เป็นคนเก็บเงินสดไม่เป็น ทำยังไง
ปัญหาเรื่องการเก็บเงินสดไม่อยู่ ถือเป็นเรื่องที่หลายคนต้องประสบพบเจออย่างแน่นอน และน่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนเกิดอาการลำบากเมื่อยามแก่ ยามเกษียณ เพราะอาการนี้ถือเป็นอาการเรื้อรังที่หายยาก และเจ้าตัวคนที่เป็นมักไม่ค่อยอยากหายจริงจัง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้คือการเลือกเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้สามารถเก็บเงินได้ดีกว่าการออมเป็นเงินสดเอง และที่สำคัญคือต้องเป็นคนหาเงินเก่งด้วยนะคะ
เครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้คนเก็บเงินสดไม่เก่งเก็บเงินได้ สังเกตไม่ยากค่ะ ต้องมี 4 ลักษณะด้วยกัน หนึ่งเลยคือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนดี สองให้สภาพคล่องที่จำกัด สามมีกฎการเบิกถอนที่ชัดเจนตามระยะเวลาที่กำหนด และสี่มีการปรับลดผลตอบแทนหากมีการเบิกถอนก่อนกำหนด การบังคับด้วยตัวเองแล้วไม่สามารถทำได้ เราก็ควรที่จะบังคับโดยการที่เราให้คนอื่นบังคับเรา
สำหรับคนที่ชอบเสี่ยง
ให้ลองเก็บเงินไว้ในหุ้นที่ได้ปันผล โดยอาจจะใช้การตัดเงินซื้อหุ้นรายเดือน หรือแบบ DCA หรือการซื้อแบบเฉลี่ยราคา โดยกำหนดไปว่าในแต่ละเดือนเราจะซื้อหุ้นตัวนี้ที่จำนวนเท่าไหร่และทุกวันที่เท่าไหร่นั่นเอง วิธีนี้ทำให้เราไม่ต้องสนใจมูลค่าของหุ้นนั้น ๆ ในแต่ละเดือน แต่เป็นการสะสมหุ้นที่มีพื้นฐานดีไปเรื่อย ๆ และเราจะได้เป็นเจ้าของหุ้นในราคาเฉลี่ยทั้งปี
สำหรับคนที่ไม่ชอบเสี่ยง
ออมเงินไว้ในบัญชีฝากประจำ ปลอดภาษี 24 เดือน บังคับให้เราต้องฝากทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน เช่น เดือนแรกเราฝาก 1,000 บาท เดือนต่อไปก็ต้องฝาก 1,000 บาทเช่นกัน ซึ่งมีธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 2.6-2.7% ต่อปี เงินฝากประเภทนี้เราต้องฝากทุกเดือนจนครบกำหนดจึงจะได้ดอกเบี้ยดีตามเงื่อนไข แต่ถ้าเราเกิดถอนออกมาใช้ก่อนกำหนด ก็บอกเลยว่าเราต้องถูกปรับลดดอกเบี้ยมาเหลือแค่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ธรรมดาทั่วไป ซึ่งเรียกว่าไม่คุ้มเลยกับการไม่ยอมหักห้ามใจไม่ให้ถอนเงินออกมาใช้ได้
สำหรับคนที่ไม่อยากเห็นเงินออมเป็นตัวเงินเลย เพราะไม่สามารถห้ามใจได้จริง ๆ
ควรเอาเงินออมที่มีแปรเปลี่ยนเป็นทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นซื้องทองคำแท่ง หรือ ซื้อคอนโดปล่อยเช่า ผ่อนซื้อที่ดินดี ๆ เพราะแน่นอนสิ่งเหล่านี้ตรงตามเงื่อนไขหมดคือทั้งมีสภาพคล่องไม่สูง ผลตอบแทนดีในระยะยาว และถ้าเกิดซื้อขายก่อนกำหนด หรือรีบร้อนเปลี่ยนเป็นเงินสด ก็อาจจะขาดทุนค่าเงินเฟ้อได้
ด้วยแต่ละสถาบันการเงินมักจะเข้าใจพฤติกรรมการใช้เงินออมเงินของลูกค้าอย่างดี จึงมีการคิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ มาเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของคนที่แตกต่างกัน เราเองมีหน้าที่แค่สำรวจตัวเอง รู้จักใจตัวเองให้ดี แล้วเลือกสิ่งที่เหมาะสม ก็จะไม่ต้องลำบากใจ และเครียดกับการเก็บเงิน ออมเงินในรูปแบบเงินสดอีกต่อไป