ลูกฉันเป็นคนดี นิยาม คนดี ของพ่อแม่ที่ไม่เท่ากับคนทั่วไป

ลูกฉันเป็นคนดี นิยาม คนดี ของพ่อแม่ที่ไม่เท่ากับคนทั่วไป

ลูกฉันเป็นคนดี นิยาม คนดี ของพ่อแม่ที่ไม่เท่ากับคนทั่วไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลูกฉันเป็นคนดี เป็นการ์ดที่ถูกหงายขึ้นมาบ่อยพอ ๆ กับ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เวลาที่เราเห็นข่าวเด็กวัยรุ่นป่วนเมือง หรือเห็นข่าวของคนก่ออาชญากรรม เป็นปัญหาสังคม ในขณะที่พ่อแม่ของผู้กระทำผิดป่าวประกาศออกสื่อว่า “ลูกฉันเป็นคนดี” คนอื่น ๆ ในสังคมต่างพากันสาปส่ง เพราะทั้งที่มีหลักฐานว่าลูกตัวเองเป็นคนผิดขนาดนี้แล้ว ทำไมยังกล้าที่จะบอกว่าลูกของตัวเองเป็นคนดี!

จริง ๆ แล้ว มันก็ขึ้นอยู่กับว่า นิยามคำว่า “คนดี” ของคนเป็นพ่อแม่คืออะไร มาตรฐานมันอยู่ที่ตรงไหน เอาเข้าจริงแล้ว เมื่อลูกของตัวเองกระทำความผิด ใครจะอยากยอมรับว่าเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเองเป็นคนไม่ดี อีกทั้งมันยังเท่ากับยอมรับด้วยว่าที่ผ่านมาตัวเองเลี้ยงลูกไม่ดีพอ เพราะพ่อแม่ทุกคนต่างเชื่อในวิธีการเลี้ยงลูกของตัวเองว่าตัวเองเลี้ยงลูกดีแล้ว เลี้ยงมาถูกวิธีแล้ว บางครั้งเมื่อเห็นลูกทำผิดก็ปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเรื่องเล็กน้อย ไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องดูแลสั่งสอนให้แก้ไข และไม่เคยคิดว่าลูกจะกลายเป็นปัญหาสังคม

พ่อแม่หลายคนยังคงยืนกรานกับสังคมจนวินาทีสุดท้ายว่า “ลูกฉันเป็นคนดี” จนเมื่อเห็นหลักฐานประเภทคลิปวิดีโอ หรือหลักฐานอื่น ๆ ประกอบ ในเมื่อหลักฐานมันฟ้องขนาดนั้น พ่อแม่หลายคนจำใจยอมรับแบบหน้าสลด แต่หลายคนก็ยังจะยืนกรานต่อไปว่าลูกตัวเองไม่ผิด หาวิธีเถียงข้าง ๆ คู ๆ หรือยังพยายามจะหาวิธีทำให้คดีพลิกให้ได้ ไม่ยอมรับความจริงว่าลูกตัวเองเป็นคนผิด ท้ายที่สุดแล้วมันก็เลยกลายเป็น “คนดีของพ่อแม่” แต่เป็น “คนเลวของสังคม” ไป

คนเป็นพ่อแม่อย่างไรก็เชื่อลูกตัวเองอยู่แล้ว

จะมีพ่อแม่สักกี่คนที่จะพูดว่าลูกฉันนี่ล่ะเลว (ถ้าเด็กคนนั้นไม่ได้เหลือขอจริง ๆ ตั้งแต่แรก) ในสายตาพ่อแม่ ไม่ว่าอย่างไรก็มองว่าลูกตัวเองเป็นคนดีอยู่แล้ว ต่อให้รู้ว่าผิด หรือรู้ว่าเลว ก็ต้องบอกว่า “ลูกฉันเป็นคนดี” ไม่มีพ่อแม่ที่ไหนมองว่าลูกตัวเองเลวหรอก (มันสะท้อนความบกพร่องของตัวพ่อแม่ด้วย) ถึงลึก ๆ จะรู้ว่าเรื่องที่ลูกทำมันไม่ดี แต่ถ้ามีโอกาสจะเปลี่ยนผิดเป็นถูกหรือผ่อนความผิดลง พ่อแม่หลายคนก็จะปกป้องเพราะความรักลูก หรือจริง ๆ แล้ว ลูกก็อาจจะเป็นคนดีจริง ๆ เพียงแต่มันมีปัจจัยอื่นส่งเสริมการก่ออาชญากรรม อาจจะขาดสติ หรือถูกยั่วยุก็เป็นได้

ลูกที่อยู่ที่บ้านกับลูกที่อยู่นอกบ้านเป็นคนละคน

พ่อแม่อาจจะเข้าใจว่า “ลูกฉันเป็นคนดี” จริง ๆ เพราะพฤติกรรมของลูกที่อยู่บ้านกับนอกบ้านแทบจะเป็นคนละคน สังคมเมืองผู้คนส่วนใหญ่เลี้ยงลูกแบบครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ลูกไม่ค่อยจะได้เจอหน้ากัน จึงไม่แปลกที่พ่อแม่หลายคนไม่รู้จักแม้กระทั่งลูกตัวเอง เมื่ออยู่ต่อหน้าพ่อแม่ เด็กหลายคนทำตัวอยู่ในโอวาททุกอย่าง เรียนเก่ง ช่วยงานบ้าน พูดจาเพราะ สวดมนต์ก่อนนอน พูดหรือบอกอะไรก็รับปากรับคำเป็นอย่างดี ซึ่งมันก็เพียงพอที่จะเป็น “คนดี” ของพ่อแม่ได้แล้ว พ่อแม่จึงเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเห็น มาช็อกอีกทีก็ตอนที่ได้ดูคลิปหลักฐานว่าที่แท้จริงแล้วลูกเป็นคนอย่างไร

เลี้ยงลูกแบบพ่อแม่รังแกฉัน เข้าข้างทุกเรื่องออกรับแทนทุกอย่าง

พ่อแม่ที่ตีลมด่าพื้นเวลาที่ลูกหกล้มนั่นเอง พ่อแม่ที่รักลูกแบบผิด ๆ ไม่ว่าอะไรลูกฉันถูกเสมอ ไม่เคยบอกลูกว่าทำไมถึงหกล้ม ไม่เคยสอนให้ลูกลุกขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่เลือกที่จะโทษว่าเป็นความผิดของลมฟ้าอากาศ ความผิดของพื้น ที่ทำให้ลูกหกล้ม ประคบประหงม ปกป้องลูกออกจากความผิดทุกอย่าง เข้าข้างแบบไม่ลืมหูลืมตา ผิดแค่ไหน เลวแค่ไหนก็เป็นเด็กดีในสายตาพ่อแม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยสอนลูกเลยว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เพราะกลัวลูกผิดหวัง เสียใจ เลยกลายเป็นการให้ท้ายลูกไป “ลูกฉันเป็นคนดี” จึงเป็นการปกป้องลูกแบบผิด ๆ วิธีสุดท้ายที่จะทำได้

ก็ไม่ได้อบรมสั่งสอนจริง ๆ แต่ก็ไม่อยากยอมรับความผิดของตัวเอง

ที่มีจำนวนไม่น้อย ก็คือพ่อแม่ที่บกพร่องในการอบรมสั่งสอนลูกจริง ๆ พ่อแม่หลายคนเลี้ยงลูกแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ตามมีตามเกิด โดยที่ไม่เคยอบรมสั่งสอนว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี ปกติก็ไม่เคยจะสนใจลูก แต่ถ้าลูกไปกระทำความผิดมา การประกาศต่อสังคมว่า “ลูกฉันเป็นคนดี” ก็มองได้อย่างเดียวว่าต้องการจะแก้ตัว หรือขอความเห็นใจจากสังคม เหมือนว่าตัวเองก็ทำหน้าที่พ่อแม่ดีที่สุดแล้ว ลูกฉันก็เป็นคนดีอยู่นะ ถึงกระนั้นก็ไม่อาจเปลี่ยนคำด่าจากสังคมได้ว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” ซึ่งนี่เป็นคำที่ใช้ด่าตัวพ่อแม่ ว่าก็คงจะไม่ดีเหมือนกันถึงสอนลูกให้ได้ดีไม่ได้

แม้ว่าการยอมรับความจริงว่าลูกตัวเองอาจไม่ใช่คนดีแบบที่ตัวเองคิดนั้นจะไม่ใช่เรื่องที่ทำใจกันได้ง่าย ๆ แต่อย่างน้อยที่สุด พ่อแม่ควรต้องยอมรับว่านิยามความเป็น “คนดี” ของพ่อแม่นั้น ก็อาจไม่เท่ากับคนดีในทางศาสนา และอาจจะไม่เท่ากับคนดีของสังคมด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อลูกทำผิดจริง ๆ ก็ต้องว่ากันไปตามผิด รวมถึงสอนให้เขารู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งไม่ดี หรือถ้าเข้าใจว่าลูกเป็นคนดีจริง ๆ ก็ต้องยอมรับความจริงว่าคนดีก็ทำผิดพลาดได้ ผิดก็ต้องรับโทษและแก้ไขความผิดเท่านั้นเอง หรือจะพิสูจน์ความจริงก็ว่าไป ไม่จำเป็นต้องแก้ตัวใด ๆ

ในเมื่อการให้นิยาม “ความเป็นคนดี” นั้น มาตรฐานของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน ลูกที่พ่อแม่เคยเชื่อนักเชื่อหนาว่าเป็นคนดี แท้จริงแล้วเขาอาจจะไม่ได้ดีพอเมื่ออยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่น หรือเขาอาจจะเป็นอีกคนที่พ่อแม่ไม่รู้จักก็เป็นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook