งานกลุ่มแต่ทำคนเดียว วัยทำงานก็ยังพบได้พวกชอบเอาเปรียบ

งานกลุ่มแต่ทำคนเดียว วัยทำงานก็ยังพบได้พวกชอบเอาเปรียบ

งานกลุ่มแต่ทำคนเดียว วัยทำงานก็ยังพบได้พวกชอบเอาเปรียบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“งานกลุ่มทำคนเดียว” คนวัยทำงานหลายต่อหลายคนเคยเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งก็กล้าที่จะพูดได้เลยว่าเกือบทั้งหมดในนั้นต้องอดทนมานานตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนจนกระทั่งเป็นนิสิตนักศึกษาเลยด้วยซ้ำ กลายเป็นเรื่องที่เคยชินในความรู้สึก ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีงานกลุ่ม จะมีเพื่อนมากหน้าหลายตากล้าที่จะเข้ามาขออยู่กลุ่มด้วยชนิดที่เกินจำนวนสมาชิกที่ต้องการ เดือดร้อนต้องมาหาทางปฏิเสธไปอีก

แต่เชื่อไหมว่าพอโตมาจนเข้าสู่วัยทำงาน คนที่เคยเป็น “คนลงมือทำ” ก็ยังเป็นคนลงมือทำ (คนเดียว) อยู่วันยังค่ำ ส่วนคนที่เคยติดสอยห้อยตาม พวกที่ขอให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ พวกที่ถนัดจ่ายเงินซื้อพื้นที่ให้ชื่อตัวเองมีที่ปรากฏ พวกที่ชอบอ้างว่าป่วยได้ทั้งปีทั้งชาติเวลาเพื่อนเรียกทำงานแต่พร้อมเช็กอินทั่วราชอาณาจักร พวกที่ขออาศัยมีส่วนร่วมเสมอทั้งที่ปล่อยให้แชตหนักซ้ายตลอด ไม่เคยตอบข้อความถ่วงด้านขวาเลยสักครั้ง ก็เป็นพวกหน้าเดิม ๆ อีกเช่นกัน

พวกขี้เกียจ รักสบาย ทิ้งให้คนอื่นทำงาน แต่ตัวเองต้องมีส่วนร่วม เจอได้ทุกที่

คนประเภทที่ไม่เคยช่วยงานทีม แต่ขอมีส่วนร่วมอยู่เสมอทุกครั้ง เรามักจะเรียกคนพวกนี้ว่า “พวกเอาเปรียบ” “พวกกินแรง” “พวกเห็นแก่ตัว” เป็นคนประเภทที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เจอ ไม่เว้นแม้กระทั่งในที่ทำงาน ทั้งที่สังคมการทำงานเป็นสังคมที่มีเรื่องของค่าจ้างและการประเมินผลงานเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวัดผลรายบุคคล แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังทำตัวเหมือนเดิมแบบที่เคยทำมาแต่ไหนแต่ไร หลายคนโดนเพื่อนร่วมงานเรียกไปตำหนิก็หาได้สำนึกไม่ ยังคงทำตัวแบบเดิม หลายคนโดนกระทั่งผู้บังคับบัญชาหรือเจ้านายเรียกไปตักเตือน ก็ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่สุดท้ายก็เหมือนเดิม

แน่นอนว่าคนทำงานแบบเราย่อมรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ และทุกข์ใจเมื่อรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ กำลังเอาเปรียบเราอยู่ จนเราเริ่มรู้สึกว่าจะต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานประเภทนี้อีกนานแค่ไหน แต่ในระวังที่เรารู้สึกแบบนี้ เพื่อนร่วมงานตัวแสบกลับไม่ได้สนใจเลยว่าทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง

การที่เจอเข้ากับคนประเภทนี้บ่อย ๆ พบได้ทุกที่ในสังคม เคยสงสัยไหมว่าคนพวกนี้เขาเติบโตมาอย่างไร ที่บ้านอบรมสั่งสอนมาอย่างไรถึงชอบเอาเปรียบคนอื่น เหตุใดถึงกล้าที่จะนั่งมองคนอื่นทำงานโดยไม่คิดที่จะช่วยเหลือ ช่วงเวลาของการทำงานไม่เคยเห็นหัว แต่พองานเสร็จก็จะต้องเสนอหน้ากลับมารับความดีความชอบด้วยทุกครั้งไป

คนที่เห็นแก่ตัว ก็จะนึกถึงแค่ความสบายตัวสบายใจของตัวเองเท่านั้น พวกเขาจะมองหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองเพื่อตอบสนองแค่สิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่เห็นหัวคนอื่น ไม่มีจิตสำนึกที่จะนึกถึงคนอื่น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนพวกนี้จะมองข้ามความเกรงใจและขอบเขตความเป็นส่วนตัวของคนอื่นไปอย่างง่ายดายแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกเขาอาจโดนเลี้ยงดูมาแบบตามใจ ไม่เคยต้องหยิบจับอะไร ไม่เคยลงมือทำอะไร ขี้เกียจ รักสบาย อยากได้อะไรก็แค่จ่ายเงิน เดี๋ยวก็มีคนทำมาประเคนให้

ดังนั้น หากต้องลงมือทำงาน คนเหล่านี้จะพยายามเลือกงานที่ง่าย ๆ งานที่น้อย ๆ ไปทำแล้วทิ้งให้คนอื่นทำงานยาก ทำงานที่มากกว่า หากเป็นชิ้นงานที่ต้องทำงานเป็นทีม คนพวกนี้สามารถทิ้งให้คนอื่นทำงานนี้ได้โดยที่ตัวเองไม่รู้สึกผิดอะไรเลย ไม่ร่วมรับผิดแต่ร่วมรับชอบ ในงานที่ได้หน้า งานที่ได้ออกหน้า หรืองานที่ได้รับคำชมมากกว่าคำติถึงจะยอมออกหน้า

อย่างไรก็ดี เราจะพบว่าคนกลุ่มนี้บางคนเป็นคนที่ฉลาดมากในการเอาเปรียบคนอื่น พวกเขาจะมีทัศนคติที่ว่า การทำงานเป็นทีม ทำกันหลายคน นั่นหมายความว่าแต่ละคนก็ไม่ได้ทำงานหนักมากขนาดนั้น จึงมีความคิดว่าในเมื่อคนอื่น ๆ ในทีมก็ไม่ได้ทุ่มเททำงานกลุ่มอย่างเต็มที่เสียหน่อย แล้วตัวเองจะเหนื่อยมากกว่าคนอื่นไปเพื่ออะไร ไม่มีประโยชน์ จึงพยายามอยู่เฉย ๆ ทำตัวไม่สำคัญ เดี๋ยวคนอื่นก็ทำเองนั่นแหละ

ต้องทำอย่างไรกับเพื่อนร่วมงานประเภทนี้

กับเพื่อนร่วมงานที่ชอบเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว กินแรง หรือพวกที่ชอบทิ้งทีมให้ทำงานโดยไม่มีตัวเองโดยที่ไม่รู้สึกผิดอะไรเลย บอกเลยว่าเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังให้คนประเภทนี้เปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่างที่บอกว่าคนประเภทนี้ไม่ได้เพิ่งเคยทำแบบนี้ครั้งแรก แต่น่าจะเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนที่ครูให้ทำงานกลุ่มกับเพื่อนสมัยเรียนแล้ว พวกเขาทำแบบนี้มาตลอดจนได้ใจและเคยตัว เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่พวกเขาจะรู้สึกผิด และไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนนิสัยด้วยต่อให้เราจะเรียกเขาไปเคลียร์ตรง ๆ ก็ตาม

เพราะฉะนั้น เราอาจจะต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเราเปลี่ยนนิสัยใครไม่ได้ อย่าคาดหวังว่าเขาจะเปลี่ยนเพราะเราพูด ดังนั้น เราต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง คือมองอย่างเข้าใจว่าคนที่มีนิสัยเห็นแก่ตัวแบบนี้เขาเติบโตมายังไง ได้รับการอบรมสั่งสอนมาแบบไหน และถ้าเขาล้ำเส้นมากเกินไปจนเราเดือดร้อน เราก็มีสิทธิที่จะปกป้องสิทธิของเราเช่นกัน อย่ายอมแล้วปล่อยให้เขาเอาเปรียบเราง่าย ๆ อยู่ฝ่ายเดียว

วิธีการจัดการกับคนเห็นแก่ตัวที่ได้ผลชะงัดวิธีหนึ่ง คือ การไม่ให้ค่าไม่ให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้ พยายามทำแค่ในส่วนของตัวเองให้ดีก็พอ แล้วปล่อยให้คนพวกนี้ดิ้นรนเอาเองบ้าง ไม่ต้องมีน้ำใจกับพวกเขาขนาดนั้นก็ได้ เนื่องจากคนนิสัยแบบนี้เอาแต่รับจนเคยตัว และคิดว่าคนอื่นต้องยอมและจัดการให้ตลอดเวลา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นความรับผิดชอบที่พวกเขาต้องลงมือทำเอง อย่ายอมให้พวกเขาเอาเปรียบ หัดปฏิเสธโดยไม่จำเป็นต้องเกรงใจคนเหล่านี้ หากมีโอกาสให้แจ้งผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง หากไม่ใช่คนมีเส้นสาย หลังจากประเมินงานแล้วพบว่าไม่มีประโยชน์จะเลี้ยงไว้ ก็คงอยู่ได้อีกไม่นาน

นอกจากนี้ พยายามอยู่ให้ห่างจากคนเหล่านี้ เรื่องงานว่าแย่แล้ว เรื่องส่วนตัวยิ่งต้องอยู่ให้ไกล ไม่จำเป็นอย่าเข้าไปข้องเกี่ยว หากงานที่ต้องทำเป็นทีมจริงๆ ก็ต้องแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนไปเลย สื่อสารให้ดีว่าเขาต้องทำงานนี้ให้เสร็จ หากมีอะไรเกิดขึ้นก็อย่าโต้ตอบด้วยความรุนแรง แต่ให้ปรึกษาคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเสมอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook