เริ่มก่อนไม่เสียหาย วิธี “ง้อพ่อแม่” เมื่อคุณเป็นคนผิด!

เริ่มก่อนไม่เสียหาย วิธี “ง้อพ่อแม่” เมื่อคุณเป็นคนผิด!

เริ่มก่อนไม่เสียหาย วิธี “ง้อพ่อแม่” เมื่อคุณเป็นคนผิด!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยไหม เวลาที่ทะเลาะกับคนในบ้าน โดยเฉพาะ “ทะเลาะกับพ่อแม่” เวลาที่พวกท่านโกรธหรืองอนแต่ละทีมันดูเป็นเรื่องใหญ่เสียเหลือเกิน บางทีเราก็รู้ตัวนะว่าผิด แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นขอโทษอย่างไร ปากหนัก ไม่พูดก่อนเพราะกลัวเสียศักดิ์ศรี หรือไม่อยากรบกวนฝากใครไปพูด อะไรทำนองนี้ ก็เลยไม่ได้ขอโทษจริงจังเสียที

การที่อยู่อาศัยในบ้านหลังเดียวกัน แต่ต้องมาทะเลาะกัน และทำสงครามประสาทใส่กันต่อเนื่องหลายวัน ดูจะไม่ใช่เรื่องที่บันเทิงใจเท่าไรเลยว่าไหม ทางที่ดี ควรหาวิธีรีบให้บรรยากาศน่าอึดอัดแบบนี้มันรีบจบ ๆ ไปดีกว่า มาดูกันว่าถ้าเราเป็นคนผิด เราจะเริ่มต้นง้อพ่อแม่ก่อนอย่างไรดี

ลดทิฐิและการตั้งแง่ลงมาก่อน

ทำไมเราถึงไม่กล้าพูดขอโทษกับพ่อแม่ก่อน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตัวเองผิด หรือผิดมากกว่า ความปากหนัก พูดขอโทษไม่เป็น หรือพูดก่อนไม่ได้นั้น จริง ๆ แล้วมันคือการตั้งแง่และที่ทิฐิของแต่ละฝ่าย มองว่าการพูดขอโทษก่อนคนอื่น พูดขอโทษทั้งที่ตัวเองไม่ผิด มันเป็นเรื่องที่น่าขายหน้า เสียศักดิ์ศรี อยากให้ลองพิจารณาดูดี ๆ อีกทีนะ อย่างไรเสียนี่ก็คนในบ้านเดียวกัน สายเลือดเดียวกัน การพูดขอโทษก่อนมันเสียศักดิ์ศรีหรือไม่ดีตรงไหน อะไรที่หนักนิดเบาหน่อยๆได้ พอจะปล่อยผ่านได้ก็ไม่ต้องยึดติดขนาดนั้นก็ได้ แบกอีโก้ แบกทิฐิไว้มาก ๆ หนักเปล่า ๆ

เริ่มต้นที่การพูดขอโทษ

คำ 3 คำที่มนุษย์เราควรพูดให้ติดปาก คือคำว่า สวัสดี ขอโทษ และขอบคุณ ทั้ง 3 คำมีหน้าที่และวิธีการใช้งานต่างกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้มันค่อนข้างเหมือนกัน คือดีต่อใจและดีต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และเป็นไปในทางบวกด้วย กรณีที่เรากับพ่อแม่ทะเลาะกัน ก็คงเหมาะกับคำว่าขอโทษมากกว่าอีก 2 คำที่เหลือ บางทีก็ไม่ต้องคิดมาก หรือคิดเยอะนักก็ได้ว่าใครผิดใครไม่ผิด หรือเถียงกันว่าใครจะเริ่มต้น ขอโทษก่อน (แต่ถ้าผิดก็ควรจะเป็นฝ่ายเริ่มต้นพูดขอโทษก็ถูกแล้ว ไม่ต้องลีลา) แค่ขอโทษคำเดียว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเยอะเลย ไม่เชื่อลองดูสิ

มีของขวัญหรือพาไปกินข้าว

อันที่จริงก็ขอโทษไปแล้วนะ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์มันยังดูตึง ๆ อยู่นิดหน่อย อารมณ์แบบว่าจากที่โกรธ ก็ลดระดับลงมาเป็นงอน ถ้าเจอแบบนี้ ให้ลองสำรวจสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ก่อน หากสถานการณ์ปลอดภัยและเป็นใจดี ค่อยจู่โจมต่อเลย เช่น ชวนไปกินข้าวมื้อพิเศษนอกบ้าน หรือมีของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดมือไปง้อ อะไรก็ได้ที่พ่อแม่คุณชอบ คุณน่าจะรู้อยู่ว่าพ่อแม่ชอบอะไร แค่น้ำใจเล็กน้อยก็ทำพ่อแม่ซึ้งน้ำใจขึ้นอีกเยอะเลย ถึงแม้ว่ามันจะออกแนวเหมือนติดสินบน แล้วก็ดูสิ้นเปลืองอยู่หน่อย ๆ ถือว่านาน ๆ ทีมีของขวัญให้พ่อแม่ก็ได้

ขอเปิดใจ พูดเคลียร์ไปเลยตรง ๆ

กรณีที่เรื่องผ่านมาหลายวันแล้ว โดยที่คุณก็เป็นฝ่ายขอโทษไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสภาพในบ้านยังเหมือนห้องเย็นที่มีกำแพงน้ำแข็งอยู่ อารมณ์ว่า “ยังไม่หายโกรธอีกเหรอ” หรือ “นี่เราไปทำอะไรให้ไม่พอใจอีกเนี่ย” หรือ “เป็นอะไรไปอีกแล้ว” คิดวกไปวนมากับตัวเองแบบนี้ไม่มีทางได้คำตอบหรอก ประสาทกินเปล่า ๆ ก็คงไม่มีทางเลือกไหนที่จะดีเท่ากับการจู่โจมประชิดตัวไปเลยว่าขอคุยแบบเปิดใจที เคลียร์ตรง ๆ มาเลยว่าจะเอายังไง (เดินเข้าไปหาดี ๆ แล้วก็พูดจาดี ๆ ด้วยนะ) ต้องทำอย่างไรถึงจะหายโกรธ จะต้องทำยังไง กำแพงน้ำแข็งถึงจะละลาย

แสดงออกว่าสำนึกผิดจริง ๆ หรือไม่ได้ตั้งใจให้เรื่องเป็นแบบนั้น

เป็นวิธีที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูดีเหมือนกันนะ เวลาที่คนคนหนึ่งแสดงออกว่าสำนึกผิด ผิดไปแล้ว! จะไม่ทำอีกแล้ว! ยกโทษให้เถอะนะ! หลังจากที่เอ่ยปากขอโทษไปแล้ว บางคนก็รู้สึกสลดใจกับความผิดตัวเองจริง ๆ เลยแสดงออกให้อีกฝ่ายเห็นไปเลยว่าเราสำนึกผิดแล้วจริง ๆ จะไม่ทำผิดซ้ำอีกแล้ว หรือที่ทำลงไปนั้นไปไม่ได้ตั้งใจ ด้วยความที่มันเป็นการกระทำที่เห็นได้ชัดเจนกว่าขอโทษให้เรื่องมันจบ ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่แสดงออกไป ก็ขอให้ทำมันด้วยความจริงใจจริง ๆ ไม่ใช่การเสแสร้งแกล้งทำ เล่นละครแบบนั้นไม่เอา ถ้าเราผิดจริงและสำนึกผิดแล้ว ก็ต้องหาวิธีปรับปรุงตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook