วิธีเสพข่าวให้ไกลจาก “ข่าวปลอม” โดยที่ไม่ตกข่าว

วิธีเสพข่าวให้ไกลจาก “ข่าวปลอม” โดยที่ไม่ตกข่าว

วิธีเสพข่าวให้ไกลจาก “ข่าวปลอม” โดยที่ไม่ตกข่าว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีมากมายมหาศาล ในยุคที่คนสามารถทำสงครามกันได้ด้วยปลายปากกาหรือปลายนิ้วที่พิมพ์สัมผัส ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ข่าว” ในปัจจุบันถูกด้อยค่าความน่าเชื่อถือลงไปทุกที เพราะต่างคนต่างต้องการรายงานข่าวและแชร์ข้อมูลกันอย่างเร่งรีบ เพื่อแย่งชิงความเป็นที่หนึ่งเรื่องความสดใหม่ ทำให้ข่าวออนไลน์บางส่วนไม่ได้รับการกลั่นกรองคุณภาพและความถูกต้อง จึงทำให้หลายคนกลายเป็นเหยื่อที่หลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอมไปแบบไม่รู้ตัว

ข่าวปลอม (Fake News) หมายถึง ข่าวที่มีเนื้อหาที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง หลอกลวง หรือข่าวสร้างสถานการณ์ รวมถึงการเขียนข่าวที่ได้รับการสนับสนุนด้วยจุดประสงค์แอบแฝง มักนำเสนอในสื่อสังคมและแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ มากมาย โดยข่าวที่เข้าข่ายว่าอาจเป็นข่าวปลอมมักจะมีรูปแบบ เช่น

  • พาดหัวให้เร้าใจ เพื่อให้คลิก (Clickbait) โดยการใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัย เพื่อเรียกยอดการเข้าดู ทั้งที่เนื้อข่าวอาจไม่มีอะไรเลย
  • โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่ถูกคัดมา หรือสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจผิด
  • เสียดสีและล้อเลียน (Satire/Parody) อาจเป็นภาพหรือข้อความที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เรียกยอดผู้ชม
  • สื่อทำงานสะเพร่า (Sloppy Journalist) ในบางครั้งผู้สื่อข่าวอาจเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด
  • พาดหัวคลาดเคลื่อน (Misleading Heading) เป็นการใช้คำหรือข้อความในการพาดหัว เพื่อให้คนเข้าใจผิด หรือเรียกร้องความสนใจ เพื่อให้คนแชร์ต่อ ทั้งที่เนื้อหาอาจไม่ใช่เรื่องเท็จทั้งหมด
  • อคติและบิดเบือน (Bias/Slanted News) เป็นการผลิตเนื้อข่าวออกมา เพื่อสนับสนุนความคิด ความเชื่อตามอคติของผู้ใช้สื่อ โดยไม่สนใจว่า ข่าวดังกล่าวจะสร้างความเข้าใจผิด ๆ ต่อผู้รับสารหรือไม่

ฉะนั้น ยุคที่ใด ๆ ก็เป็นข่าวได้ ในฐานะคนเสพข่าวจึงต้องกลั่นกรองคุณภาพข่าว ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว ความถูกต้องของข่าว ข้อเท็จจริงของข่าวเอง รวมถึงอคติของตนเองในการรับข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม การเสพข่าวที่มีประสิทธิภาพ คือการวางตนเองเป็นกลางในการรับสาร วางคำว่าฝ่ายเรา ฝ่ายตรงข้ามลง เพราะจุดประสงค์ในการนำเสนอข่าว คือเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ๆ เท่านั้น แม้ว่าจะไม่ถูกจริต ไม่ถูกใจก็ตาม ส่วนจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ชอบไม่ชอบ ก็อยู่ที่การพิจารณาส่วนบุคคล

อย่างไรก็ดี ต่อให้ไม่ชอบ ก็ไม่ควรนำข้อมูลที่รับมาไปกระจายต่อในลักษณะบิดเบือน เพราะจะกลายเป็นต้นกำเนิดทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) และปลูกฝังความเชื่อผิด ๆ ในแบบที่คนกลุ่มหนึ่งอยากเชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้มีการเผยแพร่ข่าวปลอม ข่าวที่บิดเบือนความจริง ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมากในทุกแพลตฟอร์มในปัจจุบัน และลดทอนคุณค่าของคำว่า “ข่าว” ลงไปมาก

หลายครั้งที่ fake กับ fact แยกออกจากกันยาก แต่ความหมายและผลกระทบนั้นต่างกันมาก ซึ่งคนในยุคปัจจุบันจะมีวิธีการหลีกเลี่ยงข่าวปลอม หรือข่าวสร้างกระแสอย่างไร โดยที่ไม่ตกข้อมูลสำคัญจากข่าวประจำวัน และที่สำคัญ คือไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติที่คนต่างหวาดกลัวกับข้อมูลทุกอย่างที่ถูกนำเสนอเช่นนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าไม่เกี่ยวว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนฝ่ายใด เพราะถ้าเป็นข่าวแล้ว จะต้องเป็นเรื่องจริงเท่านั้น ส่วนจะเชื่อหรือจะนำไปใส่ความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ได้เป็นเรื่องส่วนบุคคล เพียงแต่มันจะ “ไม่ใช่ข่าว”

ติดตามข่าวจากสื่อหลัก

ปัจจุบันมีสื่อที่อ้างตัวเป็นแหล่งข่าวจำนวนมาก จริงบ้างไม่จริงบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือนำเสนอตัวเอง คนเหล่านี้มักสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นแหล่งข่าว เป็นวงใน เป็นผู้รู้ เพราะรู้ว่าข่าวสารสามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้ง่าย เรียกคนได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่มีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน ต่อให้ภายหลังจะรู้ว่าไม่เป็นเรื่องจริง แต่เพราะอคติในทฤษฎีสมคบคิด และห้องเสียงสะท้อนบดบังจนไม่สนถูกผิด ทำให้หลายแหล่งข่าวเสนอข่าวแบบเน้นความสนุก น่าสนใจ เล่นกับความรู้สึก ตอบโจทย์ความชอบของคน มากกว่าเน้นที่จะพูดความจริง

อย่างไรก็ดี ข่าวสื่อหลักปัจจุบันก็ขาดความน่าเชื่อถือไปมาก เพราะการหาข่าวของหลาย ๆ สำนักเปลี่ยนไป จากการลงหาข่าวภาคสนาม เปลี่ยนมาเป็นหยิบเอาประเด็นที่เกิดขึ้นหรือที่มีคนเริ่มพูดในโซเชียลมีเดียมาเล่า ชนิดที่ใช้เป็นแหล่งข่าวหลัก ดังที่เราเห็นว่าสื่อหลักปัจจุบันอ้างอิงข้อมูลว่ามาจาก “เพจดัง” ทั้งที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียนข่าว ข้อความนั้นมาจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้แค่ไหน เต้าข่าวหรือมีแหล่งข่าว ทำให้สื่อหลักบางสื่อก็กลายเป็นต้นตอของข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนเสียเองก็มี จึงต้องพิจารณาดี ๆ

เสพข่าวจากหลาย ๆ สำนัก

การตรวจสอบข้อมูลข่าว คือ เราไม่ควรเสพข่าวจากแหล่งข่าวแหล่งเดียว ในฐานะของผู้เสพข่าวหรือคนรับสารจะต้องไม่ผูกขาดการรับข่าวสารจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง เพราะมีโอกาสสูงที่จะทำให้อยู่ในห้องเสียงสะท้อนได้ การเสพข่าวจากหลาย ๆ แหล่ง จึงเป็นอีกวิธีตรวจทานข้อมูลว่ามีปรากฏในแหล่งข่าวสำนักอื่น ๆ หรือไม่ หากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เผยแพร่ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ข้อมูลเหล่านั้นก็อาจจะเป็นความจริง แต่ถ้าหากข้อมูลนั้น ๆ ไม่ปรากฏในแหล่งข่าวอื่น หรือตรวจสอบแล้วเนื้อหาไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าข้อมูลนั้นอาจเป็นเท็จ

เพราะความจริงแล้ว สิ่งที่เราได้เห็นได้อ่านผ่านข่าวจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ไม่มีทางบอกได้เลยว่าเป็นความจริงกี่เปอร์เซ็นต์ และการส่งต่อความจริงที่ไม่ชัวร์ ก็จะทำให่โลกของข้อมูลมีแต่ความไม่น่าเชื่อถือเต็มไปหมด มีหลายเว็บไซต์ที่ใช้วิธี copy กันมาแล้วทำเหหมือนเขียนข่าวเอง แต่ถ้าเช็กดี ๆ จะเห็นว่าคำผิดก็ไม่ตรวจ ผิดจุดเดียวกันนับสิบเว็บไซต์ และที่แย่กว่าคือแม้แต่สื่อหลักบางสำนักก็ไปเอาข่าวดัง ๆ ในโซเชียลมีเดียมาเล่าต่อ จึงต้องเสพข่าวจากหลาย ๆ ที่แล้วนำมาพิจารณา

เช็กแหล่งที่มา หาข้อมูลเพิ่มเติม

หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม ก็ต้องตรวจสอบหาแหล่งที่มา หาข้อมูลเพิ่มเติมของข่าวหรือภาพก่อนว่ามาจากแหล่งไหน เป็นเว็บปลอม เว็บเลียนแบบหรือไม่ น่าเชื่อถือเพียงใด ใครเขียนข่าว ระบุวันเวลา หรือสถานที่ไว้ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งสามารถเช็กได้ง่ายมากโดยการหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เป็นสำนักข่าว หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ ว่าข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หากไม่สามารถหาแหล่งที่มาได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นข่าวปลอม หรือแม้แต่ข่าวที่อ้างอิงมาจากผู้สื่อข่าว คนดัง หรือนักวิชาการ ก็ต้องเช็กข้อมูลให้แน่ใจก่อนเช่นกัน

ซึ่งวิธีสังเกตข่าวปลอมเบื้องต้นมีดังนี้

  • ตรวจสอบว่ามีเว็บไซต์หรือแหล่งข่าวอื่นที่เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่ หากมีเพียงแหล่งเดียวข่าวดังกล่าวอาจเป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ
  • บ่อยครั้งที่ข่าวปลอมมักจะใส่ภาพจากข่าวเก่า หรือภาพจากแหล่งอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน เพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือ โดยผู้ใช้อาจตรวจสอบที่มาของภาพที่ในโลกออนไลน์ว่ามาจากไหน เป็นภาพเก่า ภาพใหม่ หรือภาพตัดต่อ ใครเป็นเจ้าของภาพ สามารถทำได้โดยคลิกขวาที่ภาพ เลือกคำว่า “ค้นหาภาพนี้ใน Google” หรือ “Search Google for image” ระบบจะทำการค้นหาที่มาของภาพให้ทันที
  • นำชื่อข่าวหรือเนื้อหาบางส่วนในข่าว มาตรวจสอบใน Google ผู้ใช้อาจพบเว็บไซต์แจ้งเตือนว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หรืออาจพบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริง ที่ถูกเผยแพร่ในอดีต
  • ขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาโดยการสอบถามบนเว็บบอร์ดหรือติดต่อสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือให้ช่วยตรวจสอบ
  • แยกให้ออกระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น

ปัจจุบันมีแหล่งข่าวที่เป็นเพจ ช่อง หรือแอคเคาท์ตามโซเชียลมีเดียมากมายทุกแพลตฟอร์ม แต่ละแหล่งข่าวก็มีสไตล์ในการนำเสนอข่าวให้ดูน่าสนใจ น่าติดตาม เพื่อเรียกยอดไลก์ ยอดกดติดตาม ยอดคนดูคนอ่าน ซึ่งเนื้อข่าวที่อ่านแล้วดูสนุก มีอารมณ์ร่วม ก็ต้องรู้เท่าทันและแยกให้ออกว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นล้วน ๆ หรือผสมเอาความคิดเห็นของคนนำเสนอลงไปด้วยเพื่อให้ข่าวมีสีสัน ยิ่งข่าวมีสีสันมาก ก็เป็นไปได้มากว่าอาจจะบิดเบือนด้วย

ไม่ว่าคนที่ออกมาให้ข้อมูลจะเป็นผู้รู้มากแค่ไหน ก็ต้องแยกข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นอยู่ดี ความคิดเห็นก็คือความคิดเห็นไม่ใช่ความจริง จะนำมาตีความเป็นข่าวให้เป็นข้อเท็จจริงไม่ได้ เว้นแต่จะมีการพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นข้อเท็จจริง มีหลักฐาน คนเสพข่าวต้องพิจารณาด้วยหลักเหตุและผล ดูว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนโกหก ใครรู้จริง ใครรู้แบบกลวง ๆ เพราะจริง ๆ แล้ว เรื่องจริงมักเกิดขึ้นจากเหตุที่ไม่ซับซ้อนขนาดนั้น โดยที่มันพิสูจน์ได้ด้วยตัวของมันเอง

ใช้วิจารณญาณมากกว่าอคติส่วนตัว

ปัจจุบัน เรามักจะเสพข่าวสารแบบที่อยู่ในห้องเสียงสะท้อน นั่นคือดูเฉพาะสิ่งที่อยากดู ฟังเฉพาะสิ่งที่อยากฟัง และเชื่อเฉพาะสิ่งที่อยากจะเชื่อ รับสารโดยเอาความพอใจของตนเองเป็นที่ตั้ง ทั้งที่ความจริงแล้วการเสพข่าว คือ ต้องรับสารที่เป็น “ข้อเท็จจริง” เท่านั้น ฉะนั้น ขณะเสพข่าวต้องมีสติตลอดเวลาที่จะเตือนตัวเองว่าเอาอคติมาตัดสินหรือไม่ ข่าวที่ดีคือข่าวที่เสนอความจริงให้มวลชนได้ทราบ ไม่มีความรู้สึกส่วนตัวหรือใส่สีใส่ไข่ของผู้ที่ส่งสารและผู้ที่รับสาร ไม่ว่าจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ชอบใจ ไม่ชอบใจก็ตาม ต้องวางทุกอย่างลงก่อนเวลาเสพข่าว

การรับสาร ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า “ความคิดเห็น” ไม่ใช่​ “ความจริง” เพราะความคิดเห็นมาจากมุมมองของเราคนเดียวหรือจากคนกลุ่มเดียว ไม่เช่นนั้นหากรับมาแล้วแชร์ต่อแบบสุ่มสี่สุ่มห้าหรือข่าวที่ไม่จริง อาจจะเจอรถทัวร์มาลง สร้างความเสียหายให้ผู้อื่น ดีไม่ดีคือผิดกฎหมายด้วย จะต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่เชื่ออะไรง่าย ๆ ด้วยความอยากรู้ก่อน อยากแชร์ก่อน อยากแสดงความคิดเห็นก่อนตามความเชื่อของตนเอง เพราะต้องการเป็น “วงใน” จนไม่สนว่าถูกหรือผิด แบบเรื่องนั้นไว้ค่อยว่ากันทีหลัง

อย่าเพิ่งเชื่อคลิปหรือภาพที่เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” จากข่าว

เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและบิดเบือนความเป็นจริงได้ง่ายมาก โดยเฉพาะในยุคที่คนพร้อมจะเชื่อตามประสบการณ์หรืออคติของตนเอง ชอบใครก็เชื่อ ไม่ชอบใครก็ไม่เชื่อ โดยไม่มีพื้นฐานของข้อเท็จจริง ทั้งที่ความจริงแล้วการเสพข่าวไม่เกี่ยวกับว่าเราจะอยู่ฝ่ายใด เพราะข่าวต้องเป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่เมื่อมีภาพข่าวที่ถูกตัดทอนคำพูดมา หรือคลิปวิดีโอที่ตัดหัวตัดท้ายออก แล้วให้คนเสพนำส่วนที่เหลือมาจับต้นชนปลายเอง ก็คือข่าวที่บิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด ความเสียหาย และการสื่อสารก็จะผิดไปโดยทันที เพราะการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ความ

ฉะนั้น แค่มีคำคำหนึ่งหายไปจากภาพโปรย หรือคลิปที่ตัดมาตัดมาไม่ครบ แล้วปรากฏแต่เนื้อหาที่อาจสร้างความเข้าใจผิด ก็กลายเป็นข่าวปลอมได้แล้ว หากไม่แน่ใจว่ารูปภาพหรือคลิปที่ตัดมา แหล่งข่าวเป็นคนกล่าวเช่นนั้นจริง ๆ หรือไม่ ควรหาข่าวเต็ม เช่นคลิปสัมภาษณ์ฉบับเต็ม หรือบทความเต็ม ก่อนที่จะถูกตัดเอาบางส่วนมานำเสนอมาพิจารณาประกอบด้วย

สังเกตและตรวจสอบให้ชัวร์ก่อนเชื่อและก่อนแชร์ต่อ

ทุกวันนี้ หลาย ๆ ข่าวที่มีการแชร์ต่ออย่างรวดเร็ว มักจะเป็นข่าวที่พยายามจะใส่ความกลัว หรือเรื่องเกินจริงลงไปโดยมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง ยิ่งถ้ามีความพยายามจะทำให้ความคิดเห็นเป็นความจริงขึ้นมาให้ได้ คนทั่วไปก็ยิ่งแยกได้ยากว่าความจริงจริง ๆ คืออะไร สิ่งไหนที่ไม่รู้ก็ยิ่งน่ากลัว เมื่อข่าวความกลัวถูกส่งต่อด้วยความกลัว ความรู้ไม่จริง ทำให้โลกของข้อมูลเต็มไปด้วยเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ เกือบทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อเท็จจริงมารองรับ แล้วทำให้การเสพข่าวสารแต่ละครั้งกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าที่ควร

ฉะนั้น เรื่องของการสังเกตและตรวจสอบ จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คนในสังคมมีภูมิคุ้มกันในการเสพข่าวสาร หากข่าวที่เราอ่านเป็นเพียงข้อความที่เราคิดว่าถูกใจ แต่ไม่ได้มีคุณค่าใด ๆ ในแง่ของข้อเท็จจริง ก็ไม่ควรจะแชร์ต่อ เก็บไว้อ่านเพื่อความสะใจคนเดียว แต่หากพิสูจน์แล้วว่านี่เป็นข้อเท็จจริง เกิดขึ้นจริง และมีประโยชน์ต่อคนในสังคม ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้ฝั่งหนึ่งฝั่งใด ค่อยเชื่อและแชร์ต่อได้ ต้องแยกให้ได้ระหว่างสิ่งที่เกิดจริงกับสิ่งที่ถูกใจ

เพราะการเสพข่าวในยุคนี้ไม่ได้จบที่การอ่านและวิพากษ์วิจารณ์กันปากต่อปาก แต่เป็นการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งที่เราเห็นว่าการถกเถียงนั้นไร้ตรรกะ ใช้แต่อารมณ์ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเรื่องถกเถียงกันเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง เมื่อทุกอย่างกระจายไปเร็วและกว้างกว่าที่คิด ก็ก่อให้เกิดความแตกแยก แบ่งฝ่าย และสร้างความเกลียดชังกันได้โดยง่าย ที่สำคัญ กลายเป็นสงครามที่ใช้ “ข่าว” เป็นอาวุธ คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือประชาชนคนเสพข่าว ที่ไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จ

ระมัดระวังในการเสพข่าว

จากรายงานของ MIT ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก พบว่า “การเดินทางของข่าวปลอมนั้นรวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่าในทวิตเตอร์” เนื่องจากข่าวปลอมที่เกิดจากความพยายามปั่นกระแส มักกลายเป็น “Viral” ได้ง่ายกว่าข่าวอื่น ในเมื่อโลกออนไลน์มีคอนเทนต์มากมายที่พยายามจะขายให้เป็นข่าว จากคนที่สถาปนาตนเองว่าเป็นผู้นำทางความคิด จึงมักจะมีการนำเสนอในลักษณะของความอยากเด่น อยากดัง อยากเป็นผู้รู้ อยากเป็นวงใน เพราะต้องการยอดไลก์ยอดติดตามอยู่บ่อยครั้ง ในฐานะประชาชน เราจึงต้องระมัดระวังในการเสพข่าวด้วย

โดยเฉพาะข่าวที่มีพาดหัวแบบแรง ๆ ใช้คำกำกวม หรือใช้คำที่ตีความได้หลายทาง ใช้คำโปรยให้ดูน่าตื่นเต้นเร้าใจ ในลักษณะ “ตีหัวเข้าบ้าน” เพื่อเชิญชวนให้คลิกเข้าไปอ่านเนื้อข่าว ทว่าในเนื้อหาข่าวจริง ๆ นั้น ไม่ได้มีรายละเอียดตามที่โปรยเอาไว้ เพียงแค่ต้องการยอดคนคลิกเข้ามาดูเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องผิดที่จะพาดหัวข่าวให้น่าสนใจ แต่จะต้องไม่เกินจริง ไม่สร้างความเข้าใจผิด ไม่สร้างความขัดแย้ง ที่สำคัญคือ จะต้องไม่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของเนื้อข่าวและสื่อที่นำเสนอข่าวด้วย ทั้งหมดนี้คนเสพข่าวจะต้องพิจารณาให้ดี ๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook