูเข็มนั้นมีบันทึกมาตั้งแต่ ค.ศ.1000 โดย อิบน์ อัล-ฮัยษัม (Ibn al-Haytham) หรือ อัลฮะเซน (Alhazen) นักวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์ชาวอาหรับ เขาเป็นบุคคลแรกที่บันทึกถึงหลักการทำงานของกล้องทาบเงา (Camera Obscura) โดยเขาได้เล่าถึงหลักการการทำงานของห้องมืดซึ่งเจาะรูเล็ก ๆ ให้แสงทะลุผ่านไปที่ผนังตรงข้าม สิ่งที่ปรากฏคือภาพของทิวทัศน์ภายนอกที่ฉายเป็นภาพกลับหัวบนผนัง

6800x520-main-1

โยฮันเนส เคปเลอร์

ริเริ่มคำว่า “Camera”

โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันผู้ค้นพบว่าดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี นอกจากนี้เขายังเป็นคนแรกที่ประดิษฐ์กระโจมกล้องรูเข็มสำเร็จเมื่อ ค.ศ.1620 ซึ่งเขาได้นำเลนส์และกระจกสะท้อนแสงติดที่ยอดกระโจม ฉายภาพลงมาที่กระดานวาดภาพ และตั้งชื่อกระโจมนี้ว่า Camera Obscura ซึ่งเป็นภาษาละติน โดยคำว่า Camera หมายถึงห้องที่มีหลังคาโค้ง ส่วน Obscura แปลว่ามืด และแน่นอนว่านี่เป็นที่มาของคำว่า Camera หมายถึง กล้องถ่ายภาพ ที่ใช้กันมาถึงปัจจุบัน

13-fix-800x520-main

โยฮัน ซาห์น

ออกแบบกล้อง ออบสคิวรา

หลังจากหลักการที่ทำให้เกิดภาพได้ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อ ค.ศ.1685 โยฮัน ซาห์น (Johann Zahn) ก็ได้เป็นผู้ออกแบบกล้องออบสคิวราขนาดเล็กที่มีกระบอกเลนส์ด้านหน้า และกระจกสะท้อนแสง 45 องศาด้านหลังนับเป็นกล้องที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ กล้องถ่ายรูป รุ่นต่อมาที่ประดิษฐ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19

7800x520-main-2

โจเซฟ นีเซฟอร์ เนียปส์

ภาพถ่ายภาพแรกของโลก

ค.ศ. 1814 ภาพถ่ายภาพแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นโดย โจเซฟ นีเซฟอร์ เนียปส์ (Joseph Nicéphore Niépce) ชาวฝรั่งเศส เขาเป็นคนแรกที่หาวิธีคงสภาพภาพถ่ายสำเร็จ โดยเขาได้ใช้แผ่นโลหะพิวเตอร์ (ดีบุกผสม) ฉาบยางมะตอยธรรมชาติ และติดตั้งในกล้องออบสคิวรา และเปิดกล้องให้แสงผ่านนานถึง 8 ชั่วโมงก่อนนำไปล้างด้วยน้ำมันจากดอกไม้ ทำให้ได้ภาพโพซิทิฟ (Positive) ภาพขาวดำ และสามารถคงสภาพของภาพถ่ายได้เป็นครั้งแรกของโลก โจเซฟตั้งชื่อกระบวนการนี้ว่าเฮลิโอกราฟี (Heliography) แปลว่า ภาพวาดโดยดวงอาทิตย์

9800x520-main-2

หลุยส์ ฌาคส์ มังเด ดาแกร์

เทคนิคการถ่ายภาพ “ดาแกโรไทป์”

หลังจากสารเคมีสำหรับบันทึกภาพถูกคิดค้นขึ้น หลุยส์ ดาแกร์ (Louis Daguerre) หรือชื่อเต็ม หลุยส์ ฌาคส์ มังเด ดาแกร์ (Louis Jacque Mande Daguerre) ศิลปินและนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสได้จับมือกับ โจเซฟนีเซฟอร์ เนียปส์ ร่วมกันพัฒนาสารเคมีที่ใช้ในการบันทึกภาพให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น นั่นคืออยู่คงทนและถ่ายภาพง่ายขึ้น โดยใช้แผ่นโลหะทองแดงอาบซิลเวอร์ไอโอไดด์ เป็นแผ่นรับภาพในกล้อง และใช้เวลาเปิดรับแสงเพียง 30 นาทีจากเดิมคือ 8 ชั่วโมง แล้วใช้ไอปรอททำให้เกิดภาพ จากนั้นใช้สารละลายเกลือแกงเพื่อรักษาภาพให้คงทน นับเป็นวิธีถ่ายภาพซึ่งทำได้สะดวกและได้รับความนิยมต่อมา แต่มีเรื่องเล่าว่าระหว่างการทำงานเนียปส์เสียชีวิตไปเสียก่อน เป็นเหตุให้ดาแกร์ตั้งชื่อกระบวนการถ่ายภาพตามชื่อของตนเองว่า “ดาแกริโอไทป์” (Daguerreotype)

8800x520-main-2

โจเซฟ เพ็ตซ์วาล

ประดิษฐ์เลนส์ถ่ายภาพ Portrait

ค.ศ. 1840 โจเซฟ เพ็ตซ์วาล (Joseph Petzval) นักประดิษฐ์กล้องชาวฮังการีได้ประดิษฐ์เลนส์ถ่ายภาพสำหรับพอร์เทรตโดยใช้เลนส์ 4 ชิ้นประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อลดความผิดเพี้ยนของภาพจากเลนส์แบบเดิมที่เป็นแบบชิ้นเดียว ซึ่งเลนส์ 4 ชิ้นได้รับความนิยมต่อมาเกือบ 1 ศตวรรษ

3800x520-main-2

จอร์จ อีสต์แมน

ผู้ให้กำเนิด กล้องโกดัก

จอร์จ อีสต์แมน (George Eastman) ชาวอเมริกัน เป็นผู้พลิกโฉมให้ การถ่ายภาพ เป็นเรื่องง่ายและกลายเป็นงานอดิเรกของคนทั่วโลก ด้วยผลงานการคิดค้นและประดิษฐ์ฟิล์มถ่ายภาพแบบม้วน และกล้องถ่ายภาพยี่ห้อโกดัก (Kodak) ซึ่งมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา

อีสต์แมนเปิดตัวฟิล์มเซลลูลอยด์โปร่งแสงของเขาครั้งแรกเมื่อค.ศ. 1889 ส่วนชื่อ Kodak เกิดขึ้นเมื่อค.ศ. 1888 พร้อมกับการวางจำหน่ายกล้องโกดัก เป็นกล้องถ่ายรูปกล่องไม้น้ำหนักเบา (Box Camera) มีฟิล์มมาให้ 100 ภาพ และที่มีสโลแกนว่า “You press the button – we do the rest.” กล้องถ่ายภาพ โกดักรุ่นแรกบรรจุฟิล์มเซลลูลอยด์เอาไว้ เมื่อผู้ใช้ถ่ายภาพจนหมดม้วนแล้วก็นำมาส่งให้ทางโกดักจัดการต่อให้ เป็นบริการแบบครบวงจร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพแบบ Snapshot ในปัจจุบัน

อีกหนึ่งผลงานสำคัญของอีสต์แมน คือการประดิษฐ์ฟิล์มม้วนออกวางจำหน่ายได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1889 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) พัฒนากล้องถ่ายภาพยนตร์เครื่องแรกได้สำเร็จ

ค.ศ. 1900 เขาได้เปิดตัวกล้อง BROWNIE ที่มีราคาวางจำหน่ายเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ และใช้ฟิล์มที่ขายในราคา 15 เซนต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง กล้องถ่ายรูป ได้และนิยมใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

10800x520-main-2

ออสการ์ บาร์นัก

คิดค้นกล้อง Leica I ขนาด 35 มม.

ค.ศ.1913 ออสการ์ บาร์นัก (Oskar Barnack) เริ่มคิดประดิษฐ์ กล้องถ่ายรูป ที่มีขนาดเล็กลงด้วยการลดขนาดฟิล์มถ่ายรูปให้เหลือความกว้างเพียง 35 มม.สำหรับถ่ายภาพยนตร์ และต้องใช้เลนส์ที่มีคุณภาพสูงเพื่อเก็บรายละเอียดภาพไว้ในฟิล์ม จากนั้นนำไปอัดขยายเป็นภาพขนาดใหญ่ได้ภายหลัง ซึ่งต่อมาในปีค.ศ. 1925 กล้องถ่ายรูปที่ใช้ฟิล์มขนาด 35 มม.เลื่อนฟิล์มตามแนวนอนโดยใช้เลนส์ฟิกซ์ขนาด 50 มม. ได้รับการผลิตออกจำหน่ายครั้งแรก ในชื่อ Leica I และนับแต่นั้นมาฟิล์ม 35 มม. ก็ได้รับความนิยมและกลายเป็นมาตรฐานของกล้องถ่ายรูปประเภทฟิล์มมาจนถึงปัจจุบัน

12800x520-main-2

วิลเลียม เฮอร์เชล

เริ่มใช้คำว่า “Photography”

ทุกอย่างย่อมมีที่มา และคำว่า Photography ก็เช่นกัน คำนี้มาจาก วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) นักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดัง โดยในปี ค.ศ.1839 เขาได้เขียนบทความโดยใช้คำว่า Photography หมายถึง การถ่ายภาพ และทำให้ต่อมาคำนี้เป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

2800x520-main-2

เฟรเดอริก สกอตต์ อาร์เชอร์

ค้นพบเทคนิค Wet Plate

เฟรเดอริก สกอตต์ อาร์เชอร์ (Frederick Scott Archer) ค้นพบการถ่ายภาพโดยใช้แผ่นกระจกเปียกสั่นไหวแสง เรียกว่า เพลตเปียก (Wet Plate) ใช้เวลาถ่ายที่เร็วกว่าและรายละเอียดของภาพที่มากกว่าการถ่ายรูปแบบเดิมที่เรียกว่าดาแกโรไทป์ (Daguerreotype)

11800x520-main-1

ดร.ริชาร์ด ลีช แมดด็อกซ์

ค้นพบเทคนิค Dry Plate

ดร.ริชาร์ด ลีช แมดด็อกซ์ (Dr.Richard Leach Maddox) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษเป็นคนแรกที่พัฒนา “เพลตแห้ง” (Dry Plate) ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าเพลตเปียกของ เฟรเดอริก สกอตต์ อาร์เชอร์ โดยเพลตแห้งใช้เจลาตินผสมซิลเวอร์โบรไมด์เคลือบแผ่นกระจกทำให้การถ่ายภาพสะดวกขึ้นเพราะไม่ต้องล้างภาพทันทีที่ถ่ายเสร็จเหมือนเพลตเปียกและทำให้ในเวลาต่อมาสามารถสร้าง กล้องถ่ายรูป เป็นกล้องที่ถือได้ด้วยสองมือ พกพาสะดวกเรียกว่า Box Camera

1800x520-main-2

เอ็ดวิน แลนด์

ผู้คิดค้นกล้องโพลารอยด์

ถ้าไม่มี เอ็ดวิน แลนด์ (Edwin Land) กล้องแบบสำเร็จรูปที่ถ่ายปุ๊บแล้วได้ภาพเลยหรือที่เรียกว่า โพลารอยด์ จะไม่ถือกำเนิดขึ้น โดยกล้องรุ่นแรกที่อัดภาพออกมาให้เองอัตโนมัติในเวลาไม่ถึงนาที คือ Polaroid Model 95 ซึ่งแม้จะมีราคาสูงในช่วงแรก แต่ก็มีการพัฒนาในรุ่นต่อ ๆ มาสำหรับตลาดทั่วไป และทำให้โพลารอยด์กลายเป็นหนึ่งในกล้องที่เคยมียอดขายสูงสุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook