วิธีรับมือเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านหัวโบราณมากเกินไปแล้ว!

วิธีรับมือเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านหัวโบราณมากเกินไปแล้ว!

วิธีรับมือเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านหัวโบราณมากเกินไปแล้ว!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บ้านใดที่มีญาติผู้ใหญ่วัยสูงอายุ (หรืออาจจะแค่วัยทอง) น่าจะเคยประสบปัญหาอย่างหนึ่งคล้าย ๆ กัน คือคุยกับผู้ใหญ่ได้ดี ๆ ไม่เกิน 5 นาที เมื่อใดก็ตามที่มีเรื่องของความเชื่อเก่าความคิดใหม่เข้ามาอยู่ในวงสนทนา ความคิดความเชื่อแบบที่ต่างฝ่ายต่างคาดหวังให้เราทำแบบนั้น เมื่อบวกกับช่องว่างระหว่างวัยด้วยแล้ว กลายเป็นชนวนสงครามกลางบ้านได้ไม่ยากเลย

เพราะตัวเราเองกับผู้ใหญ่เกิดมาในยุคสมัยที่ต่างกัน เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูแล และปัจจัยทางสังคมที่ต่างจากปัจจุบัน อะไรที่เคยใหม่มากๆ ในสมัยนั้น ได้กลายเป็นของของเก่าหรือล้าสมัยแล้วในสังคมทุกวันนี้ ทำให้ระบบความคิดและกรอบความเชื่อแตกต่างกันไปด้วย ค่านิยมต่างๆ ที่ใช่ในสมัยนั้น ทุกวันนี้มันก็อาจไม่ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่อีกต่อไปแล้วเช่นกัน เมื่อคน 2 ยุคสมัย ที่ต่างเรียกกันว่า “หัวโบราณ” และ “หัวสมัยใหม่” มาเจอกันปัญหาก็อาจจะตามมา คนรุ่นใหม่จึงต้องใช้ทักษะบางอย่างในการอยู่ร่วมกันกับคนต่างวัยให้ดีที่สุดเพราะจะได้ไม่เกิดความขัดแย้ง

แล้วยิ่งถ้า 2 ฝ่ายพยายามจะจูนกันแล้วแต่ไม่ติด เพราะคนรุ่นใหญ่เชื่อว่าคนรุ่นพวกเขานี่แหละที่บุกเบิกและกำหนดทุกอย่างขึ้นมาจนมาได้ไกลขนาดนี้ รวมถึงเป็นคนที่เลี้ยงคนรุ่นใหม่มาด้วย ตรงกันข้ามคนรุ่นใหม่ก็เห็นว่า โลกมันมาไกลขนาดนี้ อะไรที่ล้าสมัย ล้าหลัง ทำมาตั้งนานแล้วก็ยังไม่เจริญ ก็ถึงเวลาที่ต้องเลิกเสียที

การที่ผู้ใหญ่หัวโบราณนั้น ไม่ได้น่ากลัวเท่ากับการอคติ การต่อต้าน หรือการไม่ยอมรับความคิดความเชื่อใหม่ ๆ ในยุคปัจจุบันหรอก กระนั้นเมื่อผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเรา เราเองก็ต้องเข้าใจผู้ใหญ่ด้วยเช่นกันว่าทำไมพวกเขาถึงไม่เข้าใจ การเปิดการสนทนาที่ดี ให้เริ่มจากพูดคุยกับผู้ใหญ่อย่างไรไม่ให้ทะเลาะกันจนบ้านแตก แล้วค่อยเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

อย่าพยายามเปลี่ยนในสิ่งที่เขาเชื่อมานาน

ยิ่งช่วงวัยห่างกันมากเท่าไร หรือฝ่ายผู้ใหญ่มีอายุมากเท่าไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปเปลี่ยนสิ่งที่พวกเขาคิดหรือเชื่อมาทั้งชีวิต บางคนอาจโชคดีที่เจอผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังแล้วค่อย ๆ ปรับ ถึงจะยังไม่ได้เปลี่ยนความคิดความเชื่อไปโดยสิ้นเชิง แต่มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มีความมั่นใจสูง และอีโก้ก็สูงด้วย พวกเขาจะถือว่าตนเองแก่กว่า มากประสบการณ์กว่า เด็กเมื่อวานซืนนั้นด้อยกว่าทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ และที่สำคัญ พวกเขาจะหงายการ์ดว่าเป็นคนเลี้ยงเรามา พวกเขาจึงไม่เปิดใจฟังเด็ก ๆ เลย เพราะฉะนั้น การพยายามเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่พวกเขาเชื่อมานานมากนั้นเหนื่อยเปล่า

ยื่นเงื่อนไขแล้วพิสูจน์ให้เห็นว่าของใหม่ไม่ใช่เรื่องแย่

ยิ่งพูด ยิ่งคุย ยิ่งเหนื่อย ถ้าพวกเขาไม่พร้อมที่จะรับฟัง พูดให้ตายก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีแต่จะสุขภาพจิตเสียกันทั้ง 2 ฝ่ายด้วย เมื่อเป็นดังนั้น ลองยื่นเงื่อนไขให้พวกเขาดู บอกให้ลองทำดูสักครั้ง แค่ครั้งเดียวก็ได้ (อาจจะมีการท้าทายนิดหน่อยถ้าจำเป็น) แล้วมาพิสูจน์กันว่าความคิดความเชื่อใหม่ ๆ ไม่ใช่เรื่องแย่ ไม่ได้ทำให้อะไรในชีวิตแย่ลงกว่าเดิม เมื่อพวกเขาพิสูจน์และประจักษ์ด้วยตัวเอง พวกเขาก็จะตัดสินใจเองเช่นกันว่าจะทำสิ่งใหม่หรือจะกลับไปเชื่อแบบเดิม แรก ๆ อาจจะวางฟอร์มหน่อย ๆ เราก็ไม่ต้องไปเหน็บแนมอะไร ถือซะว่าภารกิจสำเร็จแล้วก็พอ

พูดให้น้อย ฟังให้มาก หูทวนลมบ้างก็ดี

เวลาที่มีเรื่องพยายามจะอธิบายให้ผู้ใหญ่เข้าใจ หรือเปิดใจรับฟังเรื่องใหม่ ๆ นั้น ยิ่งเราพยายามอธิบายหรือพูดมากเท่าไร จะยิ่งเป็นการเถียงหรือยอกย้อนมากเท่านั้น หลังจากนั้นอารมณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายจะคุกรุ่น จึงมักจะจบลงด้วยการโต้เถียงและทะเลาะกันเสมอ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้เข้าใจกันอยู่ดีว่าอีกฝ่ายคิดอะไร ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าน้ำเสียงเริ่มแข็ง จากพูดดี ๆ เปลี่ยนเป็นโวยวาย ให้เราหยุดพูดทันที ปล่อยให้อีกฝ่ายพูดไปจนพอใจ เดี๋ยวเหนื่อยก็หยุดเอง จะฟังหรือจะหูทวนลมก็ตามสบาย ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาชนะ

อารมณ์มาเมื่อไร กลายเป็นคนก้าวร้าวทันที

นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องหยุดโต้คารมทันเมื่อเริ่มมีน้ำโห การเอาชนะไม่ได้ช่วยอะไรเลย ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้รับฟังที่เราพูด แต่จะขัดอย่างเดียว ต่อให้เรายังควบคุมอารมณ์ได้และพยายามอธิบายต่อ ชักแม่น้ำทั้งห้า งัดหลักฐาน ทฤษฎีอะไรออกมา ฝ่ายผู้ใหญ่จะเห็นเราเป็นคนก้าวร้าวไปแล้ว ยิ่งถ้ารอบนี้เราเป็นฝ่าย (โต้แย้ง) ชนะ พวกเขาจะอคติกับเรามากขึ้นไปอีก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าไม่ว่าจะโต้แย้งอีกกี่ที ก็จะจบด้วยการทะเลาะกันบ้านแตกเสมอ ถ้ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก็พอเถอะ แล้วหันไปใช้วิธีพิสูจน์ให้เห็นเอา

เปลี่ยนจาก “ต่อต้าน” เป็น “ช่วยเหลือ”

อย่างที่บอกว่าผู้ใหญ่หลายคนมีความคิดความเชื่อแบบนั้นมาทั้งชีวิต พวกเขาผ่านชีวิตมานานด้วยความคิดความเชื่อนั้นจนชิน จึงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร ทั้งที่ความจริงพวกเขาอาจมองด้วยสายตาตัวเองเท่านั้น ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน เมื่อมีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาให้พวกเขาต้องเปลี่ยน ความไม่คุ้นเคยทำให้พวกเขาไม่ยอมรับ ถ้าเป็นแบบนี้เราเองก็อย่าพยายามต่อต้านความคิดพวกเขาเลย ต้องเข้าใจว่ามันยากที่จะเปลี่ยนความเคยชินเดิม ๆ แต่อะไรที่พอจะยื่นมือเข้าไปช่วยได้ ให้ใช้วิธีช่วยเหลือ ไม่ต้องพูดมาก พวกเขาจะรู้สึกว่าเราเป็นศัตรูน้อยลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook