15 นักวาดการ์ตูนไทย ผู้บุกเบิกคอมิกส์สายพันธุ์ไทยในตำนาน
ประวัติศาสตร์การ์ตูนไทย เริ่มต้นอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลคำว่า Cartoon เป็นคำไทยว่า “ภาพล้อ” ทั้งยังทรงส่งเสริมการวาดภาพล้อ ทำให้ภาพล้อและภาพบุคคลในลักษณะไม่ต้องสมจริง เต็มไปด้วยโลกจินตนาการที่เรียกว่า การ์ตูน ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และนับตั้งแต่นั้นมา การ์ตูนสายพันธุ์ไทยที่มีลายเส้นเฉพาะตัวจึงถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับการแจ้งเกิด นักวาดการ์ตูนไทย ในตำนาน ส่วนจะมีใครที่โดดเด่นบ้างนั้น Sarakadee Lite ได้เปิดลิ้นชักความทรงจำชวนย้อนไทม์ไลน์คอมิกส์สายพันธุ์ไทยกันอีกครั้ง
เปล่ง ไตรปิ่น : ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต หรือ “เปล่ง ไตรปิ่น” ได้รับการยกย่องเป็น นักวาดการ์ตูนไทย คนแรก โดยมีบันทึกว่าสมัยที่ท่านติดตามราชทูตไปอังกฤษ เคยเป็นเด็กรับใช้ครูศิลปะโดยมีหน้าที่ล้างพู่กันและถือกระป๋องสี ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มครูพักลักจำวิชาวาดรูป ก่อนที่จะเริ่มต้นศึกษาอย่างจริงจังในเวลาต่อมา และออกเดินทางไปยังหลายประเทศพร้อมกับการยังชีพด้วยวิชาเขียนรูป เมื่อกลับมายังสยาม เปล่ง ไตรปิ่น มีงานวาดการ์ตูนล้อการเมืองลงหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เช่น กรุงเทพ เดลิเมล์ ไทยหนุ่ม บางกอกไทม์ เป็นต้น ฝีมืออันโดดเด่นทำให้ เปล่ง ไตรปิ่น ได้รับพระราชทานรางวัลการประกวดวาดภาพล้อจากรัชกาลที่ 6 ด้วย
สวัสดิ์ จุฑะรพ : นักวาดการ์ตูนไทย ผู้ริเริ่มทำการ์ตูนเรื่องยาวเป็นคนแรกในประเทศ เริ่มจากนำวรรณคดีไทยเรื่อง สังข์ทอง มาเขียนเป็นการ์ตูน ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์และได้รับความนิยมอย่างมาก ต่อมาเขาจึงเขียนการ์ตูนแนวจักรๆ วงศ์ๆ อีกหลายเรื่อง พร้อมด้วยการสร้างคาแรกเตอร์ ‘ขุนหมื่น’ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนดังแห่งยุคอย่างป๊อปอาย และได้นำเอารองเท้าของมิกกี้เมาส์มาใส่ให้ขุนหมื่นสวมใส่ ส่วนเครื่องแต่งกายยังมีความเป็นไทยๆ อยู่ และต่อเมื่อเขาเขียนการ์ตูนจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นก็ต้องมีคาแรกเตอร์ขุนหมื่นติดตามไปเป็นเหมือนตัวตลกคอยสร้างสีสันให้เรื่องนั้นๆ ทำให้ตัวการ์ตูนขุนหมื่นกลายเป็นเหมือนตัวแทนของ สวัสดิ์ จุฑะรพ ส่งอิทธิพลให้ นักวาดการ์ตูนไทย ในยุคหลังสร้างตัวการ์ตูนพิเศษประจำตัวขึ้นมา
วิตต์ สุทธเสถียร : นอกจากการ์ตูนที่อิงมาจากวรรณคดีไทยแล้ว ในยุคหนึ่งการ์ตูนที่อิงประวัติศาสตร์ไทยกลายเป็นความฮอตฮิตของผู้อ่าน หนึ่งในเรื่องยอดนิยมคือ การ์ตูนบางระจัน โดย วิตต์ สุทธเสถียร ตีพิมพ์ลงในหนังสือเพลินจิต
จำนงค์ รอดอริ : นักเขียนการ์ตูนรุ่นบุกเบิกอีกคนที่โดดเด่น กับผลงานการ์ตูนเรื่องระเด่นลันได ตีพิมพ์ในหนังสือศรีกรุง และพระยาน้อยชมตลาด ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทยราษฎร์ เน้นเรื่องราวและลายเส้นที่สนุกสนานชวนขบขัน
ฉันท์ สุวรรณบุณย์ : ในขณะที่นักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่เล่าเรื่องวรรณคดี ประวัติศาสตร์ นิยายภาพสำหรับผู้ใหญ่ แต่ฉันท์ สุวรรณบุณย์ กลับเลือกการ์ตูนสะท้อนสังคม และยังเป็นผู้บุกเบิกการ์ตูนเด็กเป็นคนแรกของไทย โดยมี การ์ตูนชุด ‘ป๋อง-เปรียว’ เป็นผลงานเด่น ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ นอกจากนี้ยังมีการเขียนการ์ตูนประกอบโคลงโลกนิติเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของโคลงยิ่งขึ้น
ประยูร จรรยาวงษ์ : ตั้งแต่ยุคกรุยทาง การ์ตูนไทยก็เฟื่องฟูมาโดยตลอด กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วงการการ์ตูนไทยก็แจ้งเกิด นักวาดการ์ตูนไทย ระดับตำนานนาม “ประยูร จรรยาวงษ์” กับคาแรกเตอร์การ์ตูน “นายศุขเล็ก” ประยูร จรรยาวงษ์ไม่ได้โดดเด่นแค่ในเมืองไทย แต่เขายังสามารถออกไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วจนได้ฉายา “ราชาการ์ตูนไทย”
เหม เวชกร : บรมครูแห่งวงการวาดภาพและวงการการ์ตูนที่ฉีกแนวการวาดภาพการ์ตูนและภาพประกอบด้วยการเน้นลายเส้นที่ละเอียดและสาดแสงเงา เอกลักษณ์ของ เหม เวชกร คือลายเส้นละเอียดถ่ายทอดความเป็นไทยได้ดี เพิ่มเติมด้วยเทคนิค perspective แบบฝรั่ง เขาวาดหน้าปกหนังสือวรรณกรรมไทยหลายเล่ม เช่น ขุนช้างขุนแผน ศรีธนญชัย นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบนิยายผี หนังสือแบบเรียน ผลงานการ์ตูนที่จดจำคือ การ์ตูนชุดศรีธนญชัย ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประมวญวัน
พิมล กาฬสีห์ : เป็นนักเขียนการ์ตูนอีกคนที่โดดเด่นเรื่องการ์ตูนสำหรับเด็กกับผลงานเด่น การ์ตูนระเด่นลันได และได้ออกหนังสือชื่อ ตุ๊กตา ซึ่งเป็นนิตยสารการ์ตูนสำหรับเด็กฉบับแรกในไทย นำเสนอเนื้อหาการอยู่ร่วมกันระหว่างพี่น้อง มีตัวละครเด่นที่อยู่ในใจผู้อ่านคือ หนูนิด หนูไก่ หนูหน่อย และหนูแจ๋ว อีกทั้ง “ตุ๊กตา” ยังเคยได้รับรางวัลที่ 2 ในการประกวดการ์ตูนเอเชียด้วย และหลังจากการเกิดขึ้นของตุ๊กตาก็มีหนังการ์ตูนแนวนี้ออกมาหลายเล่ม เช่น หนูจ๋า เบบี้ ขายหัวเราะ ชัยพฤกษ์การ์ตูน เป็นต้น
อาวัฒน์ : ถ้านึกถึงตำนานการ์ตูนไทยต้องมีชื่อของ “ขายหัวเราะ” อยู่ในนั้น สำหรับหนังสือการ์ตูนที่อ่านได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยนักเขียนการ์ตูนที่ร่วมบุกเบิกขายหัวเราะตั้งแต่รุ่นแรก และมีลายเส้นอยู่บนปกขายหัวเราะมาโดยตลอดคือ วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ หรือที่รู้จักในนามปากกา อาวัฒน์ ซึ่งตอนนั้นเขาได้ร่วมกับเพื่อนนักเขียนการ์ตูนอย่าง อาจุ๋มจิ๋ม-จำนูญ เล็กสมทิศ ผลิตการ์ตูนแนวแก๊กขำขันและมุมภาพง่ายๆ แบบ 3 ช่องจบ อาวัฒน์มีคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดคลาสสิกที่อยู่ในใจแฟนๆ ได้แก่ คุณโฉลง และ คุณเต๋ว คนติดเกาะ โจรมุมตึก และนักโทษในชุดลายขวาง
สงบ แจ่มพัฒน์ : นักวาดการ์ตูนไทย สายการเมืองและการ์ตูนเด็กโดยใช้นามปากกา “แจ๋วแหวว” มีผลงานปรากฏในนิตยสารและวารสารมากมาย
ราช เลอสรวง : ราช เลอสรวง เป็นนามปากกาของ “นิวัฒน์ ธาราพรรค์” โดดเด่นด้วยการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่อย่าง สิงห์ดำ และ จอมขมังเวทย์ ซึ่งเป็นการ์ตูนไทยแนวพระเอกผู้กล้าหาญ และตัวละครเอกมีลักษณะขบถนอกกรอบจากยุคสมัยในช่วง พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่คนไทยจะได้รู้จักคอมิกส์และเหล่าการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่จากฝั่งตะวันตก
พ.บางพลี : หลังปี พ.ศ. 2510 เป็นยุคที่หนังฝรั่งและหนังญี่ปุ่นเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย และกลายเป็นสื่อความบันเทิงยอดนิยม แนวโน้มของการ์ตูนไทยยุคนั้นจึงมีเนื้อหาไปในทำนองเดียวกับจอทีวี ไม่ว่าจะเป็นอภินิหาร สัตว์ประหลาด ของวิเศษ โดยหนึ่งในการ์ตูนดังยุคนั้นของไทย คือ อัศวินสายฟ้า โดย พ.บางพลี เป็นนิยายภาพนำเสนอเป็นตอนๆ จะเรียกว่าเป็นกัปตันมาร์เวลเวอร์ชันไทยก็ว่าได้ จากคนธรรมดาที่ได้รับพลังวิเศษ มีชุดเสื้อคลุมและต้องออกไปทำภารกิจแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อผดุงความยุติธรรมให้เกิดขึ้น
ชัย ราชวัตร : หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เสรีภาพในสื่อมวลชนเริ่มผลิบาน หนังสือพิมพ์เปิดตัวกันหลายฉบับและนามปากกานักเขียนการ์ตูน “ชัย ราชวัตร” จึงถือกำเนิดขึ้น จากเริ่มต้นที่เขียนการ์ตูนตามบทที่คนอื่นผลิต ก็เปลี่ยนมาเป็นทั้งเขียนการ์ตูนและคิดบทเองในชื่อ “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” จำลองสถานการณ์บ้านเมืองที่พูดยาก พูดตรงไม่ได้มาใส่ไว้ในการ์ตูน
ณรงค์ ประภาสะโนบล : นักวาดการ์ตูนชื่อดังที่เป็นเหมือนภาพจำของ ชัยพฤกษ์การ์ตูน นิตยสารการ์ตูนรุ่นบุกเบิกของไทย คาแรกเตอร์ดังของ ณรงค์ หรือ พี่รงค์ คือ ทาร์ซานกับเจ้าจุ่น ร่วมด้วย หนูแหวน ลุงกำนัน ท่านขุน เจ้าแพะ และ เจ้าเปีย
จุก เบี้ยวสกุล : จุก เบี้ยวสกุล หรือ จุลศักดิ์ อมรเวช นักวาดการ์ตูนที่จบศิลปะโดยตรงจากเพาะช่าง เขาได้รับฉายา “เจ้าชายแห่งนิยายภาพไทย” ซึ่งผลงานนิยายภาพที่หลายคนจดจำคือ เพชรพระอุมาฉบับการ์ตูน