5 งานดีไซน์ ออกแบบให้มนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกับ โควิด-19 อย่างปลอดภัย
นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ งานออกแบบมักถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหรือวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับวิกฤติโรคระบาด โควิด-19 ที่หลายประเทศเริ่มปรับแนวทางหาทางออกให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับโรคระบาดอย่างปลอดภัย ให้ทุกชีวิตยังคงเดินหน้าต่อได้อย่างไม่หยุดชะงัก ซึ่งนอกจากการคิดค้นวัคซีนแล้ว ในโลกของการออกแบบเองก็มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์งานดีไซน์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองทั้งในแง่ของฟังก์ชันการใช้งานและรูปแบบความงาม เช่นเดียวกับ 5 ผลิตภัณฑ์ งานดีไซน์ ที่ Sarakadee Lite ได้คัดสรรมา ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้วก็ยังสามารถช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
Handy
- ดีไซเนอร์ : Matteo Zallio & Giulia Scagliotti
- บริษัท / สตูดิโอ : MZ Design
- Project Location : สหรัฐอเมริกา
การสัมผัสเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นผลิตภัณฑ์แรกที่เราจะหยิบยกมาพูดถึงก็คือ Handy อุปกรณ์ลดการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสกลอนประตู การเปิดรถ หรือแตะต้องสิ่งของสาธารณะโดยตรง เจ้าแฮนดีชิ้นนี้ชนะรางวัลอุปกรณ์ส่วนตัวอเนกประสงค์ Silver Award14th International Design Awards 2020 เป็นงานออกแบบร่วมกันโดยมี มัตเตโอ ซาลลิโอ (Matteo Zallio) ซึ่งเป็นนักออกแบบและสถาปนิกมือรางวัลเป็นหัวหน้าทีมร่วมกับ จูเลีย สกาอิออตติ (Giulia Scagliotti)
ทั้งคู่ได้ตั้งโจทย์ใหญ่ไว้ว่า ทำอย่างไรให้ผู้คนหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุดผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปร่างคล้ายตะขอ ประกอบไปด้วยที่จับที่สามารถถือได้ด้วยสองนิ้วมือ มีจะงอยโค้งสองฝั่งสำหรับดึง เปิดประตู หรือถือสิ่งของ ทั้งยังมี 2 ตุ่มนูนออกมาให้ใช้งานได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นกดลิฟต์ กดเงิน หรือกดปุ่มโต้ตอบกับวัตถุ โดยระหว่างหัวโค้งจะงอยทั้งสองฝั่ง ตรงกลางจะถูกออกแบบให้เป็นลักษณะโค้งเพื่อเอาไว้ดันหรือผลักประตูหรือแขวนสิ่งของอื่น ๆ ตามความต้องการ ตัววัสดุทำมาจากโลหะสามารถรีไซเคิลได้ นำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง และง่ายต่อการทำความสะอาด เป็นมิตรกับผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยไหนหรือถนัดมือซ้ายหรือขวา
Social Mask
- ดีไซเนอร์ : Burzo Ciprian
- บริษัท / สตูดิโอ : Massachusetts Institute of Technology (MIT)
- Project Location : สหรัฐอเมริกา
Social Mask หน้ากากที่มีทั้งความสมาร์ต มินิมอล และทันสมัย ถูกออกแบบภายใต้โครงการ MIT’s Pandemic Response CoLab โดย Massachusetts Institute of Technology (MIT) วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือให้นักออกแบบ นักวิจัย วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ หรือใครก็ตาม นำการปกปิดใบหน้าเพื่อช่วยลดการแพร่กระจายไวรัส รวมทั้ง PPE (Personal Protective Equipment) มาใส่ งานดีไซน์ เสียใหม่ ผลงานที่ได้จึงเป็น โซเชียลแมสก์
ผลงานชนะเลิศได้รับการออกแบบโดย บูรโซ จิเปรียน (Burzo Ciprian) นักออกแบบและวิศวกรรุ่นเยาว์จากโรมาเนีย
มากกว่าการป้องกันไม่ให้เชื้อโควิด-19 กระจายผ่านละอองฝอยของน้ำลาย โซเชียลแมสก์ยังถูกออกแบบมาสำหรับตรวจจับผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ผ่านไบโอเซนเซอร์ (biosensors) และบลูทูทที่อยู่ด้านหน้าบนอุปกรณ์ สามารถถอดออกหรือเปลี่ยนได้ ส่วนด้านข้างประกอบไปด้วยระบบเครื่องกรองระบายอากาศ และเซนเซอร์จับอุณหภูมิกับจอแสดงผลที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชันเฉพาะ เช่น การติดตามอุณหภูมิ สถานะของอนุภาคละอองฝอย หรือแผนที่ตำแหน่งผู้ใช้โดยรอบ เมื่อหน้ากากรวบรวมข้อมูลข้างต้นมาได้ระบบจะทำการประมวลผลเป็นเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อ โควิด-19 ให้เราได้ทราบทันที
การทำงานของโซเชียลแมสก์คือ ตัวไบโอเซนเซอร์ด้านหน้าจะทำงานร่วมกับตัวรับเพื่อดักจับอนุภาคละอองฝอย และมีบลูทูทเป็นตัวส่งข้อมูลเหล่านี้ให้ผู้ใช้บนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ และเช่นเดียวกันกับเซนเซอร์อุณหภูมิด้านข้างก็จะส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ให้ผู้ใช้เช่นกัน ซึ่งนั่นแปลว่าหากทุกคนใช้โซเชียลแมสก์ผู้ใช้ทั้งหมดจะปรากฏบนแผนที่ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีโอกาสติดเชื้อได้
ทั้งนี้วัสดุของกรอบทำจากการพิมพ์ 3 มิติ ด้วยเส้นใยอีโค (Ecological Filament) ส่วนตัวหน้ากากมีวัสดุหลักเป็นพอลิคาร์บอร์เนต (Polycarbonate) และพอลิโพรพีลีน (Polypropylene) เพื่อให้ผู้แพ้ง่ายหรือไวต่อการระคายเคืองสามารถใช้งานได้ ลดความเสี่ยงในการแพ้ ที่สำคัญใส่ออกกำลังกายหายใจได้อย่างโล่งโปร่งกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป
PLEX’EAT
- ดีไซเนอร์ : Christophe Gernigon
- บริษัท / สตูดิโอ : Christophe Gernigon Studio
- Project Location : ฝรั่งเศส
คริสโตฟ เจอร์นิกอง (Christophe Gernigon) ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส ต้องการแก้ปัญหาการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทำให้เราไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกด้านสุนทรียศาสตร์ มีสไตล์เรียบง่ายแต่หรูหรา เขาเสนอแนวคิด ฮูดส์ (Hoods) หน้าตาคล้ายโคมไฟกระจกแบบแขวน มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถกลับมารับประทานอาหารที่ร้านได้อีกครั้งหลังจากล็อกดาวน์ ช่วยปกป้องทั้งพนักงานและลูกค้า ให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการร้านอาหารยังคงเคารพกฎของการเว้นระยะห่างด้วยรูปร่างเหมือนโคมไฟใส ๆ ขนาดใหญ่ และการออกแบบที่ถูกแขวนไว้เหนือโต๊ะสวยงาม คลุมล้อมทั้งตัวของผู้ที่กำลังนั่งรับประทานอาหาร ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อผ่านละอองฝอยในอากาศ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถคุยกันได้อย่างคลายความกังวล และยังคงอรรถรสในการรับประทานอาหารไม่ว่าจะกับเพื่อน ครอบครัว ลูกค้า ผู้ร่วมธุรกิจ หรือคนสำคัญ
โดยตัว PLEX’EAT มีความกว้าง 80 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร แผ่นคล้ายกระจกใสที่เห็นทำจาก PETG (วัสดุที่ใช้ทำขวดน้ำพลาสติก มีความทนทานและสามารถทนความร้อนได้) ตัวแผ่นใสถูกรีไซเคิลมาแล้วและสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ ชิ้นส่วนโปร่งใสสามารถถอดประกอบ ทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อกับผ้านุ่ม ทางด้านหลังของ PLEX’EAT จะถูกตัดให้โค้งขึ้นไปด้านบนเพื่อให้ผู้ใช้เข้าไปอยู่ด้านในได้สะดวก
โควิด-19
Handy Capsule
- ดีไซเนอร์ : Kiran Zhu
- บริษัท / สตูดิโอ : Ziinlife
- Project Location : จีน
มาสู่หมวดความสะอาดกันบ้าง ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ชิ้นนี้เป็นชุดสุขอนามัยพกพาขนาดกะทัดรัดที่เรียกว่า Handy Capsule ข้างในประกอบไปด้วย หน้ากากอนามัยสำรองแบบใช้แล้วทิ้ง เจลล้างมือ สติกเกอร์วัดอุณหภูมิ และผ้าแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดทำความสะอาด
Handy Capsule ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนลักษณะนิสัยด้านความสะอาดที่ดี ให้สุขอนามัยพกพานี้กลายเป็นรูปแบบการสื่อสารภาษาใหม่ที่สุภาพและเข้าใจง่าย เนื่องจากโดยทั่วไปหากพูดถึงผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุขหรือความสะอาด มักจะถูกนำเสนออย่างจริงจังและขาดการผนวกเข้ากับความงาม คิราน จู (Kiran Zhu) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Ziinlife จากเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ แฮนดีแคปซูลบอกว่าเขาต้องการออกแบบผลิตภัณฑ์สุขอนามัยให้มีความเป็นแฟชั่น ดูทันสมัย และสวยงามมากขึ้น เพื่อให้ผู้คนรู้สึกอยากใช้ด้วยความเต็มใจ ปรับเปลี่ยนนิสัยสาธารณสุขที่ดีให้เป็นเทรนด์ขึ้นมา
โดยขนาดของเจ้าแฮนดีแคปซูลมีความยาว 12.5 เซนติเมตร กว้าง 9 เซนติเมตร และหนาเพียง 2.5 เซนติเมตรเท่านั้น ตัวเคสของแคปซูลเป็นแบบนุ่ม ทำมาจากแผ่นอะลูมิเนียมที่มีรูปทรงนูนตามสิ่งของแต่ละชิ้นที่อยู่ภายใน รูปร่างของมันให้ความรู้สึกเหมือนก้อนหินปูถนน มีตัวล็อกแม่เหล็กในตัวเพื่อให้เปิดและปิดง่าย รวมทั้งมีสายรัดแบบคาดด้านข้างไว้สำหรับคล้องแขน ถือ หรือคล้องไว้กับกระเป๋าได้ด้วย
โควิด-19
Sterilising Lamp
- ดีไซเนอร์ : Frank Chou
- บริษัท / สตูดิโอ : Frank Chou Design Studio
- Project Location : จีน
ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ทุกชิ้นที่ผ่านมาดูจะเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้งานนอกบ้าน แต่เมื่อเราออกไปข้างนอกบ้าน สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่บ้าน ผลิตภัณฑ์โคมไฟฆ่าเชื้อ (Sterilising Lamp) ชิ้นนี้จึงออกแบบมาเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อภายในบ้านสเตอริไลซิงแลมป์เป็นหนึ่งในซีรีส์ผลิตภัณฑ์ของ Create Cures โครงการไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งได้ทำโปรเจกต์สร้างชุดผลิตภัณฑ์เพื่อปรับปรุงด้านสาธารณสุขหลังจากเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปกป้องทั้งผู้ใช้และคนรอบข้างจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยแฟรงก์ โจว (Frank Chou) ผู้ริเริ่มโครงการและผู้ออกแบบโคมไฟฆ่าเชื้อที่รวมแสงอัลตราไวโอเลต (UV) เข้ากับถาดฐานของโคมไฟเพื่อฆ่าเชื้อ ในขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่เป็นโคมไฟน่ารัก ๆ ได้ เหมาะมากที่จะตั้งไว้บริเวณทางเข้าบ้านเพื่อที่จะสามารถนำสิ่งของอย่างโทรศัพท์มือถือ กุญแจ หรือกระเป๋าสตางค์วางไว้ในถาดที่ฐานของโคมไฟทันทีที่กลับมาถึงบ้านเพื่อทำการฆ่าเชื้อก่อน
โดยวิธีการทำงานของสเตอริไลซิงแลมป์คือ เมื่อนำสิ่งของเข้าไปวางในฐานแล้ว เราจะต้องกดบนโคมหัวเห็ดเพื่อเปิดใช้งานแสงยูวีที่อยู่ด้านใน จากนั้นตัวโคมหัวเห็ดจะถูกลดระดับลงคลุมสิ่งของที่อยู่บนฐานโคมไฟ และจะกลับสู่ตำแหน่งปกติอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไป 60 วินาที เมื่อครบ 60 วินาที ของของเราที่วางไว้บนฐานโคมไฟก็ได้รับการฆ่าเชื้อเรียบร้อย
แฟรงก์ โจว หวังให้สิ่งที่เขาออกแบบขึ้นมาสามารถเข้ากับบ้านและกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของผู้คนได้ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาพร้อมฟังก์ชันและความสวยงาม ภายใต้แนวคิด ‘Unconscious Design’ (กระบวนการที่ทำให้การออกแบบนั้นง่ายและจับต้องได้ เริ่มนำมาใช้โดย นาโอโตะ ฟุกาซาวะ (Naoto Fukasawa) นักออกแบบชาวญี่ปุ่น เพื่อการฆ่าเชื้อที่จำเป็นต้องทำทุกวันในยุค โควิด-19 โดยที่เราไม่ต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของเราและไม่ต้องฝึกใช้งาน เพราะเพียงแค่กดบนเจ้าตัวโคมหัวเห็ดก็สามารถทำการฆ่าเชื้อได้แล้ว