อ่านออก เถียงได้ สไตล์นักฉอด “ไอซ์ - รักชนก”
Highlight
- ไอซ์ รักชนก ศรีนอก นักฉอดฝั่งประชาธิปไตย ขวัญใจคนรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ เป็นผู้หนึ่งที่เบิกเนตรจากการอ่านหนังสือ
- ไอซ์เชื่อว่า การอ่านหนังสือจะทำให้การถกเถียงมีน้ำหนักและมีคุณภาพมากขึ้น
- นอกจากการอ่านเพื่อเปิดประสบการณ์แล้ว หนังสือยังเป็นของขวัญที่มีค่าสำหรับทุกคน เพราะหนังสือสามารถเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่เสพข่าวสารและข้อมูลในโลกออนไลน์ ชื่อของ “ไอซ์ – รักชนก ศรีนอก” คงเป็นที่คุ้นเคยในฐานะ “นักฉอด” เบอร์ต้นๆ ผู้ฝากฝีปากและการตั้งคำถามปังๆ ในทวิตเตอร์และคลับเฮาส์ นอกจากนี้ เธอยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ที่ “เบิกเนตร” จากการอ่านหนังสือ และกลายเป็นไอคอนอีกคนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย
เนื่องในโอกาสที่มหกรรมหนังสือระดับชาติเวียนมาอีกครั้ง พร้อมแนวคิด “อ่านออก เถียงได้” Sanook จึงไม่รอช้าที่จะไปเยี่ยมเยียนห้องหนังสือของสาวช่างเถียงผู้นี้ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการเติบโตของเธอจากหนังสือวิชาการและวรรณกรรมที่วางเรียงรายอยู่บนชั้นหนังสือสีขาวของเธอ
อ่านออก
“เป็นคนชอบซื้อหนังสือค่ะ แต่ว่าไม่ใช่หนอนหนังสือ หนอนหนังสือคือต้องอ่านเยอะใช่ไหม คือเราซื้อเยอะ แล้วมันดูเหมือนมีหนังสือเยอะ แต่ความเร็วในการอ่านมันก็คือ 1 – 4 เล่มต่อเดือน ก็อาจจะไม่ได้เป็นหนอนหนังสืออะไรขนาดนั้น” ไอซ์ออกตัวเกี่ยวกับคำนิยามความเป็นหนอนหนังสือของเธอ
ไอซ์เล่าว่าที่ผ่านมาเธอไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ และวงจรการอ่านหนังสือของเธอก็ขึ้นลงไปตามช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งหนังสือที่เป็นจุดเริ่มของการเป็นคนรักหนังสือ คือวรรณกรรมชุด “Harry Potter” ของ เจ. เค. โรว์ลิง ที่เธอเริ่มทำความรู้จักหลังจากได้ชมภาพยนตร์ครบทั้ง 7 ภาค
“เล่มแรกเลยที่อ่านจริงๆ และอ่านเยอะๆ คือ Harry Potter เพราะว่าดูหนัง 7 ภาคจบ แล้วทุกคนพูดว่า เฮ้ย! มันไม่พอนะ ต้องไปอ่าน เพราะว่ามันมีรายละเอียดอีกเยอะมากที่ถ้าเป็นแฟนพันธุ์แท้ควรจะรู้ เราก็เลยเริ่มอ่านตั้งแต่เล่ม 1 ถึงเล่ม 7 เลย แต่พออ่าน Harry Potter รวดเดียวจบ 7 เล่ม ภายในระยะเวลาอันสั้น เรารู้สึกว่ามันสนุกมาก”
ชีวิตการเป็นนักอ่านของเธอเดินมาถึงหมุดหมายสำคัญอีกครั้ง เมื่อคนใกล้ชิดของเธอแนะนำนวนิยายแปลเรื่อง “ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน” ที่แปลจากเรื่อง “The Alchemist” โดยเปาโล โคเอลโญ นักเขียนชาวบราซิล
“เราก็อ่านไป ก็ไม่ได้คิดอะไร อ่านจบแล้วก็ยังไม่ได้คิดอะไรด้วยนะ แค่รู้สึกว่า เออ ชีวิตคนเรามันก็อย่างนี้ มันก็ต้องค่อยๆ ผจญภัย เรียนรู้ไปทีละอย่าง แล้วสุดท้ายก็อาจจะประสบความสำเร็จแบบในหนังสือ จนกระทั่งชีวิตมันค่อยๆ ผ่านไป ค่อยๆ ใช้ชีวิตไป จนเรารู้สึกว่าจริงๆ เล่มนี้มันสอนอะไรเราบางอย่างนะ ว่าบางทีขุมทรัพย์ในชีวิตของเรา ที่หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นเงินทองหรืออะไรก็แล้วแต่ บางทีมันอาจจะไม่ใช่ มันอาจจะเป็นครอบครัว คนรักที่อยู่รอบๆ คุณ หรือว่าเพื่อน สุดท้ายมันคือสิ่งที่อยู่ข้างๆ เรา อยู่ใกล้ๆ เรา แต่เราก็มองข้ามไปตลอด เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่ประทับใจ” ไอซ์เล่า
อย่างไรก็ตาม หนังสือที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของไอซ์ไปตลอดกาล คือหนังสือวิชาการอย่าง “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” หนึ่งในหนังสือที่คนรุ่นใหม่เรียกว่า “หนังสือเบิกเนตร” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เขียนโดย ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ซึ่งไอซ์ยอมรับว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้เธอถึงกับ “ตาเหลือก หน้าตึง” เลยทีเดียว
“ตอนนั้นเริ่มกลับมาอ่านหนังสือ เพราะเป็นช่วงโควิด-19 แล้วหนังสือของ อ.ณัฐพล มันดังมาก ทุกคนในโซเชียลพูดถึง แล้วมันอยู่ในลิสต์หนังสือประวัติศาสตร์ปลดแอก เราก็เลยลองอ่าน อาจารย์เขาเขียนสนุกนะ เหมือนอ่านสามก๊ก เหมือนอ่าน Game of Throne แต่มันเป็นในหน้าประวัติศาสตร์ของเรา ด้วยความที่วิธีการเขียนของอาจารย์เขาค่อนข้างมัน หักเหลี่ยมเฉือนคม แล้วเราก็ได้รู้ข้อเท็จจริงอะไรหลายๆ อย่าง หรือว่ารู้รายละเอียดที่มันเป็นเนื้อเป็นหนังมากขึ้น เราอ่านแล้วตาเหลือกน่ะ”
ความประทับใจจากเนื้อหาเบิกเนตรในหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ทำให้ไอซ์ลงมือเขียนรีวิวหนังสือเป็นครั้งแรกในชีวิต เพื่อแนะนำให้คนอื่นๆ ได้รู้จักหนังสือเล่มนี้มากขึ้น จนมีคนแชร์รีวิวในเฟซบุ๊กของไอซ์ราว 500 คน รวมทั้งมีการรีทวีตต่อไปหลายพันคน
“การอ่านมันทำให้เราแก้เซ็ง ถ้าเป็นหนังสือสนุกๆ แต่อีกหลายอย่างที่ได้ก็คือ เราจะได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ประดับสมอง หรือว่าเอาไปเถียงกับคนในอินเตอร์เน็ต หรือเอาไปบอกเล่าแบบโพสต์สเตตัสความรู้สั้นๆ หนังสือบางเล่มช่วยเชพความคิดเรา ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเราเอง ตั้งคำถามกับสังคม ตั้งคำถามกับอุดมการณ์ หรือว่าชุดความคิดที่เรามีว่า สิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องที่สุดแล้ว มันสามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ได้ไหม บางเล่มมันช่วยกะเทาะเปลือก กะเทาะสมองของเรา กะเทาะอีโก้ กะเทาะความหลงตัวเองของเรา กะเทาะความมั่นหน้ามั่นโหนก” ไอซ์เล่าถึงการเติบโตของเธอหลังจากอ่านหนังสือมาระยะหนึ่ง นอกจากนี้ เธอยังระบุว่า การอ่านหนังสือทำให้คนเราสามารถเข้าถึงประสบการณ์ของชีวิตคนอื่น ผ่านตัวละครในเรื่องอีกด้วย
“เราอยากกลับไปบอกตัวเองในอดีต ตอนที่ยังอยู่ ม.3 ม.4 ให้อ่านหนังสือมากเลยนะ เพราะเรารู้สึกว่า พอโตขึ้นมันไม่มีเวลาเลย หนังสือบางเล่มถ้าเราได้เจอมันตั้งแต่ช่วงอายุที่น้อยกว่านี้ มันจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก เพราะว่าพอเราโตแล้วเราก็จะอ่านในแว่น ในมุมของคนที่อายุมากแล้ว เราก็เสียดายที่ได้เจอมันช้าเกินไป แล้วก็เสียดายตัวเองที่เริ่มมารักการอ่านช้าเกินไป ถ้าเราอ่านมานานมากกว่านี้ เราอาจจะตาสว่างเร็วกว่านี้ก็ได้ เราอาจจะบ้งน้อยกว่านี้ก็ได้” ไอซ์กล่าว
เถียงได้
“เรื่องที่เป็นคนชอบฉอดก็เป็นอยู่แล้ว ถึงไม่อ่านหนังสือก็เป็นคนปากไม่ดีอย่างนี้อยู่แล้ว แต่หนังสือมันช่วยให้เราฉอดได้แบบมีคุณภาพมากขึ้น มันไม่ใช่การด่าแบบด่าหยาบอย่างเดียว ด่าแบบไม่พอใจ สาดเทอารมณ์ลงไปอย่างเดียว ด่าเอามันอย่างเดียว แต่มันคือการด่าที่เรามีข้อมูลรองรับ” ไอซ์อธิบายถึงประโยชน์ของการอ่านที่มีต่อไลฟ์สไตล์นักฉอดของเธอ
“สมมติเราจะด่านายกฯ เรื่องการบริหารเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ด่าๆๆ แต่เราต้องมีข้อมูลเปรียบเทียบว่า อดีตก่อนหน้านี้มันดีกว่าอย่างไร มันเคยเป็นอย่างไร เราต้องมีเปรียบเทียบว่าอันไหนดีไม่ดี หรืออาจจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ การอ่านมันทำให้เราด่าอย่างมีข้อมูลมากขึ้น”
นอกเหนือจากการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองแล้ว สำหรับไอซ์ การอ่านยังสามารถนำไปสู่การถกเถียงกันในสังคมได้ด้วย
“มันก็อาจจะไม่ได้เอาไปฟาดขนาดนั้น แต่จะบอกว่าเราขออ้างอิงข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้นะ ผู้เขียนที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง เขาได้พูดเรื่องนี้ไว้ มันอาจจะทำให้คำพูดของเราดูมีน้ำหนักมากขึ้น แต่เราไม่อยากให้คนที่อ่านหนังสือเยอะๆ หรือคนที่มีความรู้ หรือคนที่มีหนังสือเยอะๆ เอาสิ่งเหล่านี้ไปทับถมคนอื่นว่าฉันอ่านมากกว่า แปลว่าฉันรู้มากกว่า แล้วถ้าฉันพูด แปลว่ามันต้องถูกมากกว่า มันก็ต้องยอมรับว่า ต่อให้อ่านหนังสือทุกเล่มที่มีอยู่ในห้องสมุดหรือร้านหนังสือ มันก็มีบางเรื่องที่คุณอาจจะรู้น้อยกว่าคนอื่นก็ได้ที่เขาถนัดในสาขานั้นๆ” ไอซ์กล่าว
หนังสือคือของขวัญ
ในฐานะคนรักหนังสืออย่างไอซ์ คุณค่าของหนังสือคือการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้อ่านผ่านตัวหนังสือ เปรียบได้กับการที่ผู้อ่าน "ใส่รองเท้า" ของตัวละครในเรื่อง และเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนั้นๆ ทว่าสำหรับคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ไอซ์แนะนำให้ลองเข้าไปอยู่ในร้านหนังสือหรืองานมหกรรมหนังสือ เพื่อซึมซับบรรยากาศของเหล่าคนรักหนังสือ ซึ่งอาจจะทำให้ได้พบกับหนังสือที่ชอบเป็นเล่มแรกก็ได้
“สำหรับคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ คุณอาจจะซื้อหนังสือเก็บไว้เป็นของขวัญให้คนที่เป็นคนสำคัญของคุณก็ได้ เพราะนอกจากมันจะมีคุณค่า เป็นสิ่งของที่ทำให้คิดถึงคนให้แล้ว ถ้าหนังสือเล่มนั้นมันไปเปลี่ยนอะไรในชีวิตเขาสักอย่าง มันจะมีความหมายเท่าทวีคูณมากกว่าของชิ้นหนึ่ง” ไอซ์สรุป