เสียเงินแต่ก็โอเค การช้อปปิ้ง ดีต่อสุขภาพจิตอย่างไร

เสียเงินแต่ก็โอเค การช้อปปิ้ง ดีต่อสุขภาพจิตอย่างไร

เสียเงินแต่ก็โอเค การช้อปปิ้ง ดีต่อสุขภาพจิตอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงการช้อปปิ้ง ไม่ว่าจะไปเดินช้อปเองในห้างหรือนอนไถ ๆ ในแอป ช้อปออนไลน์ ก็ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกดีได้เพียงแค่นึกถึง ขณะเดียวกัน หลายคนก็มองว่าการช้อปปิ้งเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่เห็นจะมีอะไรดีมีแต่เสียเงิน และก็ไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนถึงได้บ้าการช้อปปิ้งขนาดนั้น

จริง ๆ แล้วเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ทางจิตวิทยา เพราะการช้อปปิ้งที่มีแต่ทำให้เราเสียเงินนี่แหละ ความจริงแล้วมันมีประโยชน์อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะต่อสุขภาพจิตของคนเราบทความนี้จะชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่แค่แคมเปญหรือโปรโมชันลดราคาต่าง ๆ หรอกที่ล่อตาล่อใจล่อเงินเรา สิ่งที่อยู่เบื้องหลังจริง ๆ อาจเป็นสภาพจิตใจของเราเองที่ทำให้โหยหาการช้อปปิ้ง

Scott Bea นักจิตวิทยาแห่งคลินิกคลีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา ยืนยันยันว่า “การช้อปปิ้งมีคุณค่าทางจิตใจ และมีบทบาทในการเยียวยาอาการเจ็บป่วยทางใจด้วย”

สำหรับคุณค่าทางจิตใจของการช้อปปิ้งนั้น กลายเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่มีการศึกษากันอย่างจริงจัง โดยเรียกว่า Retail Therapy การยกให้การช้อปปิ้งเป็น therapy เช่นนี้ หมายความว่าการช้อปปิ้งสามารถช่วยบำบัดให้คนเรารู้สึกผ่อนคลายความเครียดและมีความสุขได้จริง ๆ ถึงขนาดที่มีหลาย ๆ คนบอกว่าการนั่งสมาธิยังช่วยให้จิตใจสงบได้ไม่เท่ากับการรอของมาส่งหน้าบ้าน ลุ้นเวลาเปิดกล่อง การได้สัมผัสกับกระเป๋าถือคอลเลกชันใหม่ หรือการได้เป็นเจ้าของข้าวของทุกสิ่งอย่างที่วางกองอยู่ตรงหน้าเลย

จริง ๆ แล้ว การช้อปปิ้งบำบัด เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่คนสมัยนี้เรียกว่า “การใช้เงินแก้ปัญหา” ซึ่งปัญหาที่ว่าก็คืออารมณ์เบื่อ เหงา เซ็ง หรืออยู่ว่าง ๆ จนฟุ้งซ่าน ไม่มีอะไรทำก็เลยช้อปปิ้งดีกว่า ยิ่งทุกวันนี้การช้อปปิ้งทำได้ง่ายดายมากผ่านการช้อปออนไลน์ ที่ทำให้ทุกอย่างสะดวกสบายไปหมด เหมือนการยกห้างสรรพสินค้ามาไว้ในมือเรา โดยเราสามารถเปิดช้อปได้ตลอดเวลาเท่าที่สถานการณ์จะอำนวย ไม่จำเป็นต้องออกเดินทางให้เสียเวลา รู้ตัวอีกที กล่องพัสดุก็เต็มบ้าน พนักงานส่งของโทรหาไม่หยุด และที่น่าช็อกก็คือ เงินหายไปหมดแล้ว!

และที่น่าห่วงอีกอย่าง คือ ถ้ามันไม่ได้จบลงที่การบำบัดความเครียดล่ะ? แต่มันเริ่มถลำลึกจนกลายเป็นการเสพติด แล้วเป็นโรคทางจิตขึ้นมา ที่เรียกว่า “Shopaholic” หรือก็คือโรคเสพติดการช้อปปิ้ง เกิดเป็นพฤติกรรมที่ช้อปปิ้งมากเกินไปจนเกิดปัญหาตามมา ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความต้องการที่จะอยากซื้อของตลอดเวลา รู้สึกดีที่ได้เดินดูของ รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา และรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ แต่หลังจากนั้นจะเริ่มรู้สึกผิดที่ใช้จ่ายอย่างไม่คิด

นอกจากนี้ คนที่เป็นโรคนี้มักจับจ่ายเกินความจำเป็น หลายครั้งที่มักจะซื้อของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ หรือซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมีของเดิม ๆ เต็มไปหมด มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น กลายเป็นหนี้สิน ทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งซื้อมาแล้วต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ หลบ ๆ ซ่อน ๆ เหมือนคนทำผิดเวลาซื้อของเหล่านั้น เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการช้อปปิ้งไม่ใช่ความสุขเพียงผิวเผิน แต่เป็นสิ่งที่ใช้บำบัดอาการย่ำแย่ทางจิตใจได้ มาดูกันว่าการช้อปปิ้งช่วยบำบัดความรู้สึกแย่ ๆ ของเราอย่างไร

ผ่อนคลายความเครียด

หลายคนยกให้การช้อปปิ้งเปรียบเสมือนโลกอีกใบที่แตกต่างจากโลกที่ตัวเองต้องเผชิญกับความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวง พวกเขารู้สึกว่าเมื่อได้ช้อปปิ้ง มันสามารถคลายความเครียด ลดความกังวลที่มีในจิตใจลงได้ มีผลการศึกษาจาก TNS Global ที่ทำการศึกษาผู้ใหญ่อเมริกันจำนวน 1,000 คน พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งบอกว่าการบำบัดทางจิตด้วยการช้อปปิ้งนั้นมันดีจริง ๆ พวกเขารู้สึกถึงการปลอบประโลมให้กำลังใจตัวเอง รวมถึงมันยังเหมือนกับการเฉลิมฉลองบางอย่าง ที่ทำให้เกิดความสุขได้แล้วความเครียดก็จะหายไป (ช่วงขณะ)

หรือง่าย ๆ แค่เราลองสังเกตตัวเองเวลาที่ได้ช้อปปิ้งดูก็ได้ เราจะรู้สึกว่าการช้อปปิ้งทำให้เราสนุก เพลิดเพลิน เพราะสมองส่วนกลางของเราหลั่งสารโดปามีน (dopamine) ออกมาในปริมาณมาก และยิ่งถ้าได้เห็นป้าย SALE ตัวใหญ่ ๆ โดปามีนก็จะยิ่งหลั่งออกมามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งสารที่ว่าเมื่อถูกหลั่งออกมาแล้วจะส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้รู้สึกได้ถึงอารมณ์ที่พึงพอใจ มีความยินดี ความรัก และความรู้สึกดี ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

สอดคล้องกับผลการศึกษาอีกชิ้นใน Journal of Consumer Psychology ในปี 2014 ที่พบว่า Retail Therapy ไม่ได้มีผลแค่ทำให้เรามีความสุขขึ้นแบบทันตาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราต่อสู้กับความเศร้า หรือความเครียดได้เช่นกัน

ทำให้มีความสุข

แน่นอนว่าเมื่อความเครียดหายไป มันก็มีความสุขเข้ามาแทนที่ มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับ Retail therapy ของ Selin Atalay และ Margaret Meloy ตีพิมพ์ลงใน the Journal of Psychology and Marketing ชี้ชัดว่า “การช้อปปิ้งช่วยทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น” แม้ว่ามันอาจจะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นแค่ชั่วคราว แต่ก็กระตุ้นให้เรามีชีวิตชีวา คลายความเศร้าหมอง และลดความเครียดได้ดีทีเดียว

ในขณะที่เรากำลังซื้อของที่เราชอบ เราจะเกิดความรู้สึกยินดีจากการได้รับรู้ว่าเรากำลังจะเป็นเจ้าของของชิ้นนี้ ขณะเดียวกัน สมองก็หลั่งสารสื่อประสาทเอนโดรฟิน (endorphins) และโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข นอกจากนี้ยังพบว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนทั่วไป จะมีความต้องการที่จะรู้สึกมีความสุขแบบนั้นอีก ทำให้เกิดพฤติกรรมโหยหาความสุขจากการช้อปปิ้ง และอาจจะยับยั้งชั่งใจตนเองได้ยากเมื่อมีโอกาสได้ช้อปปิ้งอีกครั้ง

นอกจากนี้ การซื้อของออนไลน์ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยโดปามีน (dopamine) ออกมาด้วยเช่นกัน มันคือช่วงเวลาที่คุณรอให้พัสดุมาส่งนั่นเอง แม้ว่าคุณก็รู้ดีว่ามีอะไรอยู่ในกล่องบ้าง แต่ก็ทำให้คุณตื่นเต้นอยู่ดีเวลาที่เปิดกล่อง

หลังจากที่ได้ของชิ้นนั้นมาครอบครอง เราจะรู้สึกชื่นชม เห่อ หรือดีใจกับสิ่งของเหล่านั้นอยู่ได้พักใหญ่เลยทีเดียว เหมือนกับเด็กที่ได้ของเล่นใหม่แล้วมักจะเอามันไปนอนด้วย ความสุขจากการช้อปปิ้งจึงมีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อผ่านช่วงเวลาแรก ๆ ไป ความรู้สึกเสียดายจะค่อย ๆ ตามมา ยิ่งถ้าเรากำลังซื้อของด้วยอารมณ์แย่ ๆ เรามักจะตัดสินใจเร็ว ไม่ไตร่ตรอง และเอาความพอใจเป็นที่ตั้ง จนสูญเงินไปเยอะมากโดยไม่รู้ตัว อาจจะมานั่งเสียใจ เครียด และกังวลกับเงินที่เสียไป คิดว่าน่าจะเอาเงินไปทำอย่างอื่นมากกว่า

ถึงอย่างนั้น ผลจากงานวิจัยก็ไม่ได้ใจร้ายจนเกินไป ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychology and Marketing ระบุว่าการได้ซื้อของช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้ ต่อให้เราจะซื้อของด้วยอารมณ์ จนทำให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็วและไม่ทันคิด ผู้ร่วมวิจัยจำนวน 62 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าพวกเขาช้อปปิ้งเพื่อบำบัดอารมณ์ตัวเอง ไม่รู้สึกเสียใจกับการจ่ายเงินแบบมือเติบเพื่อบำบัดอารมณ์ของตัวเอง เนื่องจาก Retail Therapy เราทำลงไปด้วยความสบายใจของเราเอง เราซื้อเพราะเราชอบและคิดว่ามันดีต่อตัวเรา

รู้สึกถึงอำนาจในการควบคุมและตัดสินใจ

ที่เราบอกว่าการช้อปปิ้งเป็นการบำบัดทางจิตวิทยาได้ เพราะจริง ๆ แล้ว ภายใต้การจับจ่ายใช้สอย คือความรู้สึก “มีอำนาจ” หลังจากที่เราต้องพบเจอกับเรื่องที่ควบคุมไม่ได้มาทั้งวัน มันทำให้เราเกิดความเครียด อึดอัด เซ็ง หงุดหงิด แต่เมื่อเราได้ช้อปปิ้ง เราเองสามารถควบคุมทุกอย่างได้เอง ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมและความพอใจของเราทั้งสิ้น จะเอาสีไหน ไซซ์ไหน จำนวนเท่าไรก็จัดเองได้หมด ทำให้เรารู้สึกว่า “ควบคุม” สิ่งต่าง ๆ ได้ (อย่างน้อย ๆ ก็ของที่เรากำลังเลือกซื้ออยู่) ตรงกันข้ามกับวันนั้นทั้งวัน ที่เราควบคุมอะไรไม่ได้

ก็เพราะว่าเรื่องอื่น ๆ เราไม่สามารถควบคุมหรือจัดการมันได้ เราเลยเลือกที่จะมาจัดการกับอีกเรื่องแทน เพื่อเพิ่มความมั่นใจและความสบายใจให้กับตัวเราเอง ซึ่งก็คือการช้อปปิ้งนี่แหละ แล้วมันก็ได้ผลจริง ๆ ด้วย โดยนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเวลาที่เราที่กำลังเสียใจหรือกลัวอะไรบางอย่าง มักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวได้ แต่การช้อปปิ้งทำให้พวกเราสามารถกำหนดเองได้ว่าจะซื้ออะไร ซื้อที่ไหน ซื้อเท่าไร เลือกของแบบไหน การช้อปปิ้งจึงเป็นทางออกที่ช่วยบำบัดจิตใจให้กับตัวเราเอง

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในปี 2014 ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน แสดงผลว่าการที่เราซื้อของที่เราชอบ สามารถสร้างความรู้สึกว่าตัวเราสามารถเป็นผู้ควบคุมได้มากถึง 40 เท่าเมื่อเทียบกับการไม่ซื้อ แถมความทุกข์ก็น้อยลง 3 เท่าด้วย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ซื้อของจริง ๆ แต่ขอเลือกดูเท่านั้น

พอได้ใช้เงินแล้วก็รู้สึกดีขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวล คือการสรุปว่าเมื่อคนเราเกิดความเครียด ความเหงา ความทุกข์ หรือความไม่สบายใจรูปแบบอื่น ๆ สารแห่งความสุขในร่างกายมีน้อยลง จนเข้าสู่ภาวะเครียด กังวล หงุดหงิด หลายคนพบว่าตนเองอยากจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ถ้าได้ใช้เงินแล้วจะต้องรู้สึกดีขึ้นแน่ ๆ ฉะนั้น ใครที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะเครียดหรือไม่สบายใจ จะลองเยียวยาจิตใจด้วยวิธีการช้อปปิ้งบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ตราบใดที่ยังมีสติไม่ได้ใช้จ่ายจนเกินตัว

แต่ปัญหาที่จะตามมาและทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ได้หลังจากพยายามจะช้อปปิ้งเพื่อบำบัดความเครียดของตัวเอง ก็คือ ปัญหาเรื่องเงินที่สูญสลายหายไปกับการช้อปปิ้งนั่นเอง ยิ่งเราจดจ่อกับการจับจ่ายใช้สอยมากเท่าไร เราก็ยิ่งเสียเงินได้มากเท่านั้น แล้วยิ่งถ้าสถานะทางการเงินของเราไม่ได้สัมพันธ์กับราคาข้าวของที่ซื้อมาเลย การใช้จ่ายแบบขาดสติก็ทำให้เกิดความเครียด ความเศร้า ความรู้สึกด้านลบเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ฉะนั้น ก่อนจะตัดสินใจบำบัดอารมณ์ด้วยการช้อปปิ้ง ควรพิจารณาเสมอว่าเรามีกำลังพอที่จ่ายหรือไม่ และกำหนดการใช้จ่ายแต่ละครั้งเอาไว้ด้วยว่า แม้ว่าหลังจากเรียกสติกลับมาแล้ว เราอาจจะไม่รู้สึกผิดกับของที่ซื้อมา แต่อาจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่ไปสร้างไว้เกินความจำเป็นก็ได้ มันก็พาเครียดได้เหมือนกัน Retail Therapy จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการวางแผนทางการเงิน และอาศัยสติในการยับยั้งชั่งใจด้วยเสมอ ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook