5 สำนวน-สุภาษิต ที่สะท้อน Stereotype แบบไทย ๆ
คำว่า สำนวน และ สุภาษิต นั้น เป็นคำที่มีความหมายคล้าย ๆ กัน กล่าวถึงคำสอน ถ้อยคำข้อความที่มีไว้เพื่อเตือนสติ และสะท้อนให้เห็นค่านิยม หรือทัศนคติของคนในชาติ ว่าจะมีการแสดงท่าทีแบบใดต่อเรื่องที่มีความแปลกแยกจากบริบทสังคมแบบเดิม ๆ
สุภาษิตนั้นจะเตือนสติกันหลักความจริง และมีการใช้สืบต่อมาแต่โบราณ ขณะที่สำนวนนั้นคือการนำเอาคำ กลุ่มคำมาใช้ในเชิงเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย มีนัยแฝงอยู่อย่างลึกซึ้ง และในบทความนี้ Tonkit360 ขอนำเสนอ 5 สำนวน-สุภาษิต ที่สะท้อนให้เห็น Stereotype หรือทัศนคติของไทย ที่เมื่อหลายคนอ่านจบแล้ว คงต้องหันกลับไปทบทวนตัวเองดูว่าเราจะปฏิบัติตามคำเตือนที่มีมาอย่างช้าน้าน หรือจะเดินหน้าต่อเพื่อให้โลกจำ
1. ปากว่าตาขยิบ
ความหมายตามราชบัณฑิตยสถาน หมายถึงคนที่ชอบพูดอย่างหนึ่งทำอีกอย่างหนึ่ง และถ้าอธิบายตามบุคลิกท่าทาง ให้นึกถึงคนที่ปากพาเจรจาไปเรื่อย แต่ขยิบตาเพื่อให้พรรคพวกของตนเองไปทำเรื่องที่ไม่ตรงกับที่เจรจา
ลักษณะเช่นนี้สามารถนำเอาไปเปรียบเทียบกับ ลักษณะนิสัยของคนที่ชอบแสดงออกมาว่าเป็นคนดี แต่ลับหลังแล้วก็ทำอะไรไม่แตกต่างจากคนที่พวกเขากล่าวหาว่าร้าย เพียงแต่ยังไม่มีใครจับได้ไล่ทัน ก็เลยยังคงมีพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นต่อไป
ยิ่งในโลกปัจจุบันที่ ทุกคนต่างมีโลกคู่ขนานในโซเชียลมีเดียเป็นของตนเอง เวลาเกิดดราม่า เรามักจะเห็นคนแสดงความคิดเห็นชนิดที่ซ้ำเติมคนที่ผิดพลาด ชนิดที่เล่นกันเอาตาย ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีใครรู้เลยว่าคนที่แสดงความคิดเห็นนั้นมีพฤติกรรมที่ดีไปกว่าคนที่ถูกว่าร้ายหรือไม่
2. มือถือสากปากถือศีล
เป็นสำนวนที่หมายถึงคนที่มักแสดงตัวว่าเป็นผู้มีศีลธรรม แต่หลับหลัง (หรือต่อหน้า) กลับประพฤติชั่วและแก้ตัวด้วยการอ้างว่าตนเองเป็นคนดี
สำนวนนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีคนลักษณะเช่นนี้มาเนิ่นนานแล้วในสังคมไทย หรือแม้แต่สังคมโลกและเพื่อทำให้เราได้รู้ว่ามนุษย์เราไม่ได้มีด้านเดียว ด้านที่พวกเขาแสดงออกต่อสังคมมักจะเป็นด้านที่ดูสวยงามและมีศีลธรรม แต่อีกด้านพวกเขาทำในสิ่งที่เราเองไม่อาจคาดถึงได้ เหมือนกับมือที่ถือสาก ที่หมายถึงเครื่องตี และความหยาบคาย ที่พร้อมจะเล่นงานคนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขาตลอดเวลา
3. จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย
สุภาษิตไทยที่มาจากกลอนของหลวงวิจิตรวาทการ เป็นสุภาษิตที่ใช้ได้กับคนทั้งโลกเพราะไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่ มีความริษยาอยู่ในใจ จนทำให้เกิดสุภาษิตเช่นนี้ขึ้น เพียงแต่ลักษณะของความริษยาในคนไทยนั้นมักเกิดจากคนที่ไม่เคยลงมือพยายามอะไรเลย แต่กลับริษยาคนที่ลงมือทำและประสบความสำเร็จ และความสำเร็จนั้นดันโดดเด่น จนทำให้คนเหล่านี้ (ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่) รู้สึกไม่พอใจและแปรเปลี่ยนไปเป็นความริษยา
ความหมายของสุภาษิต “จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” เรียกได้ว่าตรงตัว แม้ว่าเรื่องที่คุณทำจะดีต่อสังคมและผู้คน และทำให้ผู้คนเลื่อมใส แต่อีกด้านก็มีคนพร้อมจะไม่พอใจ บางคนสามารถใช้คำพูดแบบไม่อายปากได้ว่า “แค่นี้เองใคร ๆ ก็ทำได้” หรือประดิษฐ์คำพูดประเภท “ขัดต่อวัฒนธรรมอันดี”
ถามว่าควรจะมีวิธีรับมืออย่างไร บอกเลยว่าไม่มี ถ้าความดีที่เราทำมันจะโดดเด่นจนทำให้คนอื่นเขารู้สึกริษยา ก็ต้องปล่อยไป และคิดแบบสำนวนฝรั่งที่ว่า “Love me or hate me are both in my favour. “If you love me, I’ll always be in your heart. If you hate me, I’ll always be in your mind.” (รักฉันหรือเกลียดฉัน ฉันรับได้หมด เพราะถ้ารักกันฉันก็จะอยู่ในหัวใจคุณตลอดไป แต่ถ้าเกลียดกันฉันก็จะสิงอยู่ในใจคุณเช่นกัน)
4. มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ
สำนวนที่หมายถึง คนที่ไม่ได้ช่วยทำงานให้เกิดความก้าวหน้า แล้วยังจะขัดขวางการทำงานของเขาด้วย คนแบบนี้หาได้ที่ไหน หาได้ตอนโควิด-19 ระบาดนี่แหละ เพราะมีคนเอาเท้าราน้ำเยอะเลย โดยเฉพาะคนที่ชอบแสดงความคิดเห็นจนกระทั่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการของภาครัฐที่ปล่อยให้คนที่ทำงานไม่เป็นเข้ามาทำงานและแสดงความคิดเห็นจนทำให้สังคมสับสนไปหมด
สำนวนนี้ทำให้เห็นว่า ลักษณะของคนที่ไม่ชอบเห็นความสำเร็จของส่วนรวมและพยายามขัดขวาง โดยเอาโลกทั้งใบไปหมุนรอบตัวเองนั้นมีมานานแล้ว และคนประเภทนี้ก็อยู่ในสังคมโดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเอาเท้าราน้ำอยู่ ยิ่งในยุคที่มีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือให้คนเหล่านี้ด้วยแล้ว พวกเขาก็ยิ่งทำให้โลกของตนเองเต็มไปด้วยเสียงสะท้อนที่ตนเองอยากฟังเท่านั้น
5. ชาวนากับงูเห่า
สุภาษิต ที่มาจากนิทานอีสป “วันหนึ่งในฤดูหนาวระหว่างที่ชาวนา เดินออกจากบ้านเพื่อไปยังคันนา เขาได้พบกับงูเห่าที่นอนขดตัวใกล้จะตายเพราะอากาศหนาว ชาวนาเวทนา เลยช่วยให้ความอบอุ่น เมื่องูเห่าฟื้นตัว มันได้กัดชาวนาพิษของงูเห่าทำให้ชาวนาสิ้นใจตาย”
เป็นนิทานเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า มนุษย์เรานั้นรู้หน้าไม่รู้ใจ เมื่อเราให้ความช่วยเหลือไปแล้ว สุดท้ายจะกลับมาแว้งกัด ไม่เห็นแก่บุญคุณที่เคยช่วยเหลือกันไว้นั้น มีความเป็นไปได้สูงและเป็นไปได้มาก
และสุภาษิตนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าคนที่มีเห็นบุญคุณความช่วยเหลือก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน เหนืออื่นใดพวกเขาสามารถหาข้ออ้าง และเหตุผลที่จะเนรคุณผู้มีพระคุณได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่งคนแบบนี้ในช่วงชีวิตเราต้องเจออย่างน้อยหนึ่งหรือสองคน เมื่อเจอแล้ว ได้เรียนรู้แล้ว ครั้งต่อไปก็คงต้องระวังให้มากกว่าเดิม