7 สิ่งที่ควรเอาออกจากเรซูเม่ พร้อมเหตุผลว่าทำไม!
ปกติแล้ว เรามักจะเห็นคอนเทนต์เกี่ยวกับข้อมูลหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ควรใส่ในแผ่นประวัติย่อหรือเรซูเม่ (Resume) เพื่อให้ประวัติของผู้สมัครงานน่าสนใจ เพิ่มโอกาสในการเป็นผู้ที่ถูกเลือกให้ได้ผ่านเข้าสู่รอบสัมภาษณ์ ซึ่งก็ประโยชน์ในการสมัครงานของตัวผู้สมัครเอง
แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว มีข้อมูลหลาย ๆ อย่างที่ไม่จำเป็นต้องนำมาใส่ในเรซูเม่อีกต่อไป เพราะข้อมูลเหล่านั้นมันจะกลายเป็นขยะที่ทำให้เปลืองเนื้อที่กระดาษไปมากพอสมควร รวมถึงอาจส่งผลเสียต่อโอกาสในการสัมภาษณ์ ดังนั้น หากคุณต้องการจะเขียนเรซูเม่ที่เชิญชวนให้ “จ้างฉันทำงาน” คุณจำเป็นต้องพิจารณาคำทุกคำ ตัวเลขทุกตัว จำนวนบรรทัด และสิ่งที่คุณคิดว่ามันจำเป็นที่สุดที่จะทำให้ฝ่ายบุคคลหรือบริษัทจะเลือกเรซูเม่ฉบับนี้ของคุณขึ้นมาพิจารณา ซึ่งนี่คือ 7 สิ่งที่ควรเอาออกจากหน้าเรซูเม่ของคุณได้แล้ว พร้อมเหตุผลว่าทำไมต้องเอาออกด้วย
1. งานอดิเรกและความสนใจที่ไม่เกี่ยวข้อง
ทุกคนมีงานอดิเรกที่ตนเองสนใจและทำในเวลาว่าง และคนส่วนใหญ่ก็คิดว่าการใส่งานอดิเรกลงไปเยอะ ๆ จะทำให้ตนเองดูโดดเด่นจากผู้สมัครคนอื่น ๆ อีกทั้งยังแสดงถึงตัวตนของตัวเองด้วย ทว่าคนที่คัดเลือกประวัติของคุณขึ้นมาพิจารณานั้น เขาไม่ได้สนใจเท่าไรหรอกว่าคุณทำอะไรในเวลาว่าง อย่างน้อยที่สุดก็ในเวลานี้ที่เขาจะไม่สนใจ เพราะพวกเขามีกองประวัติย่อของผู้สมัครงานมากมายที่ต้องตรวจสอบ ฉะนั้น พวกเขาจะเน้นหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงตามที่บริษัทต้องการเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถใส่งานอดิเรกของคุณเข้าไปได้ ในกรณีที่งานอดิเรกนั้นเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่คุณสมัคร อย่างเช่น หากคุณสมัครงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การที่คุณใส่งานอดิเรกว่าชอบศึกษาการลงทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัลนั้นถือเป็นข้อดี แต่ถ้าคุณกำลังสมัครงานเป็นผู้ช่วยวิจัยทางการแพทย์ งานอดิเรกนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องเลย
2. Soft Skills ที่เยอะเกินไปหน่อย
Soft Skills ถือเป็นทักษะที่บริษัทยุคใหม่มองหาในตัวผู้สมัครงาน และก็จำเป็นต้องฝึกฝนและพัฒนาด้วย แต่คุณไม่จำเป็นต้องใส่ทักษะประเภทนี้เข้าไปมากมายขนาดนั้น นอกจากมันอาจจะดูเกินจริงไปหน่อยแล้ว ผู้ที่คัดเลือกประวัติย่อของคุณเขาก็อาจจะจับโป๊ะได้อยู่ดี ว่าคุณอาจจะโม้มากเกินไป จนอาจทำให้คุณดูไม่น่าเชื่อถือก็ได้
ในหน้าเรซูเม่ของคุณควรจะเน้นข้อมูล Hard Skills มากกว่า สำหรับ Soft Skills ที่จะใส่ในเรซูเม่ ต้องมั่นใจว่าจะแสดงให้ผู้สัมภาษณ์งานเห็นได้ ในกรณีที่คุณเป็นผู้ที่ถูกเลือก พวกเขาจะได้รู้ว่าคุณไม่ได้ใส่มาเพื่ออวดอ้างสรรพคุณตัวเองเกินจริง หรือแทนที่คุณจะบอกว่าคุณสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้ดี ลองปรับเป็นว่าคุณใช้ทักษะที่ว่านั้นกับโครงการอะไรสักอย่างที่คุณทำ แล้วช่วยให้ศักยภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงานโครงการนั้น ๆ เพิ่มขึ้น…เปอร์เซ็นต์ จะเห็นภาพชัดเจนกว่า
3. ไม่จำเป็นต้องใส่รูปถ่าย
ในหน้าเรซูเม่ คุณไม่จำเป็นต้องใส่รูปถ่ายของคุณ เว้นแต่ว่าคุณส่งประวัติไปสมัครเป็นนักแสดงหรือตำแหน่งงานที่จำเป็นต้องพิจารณารูปร่างหน้าตา เพราะการใส่รูปถ่ายลงในเรซูเม่ อาจจะเป็นข้อเสียมากกว่าข้อดีสำหรับตัวคุณเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กจบใหม่ ผู้คัดเลือกบางคนเขารู้สึกว่ามันดูไม่ค่อยเป็นมืออาชีพเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีโอกาสที่รูปถ่ายจะทำให้แผ่นเรซูเม่ของคุณมีปัญหาทางเทคนิคบางอย่างได้
ที่สำคัญ นี่ข้อเสียที่ใหญ่หลวงมาก เพราะรูปภาพที่แสดงรูปลักษณ์ภายนอก การแต่งกาย เพศ เชื้อชาติ หรืออะไรต่าง ๆ ของคุณอาจนำไปสู่การตัดสินคนที่ภายนอกด้วยอคติได้ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารูปลักษณ์ภายนอกคือปราการด่านแรกที่ทำให้คนประทับใจ ยิ่งการเลือกผู้ที่ผ่านการสัมภาษณ์งานจากแผ่นกระดาษด้วยแล้ว พวกเขาไม่อาจสัมผัสความดีงามหรือความสามารถของคุณได้ รูปถ่ายจึงอาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้คัดเลือก แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้น ถ้าอยากจะผ่านเข้าไปสู่รอบสัมภาษณ์ แล้วแสดงของดีจากภายใน อย่าใส่รูปถ่ายของคุณ!
4. สรรพนามแทนตัวเอง
มีผู้สมัครงานจำนวนไม่น้อยที่ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 (แทนตัวเอง) ในหน้าเรซูเม่ เช่น ฉัน เรา ข้าพเจ้า ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องใส่เลยด้วยซ้ำ กระดาษแผ่นนั้นคือประวัติย่อของคุณอยู่แล้ว ทุกอย่างในแผ่นกระดาษมันก็คือข้อมูลของตัวคุณเองอยู่แล้ว จะใส่สรรพนามแทนตัวเองให้เปลืองเนื้อที่กระดาษทำไม ดังนั้น แทนที่จะเขียนว่า “ฉันเป็นหัวหน้างานที่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา 100 คน” ให้ตัดสรรพนามทิ้ง แล้วใช้ “ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา 100 คน” แทน จะดูเป็นมืออาชีพกว่า
5. ใช้อีเมลบัญชีล้าสมัย
การทำงานยุคใหม่ ขับเคลื่อนการทำงานด้วยเทคโนโลยี และที่สำคัญ ผู้สมัครที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยี (อย่างน้อยก็เก่งในระดับพื้นฐาน) ก็เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน นั่นหมายความว่าคุณควรบัญชีอีเมลที่ล้าสมัย เช่น AOL หรือ Hotmail ออกได้แล้ว แล้วสมัครอีเมลใหม่อย่าง Gmail หรือ Outlook แทน การสมัครอีเมลใหม่ไม่ได้ยากอะไร นอกจากนี้ควรตั้งชื่ออีเมลให้เป็นทางการ ดูเป็นมืออาชีพ และดูน่าเชื่อถือด้วย
เพราะที่อยู่อีเมลอย่าง Gmail หรือ Outlook นั้นมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายมาก และใช้เชื่อมต่อกับโปรแกรมอื่น ๆ ได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งมันเอื้อและตอบโจทย์การทำงานในยุคปัจจุบัน ส่วนบัญชีอีเมลที่มีฟังก์ชันไม่ทันสมัย ทำได้แค่รับ-ส่งอีเมล คุณก็เก็บไว้ใช้งานส่วนตัว ไม่ต้องกรอกอีเมลนี้ลงไปในเรซูเม่ของคุณ
6. ใส่ที่อยู่ทางไปรษณีย์
คุณอาจเคยถูกสอนมาว่าให้ใส่ที่อยู่ทางไปรษณีย์ลงไปในเรซูเม่ด้วย แต่ปัจจุบัน ที่อยู่มันไม่ได้จำเป็นต่อการสมัครงานอีกต่อไป หากคุณผ่านเข้าสู่รอบสัมภาษณ์ บริษัทจะติดต่อคุณผ่านเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลของคุณมากกว่า แทบจะไม่มีใครส่งจดหมายมาเชิญไปสัมภาษณ์งานแล้ว
ดีไม่ดียังไม่ปลอดภัยต่อตัวคุณเอง เพราะเสี่ยงที่จะถูกนำที่อยู่ไปใช้ในทางที่มิชอบหากข้อมูลที่อยู่คุณถูกขโมย เช่น มิจฉาชีพที่ส่งของมาตามที่อยู่คุณเพื่อเรียกเก็บเงินปลายทาง หรือแม้แต่ผู้ร้ายที่อาจแวะเวียนมาดูลาดเลา การที่คุณทำงานไกลบ้านหมายความว่าคุณจะมีเวลาอยู่บ้านน้อยลง หรืออาจบังเอิญรู้เข้าว่าคุณพักอาศัยอยู่ตัวคนเดียว โดยเฉพาะผู้หญิง อันตรายจะมาหาคุณโดยไม่รู้ตัว
ที่สำคัญ บริษัทไม่จำเป็นต้องรู้ที่อยู่อาศัยที่แน่ชัดของคุณในกระบวนการเบื้องต้น ส่วนใหญ่บริษัทต้องการคนทำงานที่มีที่อยู่ที่ไม่ไกลกับบริษัทมากนัก เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง เนื่องจากการเดินทางนาน ๆ มันเสียเวลาและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น หากที่อยู่ของคุณอยู่ไกลเกินไป เรซูเม่คุณอาจถูกตัดทิ้งโดยทันที แต่คุณเองก็ต้องพิจารณาด้วยว่าการเดินทางของคุณไม่ลำบากจนเกินไป อย่าคิดเพียงว่าขอแค่ให้ได้งาน แรก ๆ อาจทนได้ แต่นาน ๆ เข้า มันคือการทรมานตัวเองโดยไม่จำเป็น
7. ตำแหน่งงานที่นานกว่า 10-15 ปี
แทนที่คุณจะเกริ่นประสบการณ์การทำงานที่ล้าสมัย ซึ่งยาวนานเกิน 10-15 ปี ให้คุณใช้พื้นที่กระดาษที่มีอยู่จำกัดนั้นให้มีค่าที่สุด เพื่อสรุปความสามารถ ประสบการณ์ และความสำเร็จล่าสุดของคุณดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่ามันจำเป็นกับการหางานทำในยุคปัจจุบันมากกว่า เพราะบริษัทก็ต้องพัฒนาให้ทันยุคทันสมัยเหมือนกัน
เว้นแต่ว่าถ้าคุณเป็นเด็กจบใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์หลายสิบปี ก็ควรยกเอาประสบการณ์เด่น ๆ ที่ค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับงานมาสัก 4-5 ตำแหน่ง ที่ผ่านมาไม่เกิน 10-15 ปี หรือหากเป็นบริษัทใหญ่ ๆ บริษัทที่มีชื่อเสียง หรือมีความเกี่ยวข้องมาก ๆ กับงานที่คุณต้องการ คุณถึงค่อยยกตำแหน่งที่เก่ากว่ามากล่าวอ้าง ก็น่าจะยังมีผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมัครงานสนใจข้อมูลตรงส่วนนี้เหมือนกัน