วิธีรับมือกับ Cancel Culture วัฒนธรรมขับออกจากสังคม

วิธีรับมือกับ Cancel Culture วัฒนธรรมขับออกจากสังคม

วิธีรับมือกับ Cancel Culture วัฒนธรรมขับออกจากสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกจริงและโลกโซเชียลรู้จักคำว่า Cancel Culture มาได้หลายปีแล้ว และเจ้าวัฒนธรรมขับคนออกจากสังคมด้วยการแบนบนโลกโซเชียลเพราะไม่พอใจต่อการกระทำ ทัศนคติ การแสดงความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งเชื่อในข่าวลืออย่างเป็นตุเป็นตะ “วัฒนธรรมขับออกจากสังคม” จึงกลายเป็นปัญหาต่อสังคมส่วนรวม เพราะคนที่ถูกแบนก็มีภาวะจิตตก และทำให้คนอื่น ๆ ไม่กล้าพูดตามความคิดตัวเอง เพราะกลัวว่าจะไม่มีพื้นที่ในสังคม (ทั้งออนไลน์และออฟไลน์)

ทีนี้ถ้าคุณหรือใครต้องเจอกับวัฒนธรรมขับออกจากสังคม จะมีวิธีรับมืออย่างไรให้เรื่องนั้นอยู่ในพื้นที่โซเชียลมีเดียสั้นที่สุด และไม่มีใครเอาไปต่อความยาวสาวความยืด ซึ่งวิธีรับมือมีดังนี้

การขอโทษเป็นศิลปะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ถ้าไม่แน่ใจอย่าเพิ่งทำ!

วัฒนธรรมการขับออกจากสังคมนั้น เกิดขึ้นในยุคที่โลกใบนี้มีสิ่งที่เรียกว่า โซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์ พื้นที่ที่คนธรรมดาสามารถสร้างกระแสในโลกโซเชียล จนกลายเป็นสึนามิลูกยักษ์ในการถล่มดารา นักแสดง นักร้อง หรือคนที่มีชื่อเสียง ให้ราบเป็นหน้ากลอง เพียงเพราะนักแสดง นักร้อง เซเลบริตี้เหล่านั้น แสดงทัศนคติหรือมีพฤติกรรมอันเป็นที่ไม่น่าพอใจ หรือไม่ถูกใจแฟนคลับผู้ติดตามในโลกโซเชียล

ซึ่งวิธีการโต้กลับของความไม่พอใจคือ “แบน” หรือขับออกจากสังคมด้วยการสร้างแฮชแท็กหรือเผยแพร่ความไม่พอใจออกไปในวงกว้าง ส่วนนักแสดง ศิลปิน เซเลบริตี้ ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการออกมาขอโทษ หรือจัดแถลงข่าว ซึ่งเรื่องนี้ต้องระวังให้มาก เพราะการขอโทษนั้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง และนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพจะแนะนำว่า

“เมื่อเกิดปัญหา อย่าเพิ่งด่วนออกมาขอโทษ ให้ใช้วิธีหยุดนิ่งดูสถานการณ์ หลีกเลี่ยงการให้ข่าวใด ๆ ไม่ต้องเสพข่าวจากโซเชียลมีเดีย เก็บตัวอยู่ในบ้านรอเวลาที่ “ดราม่า” ผ่านพ้นไปสองสามวัน จากนั้นมาพิจารณาว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แล้วค่อยออกมาขอโทษ และต้องเป็นการขอโทษด้วยความรู้สึกจากใจจริง ๆ ใช้ข้อความให้น้อยที่สุด ไม่จำเป็นต้องแก้ตัวใด ๆ จากนั้นก็ขอให้หยุดที่จะตอบโต้ไม่ว่าจะทางใด แล้วทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเวลาผ่านไป”

เวลาช่วยเยียวยาทุกสิ่ง

ไรอัน แมคคอร์มิก ผู้ก่อตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ชื่อดังอย่าง โกลด์แมน แมคคอมิค ในนิวยอร์ก เล่าถึงวิธีการจัดการของบริษัททางการเงินที่ต้องบอกข่าวร้ายกับลูกค้า วิธีการของบริษัทเหล่านี้คือ “ไปพร้อมกับของขวัญปลอบใจพร้อมกับ วิธีการแก้ไข”

วิธีการดังกล่าวก็ใช้ได้กับเหล่าดารา นักแสดง ศิลปิน เซเลบริตี้ ที่พลาดพลั้งไปโพสต์ข้อความที่อ่อนไหวในโลกโซเชียล จนส่งผลกระทบกับแบรนด์สินค้า สิ่งที่แบรนด์ควรทำคืออย่าเพิ่งบอกเลิกสัญญากับเซเลบฯ เหล่านั้นแต่ควรส่งความช่วยเหลือ หรือให้คำปรึกษาว่าเหล่าคนดังที่ทำพลาดนั้นควรทำอย่างไร แบรนด์สามารถให้ความช่วยเหลือได้ถึงขนาดส่งฝ่ายประชาสัมพันธ์เข้ามาช่วยวางแผนให้กับพวกเขาเพื่อให้มีทางลงที่สวยงามที่สุด ซึ่งปัญหา “ดราม่า” ส่วนใหญ่นั้นจะคลี่คลายอย่างช้าสุดภายในหนึ่งเดือน อย่างเร็วสุดก็เพียงแค่สามวัน

เพราะโลกในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีเรื่องใหม่เข้ามา ผู้คนก็ให้ความสนใจทันทีโดยลืมดราม่าเดิมเสียสนิท ดังนั้น ความอดทนรอจึงเป็นสิ่งสำคัญ แก้ไขสถานการณ์เท่าที่จำเป็นและให้เวลาเป็นเครื่องมือในการเยียวยาทุกสิ่ง

สร้างความเข้าใจใหม่ “วัฒนธรรมขับออกจากสังคม” นั้น ทำร้ายใจคนมากกว่าที่คิด

คนเราทุกคนทำผิดพลาดได้เสมอ และในความผิดพลาดทุกครั้งมีบทลงโทษทั้งจากตัวบทกฎหมายและสังคม แต่การใช้ Cancel Culture หรือวัฒนธรรมขับออกจากสังคมนั้นเป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุ และสามารถทำให้คนหนึ่งคนมีบาดแผลทางใจ หากคนคนนั้นมีใจที่ไม่แข็งแรงพอ ความอ่อนไหวส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายอย่างแน่นอน

ดังนั้น เราควรเผยแพร่และตระหนักข้อเสียของ “วัฒนธรรมขับออกจากสังคม” ให้มาก เพราะบทลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิตมนุษย์กับการถูกจองจำในคุก ยังให้โอกาสพวกเขาในการกลับตัวกลับใจ และสามารถที่จะติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้ ในขณะที่ “วัฒนธรรมขับออกจากสังคม” ทำให้คนหนึ่งคนถูกตีตราและสร้างภาพจำไปแล้วว่าเป็นคนไม่ดี เพียงเพราะเขาแสดงความคิดเห็น หรือมีทัศนคติที่ไม่ถูกใจคนกลุ่มหนึ่ง

และการกระทำดังกล่าวส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อได้ด้วยอาชีพเดิม แม้ว่าภายหลังจะมีความชัดเจนแล้วว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือมีเหตุผลด้านอื่น ๆ มาประกอบ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คนหนึ่งคนต้องเจอกับ Cancel Culture สิ่งสำคัญคือคนรอบข้างต้องคอยให้กำลังใจ ห่างจากโซเชียล และแบรนด์สินค้าก็ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของเหตุการณ์ ไม่ด่วนตัดสินหรือเลิกที่จะใช้งานทันที

การกู้คืนชื่อเสียงและพื้นที่ในสังคม

หากพฤติกรรมหรือการแสดงทัศนคติของเหล่าคนดังนั้นไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หรือพวกเขาไม่ได้ไปก่ออาชญากรรมที่ไหน เหล่าคนดังส่วนใหญ่เมื่อได้รับบทเรียนจากโซเชียลมีเดีย พวกเขาก็จะใช้วิธีเงียบ ก่อนจะส่งคำขอโทษผ่านช่องทางโซเชียลอย่างเป็นทางการของตนเอง หากพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องผิด วิธีที่ดีที่สุดคือเงียบ รอเวลาที่สังคมจะพิจารณาและกลับมาให้อภัย

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เจอดราม่า ชนิดที่เอาชื่อไปแขวนในโซเชียล จนกลายเป็นแฮชแท็ก “แบน” ยังไม่ต้องใจเสียจนเกินไป แต่พึงระลึกไว้ว่า “เราไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบเราได้ และคนที่เกลียดอย่างไรก็เกลียดวันยังค่ำ ต่อให้คุณมีคำอธิบายที่ดีเพียงใดก็ตาม”

หากดราม่าที่คุณเจอ ทำให้คุณต้องเจอกับ Cancel Culture ขอให้อยู่นิ่ง ๆ ตัดตัวเองจากโลกโซเชียล จากนั้นรอดูว่าทิศทางของ “ดราม่า” เป็นไปในทิศทางใด แล้วค่อยออกมาสำนึกในสิ่งที่ทำลงไปแบบสั้น ๆ แล้วก็ขอให้อยู่นิ่ง ๆ อีกสักสองสัปดาห์ เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ สังคมเริ่มโอเคกับคำอธิบายของคุณ ก็ขอให้เดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป แต่เป็นไปด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องขึ้นซ้ำอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook