ตกงานแต่หนี้ท่วมหัว จะจัดสรรปัญหาการเงินอย่างไร?

ตกงานแต่หนี้ท่วมหัว จะจัดสรรปัญหาการเงินอย่างไร?

ตกงานแต่หนี้ท่วมหัว จะจัดสรรปัญหาการเงินอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าคุณคือหนึ่งในผู้คนจำนวนมากที่ต้องตกงาน เพราะการระบาดของไวรัส COVID- 19 ขอให้ตั้งสติให้ดีและหันกลับมาจัดการหนี้สิน และการเงินของตนเองเพื่อที่จะได้วางแผนต่อไปว่าชีวิตเมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงินเดือนมาจุนเจือในทุกเดือน จะต้องบริหารจัดการกับหนี้สินที่มีอยู่อย่างไรบ้าง เพราะชีวิตมนุษย์เงินเดือนนั้นหลายคนอยู่แบบเดือนชนเดือน จะให้มีเงินเก็บเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใน 3-6 เดือนคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ถ้าอย่างนั้นมาดูกันว่า วิธีบริหารจัดการหนี้สินเมื่อคุณต้องตกงานควรจะทำอย่างไร

หาแหล่งเงินสดสำรอง

ในภาวะเศรษฐกิจเริ่มถดถอย ยิ่งมีการระบาดของไวรัส ไปทั่วโลกยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วแย่ลงไปอีก หลายคนตกงานชนิดไม่ทันได้ตั้งตัว หรือต้องปิดกิจการ แบบที่ยังงงๆอยู่ ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรสำรวจคือเงินสดที่มีอยู่ในมือว่า มีอยู่เท่าไร และจะใช้ได้นานแค่ไหน ถ้าสำรวจแล้วเงินสดในมือคุณสามารถประทังชีวิตอยู่ได้ในระยะสั้น

ทางเลือกที่สองคือการใช้เครดิตการ์ดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำรงชีวิต โดยเริ่มจากบัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยต่ำที่สุด เมื่อเต็มแล้วก็ค่อยย้ายไปอีกใบ และพยายามผ่อนชำระขั้นต่ำให้ได้ แต่ต้องจำไว้ว่า เครดิตการ์ดไม่ใช่ตัวช่วยที่ปลอดภัย แต่สามารถใช้ได้เมื่อถึงเวลาจำเป็น และเวลานี้ก็จำเป็นต้องเอาออกมาใช้ จนกระทั่งเมื่อเวลาของวิกฤตผ่านพ้นไป ทันทีที่คุณได้งานใหม่ หนี้สินแรกที่ต้องนำมาใช้คือ หนี้จากเครดิตการ์ด
จัดลำดับความสำคัญของหนี้ที่คุณมี

คนทั่วไปมีหนี้อยู่ไม่กี่อย่าง คือ หนี้ที่อยู่อาศัย หนี้รถ และหนี้บัตรเครดิต หรือบัตรผ่อนสินค้า ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือจัดลำดับ ความสำคัญของหนี้ที่คุณมีอยู่ เพื่อที่จะได้จัดสรรการเงินของตนเองได้ถูก

1. หนี้ที่อยู่อาศัย

ถ้าคุณเช่าห้องหรือเช่าบ้านอยู่ ให้คุยกับเจ้าของอสังหาที่คุณเช่าอยู่เพื่อผ่อนผันการชำระหนี้ หรือขอชำระบางส่วน แต่ถ้าคุณต้องผ่อนบ้านทุกเดือน ทุกธนาคารในเวลานี้มีมาตรการเยียวยา ซึ่งคุณสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อจ่ายแต่ดอกเบี้ย และพักชำระเงินต้น หรือพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในระยะเวลา 3-6 เดือน เมื่อยื่นเรื่องไปแล้วและได้รับการอนุมัติจะทำให้คุณหายใจได้ยาวขึ้นอย่างน้อยก็ 3 เดือน

2. หนี้รถยนต์ หรือ มอเตอร์ไซค์

เช่นเดียวกับหนี้ที่อยู่อาศัย เพราะลิสซิ่ง หรือบริษัทไฟแนนซ์นั้นมีมาตรการเพื่อช่วยลูกหนี้ในยามฉุกเฉินเช่นนี้อยู่แล้ว ดังนั้น การเดินหน้าเข้าหาเจ้าหนี้เพื่อเจรจาต่อรองคือสิ่งที่ลูกหนี้อย่างคุณต้องรีบทำให้เร็วที่สุด

3. หนี้การศึกษา

หนี้กองทุน “กยศ” นั้นเป็นหนี้ที่ปล่อยกู้โดยรัฐบาลเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน แต่ในภาวะที่เด็กจบใหม่มีแนวโน้มตกงานสูงนั้น หนี้การศึกษาก็กลายเป็นภาระหนักอึ้งของผู้ที่เพิ่งเรียนจบ หรือผู้ที่จบมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ต้องมาว่างงานอย่างคาดไม่ถึง ทั้งนี้ทาง กยศ ได้ออกมาตรการ ลดชำระหนี้ พักชำระหนี้ ผ่อนผันและชะลอการชำระหนี้ออกไป ซึ่งผู้ที่เป็นลูกหนี้ กยศ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ทุกคน

4. หนี้สาธารณูปโภค

หนี้ในลักษณะนี้คือหนี้ที่ต้องจ่ายทุกเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งหมดนี้มีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ แทบทั้งสิ้นทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ที่จะมีส่วนลดให้กับผู้ใช้บริการ ส่วนค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตนั้นต้องดูความสำคัญในการใช้งาน คุณสามารถลดแพคเกจ หรือสอบถามโปรโมชั่นที่ทำให้คุณจ่ายต่อเดือนน้อยลงได้

5. หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด

ในช่วงเวลาวิกฤติ มาตรการของทางธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ธนาคารทุกแห่งต้องมีมาตรการเพื่อช่วยลูกหนี้บัตรเครดิต (ที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้) และการขอความช่วยเหลือในมาตรการดังกล่าวก็ทำได้โดยง่าย ผ่านทางแอปพลิเคชันของทางธนาคาร ดังนั้น การจัดการหนี้บัตรเครดิตของคุณจึงไม่ใช่เรื่องยากและทำให้คุณไม่ต้องชำระหนี้อย่างน้อย 6 เดือนซึ่งจะพอให้คุณกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง

สิ่งที่ควรทำเมื่อวิกฤติผ่านพ้น

ระยะเวลา 6 เดือนในการผ่อนผันการชำระหนี้นั้น เป็นระยะเวลาที่นานพอจะให้คนตกงาน หรือ เจ้าของกิจการได้เริ่มต้นใหม่ แต่ถ้าบางคนยังไม่สามารถหางาน หรือ กลับมาค้าขายได้ คงต้องสำรวจตัวเองแล้วว่า ปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากสภาพเศรษฐกิจ แต่เป็นศักยภาพของตัวคุณเองที่ต้องกลับไปพัฒนาให้ดีขึ้นหรือไม่

สำหรับคนที่กลับมาตั้งหลักได้แล้วสิ่งแรกที่ควรทำคือจัดการเรื่องหนี้บัตรเครดิต ที่คุณผ่อนชำระขั้นต่ำ หรืออาจหยุดผ่อนชำระมาได้สักพัก การจัดการหนี้บัตรเครดิตควรทำให้หมดก่อนเป็นเรื่องแรก เพราะเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง จากนั้นค่อยกลับมาผ่อนชำระหนี้บ้าน และหนี้รถ หรือมอเตอร์ไซค์ให้กลับมาเป็นปกติ

หลังจากจัดระบบหนี้ได้เรียบร้อยแล้ว ควรหันกลับไปมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวคุณเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว คุณจะพบว่าการมีเงินสำรองในกรณีฉุกเฉินนั้นสำคัญมากเพียงใด เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นอีกบ้างในอนาคต ดังนั้น เงินสดสำรองจึงสำคัญมากและขอให้เริ่มเสียตั้งแต่วันแรกที่คุณผ่านพ้นวิกฤติมาได้ เพื่อที่ครั้งต่อไปหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมาอีก คุณจะสามารถอยู่ได้และกลับมาตั้งหลักใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook