ทำไมเราจึงควรใจร้ายกับคนอื่นให้น้อยลง ใจดีต่อกันให้มากขึ้น

ทำไมเราจึงควรใจร้ายกับคนอื่นให้น้อยลง ใจดีต่อกันให้มากขึ้น

ทำไมเราจึงควรใจร้ายกับคนอื่นให้น้อยลง ใจดีต่อกันให้มากขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปรากฏการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคมทุกวันนี้มีแต่เรื่องราวที่ชวนเครียดชวนปวดหัว นอกจากธรรมชาติจะไม่ปรานีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์แล้ว มนุษย์ด้วยกันเองก็ยังจะทำร้ายกันแบบไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจกันอีก ใด ๆ ในโลกล้วนดราม่า เดี๋ยวก็มีคนด่ากัน ต่อว่ากันด้วยถ้อยคำแรง ๆ ต่าง ๆ นานา แสดงความคิดเห็นในเชิงดูถูก บูลลี่ ใจแคบ ไม่มีน้ำใจ ไม่เคารพต่อผู้อื่น ทั้งที่หลายคนไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวเลยด้วยซ้ำ แต่ทำไมถึงใจร้ายต่อกันได้ขนาดนี้

ต้องยอมรับว่าการปฏิสัมพันธ์ของคนเราทั้งในชีวิตจริงแบบต่อหน้า และในสื่อสังคมออนไลน์บนโลกออนไลน์ มักจะมีคนประเภทหนึ่งที่เอาความพึงพอใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เมื่อมีใครก็ตามที่ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจพวกเขา คนประเภทนี้ก็พร้อมที่จะโจมตีคนอื่นอย่างบ้าคลั่ง โดยที่ไม่รู้สึกละอายแก่ใจเลยสักนิดว่าสิ่งที่ทำเกินไปหรือไม่ เป็นการคุกคามหรือสร้างความวุ่นวายให้ใครหรือเปล่า สังคมจึงถูกหล่อเลี้ยงมาด้วยความขัดแย้ง ผู้คนต่างฟัง ต่างคิด ต่างเลือก ต่างเชื่อในมุมของตัวเอง และไม่เปิดใจรับฟังใคร

อย่างไรก็ดี เราจะเห็นว่าทุกวันนี้โลกโหดร้ายกับมนุษย์เรามากพอแล้ว ยิ่งทุกสิ่งอย่างซับซ้อนวุ่นวายแบบนี้ จะดีกว่าหรือไม่ที่มนุษย์เราจะร่วมมือกันทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะใจดีกับคนอื่นให้มากขึ้นอีกนิด ใจร้ายต่อกันให้น้อยลงอีกหน่อย แค่เปลี่ยนวิธีการปฏิบัติต่อผู้อื่นเท่านั้น โดยทุกอย่างเริ่มได้ที่ตัวเราเอง

เพราะโลกใจร้ายกับเรามากพอแล้ว

ทุกวันนี้ โลกซับซ้อน วุ่นวาย ใจร้ายกับเรามากพอแล้ว ฉะนั้น ไม่จำเป็นเลยที่คนเราจะยังต้องมาใจร้ายใส่กันอีก ในทางกลับกัน ใจดีกับอื่นให้มากขึ้นอีกนิด มีน้ำใจ มีเมตตา เห็นใจกันมากขึ้นอีกหน่อย น่าจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น เราควบคุมความใจร้ายของธรรมชาติไม่ได้ แต่เราใจดีกับคนอื่นได้

แค่รู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เราก็สามารถที่จะเข้าใจและอยู่กับคนอื่นแบบปรองดองได้ อีกทั้งยังจะช่วยให้เราตอบสนองต่อสถานการณ์ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตัวเอง จะช่วยให้เราผ่านสถานการณ์เลวร้ายได้ เพราะเราจะเข้าใจปัญหา หยิบยื่นความช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้น และเข้าใจจิตใจเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รายล้อมเราได้ดีขึ้นด้วย

ที่เห็นได้ชัดคือ การไม่ตัดสินคนอื่นไปในทางลบ หรือโทษคนอื่นโดยไม่พยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญ สิ่งที่เราควรทำคือแสดงความสงสาร เห็นอกเห็นใจ เป็นกำลังใจ หรือหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เขา มากกว่าการแสดงความคิดในด้านลบต่อคนอื่น หรือถ้าหากจะไม่ช่วยอะไรเลย ก็ไม่จำเป็นต้องไปซ้ำเติมใคร อยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ ยังเป็นประโยชน์เสียกว่า ไม่ต้องไปใจร้ายกับเขาเพิ่มเติม

เขาก็พูดดี ๆ มา ไม่เห็นต้องร้ายกลับ

คนเรามีสิทธิ์ที่จะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน และมีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นต่าง หลายคนแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยด้วยความสุภาพ ไม่มีคำหยาบคาย ไม่ได้มีน้ำเสียงเยาะเย้ยถากถาง เป็นเพียงการเสนอความคิดเห็นในสิ่งที่เขาคิดหรือรู้ให้อีกฝ่ายได้พิจารณาเท่านั้น ต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผลและหลักการ แต่อีกฝ่ายกลับโต้ตอบในทางตรงกันข้าม ร้ายกาจใส่ด้วยความหยาบคาย คุกคามขู่เข็ญรุนแรง เป็นการกระทำที่ “ไม่มีมารยาท” “ไม่มีวุฒิภาวะ” และ บ่งบอกว่าเป็นคนที่ “ทัศนคติแย่” อีกด้วย

การพูดจาร้าย ๆ เหน็บแนม จิกกัด ดูถูก หรือสร้างเรื่องตลกจากข้อด้อยของคนอื่นไม่ได้ทำให้ใครดูฉลาดขึ้น แต่บ่งบอกถึงตัวตนที่ขาดทั้งความฉลาดทางสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ จนไม่สามารถที่จะสรรหาคำพูดดี ๆ สร้างสรรค์มาคุยกับคนอื่น มีคำพูดเยอะแยะมากมายที่สามารถแสดงความไม่พอใจ ความไม่เห็นด้วย หรือที่เรียกว่า “ด่าอย่างผู้ดี” หรือ “ด่าแบบสร้างสรรค์” เพื่อรักษามารยาทในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ทุกอย่างจะดูซอฟต์ลงเมื่อเราพูดคุยกันดี ๆ มีมารยาท และเคารพคนอื่น

เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นวิสัยในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือง่าย ๆ ก็คือ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” เป็นการพยายามเข้าใจสถานการณ์ มุมมอง และความคิดความรู้สึกของผู้อื่น แล้วเรียนรู้ที่จะสื่อสารความเข้าใจนั้นให้อีกฝ่ายรับรู้ เป็นวิสัยในการที่จะอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการเข้าสังคม และยังเป็นสิ่งสำคัญที่คนเราใช้ในการดำเนินชีวิต เพราะเมื่อเราต้องเข้าหาพูดคุยกับคนอื่น เราควรพยายามเข้าใจสถานการณ์ อารมณ์ มุมมองต่าง ๆ ของเขา จะช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะปฏิบัติกับผู้อื่นดี ๆ ด้วยความสงสาร เห็นใจ ปรารถนาดี อยากให้กำลังใจ อยากช่วยเหลือ

เมื่อเราเห็นอกเห็นใจ เข้าใจมุมมองของผู้อื่น เราจะพอรู้ว่าการที่เขาอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เขาต้องการอะไร แล้วเราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไรไม่ให้สถานการณ์ของเขาเลวร้ายไปมากกว่าเดิม เขาอาจไม่ได้อยากให้ใครมาร้องไห้เป็นเพื่อนหรือฟังเรื่องราวทุกข์ใจของเขา เพียงแค่อยากได้เรื่องราว ๆ ดี ๆ ที่ทำให้ผ่านวันนี้ไปได้อย่างง่ายดาย เท่านี้ก็อาจจะมากเกินพอแล้วก็เป็นได้

หลายคนอาจบอกว่าไม่ได้อยากเป็นที่รักของใครก็ไม่เห็นสำคัญว่าจะต้องไปทำดีกับใคร แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นที่รังเกียจของใครเช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องไปแบกรับความทุกข์ของคนอื่นหรือพยายามจะทำความเข้าใจคนอื่นจนตัวเรารู้สึกแย่ มีสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่านั้น เพียงแค่อย่าทำร้ายใครด้วยความคิดและการกระทำในด้านลบของเราก็พอ

เป็นเรื่องดี ๆ ที่ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น

หยิบยื่นดอกไม้ให้กัน ก็น่าจะดีกว่าการปาก้อนหินใส่กันไม่ใช่หรือ แค่เราใจดีกับคนรอบข้างแค่นิดเดียว มันก็ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นได้แล้ว ลองคิดดูสิ ถ้าต่างคนต่างส่งต่อพลังบวกหากันไปเรื่อย ๆ คนละนิดคนละหน่อย สังคมก็จะรายล้อมไปด้วยเรื่องดี ๆ แต่ละคนมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอะไรก็ตามเบื้องหน้า ต่อให้โลกใจร้ายแค่ไหน ก็ยังมีเรื่องให้ยิ้มได้บ้าง แม้จะเกิดขึ้นจากคนรอบข้างที่ไม่รู้จักกันก็ตาม

เวลาที่ความเห็นไม่ตรงกัน คิดไม่เหมือนกัน ความมหัศจรรย์ของมนุษย์คือ มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้มีกลไกการใช้ตรรกะ เราสามารถคุยกันดี ๆ ใช้เหตุผล ควบคุมการใช้อารมณ์ได้ ไม่จำเป็นต้องที่จะต้องใจร้ายกับใครด้วยคำด่าหรือคำพูดรุนแรง คิดง่าย ๆ ในทางกลับกัน เราเองก็คงไม่ชอบให้ใครมาพูดจาไม่ดีใส่ เมื่อโต้เถียงกันไปมา ต่างฝ่ายต่างมีอารมณ์ เหตุผลเริ่มหายไป กลายเป็นการทะเลาะกันมากกว่าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หงุดหงิดอารมณ์เสียกันทั้งสองฝ่าย

ยิ่งไปกว่านั้น มันทำให้บรรยากาศรอบ ๆ ไม่น่าอยู่อีกต่อไป ตัวอย่างง่าย ๆ จากการใช้โซเชียลมีเดีย การด่าทอกันของคนสองคน กลายเป็นคนสองฝ่าย สามฝ่าย แบ่งพรรคแบ่งพวกกันมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนรู้สึกเครียดจากการเสพข่าวเสพดราม่าในโลกโซเชียลจนต้องหันหลังให้ และรู้สึกว่าการเล่นโซเชียลมีเดียไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อน มีแต่เรื่องไม่สร้างสรรค์ เรื่องเล็กก็กลายเป็นดราม่าทั้งที่ไม่จำเป็น

ดราม่าเกิดง่ายยิ่งกว่าการหายใจ

ทุกวันนี้ ดราม่าเกิดขึ้นง่ายเกินไป เมื่อเห็นอะไรขัดหูขัดตาไม่พอใจ ข้อความก่อดราม่าพร้อมปรากฏในช่องคอมเมนต์ด้านล่างทันที เหมือนกำลังจ้องจับผิด คอยจังหวะผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ขอให้ได้โจมตีก็มีความสุข ทั้งที่บางเรื่องไม่ต้องคิดลึกคิดมาก คิดแทนคนอื่นก็ได้ มองข้ามไปบ้างก็จบแล้ว ไม่น่าทำให้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต แล้วพอเป็นเรื่องเป็นราว มีดราม่าลุกลาม หลายคนพยายามจะเอาชนะข้าง ๆ คู ๆ หรือแม้แต่สร้างสถานการณ์ให้ตนเองกลายเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำอีกต่างหาก เหมือนมีความสุขมากบนความขัดแย้งกับคนอื่น

ทุกวันนี้โลกเราโหดร้ายมากพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องสรรหาเรื่องอะไรมาทำร้ายกันอีก ในเวลาแบบนี้คนเราต้องการอะไรบางอย่างมาเยียวยาจิตใจของตนเอง บางคนอยากแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ที่เขาคิดว่ามันทำแล้วมีความสุข ควรแชร์ต่อเพื่อให้คนอื่นได้ลองทำบ้าง ก็มักจะมีคนที่ทำตัวเหมือนอิจฉาความสุขของคนอื่นเข้ามาแซะให้เสียบรรยากาศ เช่น ในเวลาแบบนี้ยังมีความสุขลงอีกเหรอ มีคนป่วยคนตายขนาดนี้ยังทำเรื่องแบบนี้ได้อีกเหรอ คอมเมนต์ประมาณนี้สามารถหาเจอได้ทั่วไป

แล้วทำไมล่ะ ทำไมคนอื่นจะมีความสุขไม่ได้ ทำไมคนอื่นถึงจะเยียวยาความบอบช้ำของตนเองไม่ได้ การที่เขามีความสุขไม่ได้แปลว่าเขาไม่รู้สึกทุกข์ร้อนกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพียงแค่เขาอยากให้มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นบ้างในเวลาแบบนี้ แทนที่จะมาคอยจิกกัด คอยแซะกับความสุขเพียงเล็กน้อยของคนอื่น ลองไปหาความสุขให้ตนเองด้วยวิธีอื่น แบบที่ไม่ต้องแซะหรือจิกกัดใครบ้างก็ดี ไม่ต้องใจร้ายเข้าไปทำลายบรรยากาศดี ๆ ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดก็ได้

การเคารพคนอื่นเป็นมารยาททางสังคม

บางครั้งการใจดีมีเมตตาต่อคนอื่นอาจเป็นเรื่องยากและมากเกินไป กรณีที่อีกฝ่าย… (ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) แต่อย่างน้อย ๆ เคารพกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมสังคมกันก็ยังดี แม้ว่าหลายคนจะเมินการเข้าสังคม คิดว่าตนเองมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ที่จะทำอะไรก็ได้ ทั้งยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าตนเองสามารถทำอะไรได้เองโดยไม่จำเป็นต้องแคร์หรือพึ่งคนอื่น สิ่งที่คิดไม่ใช่เรื่องผิด ทว่าไม่ถูกเสียทีเดียว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ที่สำคัญ การไม่แคร์ใคร (หน้าไหน) ก็มีเงื่อนไขว่า “ต้องไม่ทำให้ใคร (หน้าไหน) เดือดร้อน” ด้วย

เราใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียวจริง ๆ บนโลกใบนี้ไม่ได้ ต้องไม่ลืมว่าเมื่อใดก็ตามที่ออกจากบ้านหรือต้องติดต่อพูดคุยกับคนอื่น ๆ เราก็กำลัง “เข้าสังคม” ในสังคมมีผู้คนมากหน้าหลายตา ร้อยพ่อพันแม่ มาจากทั่วสารทิศ ความเกรงใจและการเคารพสิทธิ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ในสามัญสำนึก “ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี” คือมารยาททางสังคมขั้นพื้นฐาน ใคร ๆ อาจไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนกับสิ่งที่เราทำ แต่เราก็ต้องคิดก่อนเสมอว่าอาจทำให้ใครเดือดร้อนก็ได้ ไม่ใช่คิดเองเออเอง เข้าข้างตัวเองว่าสะดวกแบบนี้ใครจะทำไม จะมาเดือดร้อนทำไม ทั้งที่ไม่ถามคนอื่นก่อนเลยด้วยซ้ำ!

อยากได้สิ่งไหนจากใคร เราก็ต้องมอบให้เขาก่อน อยากให้เขามีมารยาทก็ต้องมีมารยาทกับเขาก่อน อยากได้น้ำใจไมตรีก็ต้องหยิบยื่นให้เขาก่อน รักษาสิทธิ์ของตนเอง แต่ก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่น อย่าใจร้ายกับใครแม้กระทั่งเรื่องไม่มีมารยาทและไม่มีความเกรงใจให้ใคร อยู่ร่วมกันในสังคมต้องเคารพคนอื่นให้มาก ใจร้ายต่อกันให้น้อยลง ใจดีต่อกันให้มากขึ้น เริ่มจากตัวเอง ถ้าทุกคนทำได้ สังคมจะน่าอยู่ขึ้นอีกมากเลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook