เข้าใจตัวเองจากภาษากาย เพื่อชีวิตที่มีความสุขขึ้น

เข้าใจตัวเองจากภาษากาย เพื่อชีวิตที่มีความสุขขึ้น

เข้าใจตัวเองจากภาษากาย เพื่อชีวิตที่มีความสุขขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปกติแล้ว เรามักจะสื่อสารกับคนอื่น ๆ ด้วยการสนทนาเป็นหลัก เราอยากรู้อะไรก็แค่ถามไป หรือเขาอยากให้เรารู้อะไรก็แค่บอก นั่นหมายความว่าเราจะรู้ว่าอีกฝ่ายส่งสารอะไรให้เราก็ต่อเมื่อเขาพูดมันออกมา แต่สำหรับบางคนแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เขาจะแสดงความทุกข์หรือคับข้องใจออกมาด้วยคำพูด หรือต่อให้พูดออกมาก็ใช่ว่าจะเป็นความรู้สึกจากใจจริง ๆ เพราะเงื่อนไข ข้อจำกัดของคนเราไม่เท่ากัน จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกได้ด้วยคำพูด หรือเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจที่แท้จริง

ถึงอย่างนั้น มันมีสิ่งหนึ่งที่โกหกไม่ได้ นั่นก็คือ ภาษากาย ต่อให้เขาคนนั้นจะเป็นคนที่เก็บอาการเก่ง เก็บความรู้สึกเก่ง ระแวดระวังเก่ง หรือว่าเล่นละครเก่งแค่ไหน หากเขาเผลอเขาจะหลุดความรู้สึกจากใจจริง ๆ ออกมา แค่แว่บหนึ่งสั้น ๆ เท่านั้นที่เราจะเห็นความอ่อนไหว ยิ่งถ้าเราใส่ใจ หมั่นสังเกตอาการช่วงเผลอของเขาอยู่สม่ำเสมอ เราจะพอมองออกทันทีว่าบางคนไม่ได้เข้มแข็งเหมือนที่แสดงออกอย่างที่ใคร ๆ มองเห็น

นี่เป็นจิตวิทยาทั่วไปที่จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาบำบัดใช้ในการซักประวัติผู้ป่วยจิตเวช การฟังภาษากายจากผู้ป่วยเป็นสิ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญ เพราะมันบอกถึงอาการป่วยได้พอ ๆ กับสิ่งที่พวกเขาพูดออกมา จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาบำบัดจะใช้อวัจนภาษาของผู้ป่วยมาช่วยประเมินภาวะสุขภาพจิตและกำหนดแนวทางการรักษา เพราะอาการป่วยทางจิตใจไม่ได้มีบาดแผลที่เห็นได้ชัดเหมือนกับแผลรถชน ไม่ใช่บาดแผลฉกรรจ์ แต่อาการอาจจะสาหัสไม่ต่างกันก็ได้

อย่างไรก็ดี ในการสังเกตภาษากายของผู้ป่วย จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเองก็ต้องมีสติมากพอที่จะรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าขณะที่ตนเอง “ฟัง” ทั้งเสียงพูดและ “ภาษากาย” ของผู้ป่วยนั้น ตนเองหลุดภาษากายอะไรออกมา เพราะพฤติกรรมหรือการแสดงออกของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ผู้ป่วยก็อาจมองออกเช่นกัน ว่าคนตรงหน้ามีอาการไม่มั่นคง หรือมีอารมณ์ร่วมจนแสดงความกระสับกระส่ายออกมา ผู้ป่วยอาจจะหยุดแสดงความในใจของตนเองออกมาเช่นกัน พวกเขาอาจไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจ ปิดกั้น ไม่แสดงอาการ และอาจจะยิ่งเก็บซ่อนความรู้สึกของตนเองมากกว่าเดิม

ภาษากาย ถึงไม่ได้ยิน แต่ก็ต้องฟัง

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเข้าใจภาษากายของใครบางคน ด้วยเราอาจจะไม่ได้ใส่ใจเขามากพอ หรือเขาเองก็เก็บอาการได้เก่งเหมือนกัน ที่สำคัญ ในบางสถานการณ์ เราก็ไม่อาจอนุมานข้อมูลจากภาษากายของใครได้ หากไม่มีข้อมูลด้านอื่นมาประกอบ แต่อย่างน้อยเราก็น่าจะสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนไปแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม อะไรที่ผิดปกติไปจากเดิม อะไรที่เขาเคยทำแต่ไม่ทำ อะไรที่เขาไม่เคยทำแต่กลับทำ นี่เป็นวิธีเบื้องต้นในการสังเกตบุคคลใกล้ตัวว่าเขาอาจจะมีความไม่สบายกายสบายใจอยู่หรือเปล่า ซึ่งถ้าเราเห็น เราก็พอจะช่วยเหลือเขาได้ หากเขาต้องการ

เช่นเดียวกัน เราก็ต้องฟังภาษากายของตนเองด้วย เพราะเราไม่อาจคาดหวังให้คนอื่นมาสังเกตเห็นความผิดปกติของเรา แล้วเข้ามาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หรือยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ จิตใจของเราเอง เราก็ต้องรู้ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร ไหวหรือไม่ไหว เพื่อที่จะได้ทำการช่วยเหลือหรือรักษาสภาพจิตใจของตนเองต่อไป

เพราะจริง ๆ แล้วตัวเราเองนี่แหละที่ควรจะเช็กภาษากายของตนเองอยู่เสมอ ให้รู้ว่าตอนนี้ตัวเองคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ แต่ส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยรู้ เนื่องจาก “เราไม่คุยกับตัวเอง” ทั้งที่การคุยกับตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนบ้า ตราบใดที่ไม่ได้ไปพูดหรือแสดงออกในที่สาธารณะให้ใครเขาเห็น หรือออกแนวเห็นภาพหลอน ภาพลวงตา แบบว่าเรากำลังพูดกับใครอีกคนหนึ่งที่มองไม่เห็น พูดง่าย ๆ ก็คือ รำพึงรำพันหรือบ่นกับตัวเอง

คุยกับตัวเอง ไม่ได้แปลว่าเราบ้านะ!

การพูดคุยกับตนเองก็ให้ประโยชน์แบบเดียวกันกับที่เราพูดคุยกับผู้อื่น คือ ทำให้เราเข้าใจตัวเราเองมากขึ้น และเราจะรู้ตัวเองว่ากำลังคิด กำลังทำอะไรอยู่ บางคนอาจพูดกับตัวเองในใจ แต่บางคนก็พูดออกเสียงแบบเสียงกระซิบที่ให้ตัวเองได้ยิน Ethan Kross ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of Michigan กล่าวถึงลักษณะในการพูดคุยกับตนเองว่ามีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

  • Instructional Self-talk คือ การคุยกับตัวเองเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำหรือรู้สึกอยู่ ณ เวลานั้น อย่างการพึมพำหรือบ่นงึมงำแบบออกเสียง คนรอบข้างอาจได้ยินแต่จับใจความไม่ได้ว่าเราพูดอะไร
  • Motivational Self-talk คือ การพูดอะไรบางอย่างกับตัวเอง เพื่อเป็นกำลังใจหรือแรงผลักดันให้กับตนเอง กระตุ้นความรู้สึกด้านบวก เราจะคุยกับตัวเองในลักษณะนี้เวลาที่ต้องการทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ

ทำไมการคุยกับตัวเองจึงมีความสำคัญ

ศาสตราจารย์ Ethan Kross อธิบายเรื่องนี้ว่า การพูดกับตัวเอง โดยแทนตัวเองเป็นบุคคลที่สองหรือสาม (เหมือนเรามีตัวเองอีกคนอยู่เป็นเพื่อน) ช่วยลดภาวะความเครียด ความกระวนกระวายในจิตใจได้ในระหว่างที่กำลังทำอะไรบางอย่าง ทำให้เรามีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ มีสมาธิ และรู้ว่ากำลังทำอะไร

นั่นหมายความว่ามันทำให้เรารู้ตัวว่า ณ เวลานี้เรากำลังทำอะไร คิดอะไรอยู่ มีสติที่จะไตร่ตรองกลั่นกรอง ว่าสิ่งที่ทำอยู่ ความคิดที่กำลังคิด จะมีผลอย่างไรตามมา ในเมื่อเรารู้ว่าตนเองต้องการอะไร เราก็จะตอบสนองสิ่งที่ตนเองต้องการได้

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สื่อสารกับตัวเองด้วยวิธีนี้ บางคนไม่ได้ใช้วิธีพูดคุยกับตัวเองเพื่อที่จะเข้าใจตัวเอง ไม่แม้แต่จะอยู่กับตัวเองเพื่อทบทวนตัวเอง ทำให้หลายคนก็ไม่เข้าใจตัวเองด้วยซ้ำว่าต้องการอะไร รู้สึกเคว้งคว้าง ว่างเปล่า ฉันเป็นใคร มาทำอะไรที่นี่ และอาจแสดงภาษากายบางอย่างออกมาตามสัญชาตญาณ เพื่อระบายออกถึงสิ่งที่พูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีสื่อสารกับตนเองวิธีหนึ่ง เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง

จริง ๆ แล้ว ภาษากายที่เราแสดงออกมาด้วยสัญชาตญาณ เป็นสิ่งที่เชื่อถือได้มากทีเดียว เพราะเราแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ ปรุงแต่งอะไรมาก จึงไม่มีการปิดกั้นสิ่งที่กำลังคิด ความรู้สึก ความอ่อนไหว ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้เราทำอะไรบางอย่างเพราะขาดสติหรือบันดาลโทสะ อย่างไรก็ดี เราจะระงับตนเองได้ หากเรารู้ทันตนเองว่ากำลังสติแตก และพยายามรวบรวมสติกลับมา แต่เราจะรู้ทันอารมณ์ของตนเองได้ เราก็ต้องสังเกตเห็นอาการผิดปกติของตนเองแล้วว่าเรากำลังอยู่ในภาวะที่อารมณ์ไม่ปกติ

ถ้าใครไม่เคยคุยกับตัวเองด้วยการคุยออกเสียงกับตัวเอง อาจจะใช้วิธีหันมาคุยกับอาการทางกายของตนเองดูก็ได้ ตระหนักรู้ในตนเองว่าร่างกายกับสื่อปฏิกิริยาอะไรออกมา ซึ่งมันจะสัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังคิด หรือความรู้สึกในจิตใต้สำนึก

การรู้ตนเองสำคัญอย่างไร

เพราะมันทำให้เรารู้ว่า ณ ขณะนี้ เรากำลังคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ กำลังทำอะไร เป็นไปในทางบวกหรือทางลบ เมื่อรู้แล้วจะได้ควบคุมตนเองได้ เช่น หากรู้ว่าตนเองกำลังจะสติแตก หรือกำลังจะฟิวส์ขาด ซึ่งอาจทำให้แสดงอารมณ์รุนแรงออกมาแบบไร้เหตุและผล ก็จะทำให้เราพยายามระงับตนเอง และพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ชวนหัวเสียนั้น หรือถ้าเรากำลังเครียด มีความทุกข์ เสียใจจนร่างกายร้องไห้ออกมา เราก็จะเริ่มรู้แล้วว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ตนเองดีขึ้น

ภาษากาย จึงเป็นกุญแจที่สามารถไขเข้าไปสู่จิตใต้สำนึกของมนุษย์ ในการเปิดเผยความคิด ความรู้สึก และเจตนาที่แท้จริงในจิตใจ เพราะคนเรามักจะไม่ค่อยตระหนักว่าตัวเองกำลังสื่อสารทางกายโดยปราศจากคำพูด จึงมีการนำจิตวิทยานี้มาใช้ประโยชน์ทางด้านอาชญาวิทยา อย่างเช่นการจับผิด จับโกหกอาชญากรจากภาษากายที่พวกเขาแสดงออกอย่างไม่รู้ตัว เพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ในใจ มันจะตอบสนองออกมาแบบฉับพลันโดยปราศจากการคิดและไตร่ตรอง

ภาษากายจึงมีความซื่อตรงมากกว่าคำพูดจากปาก ที่มักจะผ่านกระบวนการคิด และปรุงแต่งเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่าง นั่นทำให้บางทีคนที่สื่อสารกับตัวเองด้วยวิธีการพูดก็ต้องหันมาฟังภาษากายตนเองด้วย เพราะคำพูดที่เราพูดกับตัวเอง อาจเป็นไปได้ว่า “กำลังหลอกตัวเอง” ก็เป็นไปได้เหมือนกัน

ฉะนั้น การตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังแสดงพฤติกรรม หรือแสดงภาษากายอะไรออกมาจึงช่วยให้เรารู้ว่าตนเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่ลึก ๆ จุดนี้จะทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองขึ้นได้ เพราะเราจะพยายามทำให้ตนเองมีความสุขหรือพ้นจากความรู้สึกแย่ ๆ ในเวลานี้เมื่อรู้ว่ากำลังเป็นทุกข์ จะทำให้เราพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์หัวเสีย เพื่อระงับอารมณ์ที่พุ่งสูงปรี๊ดจนกำหมัดเพราะรู้ว่ากำลังโกรธจัด และอาจพลั้งมือทำอะไรร้ายแรงโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งถ้าถึงเวลานั้นมันก็ย้อนเวลากลับไปไม่ได้แล้ว จะอ้างว่ารู้เท่าไม่การณ์หรือบันดาลโทสะ มันก็ไม่ได้ทำให้สิ่งที่ทำลงไปหายไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook