เหนื่อยไหม? อยู่ในสังคมขี้อวด-ขี้อิจฉา เรื่องคนอื่นคือเรื่องใหญ่ของเรา

เหนื่อยไหม? อยู่ในสังคมขี้อวด-ขี้อิจฉา เรื่องคนอื่นคือเรื่องใหญ่ของเรา

เหนื่อยไหม? อยู่ในสังคมขี้อวด-ขี้อิจฉา เรื่องคนอื่นคือเรื่องใหญ่ของเรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสังคมทุกวันนี้มีคนอยู่มากมายหลากหลายประเภท โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่ทำให้การสื่อสารระหว่างกันง่ายขึ้น มันสามารถเชื่อมให้คนจากทุกมุมโลกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเดียวกันได้ การที่เราสามารถพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตาจากที่ไหนก็ได้บนโลกในกลุ่มสังคมเดียวกัน ทำให้เราเจอคนบางประเภทที่ได้แต่นึกสงสัยว่า “คนแบบนี้ก็มีด้วย” พอได้รู้จักคนเหล่านั้น นอกจากจะปวดหัวแล้ว เราจะเริ่มเรียนรู้ว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ร่วมกับคนเหล่านี้ได้

หลัก ๆ แล้วเวลาที่เราพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนที่เรียกว่าโซเชียลมีเดียนั้น เรามักจะเจอคน 2 ประเภทนี้เป็นประจำ คือ ประเภทขี้อวดกับประเภทขี้อิจฉา แค่พวกเขาแยกกันอยู่ก็ว่ารับมือยากแล้ว และถ้าพวกเขามาปรากฏตัวขึ้นพร้อมกันล่ะ จะทำให้สังคมออนไลน์วุ่นวายขนาดไหน

เพราะทุกวันนี้ เราให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์กันมาก เรามักจะกังวลว่าผู้คนในโลกโซเชียลจะรู้จักเราแบบไหน วุ่นวายอยู่กับการประกาศชีวิตของตนเองให้โลกรู้ ไม่ว่าจะไปเที่ยวต่างประเทศ ได้กินของแพง ใช้รถหรู ซื้อบ้านใหม่ อกหัก เลิกกับแฟน แฟนมีกิ๊ก หรือจะบอกกับทุกคนว่าตอนนี้ใช้ชีวิตแบบมีความสุขมาก อยากให้คนอื่นเห็นแต่ด้านดี ๆ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม จะต้องสื่อสารออกไปให้คนอื่น ๆ ได้รู้ด้วยเสมอ ซึ่งคนที่ได้รับรู้ก็ไม่ใช่แค่เพื่อนฝูงที่รู้จักกันดี แต่มีไม่น้อยที่เป็นคนอื่นที่ไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แค่เป็นเพื่อนหรือติดตามกันอยู่ในโซเชียลมีเดียเท่านั้น

เมื่อมีคนหนึ่งอวด ก็จะมีหลาย ๆ คนชื่นชมยินดี และจะมีอีกหลาย ๆ คนที่อิจฉา ทั้งที่ก็ไม่ได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วคนที่โพสต์ประกาศเรื่องของตัวเองให้โลกรู้นั้นมีสิ่งที่น่าอิจฉานั้นจริง ๆ หรือเปล่าด้วยซ้ำ

โลกของคนขี้อวด

อันที่จริง การอวดนั้นเป็นพฤติกรรมของสัตว์สังคม เป็นสัญชาตญาณที่ฝังลึกมาตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์แล้ว มนุษย์ไม่ได้เพิ่งจะมาอวดชีวิตของตนเองตอนที่โลกนี้มีโซเชียลมีเดียใช้ เนื่องจากมันเป็นความรู้สึกมีความสุขที่ได้แสดงความเหนือกว่า โดยให้คนอื่นเห็นสถานะที่ดีของตนเองผ่านสิ่งที่มีมูลค่า อาจเป็นการโพสต์ภาพ ข้อความ หรืออื่น ๆ เพื่อให้เห็นถึงความสุข แล้วรอคนอื่น ๆ ฟีดแบ็กกลับเป็นการกดไลก์ คอมเมนต์ชื่นชม หรือกดแชร์ นั่นอาจจะเป็นความสุขของคนที่ได้ทำก็จริง แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันอาจจะเป็นเพียงความสุขจอมปลอมที่ฉาบฉวยก็ได้

เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่อวดทั้งที่ตนเองไม่ได้มีอะไรให้อวดขนาดนั้น แต่ด้วยความที่ไม่อยากน้อยหน้าใคร จึงพยายามสร้างตัวตนที่มีความสุขท่ามกลางสิ่งที่เอามาใช้อวด เช่น รถหรูที่เช่ามา กระเป๋าแบรนด์เนมที่ยืมคนอื่นมาอีกที คนที่เห็นก็หารู้ไม่ว่าของเหล่านั้นจริง ๆ แล้วคนที่โพสต์ไม่ใช่เจ้าของ หรือแม้แต่การต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อหาเงินมาจับจ่ายซื้อของใช้ราคาแพงเพื่อให้คนอื่นได้เห็นชีวิตที่ดี ทั้งที่ไม่เคยถามตัวเองว่าจริง ๆ แล้วมันจำเป็นแค่ไหนที่ต้องทำอะไรถึงขนาดนี้

สำหรับคนที่คุ้นเคยกับโซเชียลมีเดียดี จะรู้ว่าคนจำนวนมากให้ความสำคัญกับตัวตนบนโลกออนไลน์ อะไรก็ตามที่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย จะถูกกลั่นกรองมาแล้วว่าจะทำให้คนอื่นเข้ามาสนใจได้หรือไม่ อาจจะเป็นชีวิตที่ไม่ว่าใครเห็นก็ต้องอิจฉา หรือชีวิตที่ใครเห็นก็ต้องสงสาร เมื่อได้รับฟีดแบ็กกลับมาเป็นยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือคอมเมนต์ในทางบวก ก็ทำให้รู้สึกประสบความสำเร็จได้แล้ว แต่ทว่าตัวตนจริง ๆ ล่ะ มีความสุขหรือเปล่า หรือกำลังเพลิดเพลินอยู่กับความสุขจอมปลอม และในที่สุด บางคนก็ถูกจับโป๊ะได้ว่าเป็นพวกลวงโลก

สังคมขี้อวด คือการที่เรามัวแต่วุ่นวายอยู่กับเปลือกนอก ต้องการให้เปลือกที่ห่อหุ้มตัวเองดูน่าสนใจที่สุด โดยที่ละเลยเนื้อแท้ข้างในตนเอง ไม่ได้สนใจเลยว่ามันถูกกลืนกินหรือแหลกสลายไปแค่ไหนแล้ว มัวแต่จริงจังกับความสุขฉาบฉวยบนโลกเสมือนจากคนที่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แค่อยากให้คนอื่นรู้จักตัวตนของตนเองแบบนี้

การที่เราจะซื้อ จะหา หรือจะอวดอะไรก็ตามแต่ มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลก็จริง แต่ควรอยู่ในขอบเขตของความพอดี และคำถามที่ว่า “จำเป็นหรือไม่” ที่จะดึงให้คนอื่น ๆ รู้สึกอิจฉาหรือเข้ามามีส่วนร่วม เหมือนเช็กเรตติ้ง สถานภาพทางสังคม เพื่อใช้วัดว่าตัวเองยืนอยู่จุดไหน ดีกว่าหรือด้อยกว่าคนอื่นเมื่อเทียบกับคนในสังคมเดียวกัน เลยได้แต่เล่นละครหลอกทั้งตัวเองและคนอื่นว่าชีวิตดี และแน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากที่จะโพสต์ความล้มเหลวของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ แต่ถามจริง ๆ ว่า มันจำเป็นไหมที่ต้องพยายามจะมีความสุขจากยอดไลก์ ยอดแชร์ คนคอมเมนต์ และการที่มีคนอิจฉา

ใด ๆ ก็ตามแต่ การอวดไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะบางทีมันก็คือความสุขจริง ๆ ตรงที่ทำให้รู้สึกดีและอิ่มเอมใจที่ได้รู้สึกว่าตนเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น แต่ทุกสิ่งอย่างควรต้องมีขอบเขตที่พอดี ว่าแค่ไหนถึงจะไม่เป็นทุกข์ และแค่ไหนที่จะไม่หลุดชีวิตในโลกความเป็นจริง

ในมุมหนึ่งของสังคม เมื่อมีคนขี้อวดก็จะมีคนขี้อิจฉา ที่ไม่พอใจที่จะเห็นชีวิตดี ๆ ของคนอื่น แล้วพาตัวเองเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งที่ปล่อยผ่านให้พวกเขาเสวยสุขจอมปลอมไปก็ได้ แต่ก็เก็บเอามาคิดมาก เริ่มไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นล้วนปลอมและปรุงแต่งขึ้นมาได้ทั้งนั้น

โลกของคนขี้อิจฉา

นอกจากพฤติกรรมขี้อวด ก็มีอีกพฤติกรรมที่ตามมาคือ ขี้อิจฉา เป็นคนประเภทที่เห็นใครได้ดีกว่าไม่ได้ เห็นใครที่มีชีวิตดีกว่าก็ต้องเที่ยวไปค่อนแคะ ตามแซะตามจิก ตามอบรมสั่งสอนไปเสียหมดทุกสถานการณ์ หรือเห็นใครมีความสุขไม่ได้จะต้องเข้าไปแทรกกลาง ทำให้เสียบรรยากาศในการอยู่ร่วมกัน จริงจังไปกับทุกเรื่องที่เป็นเรื่องของคนอื่น

ทุกวันนี้ ความอิจฉาถูกแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ และหลายครั้งที่ความขี้อิจฉาไม่ได้ถูกแสดงออกมาตรง ๆ ว่าอยากได้อยากมีเหมือนกับคนนั้นคนนี้ แต่จะมาในลักษณะที่ไม่พอใจกับความสุขของคนอื่น แล้วต้องยื่นขาเข้ามาขัดโดยการฉอดไปทุกเรื่อง บางทีก็ทำลายบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันมากทีเดียว โดยเฉพาะในสังคมโซเชียลมีเดีย คนที่คอยแต่จะหาเรื่องจับผิด และเอาแต่วิจารณ์ความสุขเล็ก ๆ ที่คนอื่นมี เป็นพวกโลกสวยที่ชอบฉอดสั่งสอนว่ากำลังมีความสุขบนความทุกข์คนอื่น ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้อะไรลึกซึ้ง เพียงแค่ต้องการพื้นที่แสดงออกถึงความไม่ชอบใจ

นี่คือพฤติกรรมการแสดงออกของคนที่ลึก ๆ แล้วรู้สึกอิจฉา แต่พวกเขาจะปฏิเสธพฤติกรรมนี้ว่าไม่ได้ทำไปเพราะความอิจฉา การอยากรู้อยากเห็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ตัวเองมีชีวิตแบบที่อิงชีวิตของคนอื่นเป็นเกณฑ์มากจนเกินไป เสพเรื่องของคนอื่นเท่าที่พอดี ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับเขา หรือถ้ารู้แล้วไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับเรา ก็ปล่อยมันไปบ้างก็ได้

การอยากรู้อยากเห็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่การที่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมแบบทำให้อีกฝ่ายเสียหายต่างหากที่ผิด หลายคนเข้าไปสอดส่องทุกความเคลื่อนไหวของคนอื่นแล้วเอามาวิพากษ์วิจารณ์ แบบที่เห็นคนอื่นดีกว่าแล้วเป็นทุกข์จนต้องเอาชนะ ในเมื่อมีเหนือกว่าไม่ได้ก็ใช้วิธีทำลายแทน แต่ไม่มีเวลาที่จะสนใจทำเรื่องของตัวเองให้ดี

ทุกวันนี้เหมือนเราใช้ชีวิตอยู่กับการแข่งสร้างเปลือกให้สวย เราแทบไม่สนใจว่าเพื่อนในชีวิตจริงเรามีอยู่เท่าไร แต่เราสนใจเพื่อนในเฟซบุ๊กหรือผู้ติดตามในอินสตาแกรม ทำอะไรก็หวังยอดไลก์ คนคอมเมนต์ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ตนเองเป็นจุดสนใจในโซเชียลมีเดีย ในขณะที่ชีวิตจริงอาจจะเป็นคนที่เหงาที่สุดก็ได้ อีกฝ่ายก็เอาแต่มีความทุกข์กับเรื่องของคนอื่นจนไม่สนใจตัวเอง ชอบวุ่นวายแม้กระทั่งเรื่องเล็กเรื่องน้อยแล้วขยันปั่นให้เป็นดราม่าไปเสียหมด ซึ่งถ้าถามว่ามีประโยชน์อะไรกับตัวเองหรือเปล่า…ไม่มีเลย แต่ขอมีส่วนร่วมหน่อยละกัน จนบางครั้งก็เลยเถิดกลายเป็นการล่าแม่มดในสังคมโซเชียลมีเดียก็มีให้เห็นไม่น้อย แค่นี้ก็ชนะแล้ว?

อย่าเพิ่งหลงกลสิ่งที่เห็นในโลกออนไลน์

คำเตือนก็คือ อย่าเพิ่งหลงกลสิ่งที่เห็นในโลกออนไลน์ เพราะจริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นเพียงการสร้างภาพทั้งหมดก็ได้ ต้องมีวิจารณญาณและใช้ชีวิตตนเองให้ดี ว่าสุดท้ายแล้วเราต้องการความสุขแบบไหนกันแน่ คนไลก์ คนแชร์ คนคอมเมนต์ถล่มทลาย หรือชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง แล้วมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองสัมผัสได้จริง ๆ ส่วนอีกฝ่ายก็หันไปโฟกัสที่เรื่องของตัวเองให้มากขึ้น ยุ่งเรื่องของคนอื่นให้น้อยลง หาความสุขของตัวเองให้เจอ จะได้ไม่ไปยุ่งวุ่นวายกับความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนอื่นเขา

อย่างที่บอกว่าการขี้อวดไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าสิ่งที่อวดมันคือความสุขจริง ๆ ก็ทำไปเถอะ ในเมื่อไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร ซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน อย่างการอวดจนเกินลิมิตที่ไม่รู้แล้วว่ากำลังมีความสุขกับสิ่งปลอมเปลือก ต้องซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเองให้มากขึ้น ไม่จำเป็นที่ต้องให้คนอื่นมาสนใจที่ตนเองตลอดเวลา ส่วนคนที่ขยันมีปัญหากับเรื่องของคนอื่น มักจะเอาความสุขของคนอื่นไปเป็นปัญหาของตัวเอง เห็นแล้วหมั่นไส้ ไม่ชอบ ต้องตำหนิ ก็ลองบอกตัวเองว่าไม่จำเป็นต้องเข้าไปสอดทุกเรื่องก็ได้ จะได้มีชีวิตเป็นของตัวเอง

นั่นอาจถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาถามตัวเองว่าชีวิตที่ทำอยู่ไม่รู้สึกเหนื่อยจริง ๆ เหรอ ลองคิดดูว่าถ้าหันกลับมาใช้ชีวิตของตัวเองให้ดี ๆ จะพบว่ามันยุ่งจนไม่มีเวลาจะไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่นแล้ว ถ้ารู้สึกอิจฉา ก็แค่ไปทำชีวิตตัวเองให้ดี อิจฉาแล้วหมกมุ่นที่จะด่า ให้ร้าย ค่อนขอดแซะคนอื่น ไม่ได้ทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น และยังน่ารำคาญอีกด้วย

เมื่อคนขี้อวดและคนขี้อิจฉามาเจอกัน กลายเป็นคำถามว่า “เราขี้อวดหรือเขาขี้อิจฉากันแน่”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook