สอนลูกให้ใช้เงินให้เป็น พ่อแม่ควรสอนอะไรบ้าง
เมื่อพูดถึง “เงิน” หลายคนเข้าใจดีว่ากว่าจะหามาได้แต่ละบาทนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ มีคนจำนวนไม่น้อยที่เพิ่งรู้ซึ้งถึงเรื่องนี้ก็ตอนที่ต้องมาทำงานหาเงินเอง และอาจเคยพบเจอเข้ากับวิกฤติทางการเงินส่วนตัว อันเป็นผลมาจากบริหารเงินและใช้เงินไม่เป็นมาแล้ว ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้มาก่อนว่า “การใช้เงินให้เป็น” เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเคยชินกับการรับเงินมาจากพ่อแม่แบบรับมาก็ใช้ไป พอต้องหาและต้องจัดการเงินด้วยตัวเองก็เลยล้มเหลวไม่เป็นท่านั่นเอง
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ว่าพ่อแม่ต้องสอนนิสัยการใช้เงินที่ดีให้กับลูกตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็ก เพราะสิ่งที่พ่อแม่สอนลูกในวัยเด็ก จะกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงในวันข้างหน้าต่อ ๆ ไปของพวกเขา เมื่อพวกเขาต้องทำงานหาเงินเอง พ่อแม่จึงมีบทบาทที่สำคัญมาก ๆ ในการสอนให้ลูกใช้เงินให้เป็น และมีวินัยในการใช้เงิน ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันให้ลูกในอนาคต อยากให้ลูกเป็นแบบไหน ก็สอนแบบนั้น และต้องเป็นตัวอย่างที่ให้พวกเขาด้วย
ทว่าการสอนเรื่องเงินในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าให้สอนลูกว่าต้องประหยัดชนิดที่ไม่สามารถใช้เงินซื้อความสุขได้ตามต้องการ สอนว่าไม่ให้ใช้จ่ายนู่นนั่นนี่แล้วให้เก็บอย่างเดียว คนเราหาเงินมาอย่างยากลำบากก็ควรมีความสุขในตอนที่ใช้เงินที่หามาบ้าง ดังนั้น การสอนการใช้เงินให้เป็นในที่นี้คืออยากได้อะไรก็ซื้อ แต่ต้องพิจารณาแล้วว่าอยากได้จริง ๆ ไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ เป็นของที่มีคุณค่าและเหมาะสม ต้องไม่ใช้เกินกำลังที่หาได้ หรือถ้าใช้เงินเก่งก็ต้องหาเงินให้เก่ง และต้องรู้จักเก็บออมเพื่อวันข้างหน้าด้วย โดยคร่าว ๆ พ่อแม่ควรสอนเรื่องต่อไปนี้
ออมเงิน
เมื่อได้เงินมาแล้ว พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักออมเงินก่อนใช้ ไม่ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ลูกต้องดึงเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อหยอดกระปุก อธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่าเงินนี้ไม่ได้หายไปไหนและยังเป็นเงินของลูกอยู่ แต่ทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร เงินที่ลูกอุตส่าห์แบ่งออกมานี้จะมีประโยชน์ต่อลูกในสถานการณ์แบบไหน แล้วทำไมจึงควรหยอดกระปุกก่อนที่จะใช้เงิน หากพ่อแม่สอนให้เข้าใจตั้งแต่เด็ก นิสัยรักการออมก็จะติดตัวพวกเขาไปจนโต และสร้างวินัยทางการเงินให้กับพวกเขา ดังนั้น ลองหากระปุกออมสินใบใส ๆ ที่ทำให้ลูกเห็นปริมาณเงินเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่หยอดก็จะช่วยได้
การแบ่งเงินเป็นส่วน ๆ
ก่อนจะนำเงินไปใช้ พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักแบ่งเงินกองเดียวออกเป็นกองเล็ก ๆ ซึ่งกองหนึ่งก็คือเงินที่ดึงไปหยอดกระปุก ส่วนกองที่เหลืออยู่ก็ให้พวกเขาได้คิดว่ากองนี้จะทำอะไร อีกกองจะทำอะไร เช่น กองนี้กินขนม กองนี้เก็บซื้อของเล่น อีกกองเอาไปโรงเรียน แน่นอนว่าเงินที่เด็กได้มาคงไม่ใช่ก้อนใหญ่โตอะไร แต่ละกองก็คงไม่กี่บาท แต่การสอนให้แบ่งเงินเป็นส่วน ๆ คือ ให้พวกเขารู้จักตั้งวัตถุประสงค์ในเงินแต่ละกองที่แบ่งไว้อย่างชัดเจน การเห็นสัดส่วนที่ชัดเจนของเงินตั้งแต่ยังเด็กจะช่วยให้พวกเขาบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อโตขึ้น เมื่อเงินในมือก้อนใหญ่ขึ้น
เงินได้มาจากการลงมือทำ
การสอนให้เด็กรู้จักที่มาของเงิน ช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าและความสำคัญของเงิน ว่ากว่าจะได้เงินมาแต่ละบาทเราต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อแลกเงินมา อย่างพ่อแม่ก็ต้องทำงาน ถึงมีเงิน ถ้าลูกอยากได้เงินลูกก็ต้องทำงานแลกเช่นกัน ดังนั้น นอกเหนือจากเงินที่พ่อแม่ให้เปล่า หากอยากได้เงินเพิ่มก็ต้องรู้จักทำงานแลก แต่งานที่จะให้ลูกทำเพื่อแลกเงินนั้นไม่ควรเป็นงานประเภทงานบ้านที่ทุกคนในบ้านควรช่วยกันทำเป็นหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ทำเพื่อหวังเงิน มิเช่นนั้นเด็กอาจเข้าใจผิดว่าการทำงานบ้านทั่วไปจะต้องได้เงินทุกครั้ง ถ้าไม่ได้เงินก็จะไม่ช่วยทำ
การชะลอการซื้อ
ไม่ใช่แค่เด็ก บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราก็แยกไม่ออกว่าซื้อเพราะอยากได้จริง ๆ หรือซื้อเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ดังนั้น ให้ใช้วิธีชะลอการซื้อไว้ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ไร้สติ สอนให้ลูกรู้จักรอคอย และทบทวนตัวเองก่อน ถ้ายังอยากได้มากจริง ๆ ค่อยกลับไปซื้อก็ยังไม่สาย หรือถ้าความอยากได้ลดลงกว่าเดิม แปลว่าตอนนี้อาจจะไม่ต้องการซื้อแล้ว นอกจากนี้ควรสอนให้เด็กใช้เงินไม่เกินโควตา เช่น ถ้าเด็กจะได้เงิน 100 บาททุกวัน แต่วันนี้ใช้หมดแล้ว ก็ต้องรอจนถึงพรุ่งนี้ถึงจะมีเงินซื้อ ถึงเวลานั้น ของที่เคยอยากได้เมื่อวาน วันนี้อาจไม่อยากได้แล้วก็ได้
บันทึกรายรับรายจ่าย
การบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างวินัยทางการเงิน สร้างนิสัยที่ดีในการใช้เงิน ทั้งยังช่วยในการควบคุมการใช้เงินอย่างได้ผล เพราะทำให้เด็กรู้รายละเอียดการใช้เงินในแต่ละวัน ว่ารับเงินมาเท่าไรแล้วใช้จ่ายอะไรไปบ้าง เห็นภาพการใช้เงินชัดเจน จึงเห็นถึงรายจ่ายส่วนเกินที่ไม่จำเป็นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน เด็กอาจจะนำเงินไปซื้อของเล่นหรือพวกขนมที่ไม่มีประโยชน์ ถ้าของที่ซื้อไม่มีประโยชน์ สอนลูกว่าค่าใช้จ่ายตรงนี้ควรตัดทิ้งนะ เพื่อให้เงินเท่านี้ยังเหลืออยู่ไว้ใช้ซื้อของอื่น ๆ ที่ลูกอยากได้มากกว่า และสอนลูกว่าอะไรที่ไม่ควรซื้อ โดยอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ
ต้องมีวินัยทางการเงิน
การ “มีวินัย” ทางการเงิน คือต้องมีแบบแผนและมีกฎเกณฑ์ในการใช้เงิน เรื่องนี้ควรฝึกให้ลูกตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาคุ้นชินกับการใช้เงินที่เป็นระบบ เมื่อโตมาพวกเขาจะได้รู้ว่าจะต้องใช้เงินอย่างไรถึงจะเรียกว่าพอดี คือไม่ต้องอดในสิ่งที่อยากได้ แต่ก็ไม่ใช่สุรุ่ยสุร่ายหรือใช้เงินเกินตัว และที่สำคัญคือมีเงินออม ที่ต้องฝึกตั้งแต่ยังเด็กก็เพราะจะได้ติดเป็นนิสัย ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ เพราะในทางปฏิบัติจริงผู้ใหญ่หลายคนยังรู้ดีว่ามันค่อนข้างยากที่จะมีกฎเกณฑ์กับการใช้เงินของตนเอง ก็เป็นเรื่องยากเช่นกันที่จะมีวินัยทางการเงินได้
การตัดสินใจเลือกกับโอกาสที่จะเสียไป
สอนให้เด็กรู้และเข้าใจว่าบางครั้งเงินเท่าที่มีอยู่ก็ไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่างที่อยากได้ในคราวเดียว เท่ากับว่าจะต้อง “ตัดสินใจเลือก” ว่าจะใช้เงินก้อนนี้ซื้ออะไร นั่นก็แปลว่าของอีกอย่างที่อยากได้เหมือนกันจะหลุดมือไปในครั้งนี้ การสอนลักษณะนี้คือเพื่อให้เด็กรู้จักพิจารณาและชั่งใจว่าจะใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดซื้ออะไรและต้องปล่อยอะไร ในเมื่อเงินที่มีอยู่ซื้อได้แค่อย่างเดียว รู้จักการรอคอย หรือหาเงินก่อนใหม่เพื่อซื้อของชิ้นนั้น เด็กจะเริ่มคิดว่าอะไรที่จำเป็นต้องซื้อก่อนหรือตอนนี้อยากได้อะไรมากกว่ากัน และต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจด้วย จะมาคร่ำครวญทีหลังไม่ได้
การต่อเงินให้งอกเงย
เมื่อลูกโตขึ้น ปลูกฝังให้รู้จักนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเพิ่มมูลค่าในระยะยาว ซึ่งจะช่วยผ่อนแรงในการทำงานหาเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่ง เนื่องจากเราไม่จำเป็นต้องเหนื่อยแรงกับมันมาก แค่ปล่อยให้เงินทำงานของมันเองจากสิ่งที่เราลงทุน เช่น คนสมัยก่อนจะนิยมซื้อทองคำเก็บไว้ เพราะมูลค่าทองมีแต่จะเพิ่มขึ้น แล้วรอจังหวะขายในช่วงที่ราคาทองสูง ๆ กำไรคือส่วนต่างจากราคาที่ซื้อ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แล้วปล่อยเช่า สามารถช่วยให้เรามีรายรับได้เพิ่มขึ้นอีกทาง ยุคนี้มีหุ้น มีกองทุน ทว่าต้องศึกษาให้ดี ๆ ก่อนด้วย เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง