อยาก “เปลี่ยนงานใหม่” ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง

อยาก “เปลี่ยนงานใหม่” ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง

อยาก “เปลี่ยนงานใหม่” ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงที่อีกไม่กี่วันก็ใกล้จะหมดปีแบบนี้ หลายคนคงรู้สึกว่าอยากให้ชีวิตได้ลองอะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง โดยมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดอยากใช้ช่วงปีใหม่ ในการ “หางานใหม่” หรืออยาก “เปลี่ยนงาน” แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ โดยเฉพาะกับคนที่ทำงานอยู่ที่เก่ามาเป็นเวลานานแล้ว เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลง มันจึงเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่อาจทำให้รู้สึกเป็นกังวลได้

ทว่าถ้าคนเราไม่เสี่ยงเลย การเปลี่ยนแปลงย่อมไม่เกิด ทุกอย่างมันก็จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่มีการพัฒนาใด ๆ ย่ำอยู่กับที่ ไม่เจอความท้าทายใหม่ ๆ อยู่ในกรอบเดิม ๆ ที่ขังตัวเองไว้ ท้ายที่สุดก็อาจกลายเป็นคนด้อยพัฒนาไปโดยปริยาย สิ่งนี้เองที่น่ากลัวกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไหน ๆ

หรืองานที่ทำอยู่อาจจะไม่ใช่งานที่ใช่ งานที่ชอบ งานที่อยากทำ ชีวิตในตอนนี้ก็ไม่มีความสุข ที่ปิดกั้นตัวเองเพราะไม่อยากออกจาก comfort zone ต่างหาก ในเมื่อเราเองต่างก็ไม่รู้พอ ๆ กันว่าถ้าเปลี่ยนงานแล้ว ผลลัพธ์จะดีกว่าเดิมหรือแย่ลงกว่าเดิม นี่อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องลองเสี่ยงดูสักหน่อย และมาดูว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ดังนั้น ใครที่คิดอยู่นานแล้วว่าจะลองเปลี่ยนงานดูดีไหม ใกล้ปีใหม่แบบนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การตัดสินใจที่สุด และถือโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วย

Tonkit360 จะชวนมาดูว่าถ้าคิดจะเปลี่ยนงานใหม่ เราต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง ถึงมันจะเสี่ยง แต่เราลดแรงกระแทกจากได้ เพราะถ้าเราเตรียมตัวดี ความเสี่ยงก็ย่อมน้อยลง และการเปลี่ยนงานอาจจะราบรื่นกว่าที่คิดก็ได้

จะเปลี่ยนงานเพื่ออะไร

ไม่มีใครหรอกที่จู่ ๆ ก็อยากเปลี่ยนงานโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งเหตุผลก็มีตั้งแต่ เบื่องาน เบื่อคน เบื่อระบบ รู้สึกว่าอยู่ไปก็ไม่เติบโต เหนื่อยเดินทาง ย้ายที่อยู่ อะไรประมาณนี้ คำถามนี้คุณต้องพิจารณาและตอบกับตัวเองให้ดี เพราะหลายคนอยากเปลี่ยนงานเพียงเพราะเบื่อหรือแค่จะหนีปัญหาจากที่ทำงานเก่า ปัญหามันมีทุกที่ ถ้าคุณทำแบบนี้คุณจะล้มเหลวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจะกลายเป็นคนที่เอาแต่วิ่งหนีปัญหาไปเรื่อย ๆ ฉะนั้น เหตุผลที่ดีในการเปลี่ยนงาน ควรเปลี่ยนเพราะมันให้ผลดีกับคุณมากกว่า เช่น เงินเดือนเพิ่ม ตำแหน่งสูง โอกาสเติบโต งานท้าทาย ใช่กว่า ชอบกว่า เป็นต้น

เงินสำรองมีพอไหม อย่าลืมเงินทดแทนระหว่างว่างงาน

อยากเปลี่ยนงานไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าจะลาออกโดยไม่มีแม้กระทั่งแผนสำรองนี่แหละเรื่องผิดเรื่องใหญ่ ซึ่งถ้าคุณลาออกปุ๊บแล้วได้งานใหม่ปั๊บ หรือมีงานใหม่รอตั้งแต่ยังไม่ลาออก เรื่องเงินจะไม่ใช่ปัญหา ทว่าถ้าไม่ใช่ตามนี้ คุณต้องถามตัวเองว่ามีเงินสำรองพอไหม อย่างน้อยคือ 6 เดือน รวมถึงวางแผนลดภาระทางการเงินที่ไม่จำเป็นด้วย นอกจากนี้ อย่าลืมใช้สิทธิ์เงินที่คุณควรจะได้ คือเงินทดแทนระหว่างว่างงานจากประกันสังคม ในกรณีที่ลาออก มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานด้วย

ทักษะความรู้ต่าง ๆ พร้อมออกสู่สนามรบหรือยัง

หลายต่อหลายคนที่ยังคงกอดงานเก่าไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ใช่เพราะรักงานนี้มาก แต่เป็นเพราะไม่กล้าเสี่ยงที่จะออกจาก comfort zone กลัวว่าออกไปแล้วจะหางานใหม่ไม่ได้ เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่รู้ตัวเองดีว่าตนเองยังมีข้อบกพร่องอยู่มากมายที่ไม่อาจจะไปสมัครงานใหม่ได้ ออกไปก็สู้กับใครเขาไม่ได้ เลยเลือกที่จะอยู่ที่เดิม ทำอะไรเดิม ๆ ดีกว่า ในทางกลับกัน คนที่เริ่มมีความคิดอยากเปลี่ยนงาน ก็ต้องเริ่มที่จะหันกลับมาพิจารณาตัวเองแล้วเช่นกันว่าทักษะความรู้ต่าง ๆ ของตนเองนั้น มีมากพอที่จะไปสู้กับผู้สมัครคนอื่น ๆ หรือไม่ ถ้ามั่นใจว่าพร้อม อัปเดตเรซูเม่เลย

ตำแหน่งงาน/บริษัทใหม่เรียกคุณสมบัติอะไรบ้าง

ใครที่เริ่มเบื่องานเดิมแล้วเริ่มที่จะมองหางานใหม่ นอกจากดูเรื่องของโอกาสในการเติบโต ค่าจ้าง สวัสดิการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวก อย่าลืมดูด้วยว่าตำแหน่งงานที่สนใจหรือบริษัทใหม่ที่อยากจะร่อนใบสมัครไปหานั้น เขาเรียกร้องคุณสมบัติอะไรจากผู้สมัครเป็นพิเศษ เช่น เรียกผลทดสอบสำหรับวัดระดับความรู้หรือทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ คะแนน 750 ขึ้นไป นั่นหมายความว่าถ้าคุณคิดจะไปสมัครงานที่นั่น คุณก็ต้องเตรียมตัวที่จะไปสอบภาษาอังกฤษเพื่อให้มีคะแนนมายื่น ถ้าคุณไม่เก่งภาษาอังกฤษ คุณอาจต้องลงเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คะแนนตามที่เขาต้องการ

เตรียมรับมือกับสังคมใหม่

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสังคมในที่ทำงานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนลาออกจากงานหรือคิดอยากเปลี่ยนงาน และก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าเราไม่รู้เลยว่าสังคมที่ใหม่จะดีกว่าหรือจะแย่กว่าเดิม ถึงอย่างนั้น ถ้าคุณกำลังจะเปลี่ยนงาน คุณก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ สังคมใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ หัวหน้าใหม่ เจ้านายใหม่ นี่จึงเป็นสิ่งที่คุณควรเตรียมตัวรับมือกับสังคมใหม่ให้ดี ถ้ามันดีกว่าเดิมก็ดีไป แต่ถ้ามันแย่กว่าเดิมล่ะจะทำอย่างไร คุณอาจต้องสังเกตตัวเองดูด้วยว่าคุณมีความสามารถในการปรับตัวเร็วแค่ไหน

ไลฟ์สไตล์ที่ต้องเปลี่ยนไป

แน่นอนว่าการเปลี่ยนงานอาจทำให้ชีวิตของคุณในช่วงแรก ๆ สับสนวุ่นวาย ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างมันเปลี่ยน ก็จะทำให้วิถีชีวิตของคุณเปลี่ยนไปจากเดิมที่คุ้นเคยเช่นกัน เช่น ถ้าคุณเปลี่ยนสถานที่ทำงาน คุณอาจต้องนอนเร็วกว่าเดิมและตื่นนอนเร็วกว่าเดิม วิธีการเดินทาง ระยะเวลาในการเดินทาง แหล่งหาอาหาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ยูนิฟอร์ม ฯลฯ ยิ่งถ้าคุณเปลี่ยนสายงานไปเลย อะไรต่ออะไรมันจะต้องเปลี่ยนไปมากกว่านั้น เพราะคุณไม่เคยทำงานด้านนั้นมาก่อน คุณอาจต้องเรียนรู้งานใหม่ทั้งหมด ต้องฝึกฝน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ต้องระวังสุขภาพจิตให้ดี

ถ้าว่างงานนาน จะทำอย่างไร

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กล้าจะเผชิญความเสี่ยงขั้นสุด ลาออกจากงานเดิมแบบมาตายเอาดาบหน้าโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ นอกจากจะต้องเตรียมเผื่อใจรับความผิดหวังในการหางานใหม่แล้ว อย่าลืมเตรียมแผนรับมือในช่วงที่คุณไม่มีงานทำด้วย เพราะถ้าคุณต้องว่างงานนานกว่าที่คิดไว้ นั่นหมายความว่าคุณจะต้องเริ่มนำเงินสำรองที่เก็บไว้หรือเงินชดเชยมาใช้ในระหว่างนี้ ยิ่งนาน เงินก็ยิ่งหมดไปโดยที่ไม่มีรายรับใหม่เข้ามา สุดท้ายจะแย่เอาได้ การใจกล้าบ้าบิ่นลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่ อย่างน้อยต้องมีแผนว่าจะทำอะไรเพื่อให้มีรายรับเข้ามาในช่วงว่างงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook