อาชีพที่อาจหายไปภายในปี 2030 เพราะเทคโนโลยีแทนที่

อาชีพที่อาจหายไปภายในปี 2030 เพราะเทคโนโลยีแทนที่

อาชีพที่อาจหายไปภายในปี 2030 เพราะเทคโนโลยีแทนที่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายวันก่อน มีโอกาสได้อ่านเจอบทความที่คาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตเด็กไทยจะเลือกเรียนหมอกันน้อยลง โดยอาจจะหันไปขายของออนไลน์ หรือทำอะไรก็ตามที่อยู่บนโลกออนไลน์แทน สาเหตุที่กล่าวอ้างในบทความ คือ หมอนั้นเรียนยาก ทำงานหนัก และที่สำคัญเงินเดือนน้อยสวนทางกับภาระงาน ขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ก็เติบโตมากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย พวกเขาเล็งเห็นว่าการทำงานอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือใช้ช่องทางออนไลน์น่าจะรุ่งกว่าอาชีพหมอ ที่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเริ่มหาเงินได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ว่าในอนาคตอันใกล้ประมาณอีก 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้จะไปไกลและล้ำสมัยกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้ก็ถือว่าเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างล้ำมากเกินกว่าที่เราจะคาดคิดด้วยซ้ำ ชนิดที่ว่าก้าวหน้าไวมากจนปรับตัวแทบไม่ทัน ที่เห็นได้ชัดก็คือ ความฉลาดของ AI และ IoT รวมถึงพวกหุ่นยนต์ต่าง ๆ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์มากมาย ทั้งเรื่องของกำลังการผลิต การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ช่วยลดต้นทุน ความเสถียรของคุณภาพ เป็นต้น

ที่จริงมีการคาดการณ์มานานแล้วว่าอาชีพใดบ้างที่สุ่มเสี่ยงจะหายไปในอนาคตอันใกล้ เท่ากับว่าคนที่ประกอบอาชีพเหล่านั้นอยู่ในเวลานี้ ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกันที่จะกลายเป็นคนตกงานและว่างงานยาวในอนาคต

นั่นหมายความว่าอาชีพที่มีแนวโน้มว่าจะหายไป อาจหายไปด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพราะความทันสมัยของสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันก็จะมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อาจเป็นอาชีพที่ชื่อแปลก ๆ มันอาจฟังดูแปลกในวันนี้ แต่ใครจะรู้ มันอาจเป็นอาชีพทำเงินและเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากในอนาคตก็ได้

บทความนี้ขอเสนอ 12 อาชีพหลัก ๆ ที่เตรียมจะหายไปภายในปี 2030 มาดูว่าอาชีพของเราในขณะนี้ ปลอดภัยจากการแทนที่โดยเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้หรือไม่ ถ้ายังปลอดภัย เราก็ค่อนข้างปลอดภัยที่จะยังไม่ตกงานหรือว่างงานในช่วงเวลานี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเฉื่อยชาไม่พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง ในโลกที่การแข่งขันสูงมากเช่นนี้ ถ้าเราไม่เจ๋งพอก็เจ๊งได้ ถ้าเราอ่อนแอ เราก็ต้องแพ้ไป

1. ตัวแทนท่องเที่ยว

ที่จริงเราเลิกใช้บริการตัวแทนมานานมากแล้ว ตั้งแต่ที่เว็บไซต์การจองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก สามารถใช้งานได้สะดวกและง่ายดาย เราสามารถจัดการวันเที่ยวที่แน่นอนของเราได้เอง เลือกเที่ยวบินที่เราสะดวกและค้นหาที่พักตามงบประมาณที่เรากำหนดเอง ขอเพียงแค่มีบัตรธนาคารที่ใช้ชำระเงินได้และเวลาว่างที่จะท่องเว็บไซต์เพื่อหาจุดหมายปลายทางเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายเจ้าหันมาเลือกใช้บริการเว็บไซต์เหล่านี้แทน

ส่วนอาชีพมัคคุเทศก์หรือไกด์ ก็ดูเหมือนจะหมดความสำคัญไปเช่นกัน เพราะปัจจุบัน เทรนด์เที่ยวด้วยตนเองกำลังเป็นที่นิยม คนวางแผนเที่ยวจากการอ่านรีวิวที่มีคนเขียนไว้ หรือรายการพาเที่ยวต่าง ๆ ส่วนความรู้เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวก็หาอ่านได้ทั่วไปจากอินเทอร์เน็ต ที่สำคัญ สำหรับคนไปเที่ยวเพื่อพักผ่อน อาจไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อไปหาความรู้เกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ เพียงแต่ไปหาประสบการณ์ชีวิตต่างบ้านต่างเมือง ชื่นชมความสวยงาม ไปถ่ายรูป ไปช้อปปิ้ง ไปพักผ่อน เพราะฉะนั้น พวกเขาไม่จำเป็นต้องรู้ขนาดที่มีไกด์มาอธิบาย

2. แคชเชียร์

เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ แคชเชียร์จะเป็นอาชีพที่หายไป เราสามารถบริการตัวเองด้วยการจ่ายเงินผ่านเครื่องอัตโนมัติ สแกน จ่าย จบ รวมถึงในอนาคตอันใกล้ สกุลเงินดิจิทัลก็กำลังเติบโต เงินประเภทที่รู้ว่ามีแต่ไม่ได้หยิบจับใช้จ่าย เทคโนโลยีกำลังจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงสังคมไร้เงินสด แต่การใช้แรงงานคนเพื่อจัดการกับการชำระเงินก็ไม่จำเป็นอยู่ดี

3. คนทำอาหารร้านฟาสต์ฟู้ด

ร้านฟาสต์ฟู้ดหลายร้านจำเป็นต้องลดต้นทุน ระบบการเตรียมอาหารอัตโนมัติจึงอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2013 ระบุว่าพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดกว่า 81 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของระบบอัตโนมัติในเรื่องของการควบคุมคุณภาพ ปริมาณของอาหาร และความสะดวกรวดเร็วในการบริการลูกค้า ด้วยการตั้งค่าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เสถียรกว่าการทำด้วยแรงงานคน

4. บุรุษไปรษณีย์

แม้ว่าปัจจุบัน การส่งพัสดุภัณฑ์จากการซื้อขายออนไลน์จะเติบโตสูงมาก แต่สำหรับผู้ให้บริการแบบเดิม ๆ ที่ไม่ได้ปรับปรุงให้เข้ากับความทันสมัยของเทคโนโลยีย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะสิ่งที่พวกเขาเคยจัดส่งอย่างพวกเอกสารหรือจดหมายต่าง ๆ อาจจะไม่มีอยู่จริงในอีก 20 ปีข้างหน้า ทุกวันนี้ก็แทบไม่มีใบเรียกเก็บเงินและใบแจ้งยอดบัตรเครดิตที่เป็นกระดาษแล้ว แต่เป็นการส่งมาให้ทางอีเมลแทน และการสื่อสารด้วยวิธีเขียนจดหมายก็ดูจะตายไปแล้ว ในเมื่อเรามีโซเชียลมีเดียในการพูดคุยกัน

ฉะนั้น เรื่องการส่งจดหมายหรือเอกสารต่าง ๆ แบบกระดาษก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่าจะลดน้อยลงในอนาคต โดยอาจเปลี่ยนเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แทนเกือบทั้งหมดหมด ซึ่งอาจเหลือเพียงการส่งเอกสารสำคัญไม่กี่อย่าง ส่วนบุรุษไปรษณีย์จะอยู่รอดถ้าเปลี่ยนจากการส่งจดหมายมาเป็นพนักงานส่งพัสดุแทน แต่ก็เผชิญกับการแข่งขันสูง

5. พนักงานธนาคาร

เมื่อก่อน ใครที่ได้เป็นพนักงานธนาคารจะดูโก้เก๋ ดูเป็นงานที่ดีดูมั่นคง ได้แต่งตัวหล่อสวย นั่งห้องแอร์ แต่ในอนาคต อาจจะไม่มีอาชีพนี้อยู่อีกแล้วก็ได้ เพราะเราทำธุรกรรมทางการเงินได้โดยไม่ต้องไปธนาคาร หรือยืนทำผ่านตู้หน้าธนาคารแทน แม้ว่าธนาคารแต่ละสาขาไม่ได้หายไปพร้อมกัน แต่หลายแห่งก็ปิดตัวไป จึงมีการเลิกจ้างพนักงานธนาคารในสาขานั้น ๆ แต่คนที่จะอยู่รอดสำหรับพนักงานธนาคาร น่าจะเป็นปรึกษาทางการเงินและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน คนยังต้องการคำปรึกษาจากคนด้วยกัน

6. แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ

นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า แรงงานในอุตสาหกรรมนี้มีไม่น้อยที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือเป็นงานหลักของชาวบ้าน ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ใช้ความประณีตสูง ช่างทอผ้ากลุ่มนี้อาจจะยังอยู่ต่อได้อีกช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อทุนนิยมรุกคืบ บางทีเทคโนโลยีอาจจะเข้ามาทำงานแทนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะเครื่องจักรสามารถทำงานด้านการผลิตได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ที่สำคัญคือแรงงานกลุ่มนี้แทบจะไม่มีการพัฒนาทักษะอะไรเพิ่มเติม จึงดูเหมือนจะเป็นแรงงานที่ไม่มีประโยชน์ หากเครื่องจักรทำแทนได้

7. อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์

มีการคาดการณ์ถึงอนาคตของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์มาระยะหนึ่งแล้วว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่หายไป เพราะทุกวันนี้ คนจำนวนมากใช้สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในเวอร์ชันออนไลน์แทน คนรุ่นใหม่เสพข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ต่าง ๆ แม้ว่าความน่าเชื่อถือจะน้อยกว่าสื่อกระแสหลักก็ตาม จึงมีทางเลือกไม่มากสำหรับอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ คือต้องปรับตัวและพัฒนา หรือจะตายจากไป

ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่หลายคนจะรู้สึกว่าการอ่านข่าวออนไลน์ไม่ได้ฟีลเท่าการอ่านหนังสือพิมพ์ที่เคยอ่านมานาน แต่เด็กรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มคนที่จะใช้ชีวิตอยู่ในอนาคตไม่คิดเช่นนั้น พวกเขาจะตั้งคำถามว่าทำไมต้องรอจนถึงพรุ่งนี้เพื่ออ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ ในเมื่อมีแหล่งข่าวออนไลน์มากมายที่รายงานข่าวแบบเรียลไทม์ ฉะนั้น ถ้าความต้องการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ลดลงเรื่อย ๆ จนไม่คุ้มที่จะทำต่อ มันก็อาจจะหายไปในอนาคตอันใกล้

8. กรรมการตัดสินกีฬา

ปัจจุบันมีหลายชนิดกีฬา โดยเฉพาะในมหกรรมการแข่งขันกีฬาใหญ่ ๆ แทบไม่ใช้คนในการนับคะแนนหรือตัดสินอีกต่อไปแล้ว แต่ใช้เทคโนโลยีแทน เพราะการตัดสินด้วยสายตามีโอกาสผิดพลาดสูง ยังไม่รวมการอคติหรือความลำเอียงที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการนับคะแนนและตัดสินการแข่งขัน เช่น ระบบผู้ช่วยผู้ตัดสินด้วยวิดีโอ (VAR) ที่กลายเป็นมาตรฐานในการตัดสินการแข่งฟุตบอลในลีกชั้นนำของยุโรป นอกจากนี้ยังมีกีฬาอื่น ๆ เช่น เทนนิส คริกเก็ต และรักบี้

9. การตลาดทางโทรศัพท์

หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็นบริการการขายและแนะนำผลิตภัณฑ์ทางโทรศัพท์ ซึ่งถือเป็นอาชีพที่รบกวนชีวิตประจำวันของคนเรามากที่สุดอาชีพหนึ่งเลยทีเดียว ทุกวันนี้เราแทบจะไม่รับโทรศัพท์หรือกดตัดสายทิ้ง ถ้ารู้ว่าหมายเลขนั้นจะโทรมาขายประกัน ขายบัตรเครดิต (มีแอปฯ ที่ทำให้รู้ว่าหมายเลขเหล่านี้น่ารับหรือไม่) ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป คนที่ประกอบอาชีพนี้ก็จะทำยอดไม่ได้ และมีโอกาสที่จะตกงาน ฉะนั้น ถ้ายังจะทำการตลาดด้วยวิธีนี้ หลายบริษัทเลือกใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแทน รวมถึงถูกแทนที่การตลาดออนไลน์

10. เกษตรกร

อาชีพด้านเกษตรกรรมทั้งหมด ที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นอีกอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการแทนที่ด้วยเทคโนโลยี อุตสาหกรรมต้องการบุคคลที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษเพียงไม่กี่คนเพื่อควบคุมเครื่องจักรหน้างาน ที่สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเกษตรกร ชาวประมง ปศุสัตว์ จะเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องใช้คน หากมีหุ่นยนต์ที่ทำงานแทนได้

11. เลขานุการ

ผู้ช่วยจัดการชีวิตที่เป็นคนอาจไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ในโลกที่มี AI มี IoT มีระบบ data base ขนาดใหญ่ มีระบบคลาวด์ที่เก็บข้อมูลได้มากมายมหาศาล แถมเรียกใช้งานง่าย ทำให้ผู้คนทั้งที่เป็นผู้บริหารและคนทำงานทั่วไป หันมาใช้หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์และระบบดิจิทัลทำงานแทน เลขานุการจึงลดบทบาทหน้าที่ลงไปมากทีเดียว

12. แรงงานโรงงานอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะแรงงานฝ่ายผลิต เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก ๆ ที่จะหายไป เพราะมีเครื่องจักรและหุ่นยนต์เข้ามาควบคุมกระบวนการผลิตที่เป็นงานซ้ำ ๆ เดิม ๆ นี้แทน เพราะฉะนั้น เมื่อทุกอย่างผลิต และควบคุมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ทำงานด้วยหุ่นยนต์แทนได้ ก็จะประหยัดต้นทุนในการจ้างแรงงานคนลงไปได้มาก ในอนาคตก็คงไม่มีใครจ้างแรงงานคนมาเป็นฝ่ายผลิตแล้ว แต่อาจจ้างคนควบคุมเครื่องจักรแทน

ทั้งหมดนี้เป็นอาชีพที่เตรียมจะหายไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และมันอาจจะเกิดขึ้นเร็วขึ้น เพราะมีสถานการณ์โรคระบาดมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่เร่งให้เราต้องหันมาใช้เทคโนโลยีกันในการทำกิจกรรมต่าง ๆ นั่นหมายความว่า อาชีพที่เทคโนโลยีสามารถทำแทนได้เหล่านี้ อาจจะสูญสลายหายไปเร็วกว่าที่คาดการณ์ในปี 2030

ส่วนอาชีพที่ยังปลอดภัย (สำหรับตอนนี้) คืออาชีพที่ต้องใช้ทักษะเชิงสร้างสรรค์และมนุษยสัมพันธ์ เพราะคนกลุ่มนี้ควบคุมเทคโนโลยีได้ หรือเทคโนโลยียังทำแทนไม่ได้ เพราะยังต้องใช้ลักษณะ “ความเป็นมนุษย์” ในการทำงาน ด้วยการทำงานด้วยหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีแบบอัตโนมัติยังไม่อาจแทนที่ได้ในเวลาอันใกล้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องความซับซ้อนทางอารมณ์และความคิดที่ลึกซึ้งในแบบที่มนุษย์เท่านั้นที่จะทำได้

ในบทความต่อไป Tonkit360 จะพาไปดูอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต อาชีพที่วันนี้เราอาจจะคาดไม่ถึงว่ามันจะมีอาชีพนี้อยู่บนโลกในวันข้างหน้า คนวัยทำงานปัจจุบันอาจปรับเปลี่ยนสายงานกันไม่ทัน แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ๆ พวกเขาอาจวางแผนได้ว่าจะเรียนอะไรให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook