ค่าใช้จ่ายที่งอกออกมา ของผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมืองกรุง

ค่าใช้จ่ายที่งอกออกมา ของผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมืองกรุง

ค่าใช้จ่ายที่งอกออกมา ของผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมืองกรุง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในแต่ละเดือนคุณอาจวางแผนการเงินไว้แล้วว่าต้องจ่ายค่าอะไรบ้างและมีเงินเหลือเก็บกี่บาท แต่สงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าเงินที่พยายามเก็บหอมรอมริบเอาไว้ มันสูญหายไปกับอะไรหมด ถ้าอยากรู้ลองไปเช็กลิสต์พร้อม ๆ กันเลย

ค่าทำเล็บ

เกิด #เป็นผู้หญิงอย่าหยุดสวย วลีที่ต่างคุ้นเคยกันดี แต่ความสวยนั้น นอกจากเสื้อผ้า หน้าผม แล้ว แม้แต่ “เล็บมือ” ก็สามารถสวยได้นะคะ แต่จะมานั่งหลังขด หลังแข็ง ทาเล็บ แต่งเล็บเอง ก็กระไรอยู่ ดังนั้น ร้านทำเล็บจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แม้ต้องเสียเงิน แต่รับประกันว่า เล็บคุณออกมาสวยเริ่ด เชิด เฉี่ยว แน่ ๆ
ค่าโทรศัพท์

ปัจจุบัน คนหันมาใช้ซิมแบบรายเดือนมากกว่าการเติมเงิน ด้วยแพ็กเกจและโปรโมชันรายเดือนที่มีให้เลือกมากมาย แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการจ่ายค่าโทรศัพท์แบบรายเดือนบางครั้งก็มีค่าใช้จ่ายที่คุมไม่ได้เกิดขึ้น อาทิ ค่าโทรที่เกินจากที่กำหนด ค่าสมัครแพ็กเกจพิเศษเพิ่ม ค่าเติมเงินเพื่อเล่นเกมหรืออ่านนิยายจากแอปพลิเคชันต่าง ๆ เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายในชั่วโมงเร่งรีบ

การเดินทางในเมืองใหญ่มีให้เลือกมากมาย ทั้งรถเมล์ เรือโดยสาร วินมอเตอร์ไซค์ รถไฟฟ้า (BTS/MRT) หรือรถแท็กซี่ แต่เมื่อถึงชั่วโมงเร่งรีบ จากเดิมที่อาศัยระบบขนส่งสาธารณะราคาเบา ๆ อย่างรถเมล์ อาจต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีความรวดเร็วขึ้น แต่ความเร็วที่ว่าย่อมแลกมาด้วยราคาที่แพงกว่าปกติเช่นกัน ฉะนั้น หากเดือนหนึ่ง คุณเจอชั่วโมงเร่งรีบติดต่อกันหลาย ๆ วัน รายจ่ายที่กันไว้สำหรับเดินทาง อาจไม่เพียงพอก็ได้

ค่า SERVICE CHARGE

หรือ “เงินค่าบริการ” ที่ร้านอาหารเรียกเก็บเพิ่มจากลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการ ซึ่งแต่ละร้านมีการเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จไม่เท่ากัน โดยเฉพาะร้านอาหารที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า อาจอยู่ที่ 10% หรือ 15% ก็ได้ ตอนจ่ายเงินคุณอาจเห็นว่า เป็นเงินเพียงเล็กน้อย แต่หากเดือนไหนคุณแวะเวียนไปทานอาหารนอกบ้านบ่อย ๆ เมื่อเอาค่าเซอร์วิสชาร์จมาบวกกันทุกบิล ก็เป็นรายจ่ายที่มากเหมือนกัน

ค่าล้างรถ ดูแลรถ

การมีรถยนต์เป็นของตนเอง นอกจากค่าผ่อน ค่าที่จอดรถ ค่าน้ำมันแล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างค่าล้างรถ ดูแลรถ ตามมาอีกด้วย (กรณีที่คุณไม่สะดวกล้างรถเอง) ยิ่งหากคุณเป็นคนที่รักรถม้าก มาก และสะเทือนใจทุกครั้งที่เห็นละอองฝุ่นบาง ๆ ติดอยู่ส่วนใด ส่วนหนึ่งของรถ ไม่แปลกที่เดือน ๆ หนึ่ง คุณต้องขับรถเข้า-ออกร้านล้างรถ มากกว่า 1 หรือ 2 ครั้ง/เดือน ซึ่งการเข้าไปใช้บริการร้านล้างรถ 1 ครั้ง อยู่ที่ประมาณ 150-300 บาท

ค่าช้อปปิ้ง (ของที่ไม่จำเป็น)

ตะลุยช้อปปิ้งนอกแพลนที่วางไว้ นอกจากทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายแล้ว คุณยังอาจได้ของที่ไม่ต้องการมาเยอะ หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า คุณกำลังเสียเงินซื้อของที่ไม่จำเป็นให้มารกห้องหรือบ้าน แต่การเห็นป้ายสีแดง พร้อมคำว่า SALE ตัวใหญ่ ๆ มันก็ยากจะต้านทานได้ แต่ขอให้คุณท่องไว้ว่า สินค้าที่ประกาศ SALE ยังไม่ใช่ของที่คุณมีความจำเป็นต้องซื้อมาใช้ทุกครั้งไป

ค่าเครื่องดื่มพิเศษ

การตัดใจจากกาแฟสด หรือชาเขียว อาจเป็นเรื่องยากจะทำใจ และยิ่งคุณเพิ่มความพิเศษของเครื่องดื่มแก้วโปรด ด้วยการเพิ่มช็อตหรือการปั่น ราคาก็ยิ่งขยับขึ้นไปอีก (อาจเพิ่ม 5-10 บาท) จากเดิมจ่ายเพียงแก้วละ 30 บาท อาจขยับเป็น 35-40 บาทแทน

ค่าธรรมเนียมจากความล่าช้า

เรื่องนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่หลาย ๆ คนอาจมองข้าม แต่เราขอย้ำเตือนว่า “ค่าธรรมเนียมจากความล่าช้า” เปรียบเสมือน “นักสูบรายได้” ที่น่ากลัวที่สุด โดยเฉพาะบัตรเครดิตเกือบทั้งหมดจะมีค่าธรรมเนียม หากคุณชำระล่าช้า (ชำระหลังวันครบกำหนด) อาจเจอค่าปรับวันละ 50-100 บาทก็เป็นได้

เมื่อรู้แล้วว่า ในแต่ละเดือนเงินของคุณหายไปเพราะอะไรบ้าง ก็ลองลด ละ เลิก การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เชื่อว่า คุณจะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook