เมื่อต้องสอนเด็ก ๆ ให้เข้าใจ โตไปไม่เหยียด

เมื่อต้องสอนเด็ก ๆ ให้เข้าใจ โตไปไม่เหยียด

เมื่อต้องสอนเด็ก ๆ ให้เข้าใจ โตไปไม่เหยียด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จริง ๆ แล้ว เรื่องของการบูลลี่ (Bully) และการเหยียดหรือการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่พบเจอได้ทั่วไปในบทสนทนาในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำไป พบได้แม้กระทั่งในคำทักทายที่ผู้พูดอาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก อาจพูดออกมาด้วยความเอ็นดู แต่มันไม่ค่อยจะถูกหูคนฟังเท่าไรนัก ง่าย ๆ แค่ “ไปทำอะไรมาเนี่ย อ้วนขึ้นนะ” พร้อมกับหัวเราะอย่างเป็นกันเอง ก็ทำให้คนฟังรู้สึกแย่ได้ จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกทักทายผู้อื่นด้วยการทักเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกเสียที เพราะมันยังมีคำอื่นอีกมากที่ใช้ทักทายได้โดยไม่ทำร้ายจิตใจคนฟัง

คำทักทายหรือคำพูดหลาย ๆ คำ เราใช้มันกันจนเคยชิน ใช้จนคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนอาจจะคิดน้อยไปหน่อยว่าถ้าตัวเราโดนทักทายด้วยคำพูดแบบนี้บ้างก็คงมีเคือง ๆ เหมือนกัน และไม่รู้ว่าความหมายของมันอาจจะเป็นการเหยียดคนอื่นโดยไม่รู้ตัว

ยิ่งในปัจจุบัน สังคมที่ผู้คนใช้ชีวิตส่วนใหญ่กันอยู่บนโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดียเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เรามักจะพบการเหยียด บูลลี่ หรือด้อยค่าคนอื่นเยอะมาก แล้วไปก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนจิตใจและขัดต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขกับคนอื่น ๆ อาจจะเฉพาะเจาะจงบุคคลหรือกับสังคมโดยรวม มีทั้งทำไปโดยตั้งใจ ทำไปโดยไม่เจตนาเพราะคิดน้อยไป ทำไปด้วยความไม่รู้ คนที่โดนก็มีทั้งคนธรรมดา คนมีชื่อเสียง ก่อให้เกิดประเด็นดราม่าขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

การเหยียดมีมาในลักษณะใดบ้าง

มนุษย์เรามี “ความแตกต่าง” ทั้งเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา รูปร่าง สีผิว อายุ การศึกษา สถานภาพทางสังคม ฐานะทางการเงิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจถูกนำมาเป็นประเด็นในการ “เปรียบเทียบจนแบ่งแยก” หลายคนที่มีตรรกะว่าความต่างทำให้คนมีค่าไม่เท่ากัน โดยคิดว่าคนกลุ่มหนึ่งมีค่าหรืออยู่เหนือคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์ดังกล่าวมาแบ่งแยก ก็ไม่มีทางที่คนจะเท่ากันได้ จนนำไปสู่ “การเลือกปฏิบัติหรือการเหยียด” ว่าที่คนนั้นเป็นคือสิ่งดี คนนู้นเป็นคือสิ่งไม่ดี เกิดเป็นการเหยียดเพศ เชื้อชาติ ถิ่นที่อยู่ ศาสนา รูปร่างสีผิว การศึกษา หรือเหยียดสถานะ ฯลฯ

การมองคนอื่นที่แปลกแตกต่างไปจากตัวเองว่าเป็นสิ่งไม่ดี มองว่าที่ตัวเองเป็นอยู่คือสิ่งที่ดี เหนือกว่าคนอื่น แล้วเหยียดคนอีกกลุ่มว่าเป็นคน “อีกพวก” ที่ประหลาด แตกต่าง ไม่เท่ากับตัวเอง ด้อยค่าสิ่งที่พวกเขาไม่เหมือน และแสดงออกว่ารังเกียจ สิ่งเหล่านี้คือการเหยียดทั้งสิ้น โดยที่ลืมคิดว่า “ทุกคนก็คนเหมือนกัน” คนที่มีคุณค่าในตัวเองเหมือนกัน ทุกคนต่างดำรงชีวิตบนโลกในฐานะสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน คนจะไม่เหมือนกันได้อย่างไร ตราบใดที่ทุกคนต้องกิน ขับถ่าย สืบพันธุ์ นอน และหายใจ

ในเรื่องของการเหยียดหรือแสดงความรังเกียจกันนี้ มีอยู่หลายประเด็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรสั่งสอนและให้ความรู้บุตรหลานตั้งแต่พวกเขายังเล็ก ๆ เพื่อที่เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นมา จะได้มองโลกด้วยสายตาที่ปราศจากอคติ แต่ถึงแม้จะมีอคติ ก็จะไม่แสดงออกอย่างเสียมารยาทเมื่อต้องอยู่ในสังคมที่มีผู้คนหลากหลาย

สอนให้เข้าใจความแตกต่างและหลากหลาย

ในสังคมที่มีผู้คนมากมายต้องมาอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ต่างที่มา ต่างวิถีชีวิต จนทำให้หลาย ๆ สังคมมีความเป็น “พหุวัฒนธรรม” อยู่สูง เนื่องจากมีการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายมากมายเข้าไว้ด้วยกัน การจะอยู่ร่วมกันให้ได้ต้องมีค่านิยมที่เปิดกว้างต่อการยอมรับความแตกต่างของคนที่มาจากต่างที่ต่างถิ่น ทั้งในด้านการใช้ชีวิต พื้นฐานครอบครัว วัฒนธรรมเบื้องหลัง ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อความศรัทธา ภาษา โดยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ค่าความเป็นคนต่างกัน ไม่มีใครด้อยกว่า ทุกคนเสมอภาค เท่าเทียม และควรมีเกียรติที่เท่าเทียมกัน

อย่าสร้างบาดแผลในใจใคร และอย่าสร้างความบาดหมางต่อกัน

เมื่อมีการมองคนไม่เท่ากัน ส่วนหนึ่งคือคิดว่าตัวเองมีอำนาจหรือมีความเหนือกว่าคนอื่น ด้วยปัจจัยทางสังคมที่เป็นกรอบให้คิดเช่นนั้น ก็ไม่ควรจะไปเกลียดชัง ดูถูก ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามคนอื่นเพียงเพราะตัดสินเองว่าเขาด้อยค่ากว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหาพรรคพวกที่คิดแบบเดียวกัน เห็นพ้องต้องกันที่จะลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น แล้วมีการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังในวงกว้าง ทำร้ายความรู้สึกอีกฝ่าย ทำให้อับอาย ละเมิดหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น ด้วยการใช้พื้นที่สาธารณะสร้างบาดแผลต่อจิตใจคนอื่น และสร้างความเกลียดชังในสังคม

อย่าทำให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง

ที่ชัดเจนคือผู้ใหญ่หลายคนมักจะนำลักษณะบ่งชี้ทางร่างกายภายนอกของคนอื่นมาเรียกแทนชื่อ อาจเป็นสีผิว รูปร่าง เพศสภาพ ให้ค่ากับความงามแบบมาตรฐานที่ถ้าใครไม่ตรงตามนั้นถือว่าเป็นคนประหลาด อาจมีการนำเด็กไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นให้เห็นถึงความแตกต่าง เด็กก็จะจำคำเหล่านั้นมาจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ผิดหรือไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เพราะบางคำมันกลายเป็นเรื่องปกติ การล้อเล่น การแซวขำ ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากบริบททางสังคมที่คิดว่าเป็นเรื่องเล่น ขำ ๆ จนทำให้มันเป็นเรื่องปกติสามารถทำได้ ที่คนในสังคมซึมซับและเคยชินในที่สุด

มารยาทพื้นฐานในการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม

เรื่องมารยาท เป็นอีกเรื่องที่สังคมยุคใหม่บกพร่องลงไปมาก คนในสังคมรู้จักสิทธิ เสรีภาพ แต่ไม่มีมารยาท คิดว่ามันเป็นสิทธิ เสรีภาพของตนเองที่กระทำได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงสิทธิ เสรีภาพ มันอยู่บนพื้นฐานที่ต้องไม่ไปละเมิดคนอื่นหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน การอยู่ร่วมกันกับคนอีกจำนวนมากในสังคม ไม่ใช่คิดอยากจะทำอะไรก็ทำ คิดจะพูดอะไรก็พูด โดยไม่สนใจว่ามันจะรบกวนหรือขัดต่อความสงบสุขของคนอื่น ๆ หรือไม่ คิดอยากจะแสดงความคิดเห็นก็แสดง แต่เนื้อหาคือการด่าคนอื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งที่เขาก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ แบบนี้เรียกว่าไม่มีมารยาท

ดูแล ควบคุมสื่อที่ให้เด็กเสพ

สื่อบางประเภทไม่ดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก เพราะเด็กยังมีวิจารณญาณไม่มากพอ สื่อหลายประเภทมักจะปลูกฝังความคิดว่าคนไม่เท่ากัน ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ สร้างภาพจำว่าคนประเภทนั้นเป็นคนไม่ดี คนประเภทนี้สิที่เรียกว่าดีกว่าคนอื่น บ่อยครั้งมีการเหยียดเพื่อสร้างความตลก รวมถึงเด็กเห็นตัวอย่างการกลั่นแกล้งและการเหยียดกัน จากสังคมดัดจริตและจอมปลอม ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ห้ามเด็กเด็ดขาด แต่ให้สอนให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรดีไม่ดี เหตุใดเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้น ตัวเรามีความเสี่ยงอย่างไรที่จะถูกเหยียดหรือแบ่งแยก เราสามารถปกป้องตนเองได้อย่างไร

การแสดงความคิดเห็น ≠ การด่า

ต้องแยกให้ออกว่าการแสดงความคิดเห็นของตนเองต้องไม่ใช่การด่าผู้อื่น สอนเด็กให้รู้ว่าการแสดงความคิดเห็นของพวกเขา คือ พูดในสิ่งที่พวกเขาคิด โดยที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนหรือรู้สึกว่าเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในความคิดเห็นนั้น การมีใจอคติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ มนุษย์เราต่างจิตต่างใจ มีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ แต่ต้องพูดหรือแสดงออกอย่างชาญฉลาด ที่จะไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเสียหายจากคำพูดเหล่านั้น คำพูดที่พูดออกมาแล้วจะเป็นนายเรา หากไม่ไตร่ตรอง มันก็จะกลายเป็นดาบสองคมที่ฆ่าคนอื่นตายได้เหมือนกัน

เป็นคนตรง ≠ เป็นคนใจทราม

การเป็นคนตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนหยาบคาย พูดอะไรแรง ๆ หรือใช้ความรุนแรง และที่สำคัญ บ่อยครั้งก็มีเส้นบาง ๆ กั้น ระหว่างใจทรามด้วย การพูดตรง ๆ เราสามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องกระทบถึงคนอื่น หรือพาดพิงคนอื่นลงมาเป็นหัวข้อในการด่า แม้ว่าสิ่งที่เราพูดอาจจะเป็นข้อเท็จจริง แต่มันมีวิธีในการพูดให้ทุกอย่างเบาลง ไม่มีใครเสียหาย และเราไม่จำเป็นที่จะต้องพูดหรือแสดงออกทุกอย่างที่ตัวเองคิด ในใจคนเราย่อมมีสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ แต่การคิดไตร่ตรองก่อนพูดจะทำให้เราไม่หลุดพูดคำพูดแย่ ๆ ที่อาจทำร้ายคนอื่นออกมา

อย่าหาซีนปั่นกระแสให้คนด่า มันมักง่ายและไม่คูล

คนบางกลุ่มไม่ชอบสังคมที่ไม่มีอะไรให้ดราม่า เพราะรู้สึกว่ามันเงียบเกินไป หรือจริง ๆ แล้วตัวเองแค่หิวแสง อยากมีซีน อยากมีพื้นที่ให้คนรู้จัก (ซึ่งอาจจะมีงานจ้างตามเข้ามา) เพราะสังคมไทยมักจะให้ค่าและให้แสงกับคนกลุ่มนี้ แต่วิธีการเรียกร้องความสนใจด้วยการสร้างกระแสให้คนด่า จนตัวเองได้พื้นที่สื่อนั้นมันเป็นวิธีที่มักง่ายและไม่คูล คนที่มีความคิดไปในทางที่เจริญแล้วเขาจะไม่ใช้วิธีนี้ ด้วยมันมีวิธีแจ้งเกิดแบบที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผู้คนชื่นชม อยากหาแสง อยากให้คนอื่น ๆ สนใจ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเรียกทัวร์ ถ้ามีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ คนจะรู้จักเอง

ไม่ต้องพยายามที่จะมีทุกอย่างให้เหมือนคนอื่น

บ่อยครั้ง ที่การเหยียดคนอื่นมีเบื้องลึกมาจากการพยายามจะลบจุดด้อยของตัวเอง จึงพยายามแสดงออกถึงความเหนือกว่าคนอื่น ตามหลักจิตวิทยานี่เป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันตนเองทางจิตใจของมนุษย์ แบบว่าพยายามโทษนั่นโทษนี่เพื่อหาที่ลง โทษทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวเอง การพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีหรือเป็น จะไม่ทำให้เรารู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยอะไร และสามารถสนองหรือเติมเต็มความสุขให้ตัวเองได้ด้วยความสามารถที่ตัวเองมี หากอยากมีให้มากขึ้นก็ต้องพยายามให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ตัวเอง ไม่ใช่การกดให้คนอื่นต่ำลงเพื่อที่ตัวเองจะได้สูงขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook