คนแก่เยอะ เด็กเกิดน้อย วิกฤติแรงงานที่สังคมไทยกำลังจะเผชิญ

คนแก่เยอะ เด็กเกิดน้อย วิกฤติแรงงานที่สังคมไทยกำลังจะเผชิญ

คนแก่เยอะ เด็กเกิดน้อย วิกฤติแรงงานที่สังคมไทยกำลังจะเผชิญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็กเกิดน้อยขนาดไหนกัน ถึงได้เป็นปัญหาระดับชาติให้รัฐบาลถึงขั้นออกมาเชิญชวนให้คนไทยมีลูก ข้อมูลทางสถิติย้อนหลัง 3 ปี พบว่าในปี 2563 จำนวนการเกิดของเด็กไทย ลดต่ำกว่า 600,000 คน เป็นครั้งแรก และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขการเกิดใหม่ของประชากรไทยในปี 2563 นั้นอยู่ที่ประมาณ 587,000 คน (การประกาศจำนวนเกิดของประชากรไทยในแต่ละปีจะนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคมของปีนั้น ๆ) นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าอาจมีแนวโน้มต่ำลงไปอีกประมาณ 2-3 หมื่นคนตามวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

อันที่จริง สำหรับประเทศไทยแล้วไม่ใช่แค่เด็กเกิดใหม่ลดลงเท่านั้นที่เป็นปัญหา อีกปัญหาสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น หรือที่เราเคยได้ยินกันว่า สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือสังคมที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2548 แล้ว แต่ในปี 2564 เป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20) และเตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574 (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28)

คงจะพอเห็นภาพแล้วว่าขณะนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่ คนแก่เยอะ เด็กเกิดน้อย ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ผลของการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรย่อมมีผลกระทบทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคตอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ วิกฤติแรงงาน ที่สังคมไทยกำลังจะเผชิญ ทว่าเรื่องของสังคมผู้สูงอายุที่พูดถึงนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในโลก มีอีกหลาย ๆ ประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตินี้เช่นกัน

ปัจจัยที่ทำให้สังคมไทย คนแก่เยอะ เด็กเกิดน้อย

สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรนี้ เกิดมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และอัตราการเจริญพันธุ์ ก็อยู่ต่ำกว่าระดับทดแทน “ความไม่พร้อม” เป็นปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการจะมีลูก หรือแต่งงานแล้วแต่ยังไม่วางแผนเรื่องมีลูก คือยังไม่พร้อมจะมีภาระที่ต้องดูแลลูกไปอีกราว ๆ 20 ปี สภาพเศรษฐกิจในครอบครัวไม่พร้อม เพราะ “ตัวเองยังเอาแทบไม่รอด ก็ไม่คิดจะมีลูกหรอก สงสารเด็ก สงสารตัวเองด้วย”

บรรดาคู่รักสมัยใหม่มองว่าการเลี้ยงลูก 1 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ไม่ใช่เรื่องที่คิดอยากจะมีแล้วมีได้เลย มันมีค่าใช้จ่ายที่ต้องคำนวณตั้งแต่ตั้งครรภ์ การคลอดลูก การเลี้ยงดูตั้งแต่แรกเกิดไปจนกว่าจะเรียนจบการศึกษา ไม่ใช่เงินน้อย ๆ เลยที่ต้องใช้ ปัญหาเศรษฐกิจทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูลูก รวมถึงปัญหาสังคมหลาย ๆ อย่างที่ทำให้คู่รักรู้สึกว่า “ไม่ควรจะมีลูก” การมีลูกคือเรื่องใหญ่ ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา เพื่อให้เด็กที่เติบโตมามีคุณภาพ

การที่เด็กเกิดใหม่เป็นเด็กด้อยคุณภาพก็เป็นปัญหาที่ไม่ต่างจากเด็กเกิดน้อย เพราะในท้ายที่สุดก็ไม่อาจหวังพึ่งให้เป็นประชากรคุณภาพ เช่น เด็กที่เกิดมาแบบที่พ่อแม่ไม่พร้อม ไม่ว่าจะด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ หรือสภาพเศรษฐกิจ ท้องไม่พร้อม และขาดความรู้ในการเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นเด็กมีคุณภาพ จะทำให้เด็กเสี่ยงที่จะด้อยคุณภาพ ทั้งภาวะโภชนาการ สติปัญญา พฤติกรรม หรือเด็กที่เกิดจากแม่ที่มีอายุมาก ก็เสี่ยงที่เด็กจะมีภาวะความผิดปกติทางสมองหรือผิดปกติทางการเรียนรู้

เนื่องจากสภาพสังคม ณ ปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการมีลูก สภาพเศรษฐกิจ ทำให้คู่รักกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน กังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย เพราะค่าครองชีพที่แพงสวนทางกับรายได้ รายจ่ายในชีวิตประจำวันเฉพาะของตัวเองยังอยู่ในภาวะเดือนชนเดือน กังวลเรื่องความยุ่งยากในการจัดสมดุลการเลี้ยงลูกและการทำงาน สภาพสังคม กังวลเรื่องการศึกษา กังวลเรื่องปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เด็กเกิดมา หลายครอบครัวจึงชะลอการมีลูก มีลูกยาก บางครอบครัวมีลูกน้อยลง หรือไม่ต้องการมีลูก ด้วยทัศนคติ ไม่จำเป็นต้องมีลูกก็ใช้ชีวิตอย่างน่าพึงพอใจได้

ไม่เพียงเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในลักษณะนี้ ยังทำให้เกิดค่านิยมอยู่เป็นโสดแพร่หลายในสังคม คนรุ่นใหม่ ครองตัวโสดไปยาว ๆ หรือแต่งงานช้า หรือมองว่าการแต่งงานไม่ได้สำคัญอะไรกับชีวิต คนกลุ่มนี้พอใจที่จะอยู่ตัวคนเดียว วางแผนชีวิตหลังเกษียณและชีวิตในบั้นปลายไว้แล้ว และปัจจุบัน คนกลุ่มนี้ก็ทำงานเก็บเงินเพื่อเลี้ยงตัวเองตอนแก่ ถึงจะไม่มีลูกหลาน พวกเขาก็จะต้องอยู่อย่างสุขสบาย เมื่อคนรุ่นใหม่ ที่เป็นวัยที่สมควรจะมีลูกนิยมอยู่เป็นโสด ไม่แต่งงาน และมีลูกกันน้อยลง อัตราเกิดของประชากรไทยจึงลดต่ำลงไปด้วย

อีกสาเหตุที่สำคัญ คือ อัตราการเสียชีวิตก็ลดต่ำลง เนื่องจากการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข และหลายคนอายุเข้าสู่วัยชราแล้วแต่ยังดูไม่ชราด้วยซ้ำไป ทำให้แนวโน้มที่ประชากรจะมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นจะส่งผลในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 17.7 ล้านคน จะเป็นประชากรสูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

เด็กเกิดใหม่น้อยมาก คนแก่ก็มีมากเกินไป ทำให้แรงงานขาดแคลน

คาดการณ์ว่าในปี 2100 ประชากรในประเทศไทยจะหายไปกว่าร้อยละ 34.1 ซึ่งจะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 2030 และยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราการเกิดต่ำ ประเทศก็ยิ่งเสียโอกาสในการเติบโต เพราะเด็กเกิดใหม่ในวันนี้ ก็คือแรงงานในวันข้างหน้า หลักการง่าย ๆ ก็คือถ้าวันนี้เด็กเกิดใหม่หายไปมาก แรงงานในอนาคตก็จะหายไปมากเช่นกัน เมื่อมีวัยแรงงานมีจำนวนน้อย แนวโน้มที่ภาครัฐจะมีรายได้จากการเก็บภาษีจากแรงงานก็จะมีสัดส่วนลดลง

ส่วนคนวัยทำงานในปัจจุบันนั้นก็จะค่อย ๆ ขยับไปเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยที่แนวโน้มผู้สูงอายุก็จะอายุยืนขึ้นด้วย ผู้สูงอายุหลาย ๆ คนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทำงานไม่ไหวแล้ว ทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขและสวัสดิการ ในการดูแลประชากรสูงอายุที่สูงขึ้นตามไปด้วย

เพราะสังคมผู้สูงอายุในบ้านเรา ณ เวลานี้จะเห็นว่ามีจำนวนมากที่มีฐานะยากจน และรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ เนื่องจากก่อนหน้าไม่เคยวางแผนเรื่องการเกษียณมาก่อน ไม่มีเงินออมหรือเงินสำรองไว้ใช้ในยามที่ทำงานไม่ไหว ทำให้การบริโภคมีโอกาสที่จะชะลอตัวลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะประสบกับภาวะการออมและการลงทุนในประเทศที่ลดต่ำลง เนื่องจากกลุ่มประชากรสูงอายุที่เกษียณหรือเลิกทำงานแล้ว จะทยอยใช้จ่ายจากการออมที่สะสมมาตลอดชีวิต ทำให้ระดับการออมภาคครัวเรือนและการลงทุนของประเทศได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ สังคมผู้สูงอายุยังทำมีส่วนเพิ่มการบริโภคสินค้าและบริการกลุ่มการใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบความต้องการสินค้าของครัวเรือนจะส่งสัญญาณไปถึงภาคการผลิตและการจ้างงานในสาขานั้น ๆ แต่สังคมผู้สูงอายุอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต เนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำและการชราภาพของแรงงานจะทำให้กำลังแรงงานในอนาคตมีจำนวนที่ลดลง ยิ่งประชากรมีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในการทำงานน้อยลง

การแก้ปัญหา (เฉพาะหน้า) ในกรณีที่ประชากรวัยทำงานในประเทศลดลง แต่ประเทศยังต้องพึ่งพาอาศัยให้มีแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศ ก็อาจต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

การที่แรงงานลดลง ก็จะมีผลต่อการเติบโตของประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจจะเติบโตได้จะต้องอาศัยคนวัยทำงานหรือแรงงานในการผลักดันเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต อัตราการเติบโตของจีดีพีลดลง รายได้ของรัฐก็ลดลงด้วย เนื่องจากคนวัยทำงานที่มีหน้าที่เสียภาษี (ผู้ที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐจริง ๆ) อาจมีไม่มากพอ และในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็มีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุตามนโยบายด้านสวัสดิการ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีคนหนุ่มสาววัยแรงงานของชาติน้อยลง และมีประชากรสูงอายุที่กลายเป็นภาระมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำในประเทศไทยจึงเป็นวิกฤติแรงงานที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาอัตราเกิดน้อย และด้อยคุณภาพ ส่วนสำคัญคือนโยบายภาครัฐจะทำอย่างไรให้คนหันมายอมมีลูก หรือถ้าคนไม่ยอมมีลูกจริง ๆ ก็ต้องมีนโยบายให้ประชากรที่มีอยู่มีคุณภาพมากที่สุด เช่น ให้พ่อแม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ ภาครัฐมีนโยบายที่เอื้อให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ของเด็ก หรือการสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กมีโอกาสพัฒนาทักษะชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook