7 พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ติดมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย

7 พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ติดมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย

7 พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ติดมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก ด้วยความที่มันทำให้ทั้งโลกสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างไร้ขอบเขต มีประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารที่ค่อนข้างหลากหลาย จนแทบพูดได้ว่าเกือบทุกคนน่าจะมีบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นของตนเองอย่างน้อย 1 บัญชี ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใดก็ตาม

การใช้ชีวิตในโซเชียลมีเดีย จะเรียกว่าเป็นโลกเสมือนก็ดูจะไม่ผิดนัก เพราะทุกอย่างมันอยู่บนออนไลน์เป็นสำคัญ บางอย่างจับต้องไม่ได้ในโลกความเป็นจริง รวมถึงอาจไม่มีอยู่จริงในโลกความเป็นจริงก็ได้ ชีวิตในโลกเสมือนเราจะเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวเอง ถือเป็นความบันเทิงอีกรูปแบบที่อาจเป็นดาบสองคมต่อการใช้ชีวิตจริง ๆ และอาจทำให้เราติดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์บางอย่างมาจากการใช้โซเชียลมีเดียที่ไม่ได้ต้องการความเป็นทางการ หรือไม่ได้เป็นกิจจะลักษณะเท่าที่ควร

ดังนั้น พอต้องมาเข้าสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง หลายคนก็อาจจะเผลอติดเอาพฤติกรรมเหล่านั้นมาใช้ ทั้งที่มันไม่ค่อยเหมาะสม เช่น ในการติดต่อสื่อสารที่ต้องการความเป็นทางการ หลายคนติดใช้ภาษาพูดแบบที่ใช้โพสต์ในโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ในกรณีนี้อาจถึงขั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน้าที่การงานได้ เช่น ถูกตำหนิเพราะการสื่อสารไม่เหมาะกับกาลเทศะ สร้างความเข้าใจผิด เนื่องจากมันกำกวม หรืออาจถึงขั้นที่การสื่อสารไม่สัมฤทธิผล ตรงที่สร้างความไม่พอใจให้กับคู่สนทนาที่เขาอาจจะถือเรื่องมารยาทมาก ๆ กับคนที่เขาสนใจจะติดต่องานด้วยก็ได้

ลองมาดูกันสักนิดว่าเราท่านอาจทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง ที่ติดมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ในกรณีที่ต้องกลับมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง จนก่อให้เกิดปัญหาได้

1. ใช้สติกเกอร์เกินความจำเป็น

หลายคนอาจรู้สึกว่าการใช้สติกเกอร์แทนคำพูดนั้นช่วยให้การสนทนาดูเป็นมิตร เข้าถึงง่าย ดูเป็นกันเอง น่ารักมากกว่าตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวที่อาจจะดูห้วน ๆ แข็ง ๆ จริงจังจนเครียด จึงมักจะใช้สติกเกอร์แสดงความรู้สึก แทนคำพูดในการสนทนา หรือใช้จบบทสนทนาของฝั่งตัวเอง แต่ในการสนทนาที่ค่อนข้างเป็นทางการ เช่น ในรูปของกิจธุระหรือธุรกิจควรหลีกเลี่ยงการใช้สติกเกอร์ เพราะมันจะทำให้บทสนทนานั้นดูเบาลงจนอาจดูไม่น่าเชื่อถือ ดูไม่เป็นมืออาชีพ เหมือนเห็นเรื่องทุกเรื่องเป็นเรื่องเล็ก ในเมื่อเราไม่รู้ว่าคู่สนทนามีทัศนคติอย่างไรหรือจะคิดอะไร ก็ระวังไว้ก่อนจะดีกว่า

2. ใช้ภาษาผิด ๆ ถูก ๆ

การใช้ภาษาผิด ไม่ได้หมายถึงแค่การสะกดคำผิด แต่รวมถึงการใช้คำผิดความหมาย ใช้คำผิดระดับ ใช้ลักษณนามไม่ถูกต้อง หากพูดคุยเรื่องที่เป็นงานเป็นการ ควรหลีกเลี่ยงการเขียนสะกดคำง่าย ๆ แบบที่ไม่ถูกหลักไวยากรณ์ แม้ว่าจะอ่านแล้วเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ทว่ามันไม่เหมาะกับกาลเทศะ ทำให้ผู้ส่งสารดูไม่น่าเชื่อถือ ทั้งยังอาจทำให้การสื่อสารกำกวม ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ฉะนั้น เมื่อใดที่ต้องติดต่อกับคนอื่นในเรื่องที่เป็นกิจจะลักษณะ ควรเช็กการใช้ภาษาให้ถูกต้อง สะกดคำให้ถูก และพยายามใช้ภาษามาตรฐานเท่านั้น เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน

3. แชร์ข่าวปลอมกันอย่างง่ายดาย

ในการติดต่อสื่อสารภายในทีม หรือระหว่างหน่วยงาน ระหว่างองค์กรที่ติดต่อธุระกัน มักจะมีกลุ่มแชตในแอปฯ สำหรับพูดคุยติดต่อสื่อสารเรื่องงาน บ่อยครั้งที่เราจะเห็นคนในกลุ่มส่งข้อมูลบางอย่างมาด้วยความหวังดี อยากแชร์ให้คนอื่นได้รู้ด้วย แต่กลับไม่ได้ตรวจสอบก่อนที่จะแชร์ว่านั่นข่าวจริงหรือข่าวปลอม พอไม่ได้เช็ก คนอื่นในกลุ่มก็จะได้รับข้อมูลนั้นต่อ ทำให้ข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือนถูกส่งต่ออย่างกว้างขวางในเวลาอันรวดเร็ว มีผลให้การเสพข่าวสารกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าที่ควร ดังนั้น หลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลต่อในกลุ่มคุยงาน หรือต้องสังเกตและตรวจสอบให้มากขึ้น

4. เข้าใจว่าโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักของการสื่อสาร

ช่องทางโซเชียลมีเดีย ไม่ควรจะเป็นช่องทางหลักสำหรับการติดต่อสื่อสารเรื่องที่เป็นกิจจะลักษณะ ด้วยความที่ส่วนมากมันจะเป็นช่องทางส่วนตัว ที่สามารถเข้าถึงผู้ติดต่อคนนั้นได้โดยตรง ๆ ฉะนั้น การส่งหรือคุยงานในแชตส่วนตัว ควรมีเฉพาะเรื่องที่ไม่จำเป็น ไม่สำคัญมาก และไม่เร่งด่วน ส่วนเรื่องสำคัญ เก็บไปไว้สื่อสารด้วยวิธีที่เป็นทางการกว่านี้ เช่น ส่งไฟล์งาน หรือการพูดคุยที่ต้องการหลักฐานอ้างอิงให้ใช้เป็นอีเมลในการคุยงาน ถ้ามีเรื่องด่วนให้โทร อย่าทิ้งข้อความไว้ในแชต เพราะผู้คนไม่ได้ออนไลน์ดูแอปฯ แชตตลอดเวลา ก็อาจจะไม่เห็นข้อความหรือยังไม่มีเวลาดู

5. โพสต์ทุกอย่างที่คิดในหัว แต่ปราศจากการคิดไตร่ตรอง

จำไว้ว่า “อดีตไม่เคยหายไปจากโลกดิจิทัล” เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว ถึงจะแค่ไม่กี่วินาทีแล้วลบทิ้ง ก็มีพวก “แคปทัน” อยู่เกลื่อนเมือง ส่วน Digital Footprint ก็ตรวจหาร่องรอยไม่ยาก หากวันถูกขุดพบเข้า ชีวิตอาจจบเห่ได้ หลายคนมีบทเรียนตกม้าตายจากการคิดน้อยหรือไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะโพสต์อะไรลงโซเชียลมีเดีย ไม่คำนึงว่ามันอาจสร้างความเสียหายให้ตัวเองภายหลัง เช่น เรื่องดราม่าเรียกทัวร์ลง ด่าคนนั้นด่าคนนี้ คำหยาบคายสารพัด พอมีปัญหาก็หงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอให้สังคมให้อภัย มีกรณีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย

6. สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

การติดต่อสื่อสารผ่านการแชตในโซเชียลมีเดีย มักจะเป็นการสื่อสารกันผ่านตัวอักษร พิมพ์ข้อความหากัน การรับสารจากการอ่าน บ่อยครั้งที่อาจทำให้เราเข้าใจคู่สนทนาคลาดเคลื่อน เพราะเราไม่มีทางรู้อารมณ์ น้ำเสียง สีหน้า อากัปกิริยา และเจตนาที่แท้จริงของคู่สนทนาได้เลย ด้วยความที่ไม่เห็นหน้าคู่สนทนา เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรับรู้อารมณ์ที่แท้จริงของกันและกันได้ อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดระหว่างกันได้ง่ายมาก แค่เราเดาน้ำเสียงและอารมณ์ของผู้ส่งสารไม่ออก กว่าจะสื่อสารตรงกัน ระหว่างทางอาจเข้าใจกันไปคนละทิศคนละทางแล้ว

7. ภาวะเสพติดโซเชียลมีเดีย

การใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากเกินไป ให้โซเชียลมีเดียครอบงำชีวิตแทบทุกช่วงเวลา อาจทำให้เกิดภาวะเสพติดโซเชียลมีเดียได้ นำไปสู่สุขภาพจิตที่แย่ลง ความเครียด และอีกหลาย ๆ เช่น ลักษณะอาการ FOMO (Fear Of Missing Out) หรือ “กลัวตกกระแส” โรคขาดมือถือไม่ได้ หรือ “โรคโนโมโฟเบีย” (No Mobile Phone Phobia) การอยากอวดชีวิตของตัวเอง จนมีอาการป่วยเพราะโซเชียลมีเดียเป็นพิษ รวมถึงอาการคลั่งการกดไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์ข้อความต่าง ๆ ในโลกโซเชียล ด้วยเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่สำคัญทางจิตใจ และคนในสังคมให้คุณค่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook