“ครอบครัว” บทบาทสำคัญในการร่วมสร้าง “อาชญากร”
ทุกครั้งที่มีข่าวคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญเกิดขึ้นในสังคม สิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจก็คือ แรงจูงใจที่ทำให้ฆาตกรก่ออาชญากรรมขึ้น ว่าเหตุใดถึงได้อุกอาจ โหดเหี้ยม อำมหิตผิดมนุษย์มนาได้ขนาดนั้น โดยส่วนใหญ่ก็มักจะมีการวิเคราะห์สภาพจิตใจของพวกเขาด้วย คดีฆาตกรรมใหญ่ ๆ ที่เป็นที่สนใจของคนในสังคม มักจะมีจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาออกมาให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมของฆาตกร ซึ่งอาจวิเคราะห์ลงไปถึงพื้นฐานการเลี้ยงดูจากครอบครัวในวัยเด็กของพวกเขาด้วย เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญอาจทำให้พวกเขากลายเป็น “ฆาตกร”
เด็กที่ถูกเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง แม้กระทั่งพวกเขาก็เป็นเหยื่อที่ถูกกระทำเสียเอง ทำให้พวกเขามีสภาพจิตใจที่ผิดปกติ อย่างกรณีที่เราเห็นในข่าว เหตุฆาตกรรมบางเหตุการณ์ ผู้ก่อเหตุเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นด้วยซ้ำ พวกเขาก่อเหตุฆ่าเพื่อนในห้องเรียน ฆ่าแฟนหนุ่มแฟนสาวของตนเอง บางคนสามารถก่อเหตุฆ่าพ่อแม่ตัวเองและคนในบ้านยกครัวด้วยซ้ำ ในวัยผู้ใหญ่ ก็จะเห็นข่าวการฆ่าสามี ฆ่าภรรยา ฆ่าลูก รวมถึงฆ่าคนอื่น ๆ ที่ไม่รู้จัก เพียงแค่พวกเขารู้สึกไม่พอใจคน คนนั้นเท่านั้นเอง
เมื่อพิจารณาดูจากการวิเคราะห์จิตใจของฆาตกรที่ก่อเหตุ จะพบว่าส่วนใหญ่พื้นฐานวัยเด็กของพวกเขามีปัญหา พวกเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ มีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกเขาใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมีหลายรูปแบบ พวกเขาอาจมีประสบการณ์ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด เหยื่อการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การถูกเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย เนื่องจากสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่หล่อหลอมเด็กคนหนึ่งขึ้นมา หากพ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูเด็กมาอย่างผิด ๆ ก็อาจสร้างบาดแผลในใจเด็กได้ จิตใจของเด็กบอบบางและพร้อมเรียนรู้จากสิ่งที่พวกเขาเห็น สิ่งที่พวกเขาเจอ พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น หากพวกเขาเห็นความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก พวกเขาจะค่อย ๆ สะสมพฤติกรรมที่บิดเบี้ยว กระทั่งกลายเป็นฆาตกรเต็มตัวได้สักวัน
เด็กที่ขาดความอบอุ่น เด็กที่ขาดความรักความเอาใจใส่ เด็กที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนเท่าที่ควร อาจทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่นิยมการใช้ความรุนแรง และไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี ต่อไปนี้คือปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องระวังในการเลี้ยงดูบุตรหลาน หากไม่อยากให้เด็ก ๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นมาเป็น “ฆาตกร”
1. ความรุนแรงในครอบครัว
กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ชอบรวมตัวกันเป็นแก๊ง มักจะมีสิ่งที่คล้ายกันอย่างหนึ่ง คือ กำลังหนีอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน พวกเขารู้สึกไม่อยากอยู่บ้าน จึงออกมารวมตัวกัน แล้วอาจก่อความวุ่นวายขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ สิ่งที่พวกเขาเจอและกำลังหนี อาจเป็นการทารุณกรรมในบ้าน
งานวิจัยชิ้นหนึ่งในออสเตรเลีย พบว่าวัยรุ่นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง เคยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งในครอบครัวอย่างรุนแรงมาก่อน อีกทั้งงานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่าเด็กที่เคยถูกล่วงละเมิดและมีประสบการณ์จากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาแล้วนิยมใช้ความรุนแรง
2. การถูกปฏิเสธหรือถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก
การที่เด็กถูกปฏิเสธจากคนในครอบครัว ปฏิเสธการมีตัวตนในสังคม หรือถูกทอดทิ้ง ทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่บาดลึกในจิตใจเด็ก และยากที่เยียวยา เนื่องจากพวกเขาไม่เคยรู้สึกว่าตนเองปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัวหรืออยู่ในสังคม จึงพยายามที่จะสร้างความปลอดภัยด้วยตัวเอง พวกเขาคิดว่าความรุนแรงนี่แหละที่ปกป้องตัวเขาเองให้ปลอดภัยจากสิ่งต่าง ๆ อีกทั้งเด็กที่ถูกทิ้งหรือถูกเลี้ยงแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ตั้งแต่ยังเล็กมาก ๆ ยังอาจส่งผลร้ายแรงต่อการทำงานของสมองในระยะยาว จนอาจมีความผิดปกติทางจิตได้อีกด้วย
3. ปัญหาความรักความผูกพัน
หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูเด็กให้มีพื้นฐานทางจิตใจที่ดี คือ การให้ความรัก ความปลอดภัยกับเด็ก นั่นคือ เมื่อเด็กอยู่กับครอบครัวหรืออยู่ในสังคมหนึ่ง ๆ พวกเขาควรจะได้รับความรู้สึกเหล่านี้
- เด็กต้องรู้สึกปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่
- เด็กต้องรู้สึกว่าพวกเขามีตัวตน มีความสำคัญ
- เด็กต้องได้รับการปลอบโยนให้รู้สึกผ่อนคลายเมื่ออยู่ในความทุกข์
- เด็กต้องรู้สึกว่าตนเองได้รับการปกป้อง
ซึ่งถ้าหากว่าเด็กไม่ได้สัมผัสกับความรู้สึกว่าตนเองปลอดภัยในลักษณะข้างต้น จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ผิดปกติ โดยจะแสดงออกทางพฤติกรรมที่นิยมใช้ความรุนแรง และเป็นปัญหาเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่
4. ความรู้สึกอับอาย
เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ถูกทารุณกรรม ทั้งทางร่างกายและทางวาจา หรือมีอคติจากการถูกบูลลี่ ต่าง ๆ ถูกเหยียด ถูกแสดงความรังเกียจจากคนอื่น พวกเขาจะมีความรู้สึกอับอายอย่างมาก ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวไปในวัยผู้ใหญ่ได้เช่นกัน เหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกอับอายในวัยเด็กจะส่งผลกระทบทางจิตใจ ก่อให้เกิดบาดแผลในจิตใจและนำไปสู่แนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา พวกเขาจะสร้างกำแพงขึ้นมาปิดบังปมด้อยที่ทำให้ตัวเองรู้สึกอับอายเอาไว้ และแสดงออกด้วยความรุนแรง เพื่อปิดบังว่าตนเองไม่ได้มีปมอะไรนั่นเอง
ฉะนั้น สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องระลึกไว้เสมอในการเลี้ยงดูบุตรหลาน คือคุณไม่สามารถที่จะปกป้องเด็กคนหนึ่งจากประสบการณ์อันเลวร้ายได้อย่างสมบูรณ์ แต่คุณสามารถเลี้ยงดูให้พวกเขามีบาดแผลในใจให้น้อยที่สุดได้ พ่อแม่ที่ดีที่สุดไม่ใช่พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบไม่มีที่ติ เพราะความสมบูรณ์แบบก็ไม่ใช่เป้าหมายของการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคม เพราะจริง ๆ แล้วสิ่งที่เด็กทุกคนต้องการ มีเพียงแค่ความรัก ความเอาใจใส่ และการปกป้องให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย จากผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูพวกเขาอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นเอง
ไม่ว่าเด็ก ๆ จะเติบโตขึ้นมาในสภาพใด พวกเขามีสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะได้รับความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตมา ได้รับการปลอบโยนเมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับความทุกข์ และมองเห็นในสิ่งที่สร้างสรรค์ ซึ่งถ้าหากว่าเด็ก ๆ ขาดการดูแลเอาใจใส่ในส่วนนี้ ก็จะทำให้สังคมของเราเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงที่มากขึ้นในอนาคต จากผู้ใหญ่ที่เติบโตมาจากการเป็นผู้ถูกกระทำในวัยเด็กเหล่านี้