รับมือภาวะสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ปัญหาใหญ่ในการใช้ชีวิต
“พอแก่ตัวมา อะไรก็ไม่ดีสักอย่าง” เป็นคำพูดที่ใครหลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินจากปากผู้ใหญ่ที่อยู่รอบ เมื่อครั้งที่เรายังเป็นเด็ก ซึ่งก็คงจะหลาย ๆ ครั้งที่เรารู้สึกหงุดหงิดใจ รำคาญตาเมื่อเห็นการขยับเขยื้อนร่างกายหรืออาการต่าง ๆ ที่มักจะมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น และเมื่อเราบ่นออกไป ผู้ใหญ่ก็จะตอบกลับมาว่า “ไม่แก่บ้างก็ให้มันรู้ไป”
ภาวะความเสื่อมถอยของร่างกายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญเมื่ออายุมากขึ้น ต่อให้คุณจะเป็นคนที่ออกกำลังกายหรือดูแลสุขภาพดีแค่ไหน แต่สภาพร่างกายที่ค่อย ๆ เสื่อมลงก็จะถามหาตามอายุอยู่แล้ว เพียงแต่คุณอาจจะทุกข์ทรมานกับความเปลี่ยนแปลงนี้น้อยกว่าคนอื่น หรือยังแข็งแรงและกระฉับกระเฉงได้มากกว่าคนอื่น ๆ เท่านั้นเอง
นอกจากความสมบูรณ์ของร่างกายจะถดถอยลงตามอายุแล้ว ความสมบูรณ์ของสมองก็จะค่อย ๆ เสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน สำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานหลาย ๆ คนน่าจะเริ่มรู้สึกได้แล้วว่าการทำงานของสมองของตนเองนั้นไม่เหมือนเดิม เริ่มมีปัญหาเวลาที่ต้องใช้สมาธิ รู้สึกว่าการพยายามให้ตนเองจดจ่ออยู่กับอะไรนาน ๆ เป็นเรื่องยาก นั่งทำงานอยู่ดี ๆ ก็สติหลุด เหม่อลอย ว่อกแว่กง่าย แค่มีอะไรมาขัดก็สมาธิแตก กว่าจะรวบรวมสมาธิได้อีกทีก็ยากและต้องใช้เวลา ทนฟังอะไรยาว ๆ ไม่ค่อยได้ อ่านหนังสือก็จับใจความสำคัญไม่ถูก ขี้หลงขี้ลืม และก็มักจะทำงานผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ย้อนหลังไปประมาณ 2-3 ปี ไม่เคยมีอาการอะไรแบบนี้เลย
นี่เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกว่าอายุคุณไม่ใช่น้อย ๆ แล้ว หากคุณเริ่มมีปัญหาจาก ภาวะสมาธิสั้น ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ที่เรามักจะเคยได้ยินว่าพบได้บ่อยในวัยเด็กนั่นเอง อย่างไรก็ดีในวัยผู้ใหญ่ก็สามารถพบได้เช่นกัน
สำหรับภาวะสมาธิสั้นในผู้ใหญ่นี้ เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า ซึ่งจะทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและพฤติกรรม รวมถึงสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่าโดพามีน (Dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ทำงานบกพร่องหรือมีปริมาณน้อยกว่าปกติ สารนี้จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมพฤติกรรมและสมาธิ เนื่องจากโดพามีนเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้รู้สึกได้ถึงอารมณ์ที่พึงพอใจ มีความยินดี ความรัก และความรู้สึกดี ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น และยังมีบทบาทในการสร้างแรงจูงใจ ความสนใจ และความสามารถในการจดจ่อ
โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญา หากตรวจวัดระดับสติปัญญา (IQ) ก็จะพบว่ามีระดับสติปัญญาปกติ แต่จะทำให้มีปัญหาในการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ เพราะจะไม่สามารถควบคุมตนเองให้อยู่นิ่ง ๆ นาน ๆ ได้ในวัยผู้ใหญ่ อาการจะไม่ได้เห็นได้ชัดเจนเท่ากับวัยเด็ก เนื่องจากผู้ใหญ่ยังสามารถควบคุมตนเองให้อยู่นิ่งได้ดีกว่าเด็กนั่นเอง แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกแล้วว่าตนเองมีอาการผิดปกติเรื่องการควบคุมสมาธิ
สังเกตอย่างไรว่าตนเองกำลังเผชิญกับภาวะสมาธิสั้นหรือไม่
ลักษณะสำคัญของคนที่มีภาวะสมาธิสั้น คือ การที่ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้เมื่อต้องทำงานที่มีกำหนดเวลา บางครั้งทำไม่ทัน หรือทันแบบจวนตัว ขี้หลงขี้ลืม เบื่อ หงุดหงิดง่าย และมีปัญหาในการรวบรวมสมาธิเพื่อทำงาน ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่จะพบอาการต่อไปนี้
- มีปัญหาในการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ เช่น ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนาน ๆ เหม่อลอย ว่อกแว่กง่าย ฟังหรืออ่านอะไรก็มักจะจับใจความไม่ค่อยได้ ทำให้ทำงานผิดพลาด
- ขี้หลงลืม ได้หน้าลืมหลัง อาจพบอาการย้ำคิดย้ำทำ เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองทำสิ่งนั้นไปแล้วหรือยัง หาของไม่ค่อยเจอ ไม่รู้ว่านำไปวางลืมไว้ที่ไหน
- มีปัญหาในการจัดระบบระเบียบ เช่น โต๊ะทำงาน วางของระเกะระกะ รก ไม่เป็นระเบียบ
- หงุดหงิดง่าย หุนหันพลันแล่น เพราะความสามารถในการรอคอยต่ำลง
- เบื่อง่าย เพราะไม่มีแรงจูงใจให้ทำอะไร รู้สึกอึดอัดเวลานั่งเฉย ๆ นาน ๆ ต้องหาอะไรทำเพื่อแก้เบื่อ
- ชอบอะไรแปลกใหม่และตื่นเต้น เพราะรู้สึกว่ามันจูงใจได้ดี
- พูดเก่ง พูดมาก พูดแทรกเวลาคนอื่นพูด เพราะไม่สามารถรอคอยอะไรได้นาน ๆ และกลัวว่าจะลืม
- มีปัญหาทางอารมณ์ เช่น เครียด รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ บางคนมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า นอนไม่หลับ
ผลกระทบที่สำคัญหากปล่อยให้ตัวเองเผชิญกับภาวะสมาธิสั้นโดยไม่รักษา
อย่างที่บอกว่าผู้ป่วยจะมีปัญหาในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ซึ่งต้องทำงาน โดยพวกเขาจะรู้สึกว่าการทำงานให้เสร็จนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะพวกเขาไม่สามารถจดจ่อหรือมีสมาธิกับการทำงานได้เลย ผลที่ตามมาก็คือ ทำงานผิดพลาด ทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา หรือต้องมาเร่งมือทำในช่วงวินาทีสุดท้าย จัดระบบระเบียบในการทำงานได้ยาก เมื่อการทำงานมีปัญหาก็อาจจะถูกเรียกไปตำหนิ เกิดเป็นความเครียด วิตกกังวล ไม่อยากทำงาน และมีปัญหากับบุคคลรอบข้าง
การวินิจฉัยภาวะสมาธิสั้นในผู้ใหญ่
หากรู้สึกว่าตนเองมีอาการดังที่กล่าวมา รวมถึงรู้สึกว่ามันเริ่มเป็นปัญหาในการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินโรค ซึ่งแพทย์ก็จะซักประวัติจากผู้ป่วยและญาติ โดยใช้คำถามเจาะลึกเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบ หลังจากนั้นถึงจะประเมินวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน
แนวทางการรับมือภาวะสมาธิสั้นในเบื้องต้น
- ฝึกตัวเองให้รู้จักวางแผนอย่างเป็นระบบ และควบคุมเรื่องเวลาให้เป็นนิสัย การทำเช็กลิสต์ เขียนโน้ต หรือวางกรอบให้ตัวเองอย่างชัดเจน จะช่วยวางแผนชีวิตและการทำงานได้ดีขึ้น
- นอนหลับอย่างมีคุณภาพ เพราะการนอนที่ไม่มีคุณภาพส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสมาธิ การจดจ่อ และความจำ
- ออกกำลังกาย ช่วยในการบำบัดอารมณ์ให้ดีขึ้น ช่วยให้มีสมาธิ และช่วยให้ร่างกายหลั่งเอ็นดอร์ฟิน
- ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีและโลกออนไลน์มีส่วนทำให้เราเสียสมาธิ
- ลดการใช้โซเชียลมีเดีย มีผลอย่างมากทั้งในเรื่องการควบคุมอารมณ์ ทำให้เกิดความว้าวุ่นใจ รวมถึงความสามารถในการอดทนรอลดลง
- ฝึกสติ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์ของตนเอง