พ่อแม่รู้ไหม! เลี้ยงลูกแบบไหนที่ทำให้พี่น้องทะเลาะกัน

พ่อแม่รู้ไหม! เลี้ยงลูกแบบไหนที่ทำให้พี่น้องทะเลาะกัน

พ่อแม่รู้ไหม! เลี้ยงลูกแบบไหนที่ทำให้พี่น้องทะเลาะกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เลือดข้นกว่าน้ำ” หรือ “อย่าเห็นขี้ดีกว่าไส้” กันมาบ้าง ความหมายของมันก็คล้าย ๆ กันคือ “ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น” โดยเฉพาะคนที่เป็นพี่น้องกันแท้ ๆ คลานตามกันออกมา เป็นสายเลือดเดียวกัน ผูกพันกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย จะมาเห็นคนอื่นดีกว่า สำคัญกว่า หรือทอดทิ้งพี่น้องของตนเองได้อย่างไร

แต่คำกล่าวที่ว่านั้นมันก็อาจจะไม่เป็นเรื่องจริงเสมอไป ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยก็ตาม ปัญหาพี่น้องทะเลาะกันหรือพี่น้องไม่รักกันนั้นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ถ้าทะเลาะกันเป็นครั้งคราวแล้วยังมีจังหวะที่กลับมารักกัน อยู่ร่วมบ้านกันได้ปกติมันก็ดีไป แต่มันก็มีไม่ใช่หรือ ข่าวที่ออกให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่าพี่น้องฆ่ากันเองเพราะเรื่องต่าง ๆ เรื่องมรดกบ้าง ความรักบ้าง หรือฆ่าเพราะสบโอกาส เนื่องมาจากความแค้นฝังใจจากวัยเด็กที่รู้สึกเกลียดพี่น้อง ข่าวที่พี่น้องขึ้นโรงขึ้นศาลกัน เพราะยึดสมบัติที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้เป็นของตัวเองคนเดียวไม่แบ่งพี่น้องคนอื่น

จริง ๆ แล้ว เรื่องแบบนี้ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่จิตสำนึกของคนส่วนหนึ่ง หากความโลภบังตา หรืออาฆาตแค้นกันมาก ๆ จนไม่รู้จักการให้อภัย ก็ทำให้เกิดเหตุสลดดังกล่าวได้ แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อตอนเด็ก ๆ พ่อแม่เลี้ยงดูมาอย่างไร ถึงทำให้พี่น้องไม่รักกัน ไม่ผูกพันกัน ความคับแค้นใจถูกสะสมเรื่อยมาจนเกลียดกันถึงขั้นที่ฆ่ากันตายได้

พ่อแม่ลงโทษด้วยความรุนแรง

ไม่ว่าลูกจะทำผิดเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ พ่อแม่ก็มักจะลงโทษด้วยความรุนแรงก่อนเสมอ แทบจะไม่เคยใช้วิธีเรียกมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล หรืออบรมสั่งสอนกันดี ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงก่อนจะลงโทษ ก็ควรจะพูด สอนกันดีก่อน ๆ ความรุนแรงไม่เคยให้ผลดีอะไร การลงโทษลูกด้วยความรุนแรงนั้นมันอาจช่วยระงับเหตุได้ ณ เวลานั้น แต่ในระยะยาวกลับให้ผลตรงกันข้าม เพราะมันเท่ากับปลูกฝังให้เด็กเห็นว่าถ้ามีปัญหาที่พูดคุยตกลงกันไม่รู้เรื่อง การใช้กำลังหรือความรุนแรงเพื่อจบเรื่องเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ แทนที่จะมีเหตุผลมาเจรจากัน

เมื่อพี่น้องทะเลาะกัน ไม่ว่าพ่อแม่จะลงโทษทั้งคู่หรือลงโทษแค่คนใดคนหนึ่ง มันก็สามารถเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้พี่น้องทะเลาะกันมากขึ้นได้เช่นกัน หากลงโทษทั้งคู่ เด็กจะมีอารมณ์ต่อกันรุนแรงขึ้น เพราะคิดว่าไหน ๆ ก็โดนทำโทษอยู่ดี ก็ต้องจัดการกันเองให้สะใจก่อน ส่วนวิธีการลงโทษแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็สนับสนุนให้เด็กเกลียดกันมากกว่าอีก คนที่เป็นฝ่ายโดนก็จะรู้สึกน้อยใจ โกรธเคืองทั้งพ่อแม่และพี่หรือน้องที่ทะเลาะด้วย รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ในขณะที่อีกฝ่ายก็จะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนชนะ ได้เปรียบ ได้ใจ ขี้ฟ้อง สะใจที่อีกฝ่ายโดนคนเดียว

แบบอย่างการทะเลาะวิวาท

การที่เด็ก ๆ จะทะเลาะกันเวลาที่เล่นด้วยกันเพราะเรื่องสัพเพเหระนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ปกติ อาจจะแย่งของเล่น พูดจาไม่เข้าหู เล่นกันแรงเพราะไม่ตั้งใจ หรือแกล้งกันธรรมดาตามประสาเด็ก ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่นานเดี๋ยวก็กลับมาเล่นด้วยกันดี ๆ แต่ถ้าเด็กเคยเห็นแบบอย่างของการทะเลาะวิวาทเวลาที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ใช้ความรุนแรงให้เด็กเห็นประจำ การทะเลาะกันแบบเด็ก ๆ ก็จะไม่จบแบบแค่โกรธหรืองอนกันประเดี๋ยวประด๋าว เพราะเด็กเห็นว่าพ่อแม่ทะเลาะกันยังใช้ความรุนแรงเพื่อจบปัญหา เด็กก็จะเลียนแบบ นานวันเข้าก็ติดเป็นนิสัย และความรู้สึกของพี่น้องก็จะเปลี่ยนไป

เลือกที่รักมักที่ชัง

ที่มาของคำว่า “ลูกรัก ลูกชัง” เมื่อมีคนใดคนหนึ่งเป็นลูกรักและอีกคนเป็นลูกชัง ก็จะเกิดการเลี้ยงดูที่ไม่ยุติธรรมขึ้น ให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น คนหนึ่งได้ของใช้ใหม่ ๆ เสมอ ส่วนอีกคนทำได้แค่เก็บของเก่าที่อีกฝ่ายทิ้งแล้วมาใช้ คนหนึ่งไม่ต้องพยายามทำอะไรพ่อแม่ก็หาทุกอย่างที่อยากได้มาประเคนให้ อีกคนหนึ่งพยายามด้วยตัวเองทุกอย่างเพื่อให้มี คนหนึ่งได้รับคำชมเชยเสมอแม้ไม่ได้ทำอะไร อีกคนหนึ่งทำดีแค่ไหนก็ไม่เคยได้รับคำชมเชย คนหนึ่งทำผิดไม่เคยโดนตำหนิ อีกคนหนึ่งโดนประจำทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด นี่อาจดูละคร แต่มีบ้านที่เลี้ยงพี่น้องมาแบบนี้จริง ๆ

ลูกรักทำอะไรก็ดีเสมอ ลูกชังทำอะไรก็ผิด เด็กคนที่ไม่เคยได้รับอะไรเลยอาจรู้สึกน้อยใจและอิจฉาอีกคน ส่วนเด็กคนที่รับอย่างเดียวก็อาจจะรู้สึกสำคัญตัว คิดว่าตัวเองดีกว่าพี่น้องคนอื่น หรือต่อให้เด็กคนที่ได้รับเสมอเอามาแบ่งให้พี่น้องเล่น ก็ไม่อาจลบล้างความรู้สึกแย่ในใจของอีกฝ่ายที่ถูกเลือกปฏิบัติได้ แน่นอนว่าไม่อาจทำใจให้รู้สึกดีกับพี่น้องได้เหมือนกัน รู้สึกเหมือนถูกเย้ยหยัน รู้สึกสมเพชตัวเอง เมื่อมีคนที่ได้มากกว่า เด็กอาจปฏิบัติต่อกันแบบที่พี่น้องที่เหยียดกันเอง ด้อยค่าอีกฝ่าย ความรู้สึกและการปฏิบัติต่อกันแบบนั้นทำให้พี่น้องไม่รักกัน เกลียดกันเลยก็มี

เมื่อพี่น้องต้องแข่งขันกัน

บางบ้านไม่ได้เลี้ยงลูกแบบที่คนนี้เป็นลูกรัก คนนี้เป็นลูกชังชัดเจน แต่เลี้ยงในลักษณะให้พี่น้องต้องแข่งขันกันเพื่อที่จะได้เป็นที่รักของพ่อแม่ เด็กถูกปลูกฝังให้ชิงดีชิงเด่นกัน ใครทำดีกว่าก็ได้รางวัล กดอีกฝ่ายให้รู้สึกแย่ และมักจะมีการเปรียบเทียบพี่น้องอยู่บ่อย ๆ เมื่อพี่น้องถูกเลี้ยงมาในลักษณะที่ว่าต้องเป็นคนชนะถึงจะได้รับความรัก ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ เด็กก็จะเห็นอีกฝ่ายเป็นคู่แข่งมากกว่าพี่น้อง พยายามจะเอาชนะ ตรงนี้อาจปลูกฝังให้เด็กเป็นคนขี้โกงด้วย คือถ้าทำตามกติกาแล้วยังไม่ชนะ ก็จะหาวิธีขี้โกงมาทำให้อีกฝ่ายแพ้ แล้วพี่น้องจะรักกันได้อย่างไร

เป็นพี่ต้องยอมน้อง

นี่ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้พี่น้องทะเลาะกัน บ้านนี้อาจจะไม่ได้เลี้ยงลูกแบบแข่งขัน และไม่ได้เลี้ยงลูกแบบเลือกที่รักมักที่ชัง กล่าวคือเวลาปกติพ่อแม่ก็ดูรักลูกเท่า ๆ กัน จึงดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเด็กทะเลาะกัน กลับบอกว่าคนเป็นพี่ต้องยอมให้น้อง เพราะว่านั่นเป็นน้อง และไม่พยายามที่จะสอนให้พี่น้องปรับตัวเข้าหากัน ไม่สอนว่ามีอะไรให้แบ่งปันกัน แต่ปลูกฝังให้คนเป็นพี่เข้าใจว่าการแสดงออกว่ารักน้องคือต้องยอมน้องต้องเสียสละให้น้องทุกอย่าง ส่วนคนน้องก็จะได้ทุกอย่างเพราะพี่ยอมให้ คนพี่รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม และคนเป็นน้องก็ไม่รู้สึกว่าต้องเกรงใจคนเป็นพี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook