โปรดใช้วิจารณญาณ อย่าเพิ่งออกตัวแรงในทุก ๆ ดราม่าของสังคม

โปรดใช้วิจารณญาณ อย่าเพิ่งออกตัวแรงในทุก ๆ ดราม่าของสังคม

โปรดใช้วิจารณญาณ อย่าเพิ่งออกตัวแรงในทุก ๆ ดราม่าของสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ บนโลกออนไลน์ที่เรียกว่า “โซเชียลมีเดีย” มีเรื่องดราม่าได้ทุกวัน เช้าเรื่อง เย็นก็มาอีกเรื่อง บางเรื่องเป็นเรื่องของคนดัง บางเรื่องก็เป็นเรื่องของคนธรรมดาที่ถูกทำให้ดัง สำหรับคนที่นิยมเสพเรื่องราวเหล่านี้ในโซเชียลมีเดีย ก็ตามอ่านเรื่องราวกันแบบไม่หลับไม่นอน บางเรื่องที่แฉกันยาวเป็นมหากาพย์จนต้องรอให้มีผู้ใจบุญมาสรุปประเด็นให้ถึงจะเริ่มจับจุดของเรื่องราวถูก เพราะถ้าไปไล่อ่านตามโซเชียลมีเดีย คุณจะเห็นแต่การแสดงความคิดเห็นของชาวเน็ตเต็มไปหมด หาแหล่งต้นตอไม่เจอด้วยซ้ำไป

มีคำถามสักเล็กน้อยที่อยากให้คุณตอบ ว่าเวลาที่มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ คุณเป็นสายไหน สายไม่สนใจข่าวประเภทนี้ สายตามเก็บข้อมูลเงียบ ๆ ไม่มีตัวตนในโลกออนไลน์ แต่ถ้าใครถามตอบได้หมด สายคอมเมนต์แสดงจุดยืนไว้ก่อน เห็นด้วยไม่เห็นด้วย สายด่าแรงตามกระแส เรื่องจริงเป็นไงไม่รู้ ก็ข่าวว่ามาอย่างงี้ สายสั่งสอนโลกสวย สายพยายามขับเคลื่อนสังคมประณามฝ่ายตรงข้าม สายฉอดด่ามาด่ากลับไม่โกง และอีกสารพัดสายที่เราจะหาได้จากโลกออนไลน์ นั่นเป็นเพราะชาวเน็ตนั้นมีหลายประเภทเหลือเกิน แต่ส่วนใหญ่เราก็มักจะเจอประมาณนี้

สิ่งที่เรียกว่า “ดราม่า” เหล่านี้ มักจะกระจายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว บางครั้ง เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยเกิดจากคอมเมนต์ที่ชวนดราม่ามากกว่าต้นเรื่อง ถ้าอย่างนั้น ลองคิดดูว่าหากโซเชียลมีเดียไม่มีช่องให้คนเราแสดงความคิดเห็นอย่างอิสรเสรีตามใจชอบแบบนี้ เรื่องราวบางเรื่องมันอาจจะไม่ใหญ่โตก็ได้ แต่ในเมื่อมันมีแล้ว ในฐานะชาวเน็ตคุณภาพ ก็ควรใช้ช่องคอมเมนต์อย่างมีวิจารณญาณ อย่าเพิ่งแสดงความคิดเห็นใด ๆ กับทุก ๆ ดราม่าของสังคม จนกว่าจะตรวจสอบดีแล้วว่าตัวเองจะไม่เขินเองในภายหลัง

ฉอดเก่ง ระวังจะเขินเอานะ

โรคชนิดหนึ่งของคนที่เสพติดโซเชียลมีเดียมาก ๆ คือการที่กลัวว่าตนเองจะพลาดหรือตกข่าวอะไรไป พอเห็นอะไรเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา ก็อดไม่ได้ที่จะต้องรีบแสดงความคิดเห็นไว้ก่อน เดี๋ยวไม่ทันคนอื่น แบบที่คนสมัยนี้เรียกว่า “คนหิวแสง” “พวกหาซีน” ซึ่งหลายคนในคนกลุ่มนี้ก็เป็นคนประเภท “ปากแจ๋ว ฉอดเก่ง” เสียด้วย

ส่วนมาก คนกลุ่มนี้จะรีบฉอด รีบแสดงจุดยืนของตนเองต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะอยากเป็นวงในและกลัวจะช้ากว่าชาวบ้าน จนบางทีก็ไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลให้ดีเสียก่อน พอเวลาผ่านไป เริ่มมีข้อมูลใหม่ ๆ ถูกปล่อยออกมา แนวโน้มเรื่องมันเริ่มแตกต่างออกไปจากเดิม จนอาจจะเหมือนหนังคนละม้วนและส่อที่จะคดีพลิก ถึงเวลานั้นก็ใกล้ที่จะหน้าแตก เตรียมเขินได้เลย

ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจโพสต์ข้อความหรือคอมเมนต์ด่าใครเพื่อแสดงจุดยืน ถามตัวเองก่อนว่ามันใช่เรื่องจริงแล้วแน่หรือ จะไม่หน้าแตกเอาทีหลังใช่หรือไม่ ไม่ใช่รีบเชื่อรีบแสดงความคิดเห็นอะไรขนาดนั้น และอาจะได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ทำลายชีวิตของใครคนหนึ่งไปแล้วโดยที่ไม่ได้รู้ความจริงอะไรเลย เพียงเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกำลังก่นด่าสาปแช่งเขา หรือสิ่งที่เป็นข่าวออกมานั้นมันน่าประจาน น่าประณาม ก็เลยไปมีส่วนร่วมในการทำลายเขา

จำไว้ว่าต่อให้คุณรู้สึกเขินแล้วลบทิ้งไป แต่สิ่งที่คุณเคยโพสต์หรือเคยคอมเมนต์ด่าใครไป มันจะยังคงอยู่ต่อไปจากคนที่แคปทัน และที่สำคัญ มันอยู่ในใจของคนที่คุณโพสต์ด่าหรือว่าร้ายเขานั่นเอง ฉะนั้น ก่อนจะทำอะไรลงไป มีสติสักนิด นึกถึงว่าคนที่เขาได้อ่านข้อความแย่ ๆ จากเรา เขาก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกับตัวเรา หรือถ้าไม่เห็นใจเขา เขินอายตัวเองบ้างก็ยังดี

ชาวเน็ตคุณภาพ กับการหาข้อมูลอย่างรอบด้าน

ปกติแล้ว ชาวเน็ตที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องดราม่าเป็นประจำ มักจะพร้อมเสียสละเวลาของตัวเองไปตามอ่าน ตามขุด ตามอัปเดตดราม่าอยู่เสมอว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว แบบที่คนสมัยนี้มีมีมขำ ๆ เป็นภาพล้อเลียนคนใต้ตาดำเป็นหมีแพนด้า หรือสภาพเป็นเหมือนซอมบี้ แต่ก็ยังไหวที่จะอดหลับอดนอนตามเสพดราม่านั่นเอง

แต่บางคนก็ใช้ทักษะในการตามสารพัดเรื่องดราม่าได้ดีกว่านั้น พวกเขาไม่ได้แค่ตามอัปเดตข่าว หรือตามขุดคนที่เป็นข่าว แต่พวกเขายังไปตามขุดข้อมูลอีกด้านมานำเสนอต่อโลกโซเชียลด้วย ทำให้คนที่มีประเด็นดราม่าอยู่หลาย ๆ คนสามารถพ้นข้อครหาต่าง ๆ ไป ก็เพราะชาวเน็ตกลุ่มนี้ช่วยเหลือไว้ จากการตีแผ่ข้อมูลอีกด้านให้คนรู้ ไปตามหาพยาน หาหลักฐานมาช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ คนกลุ่มนี้มักจะบอกว่า “ขออนุญาตยังไม่เชื่อ”

แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะจริงเท็จประการใด บางเรื่องก็ “ไม่ใช่หน้าที่เราชาวเน็ต” ที่ต้องไปตามด่า หรือไปเดือดร้อนแทนใคร ตามแซะนู่นนั่นนี่จนเขาเสียหาย โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นแบบที่เราก็รับสารมาอีกต่อและไม่ได้รู้ความจริงอะไรไปมากกว่าคนอื่นยิ่งไม่ควรทำ หากเขาทำผิดจริงดังข่าวลือ ๆ กัน ก็ให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจัดการ หน้าที่เราชาวเน็ตแค่ตามอ่านข่าวอยู่ห่าง ๆ ก็พอ ถ้าอินจัดจนอยากด่า ก็ด่าในใจก็พอ แต่ถ้าอยากจะมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ก็ต้องมั่นใจว่าที่ด่าหรือเคลื่อนไหวนั้น มันเป็นสิ่งที่ผิดจริง ๆ

หลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม หากมันไม่ได้กระทบกับความสุขในการอยู่ร่วมกันในสังคม หรือมันค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นเรื่องของคนอื่นที่ไม่ต้องไปยุ่งก็ได้ สังคมไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้เดือดร้อนหรือเป็นที่กังขาอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการด่าเสมอไปก็ได้

คดีพลิก! ไม่เคยเป็นบทเรียน

สังคมที่ไม่ได้ให้ค่าความจริงเท่าที่ควร แต่ให้ค่าที่ตัวบุคคลมากกว่า ยิ่งถ้าหากว่าคนคนนั้นเป็นคนดังที่มีข่าวเสียหายออกมา คนจะสนใจว่าเขาไปทำอะไรมามากกว่าเขาทำจริงไหม เมื่อเห็นว่ามีคนแฉ เป็นข่าวดัง ก็ออกตัวด่าแรงจนลืมติดเบรก ไม่ได้หาความจริงอีกด้านหรือรอฟังความจริงอีกมุม ก็ตัดสินใครต่อใครไปแล้วว่าเขาผิด รู้สึกดีที่ตัวเองมีส่วนร่วมกับการก่นด่า ราวกับตัวเองเป็นผู้ที่ผดุงความยุติธรรมจากการด่าคนผิด (ที่ตัวเองตัดสินเอง) ในโซเชียลมีเดีย

ซึ่งถ้ามาในลักษณะนี้ มีอยู่หลายกรณีที่เข้าข่าย “คดีพลิก” แม้จะมีชาวเน็ตบางคนนำความจริงอีกมุมมานำเสนอ หรือเจ้าตัวออกมาพูดเพื่อปกป้องตนเองและขอความยุติธรรม หากเขาไม่ได้ทำอะไรผิด ก็พร้อมจะพิสูจน์ความจริง แต่คนที่เคยด่าเขาไว้ก็หายเงียบเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ลบโพสต์ลบคอมเมนต์หนี ไม่มีแม้แต่คำขอโทษหรือการแสดงออกว่ารู้สึกผิดที่ด่าเขาเอาเป็นเอาตายโดยมีข้อมูลด้านเดียว กระจายข่าวที่ไม่เป็นความจริงไปทั่วจนคนผู้นั้นเสียหาย การด่าผิดคนทำให้คนนั้นถูกสังคมตราหน้า ได้รับผลกระทบหลาย ๆ อย่างในชีวิต เรียกได้ว่าจมดินไปเสียแล้ว

นั่นเป็นเพราะหลายต่อหลายคนชอบใช้โลกออนไลน์เป็นที่สำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของตัวเอง ในการตอบสนองต่อศีลธรรมความดีส่วนตัวตามแนวทางอันดีของตัวเอง โดยไม่สนความถูกต้อง ไม่สนว่าจะทำให้ใครเดือดร้อน ไม่สนว่าจะผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอะไรหรือไม่ แค่รู้สึกดีว่ามันเป็นไปตามทำนองคลองธรรมในแบบฉบับของตนเองก็พอ แม้ว่าจะมีกรณีที่คดีพลิกให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่าสิ่งที่รับรู้มาในตอนแรกว่ามันไม่ใช่ความจริง แต่ก็ไม่เคยเป็นบทเรียนให้กับคนเหล่านี้ เมื่อเจออะไรทำนองนี้อีก ก็พร้อมจะด่าไว้ก่อนอย่างเดียว แล้วก็มักจะด่าผิดคนอยู่เสมอไป

ใคร ๆ ก็เป็นเหยื่อได้ และทุกคนต้องการความยุติธรรม

เรามักจะคุ้นเคยกับ “การแฉ” เป็นอย่างดีในสังคมสมัยนี้ ซึ่งการแฉนั้น คนที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อนย่อมได้เปรียบเสมอ เพราะต่อให้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม เมื่อเริ่มต้นแล้วย่อมทำให้ความน่าเชื่อถือของอีกฝ่ายสั่นคลอน คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อได้ทันทีหากมีความเคลื่อนไหวในทางลบจากฝ่ายที่จะโดนแฉ และเมื่อใดก็ตามที่อีกฝ่ายออกมาปกป้องตนเองหรือพยายามจะอธิบายความจริงให้กระจ่างชัด ก็มักจะมีคนคิดว่าเป็นการออกมาแก้ตัวมากกว่าจะคิดว่าเขาออกมาเพราะต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเอง

สังคมทั่วไปเป็นสังคมที่เห็นใจเหยื่อ แต่เราอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ว่าการรับบทเหยื่อของใครหลาย ๆ คน ก็มีจุดประสงค์ที่มากกว่าการเรียกร้องความยุติธรรม คืออาจจะเรียกร้องความสนใจ ต้องการทำลายอีกฝ่าย หรือใด ๆ ก็ตามแต่ จึงทำให้หลายคนเลือกที่จะเล่นบทเหยื่อ ให้สังคมสงสาร เห็นใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงมันอาจเป็นการตกลงกัน เห็นชอบกันทั้งสองฝ่าย ไม่ได้มีใครเป็นผู้กระทำหรือเป็นเหยื่อเลยด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าให้กล่าวโทษเหยื่อเพื่อปกป้องใคร เพียงแต่อยากให้ใช้วิจารณญาณก่อนที่จะด่าใคร ถามตัวเองให้ดีก่อนว่ารู้ชัดเจนแล้วแน่หรือว่าใครเป็นเหยื่อ เป็นเหยื่อที่ถูกกระทำจริง ๆ หรือเป็นการรับบทเหยื่อเพื่อทำลายอีกฝ่าย หรือเป็นเหยื่อลอย ๆ ที่พอโดนฟ้องกลับก็มาหงายการ์ดว่ารู้เท่าไม่ถึงการ ในกรณีนี้ น่าจะเป็นอีกฝ่ายมากกว่าที่เป็นเหยื่อของการใส่ร้าย

ดังนั้น ชาวเน็ตหลายคนที่อินจัดกับบทเหยื่อ ก็มักจะรีบปกป้องเหยื่อในทันทีทั้งที่ไม่รู้เรื่องอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้น รู้ความมาจากคนที่ออกมาแฉเพียงด้านเดียว เราเป็นคนนอก เราไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้คู่กรณีเขาเคยพูดคุยอะไรกัน ฉะนั้น อย่าเพิ่งใจร้อนรีบด่า รีบตัดสินหาคนผิด อย่าฟังความข้างเดียวแล้วตัดสินเลยทันที ให้โอกาสอีกฝ่ายได้ออกมาอธิบายแก้ต่างให้ตนเองบ้าง พวกเขามีสิทธิ์ได้รับความยุติธรรมหากนั่นไม่ใช่เรื่องจริงหรือเป็นเรื่องที่บิดเบือนจนเสียหาย

วิจารณญาณคือสิ่งสำคัญ อย่าเพิ่งแสดงความคิดเห็นในทุก ๆ ดราม่าของสังคม

“พวกมากลากไป” คือนิยามของสังคมในยุคโซเชียลมีเดียเฟื่องฟูได้เป็นอย่างดี แรกเริ่ม หลายคนอาจจะยังไม่กล้าคอมเมนต์ความคิดเห็นของตนเองลงไป ไม่ชอบ ไม่พอใจ ก็ได้แต่ก่นด่าอยู่ในใจ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีคนเริ่มเปิดคอมเมนต์ในด้านลบขึ้นมา ข้อความในด้านลบอื่น ๆ ก็จะเริ่มตามมาแบบไหลไปตามกัน ไม่มีใครห้ามใคร ใส่ความคิดเห็นของตนเองเต็มที่เออออไปตามกัน และหากมีใครแย้งเพราะเห็นต่าง จะกลายเป็นสงครามที่พ่น hate speech ใส่กันจนบานปลายใหญ่โตได้เลย

ซึ่งคนที่กำลังเสพดราม่าอยู่ในขณะนั้น “ความอิน” อาจทำให้ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังไหลตามคนอื่นไป ยิ่งพวกมาก ดราม่าก็ยิ่งรุนแรง การด่าทอกันก็จะยิ่งสนุกขึ้น นั่นอาจทำให้เราเผลอร่วมวงด่าใครต่อใครตามคนอื่น ๆ รู้ตัวอีกทีก็เรื่องใหญ่และไม่จบง่าย ๆ

เอาเข้าจริง การตามเสพข่าวดราม่าต่าง ๆ นั้นไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวหรอกว่าต้องทำอย่างไร และก็ไม่ใช่ว่าจะมีใครไปห้ามการเสพข่าว แต่ตัวเราเองที่ต้องมีสติอยู่เสมอ อย่าไหลไปตามแรงโซเชียล งดด่า งดแบน งดประจาน และงดโต้เถียงกับคนอื่น ๆ หากรู้ว่ามันไม่ได้มีประโยชน์ต่อตนเอง อย่าเพิ่งเชื่อข่าวใด ๆ ที่ออกมาโดยไม่ใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองข้อเท็จจริงหรือฟังความข้างเดียว มิเช่นนั้น นอกจากจะกลายเป็นชาวเน็ตไร้คุณภาพ ที่ร่วมแจมทุกเรื่องโดยไม่คิด อบอุ่นในโซเชียล แต่อาจได้ไปยืนเดียวดายอยู่หน้าบัลลังก์ศาลเข้าสักวันด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook