"ไอติม - ครูจุ๊ย - ครูทอม" ชวนคนรุ่นใหม่ #อ่านออกเถียงได้ ในงานมหกรรมหนังสือ 2564
ควันหลงจากวงเสวนา การศึกษาแบบไหนที่จะทำให้เรา อ่านออก เถียงได้ ซึ่งจัดขึ้นใน งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 26 Hybrid Book Fair 2564 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เชิญคนรุ่นใหม่ฟังแรง ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ และ ครูทอม-จักรกฤต โยมพยอม ร่วมพูดคุยผ่านทางเว็บไซต์ Thaibookfair.com และเฟซบุ๊ค Thai Book Fair หนึ่งในประเด็นน่าสนใจที่ได้จากการเสวนาคือ หนังสือที่แต่ละท่านนำมาชวนทั้ง นักเรียน ครูและคนรุ่นใหม่ หามาอ่านเสริมความรู้
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ แนะนำหนังสือ The Great Remake สู่โลกใหม่ โดยให้เหตุผลว่า “เมื่อเราผ่านวิกฤติโควิดไปแล้ว จะทำอย่างไรให้เราไม่ย้อนกลับไปเหมือนเดิม พอโควิดเข้ามาเราเห็นสภาพปัญหาบาดแผลหลายอย่าง และหลายอย่างคงไม่กลับมาเหมือนเดิม จะถอดบทเรียนและทำอย่างไรให้เทคโนโลยีมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมันกว้างขึ้น หนังสือเล่มนี้ จะนำเสนอว่า ในอนาคตจะมีแนวโน้ม เศรษฐกิจ สังคม มีอะไรที่จะเข้ามาบ้าง เราจะร่วมกันออกแบบโลกสมัยใหม่หลังโควิด ที่จะตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนได้อย่างไร ผมเชื่อว่า คนรุ่นใหม่จะมีบทบาท ยิ่งโลกเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ถูกคาดหวังให้มีความเป็นผู้นำมากขึ้น ถ้าเขาได้ติดอาวุธและเปิดมุมมองอย่างนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เขาคิดถึงทางออกให้กับปัญหาในประเทศเราได้หลากหลายขึ้น”
The Great Remake สู่โลกใหม่ เป็นหนังสือกึ่งวิชาการที่อ่านสนุกและเข้าใจง่าย เนื้อหาการใช้ชีวิตและเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ทุกคนจึงควรปรับตัวเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังรุกคืบเข้ามาอย่างก้าวกระโดด สถานการณ์โควิดได้ “เร่ง” ให้เทคโนโลยีในอนาคตเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในสังคมทุกระดับอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ใครมองเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ก่อน ก็ย่อมจะมองเห็น “โอกาส” เราทุกคนจึงต้องหันมาใส่ใจและปรับตัว รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างถาวรนับจากนี้เป็นต้นไป
ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ แนะนำหนังสือ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง และ 100 นวัตกรรมสร้างฟินแลนด์ “อยากชวนอ่าน โต๊ะโตะจังเด็ก หญิงข้างหน้าต่าง เพราะรู้สึกว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น เยอะมากในกระบวนการต่างๆ ในสิ่งที่โต๊ะโต๊ะจังและคุณแม่เจอ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งกับแม่ และกับผู้คนอื่น ๆ รอบตัวเธอ บรรยากาศต่าง ๆ ของโรงเรียน เล่าเรื่องห้องเรียน ทำให้ เห็นห้องเรียนอีกมุมหนึ่ง และวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้อีกแบบนึง ส่วน 100 นวัตกรรมสร้างฟินแลนด์ เป็นงานแปลของตัวเอง ถ้าใครสนใจฟินแลนด์ นวัตกรรมของเขาเป็นทั้งนวัตกรรมเชิงนโยบายและวัตถุ อ่านเพื่อที่จะให้รู้ว่า กว่าที่เขาจะสร้างประเทศหนึ่งขึ้นมา ต้องอาศัยอะไรบ้าง มีกระบวนการอย่าง และคนต้องทำอะไร เราจะเห็นเลยว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกระบวนการเรียกร้องแทบทุกมิติกว่าจะได้เป็นประเทศที่หลาย ๆ คน รู้สึกว่าประสบความสำเร็จ”
โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง วรรณกรรมเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จริงของผู้เขียน เมื่อ โต๊ะโตะจัง ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ต้องย้ายไปโรงเรียนใหม่ที่มีครูใหญ่ที่เข้าใจเด็ก ๆ กับการได้ค้นพบความฝันและสามารถสร้างฝันนั้นให้เป็นจริงได้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หนังสือเล่มนี้เป็น 1 ใน วรรณกรรม 50 เรื่องที่ต้องอ่านก่อนโต สนับสนุนโดยสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
100 นวัตกรรมสร้างฟินแลนด์ เป็นหนังสือที่ว่าด้วยนวัตกรรมทางสังคม เกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมือง นโยบายสังคม เทคโนโลยี และเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะก็ทางด้านวัฒนธรรม เพื่อหาคำตอบว่า ประเทศที่บอบช้ำและยากจนเพราะสงคราม สามารถกลายเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมทางสังคมในระดับสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และกลายมาเป็นสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศที่รุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งได้อย่างไร
ส่วน ครูทอม-จักรกฤต โยมพยอม ขอแนะนำหนังสือ 3 เล่ม จะไม่ทนอีกต่อไป Who's In My Family และ ไม่สู้ก็อยู่อย่างครู “ผมกำลังอ่าน จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป เขียนจากชีวิตจริงของผู้แต่ง เป็นหนังสือที่พูดถึงการโดนคุกคามทางเพศ การไม่ได้รับความรักความจากครอบครัว พ่อแม่ไม่แสดงออกถึงความรัก ปล่อยให้เขาไปผจญชะตากรรมต่าง ๆ จนส่งผลถึงจิตใจของเขาในระยะยาว อีกเล่มหนึ่งเล่มนี้ได้ไปตอนที่ไปอเมริกา ชื่อเรื่องว่า Who's In My Family เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก ที่พูดถึงประเด็นครอบครัวได้น่าสนใจ สื่อการสอนของไทยที่มีมา จะบอกว่าครอบครัวต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูก แต่เล่มนี้นำเสนอว่าครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบ ครอบครัวที่มีพ่อเพียงคนเดียว หรือมีแม่เพียงแค่คนเดียว บางครอบครัวมีพ่อสองคน บางครอบครัวมีแม่สองคน ทำให้เด็กได้เห็นมุมมองครอบครัวที่ไม่ใช่แค่การจำกัดกรอบ ซึ่งมันส่งผลต่อจิตใจของเด็ก และเล่มที่อยากจะแนะนำให้คุณครูอ่าน คือ ไม่สู้ก็อยู่อย่างครู เขียนโดยคุณครูกั๊ก เล่าเรื่องประเด็นการถูกกดทับของครูในระบบ ไม่ว่าจากหัวหน้าหรือกระทรวง การบังคับให้ทำอะไรอย่างไร แล้วผู้เขียนทำอย่างไรบ้าง เมื่อไม่ยอมถูกกดทับแม้ว่าเขาจะเป็นครูที่อยู่ในระบบปกติก็ตาม”
จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป เรื่องจริงของการถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเยาว์จากคนใกล้ชิด และการขาดความรักจากพ่อ เรื่องราวการบำบัดเยียวยาตนเองของเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้งการอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจให้เหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศก้าวออกมาจากความมืด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่บางครั้งเราหลงลืมไป
Who's In My Family หนังสือภาพสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เล่าเรื่องราวความหลากหลายของครอบครัวในปัจจุบัน เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทั้งผู้คน ธรรมชาติ และการใช้ชีวิต สมบูรณ์แบบอย่างมหัศจรรย์ในความธรรมดาสามัญ
ไม่สู้ก็อยู่อย่างครู แต่งโดยเจ้าของนามปากกา ร่มเกล้า ช้างน้อย หรือครูกุ๊กกั๊ก ปิ่นเกล้า หนังสือที่สะท้อนปัญหาการศึกษาไทยจากมุมมองของครูในโรงเรียนรัฐที่ต่อสู้มาตลอด ตั้งแต่วันบรรจุเข้ารับราชการ จนถึงปัจจุบัน โดยมีกรณีศึกษาที่อยากชวนอ่าน และพาไปต่อ เพื่อให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และแนวทางการต่อสู้ที่เอาชนะระบบได้
สำหรับนักอ่านที่ต้องการฟังเสวนา สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/ZtRsinL24Iw และเลือกหาหนังสือในลิสท์ของ ไอติม ครูจุ๋ยและครูทอม ได้จากงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 26 Hybrid Book Fair 2564 จากสำนักพิมพ์ 177 ราย ทั้งทางออนไลน์ Thaibookfair.com I JD Central I Lazada I Shopee และทางออนกราวนด์ ร้านหนังสือชั้นนำ และร้านอิสระ ผนึกกำลังกว่า 550 ร้าน ร่วมช้อปพร้อมโปรโมชั่นและของที่ระลึกพิเศษ ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 ตุลาคม 2564