พ่อแม่เคยรู้ไหม! ว่าทำไมลูก ๆ ถึงรู้สึกไม่ดีกับคุณ

พ่อแม่เคยรู้ไหม! ว่าทำไมลูก ๆ ถึงรู้สึกไม่ดีกับคุณ

พ่อแม่เคยรู้ไหม! ว่าทำไมลูก ๆ ถึงรู้สึกไม่ดีกับคุณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครอบครัวหรือบ้าน เป็นสถานที่ที่ทุกคนอยากให้เป็นที่ปลอดภัยและปลอบโยนที่สุดเวลาเผชิญกับเรื่องราวแย่ ๆ จากภายนอกมา แต่บ้านกลับไม่ได้เป็นที่ปลอบประโลมใจอันอบอุ่นสำหรับทุกคน และพ่อแม่บางคนก็ไม่ได้เป็นที่พึ่งที่ดีให้กับลูกเสมอไปด้วย ลูกบางคนถึงกับเปรียบบ้านเป็น “นรก” เลยก็มี เพราะมันเป็นที่ที่อยู่แล้วไม่มีความสุขที่สุดแล้ว

พ่อแม่ที่ทะเลาะกับลูกบ่อย ๆ เคยสงสัยไหมว่าทำไมคนบ้านเราถึงคุยกันดี ๆ แทบไม่ได้เลย สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากตัวพ่อแม่เองนั่นแหละ ที่เป็นคนสร้างบรรยากาศแบบนั้น และสร้างเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่รู้สึกแย่ที่สุดที่จะอยู่ ง่าย ๆ ก็คือ พวกเขาไม่โอเคที่จะอยู่บ้าน และไม่โอเคที่จะคุยกับพ่อแม่ ทั้งที่หลายครั้ง พวกเขาก็พยายามเต็มที่แล้ว

อันที่จริง ปัญหาที่ลูก ๆ ไม่โอเคกับพ่อแม่นั้นไม่ได้มีแค่เฉพาะพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น แต่ลูกที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้วหลายคนก็ยังเจอปัญหาเข้ากับพ่อแม่ตัวเองไม่ได้ ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป แล้วพ่อแม่เคยรู้บ้างไหมว่าสาเหตุที่ทำให้เรื่องเป็นแบบนี้ ตนเองทำอะไรกับลูกบ้าง ในที่นี้จะพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับพ่อแม่ตัวเอง นี่อาจจะทำให้คุณเข้าใจลูกมากขึ้นก็ได้ว่าคุณเองก็ทำร้ายลูกให้ลูกเจ็บเหมือนกัน พวกเขาอาจไม่ได้ถึงขั้นเกลียดคุณ แต่พวกเขารู้แย่และไม่โอเค

พวกเขาก็มีความรู้สึก! และบางทีคุณก็ไม่เคยคิดกลับกันว่าตอนเด็ก ๆ คุณก็อาจจะไม่ชอบให้พ่อแม่ตัวเองเป็นแบบนี้!

เปรียบเทียบกับลูกคนอื่น

ไม่มีใครชอบความรู้สึกด้อยค่าเพราะการเปรียบเทียบ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบว่า “ลูกคนอื่น” ดีกว่า พ่อแม่หลายคนเข้าใจว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้ลูกหลานเอาชนะคำสบประมาท แต่ความจริงแล้ววิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน และไม่เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน การด้อยค่าลูกหลานตัวเอง และการปลูกฝังความคิดให้เอาชนะคนอื่น ด้วยเหตุผลว่าจะไม่ได้รับความรัก ทำให้ไม่สนว่าวิธีที่จะได้มาซึ่งความสำเร็จนั้นทำร้ายคนรอบข้างหรือไม่ ขอแค่ชนะ ขอแค่ได้คำชม และไม่ต้องถูกเอาไปเปรียบกับใครอีก ที่สำคัญทำให้ 2 คนที่ถูกนำมาเปรียบกัน เกลียดกันทั้งที่ไม่รู้จักกันก็ได้ด้วย

เรื่องในบ้าน คนนอกรู้หมด

ส่วนใหญ่ พ่อแม่จะมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ “ชอบอวดลูก” เมื่อลูกตัวเองดูเหนือกว่าคนอื่น ๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือพ่อแม่อีกแบบคือ “สาวไส้ให้กากิน” เอาเรื่องไม่ดีหรือเรื่องที่ลูกมาปรึกษาไปเล่าให้คนอื่นฟัง ในขณะที่ลูกกลับรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องในบ้าน เรื่องของคนในครอบครัว ทำไมจะต้องให้คนนอกบ้านรู้ หลายคนไม่ชอบอยู่ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัดแบบนั้น เช่น สายตาที่มองมา หรือการซุบซิบนินทา ไม่ว่าจะเรื่องทางบวกหรือทางลบก็ตาม บางเรื่องคนเป็นลูกรู้สึกว่ามันน่าขายหน้าจนไม่อยากเก็บไว้ในความทรงจำ แต่ก็มีคนมาทำให้นึกถึงอยู่ตลอดเวลา

เปิดฉากมาก็ด่าทันที

พ่อแม่ที่เจอหน้าลูกปุ๊บก็เปิดฉากด่าในเรื่องที่ตนเองไม่พอใจทันที ไม่เริ่มต้นคุยดี ๆ ทั้งที่ก็ทำได้ หลายคนกลับบ้านมาเหนื่อย ๆ ยังไม่ได้กินข้าว พอเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ไม่มีอารมณ์จะกิน แถมยังต้องมารู้สึกหงุดหงิดโมโหอีก เข้าใจว่ามีเรื่องที่อยากจะพูด อยากจะตำหนิ แต่ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเปิดเรื่องด้วยความหัวร้อนและการด่าเสีย ๆ หาย ๆ จนอารมณ์คุกรุ่นทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มมาแบบนี้ใครจะอยากคุยด้วย ที่สำคัญคือการที่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายลูกได้พูดอธิบายอะไร แค่จะพูดในสิ่งที่ตนอยากพูดอย่างเดียว ไม่ถาม ไม่ฟัง จับผิด ทำอะไรก็ผิดไปหมด ก็คงไม่มีใครรู้สึกดี

ใช้ความรุนแรง ทั้งทางกายและวาจา

ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่เลี้ยงลูกมาแบบไหน ลงโทษทุบตีรุนแรง เพราะคิดว่าตนเองมีสิทธิ์ ลูกคือสมบัติของตัวเอง บางคนใช้ลูกเป็นรองรับอารมณ์ร้าย ๆ บางคนถูกจำกัดอิสรภาพ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุมเสมอ ที่ร้ายแรงมากคือการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการใช้ถ้อยคำด่าทอรุนแรง หยาบคาย เอาปมด้อยมาส่อเสียดทุกครั้งที่ทะเลาะกัน ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกด้านลบกับพ่อแม่ มีผลกระทบทางด้านจิตใจ เก็บกด และหลายคนก็เกลียดพ่อแม่ได้ด้วยเหตุผลนี้ ที่สำคัญ ลูกก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น และตอบสนองเพื่อเอาตัวรอดแบบผิด ๆ

ไม่เคยพยายามเข้าใจในมุมของลูก

การ์ดที่พ่อแม่ใช้บ่อยที่สุดเวลาที่ทะเลาะกับลูกก็คือ “ฉันเป็นคนเลี้ยงแกมานะ!” นี่เป็นการใช้อำนาจที่แสดงว่าตนเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่า ทุกอย่างที่ตัวเองคิดคือถูกหมด คนเป็นเด็กกว่าจะมารู้อะไร และมักจะชอบออกคำสั่งหรือตัดสินใจแทนลูกเสมอ โดยไม่เคยถามความต้องการหรือพยายามจะเข้าเหตุผลของลูกหากลูกปฏิเสธที่จะทำ การกระทำแบบนี้สร้างระยะห่างระหว่างพ่อแม่กับลูกมาก เขาไม่อยากคุยกับคนที่ไม่เข้าใจเขา ไม่แม้แต่จะฟังอะไร ทั้งที่ลึก ๆ แล้ว ลูกทุกคนหวังให้พ่อแม่เป็นที่พึ่งทางใจ และพ่อแม่บางคนก็เพิกเฉยต่อความรู้สึกของลูก คิดว่าไม่สำคัญ คิดว่าลูกจะไม่เป็นอะไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook