วางตัวในสถานะ “คนกลาง” ของเพื่อนร่วมงานที่อริกัน

วางตัวในสถานะ “คนกลาง” ของเพื่อนร่วมงานที่อริกัน

วางตัวในสถานะ “คนกลาง” ของเพื่อนร่วมงานที่อริกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“คนเยอะ เรื่องแยะ” เป็นคำพูดเกี่ยวกับคนที่ใช้ได้แทบทุกวงการ ที่ไหนที่มีคนหลายคน ปัญหาก็ย่อมมีมากตามมา ร้อยคนก็มีได้ร้อยความคิด ความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นได้เป็นร้อยปัญหา เพราะแต่ละคนมีที่มาที่แตกต่างกัน สภาพแวดล้อมที่เติบโตมาก็ไม่เหมือนกัน ไหนจะเรื่องวัย ประสบการณ์ ทัศนคติ ความคิด ความต่างกันทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นต้นเหตุของการทะเลาะกันได้ทั้งสิ้น ดังนั้น อย่าคาดหวังถึงสังคมอุดมคติที่ไม่มีความแตกแยก มันเป็นไปไม่ได้!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมการทำงาน เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ๆ ที่สำคัญคือไม่เคลียร์ใจหรือพูดกันตรง ๆ ทำให้ส่วนมากแล้วปัญหาเรื่องงานมักจะไม่จบที่คนสองคน แต่กลายเป็นปัญหาของคนสองกลุ่มสามกลุ่มแทน แบ่งพรรคแบ่งพวก นินทาลับหลัง เกิดเกมการเมืองในออฟฟิศน่าปวดหัว ในขณะเดียวกัน ใครที่เลือกที่จะเป็นกลางก็จะรู้สึกอึดอัดลำบากใจไม่น้อย หันซ้ายก็เพื่อนร่วมงาน หันขวาก็เพื่อนร่วมงาน เผลอ ๆ การไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่แรก กลายเป็นว่าเราอาจเป็นคนของอีกฝ่ายไปซะอีก อยู่ในสนามรบแบบนี้ไม่เป็นอันทำมาหากินเลย

และที่แน่นอนที่สุด ถ้าความสัมพันธ์ของคนที่ทำงานในทีมเดียวกันไม่ดี มีทีมยิบย่อยทีมเล็กทีมน้อยไม่สามัคคีกัน ประสิทธิภาพในการทำงานมันก็ย่อมแย่ลงตาม ถึงจะกัดฟันอดทนทำไป มันก็ไม่สะดวกใจอยู่ดี ซึ่งผลงานที่ออกมาก็บอกได้ทุกอย่างว่าคนในทีมไม่ได้เต็มใจจะทำงานร่วมกัน และถ้าคุณไม่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของแก๊งไหนเป็นพิเศษ หรืออยู่ในสถานะคนกลางเต็มตัว แล้วต้องมาเจอสถานการณ์แบบนี้ จะทำยังไงดี

ฟังหูไว้หูอย่างเป็นกลาง ไม่ต้องแยกข้างผสมโรง

หากคุณเป็นคนที่ทั้งสองฝ่ายไว้เนื้อเชื่อใจ น่านับถือ บวกกับมีความสามารถในระดับหนึ่ง คงไม่แคล้วต้องถูกดึงให้ไปเข้าเป็นพวกกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่ ๆ เพราะการมีคุณเป็นพวกจะทำให้ฝ่ายนั้นมีภาษีดีกว่าขึ้นมาทันที แต่ถ้าคุณไม่สะดวกใจ ก็แสดงออกไปตรง ๆ ว่าขอเป็นกลางจะดีกว่า เมื่อรับรู้ข้อมูลจากฝ่ายไหนก็ฟังหูไว้หู ไม่ต้องแสดงความเห็น ทั้งสนับสนุนหรือคัดค้าน อย่าหูเบาเชื่อการสาดโคลนใส่กัน และอย่าออกโรงไปเป็นคู่กรณีเพิ่มเด็ดขาด ฟังอย่างตั้งใจ เพื่อที่จะได้เข้าใจมุมมอง และเหตุผลของแต่ละฝ่าย เผื่อว่าเข้าใจปัญหาที่แท้จริงแล้วอาจช่วยแก้ปัญหาได้

ฟังแล้วเหยียบ อย่าพูดต่อให้เป็นเรื่อง

ความลับในกองทัพที่มีแค่คุณเท่านั้นที่เป็นคนรู้ แต่คุณดันเป็นคนที่พูดคุยได้กับทั้งสองฝ่ายนี่สิ เป็นความลำบากใจอย่างยิ่งยวด เพราะถ้าความลับหลุดไป ใคร ๆ ก็หันมาโทษคุณ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาปรับทุกข์หรือขอคำปรึกษา คุณควรรับฟังแล้วเหยียบไว้ตรงนั้น รับรู้อย่างเดียวพอ อาจช่วยแก้ปัญหาเท่าที่ช่วยได้บ้าง แต่ไม่ต้องเอาไปเล่าให้อีกฝ่ายฟัง หากคุณรักษาความลับหรือเรื่องอ่อนไหวแบบนี้ไม่ได้ ระวังว่าความปากรั่วจะกลับมาทำร้ายคุณเอง กลายเป็นหมดความน่าเชื่อถือ กลายเป็นพวกหนอนบ่อนไส้ นกหลายหัว แถมยังอาจจะเสียเพื่อนร่วมงานทั้งสองฝ่ายไปก็เป็นได้

ไกล่เกลี่ยเท่าที่โอกาสจะเอื้อ

อย่างไรเสีย ทั้งคุณและทั้งพวกเขา (ที่มีเรื่องกัน) ก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานร่วมกัน มีงานเป็นเป้าหมายสูงสุด ฉะนั้น ถ้าไม่ลำบากจนเกินไป และไม่เดือดร้อนตัวเอง ก็พยายามหาวิธีไกล่เกลี่ยเท่าที่โอกาสจะเอื้อ อาจเจอกันครึ่งทาง โดยมีคุณเป็นคนคอยเชื่อมสัมพันธ์ ประสานงาน ห้ามทัพ หรือพูดคุยหาข้อยุติความขัดแย้ง ดีกว่าให้สองฝ่ายนั้นเผชิญหน้ากันเอง เพราะคุณก็รู้สถานการณ์ของทั้งสองฝ่าย คุณจึงสามารถประนีประนอม และกรองความรุนแรงออกไปบางส่วนได้ ซึ่งหากพวกเขาเกรงใจคุณด้วย พวกเขาก็จะยอมลดข้อเรียกร้องหรือเงื่อนไขของตัวเองลงเช่นกัน

ระวังการเป็นมนุษย์จอมเสี้ยม

การที่คุณวางตัวเองเป็นคนกลาง ไม่เลือกข้าง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยที่คุณสามารถเข้ากับทั้งสองฝ่ายได้ และเป็นคนที่ทั้งสองฝ่ายเกรงใจ มันอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ขณะเดียวกันคุณจะได้รู้ข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย ตรงนี้แหละที่อาจทำให้คุณกลายเป็นนกสองหัวโดยไม่รู้ตัว เพราะถ้าคุณเกิดแสดงออกหรือพูดอะไรที่ชวนเข้าใจผิดนิดเดียว ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันก็จะทำให้คุณกลายเป็นมนุษย์จอมเสี้ยมด้วย รวมถึงหากคุณแยกออกไปก็อาจกลายเป็นฝ่ายที่สามอีก คุณจึงต้องระวังตรงจุดนี้ให้มาก วางตัวให้เหมาะ มีสติ คิดให้มากก่อนทำก่อนพูดเสมอ

ลองขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีอำนาจจัดการ

แต่ต้องแยกให้ออกก่อนว่าการขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำ หรือขอความช่วยเหลือไม่เท่ากับการฟ้อง และพยายามอย่าให้ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าเป็นคุณ ไม่เช่นนั้นคุณจะกลายเป็นเป้าของทั้งสองฝ่ายนั้นแทน ในฐานะที่คุณเองก็เป็นพนักงานคนหนึ่งเหมือนกัน ภาระในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของเพื่อนร่วมงานที่อริกันนั้นไม่ใช่หน้าที่หลักของคุณ ฉะนั้น ถ้าเรื่องมันชักจะบานปลายใหญ่โต จนคุณจนปัญญาที่จะแก้ไข ก็ลองเข้าหาหัวหน้างานหรือผู้ที่มีอำนาจในการจัดการจะดีกว่า ด้วยตำแหน่งหรืออำนาจของเขานั้นสามารถเข้ามาจัดการปัญหาได้ดีกว่าพนักงานด้วยกันเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook