“สาธิต มธ.” อนาคตและความหวังโรงเรียนไทย
Highlight
- เน้นการพัฒนามนุษย์ให้เต็มตามศักยภาพ ด้วยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้ลงมือทำจริง และให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการจัดการศึกษา
- แม้ว่าหลักสูตรจะยังคงอิงกับหลักสูตรของ สพฐ. แต่โรงเรียนก็มีวิชาที่น่าสนใจหลายวิชา ที่ช่วยพัฒนาและนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเด็กนักเรียนได้จริง เช่น วิชาวรรณกรรม วิชารู้สารทันสื่อ หรือวิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
- วัฒนธรรมรากฐานของโรงเรียนคือ สังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งทำให้นักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการตัดสินว่าผิดหรือถูก
- การทดสอบหรือประเมินผลไม่เน้นการท่องจำหรือชี้วัดว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ แต่เป็น “สิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาตัวเอง” เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้สิ้นสุดแค่สอบเสร็จ
- เปิดพื้นที่ให้เด็กนักเรียนได้แสดงตัวตนผ่าน “เครื่องแต่งกาย” เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจและค้นหาอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเอง
“โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ “สาธิต มธ.” กลายเป็นโรงเรียนที่สังคมให้ความสนใจ ทันทีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งจับตามอง หลังอ้างว่ามีการเรียนการสอนที่ “บิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน” และนำไปสู่การตรวจสอบใหญ่โต จนกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงในโลกออนไลน์ถึงเรื่อง “หลักสูตรการเรียนการสอน” ของโรงเรียนรัฐที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน แล้วโรงเรียนสาธิตแห่งนี้มีหลักสูตรที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่นอย่างไร Sanook ไปค้นหาคำตอบที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงเรียนที่ถูกยกย่องให้เป็น “ความหวังใหม่” ของประเทศ
การเรียนที่เน้นประสบการณ์
“โจทย์ของเราตอนแรกคือ เราต้องการให้การศึกษาไทยพัฒนามนุษย์คนหนึ่งเต็มตามศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นทั้งสติปัญญาหรืออารมณ์ และการเข้าใจตัวเอง ก็เลยกลายเป็นหลักสูตรนี้ขึ้นมา การศึกษาไทยส่วนใหญ่อาจจะเน้นเฉพาะความรู้ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหา และเราต้องพัฒนาเด็กให้ครบทุกด้าน สมบูรณ์ทั้งสามด้าน” อ.ดร.หนึ่งฤทัย คณานนท์ หรือครูหนึ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้ มัธยมศึกษาตอนต้น ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนใคร ให้พวกเราฟัง
โรงเรียนสาธิต มธ. ใช้เวลาระดมสมองจากหลายฝ่ายและออกแบบวางแผนกว่า 1 ปีเพื่อสร้างหลักสูตรพัฒนามนุษย์ให้เต็มศักยภาพในทุกด้าน แต่ทั้งนี้ ทางโรงเรียนก็ไม่ได้ทิ้งหลักสูตรพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพียงแต่เพิ่มเรื่องของการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำจริงเข้าไป
“เรามุ่งเน้นที่ Learning ไม่ได้มุ่งเน้นที่ Teaching ซึ่งเรามุ่งเน้นที่ตัวเด็ก ว่าเราจะให้เด็กได้เรียนรู้อะไร การเรียนรู้มันเกิดขึ้นภายในตัวคน ภายในหัว ผ่านประสบการณ์ ผ่านการลงมือทำ หรือผ่านการตกผลึกบางอย่างของเขา” อ.ศราวุธ จอมนำ หรือครูเด้นท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกระบวนการเรียนรู้ กล่าวเสริม
“มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่เคยเจอมาตอนประถม หรือที่ผ่าน ๆ มา ที่เห็นได้ชัดคือมีงานที่ต้องทำกับคนเยอะ มีงานกลุ่มทั้งในห้องและนอกห้อง มีงานที่เป็นงานกิจกรรม ซึ่งเราได้ไปมีส่วนร่วมในหลายงานที่เราไม่น่าจะได้ทำ แต่เราก็มีโอกาสได้ทำ แล้วก็ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง” แพม นักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนสาธิต มธ. สะท้อน
วิชาน่าสนใจที่เด็กคนไหนก็อยากเรียน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนสาธิต มธ. ได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก ก็คือความหลากหลายของรายวิชาที่ผ่านกระบวนการวางแผนและคัดเลือกมาเป็นอย่างดี ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มประสบการณ์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์, มนุษย์และสังคม, สุขภาพและสุขภาวะ, สุนทรียะทางศิลปะ และภาษา
“วิชาที่คิดว่าโรงเรียนอื่นไม่น่าจะมี ก็อย่างเช่น วิชาวรรณกรรม เขาจะให้เด็กอ่านหนังสือมา แล้วก็ให้มาวิพากษ์ว่าแต่ละตัวละครในนั้น ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น เขามีสาเหตุ มีปัจจัยอะไร และเรื่องราวในหนังสือก็จะคัดเลือกมา ว่าเป็นหนังสือในยุคสมัยไหน ก็มีนิยายร่วมสมัยในปัจจุบัน อย่างเช่นนิยายวาย เขาก็มีหยิบยกมาพูดคุยบ้าง วัตถุประสงค์หนึ่งในการสอนที่สอดแทรกเข้าไปในนั้น คือการเข้าใจผู้อื่น เข้าใจเขาเข้าใจเราผ่านตัวละครในวรรณกรรมนั้น ๆ” ครูหนึ่งเล่า
สำหรับครูเด้นท์ซึ่งเป็นคุณครูประจำวิชาคณิตศาสตร์ ก็ยกตัวอย่างวิชา “รู้สารทันข้อมูล” หรือเทียบได้กับวิชาสถิติของโรงเรียนทั่วไป โดยการเรียนการสอนวิชารู้สารทันข้อมูลจะเริ่มต้นจากการเอาข้อมูลที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมาศึกษา เช่น โฆษณา โปสเตอร์ อินโฟกราฟิก เป็นต้น
“สิ่งที่เราพาเขาไปมากกว่านั้นคือ แล้วข้อมูลที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า เป็นแผ่นโปสเตอร์สวย ๆ เชื่อถือได้หรือเปล่า มันน่าเชื่อถือไหม มันดูจากอะไร ที่เขาหมายเหตุข้างล่างว่ามาจากเว็บไซต์โน่นนี่นั่น เราลองตามไปดูซิ จะเห็นว่ามันไม่ได้เรียนไปเพื่อท่องจำ แล้วก็เอาไปสอบ แต่ที่นี่เน้นว่าเวลาที่อยากให้เด็กเรียนอะไรสักอย่าง มันต้องจำเป็นสำหรับชีวิตเขา มันต้องเชื่อมโยงจริง ๆ” ครูเด้นท์อธิบาย
“ประทับใจทุกวิชาที่มีกิจกรรมให้เล่น เพราะพอเล่นกิจกรรมแล้ว เราจำได้ ว่าสิ่งนี้เราเคยเล่นตรงนี้นะ มันช่วยวิชานี้ได้ เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์เศรษฐกิจ ก็เล่นขายข้าว เป็นพ่อค้าแม่ค้ากัน ว่าเดี๋ยวนี้ราคาขึ้นแล้ว ราคาโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราจะขายของได้ยังไงบ้าง” ใยบัว นักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนอีกคนบอกเล่าเรื่องราววิชาที่เธอประทับใจ
การศึกษาที่เน้นการให้นักเรียนกล้าแสดงออก
ปัญหาหนึ่งของเด็กนักเรียนไทยคือ “ไม่กล้าถาม-ตอบคำถาม” ซึ่งสะท้อนการกลัวผิดหรือกลัวโดนตำหนิที่ยังมีอยู่อย่างเข้มข้นในโรงเรียนไทย อย่างไรก็ตาม หลักสูตรแนวใหม่ของโรงเรียนสาธิต มธ. ก็พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวและฝึกให้นักเรียนทุกคนกล้าที่จะแสดงออก
“อย่างแรกเลยคือกล้าแสดงออกก่อน ถูกผิดไม่เป็นไร พอเข้ามาเรียน ม.1 เขาจะถูกปรับไปเรื่อย ๆ เพราะทุกวิชาจะเน้นว่า คุณสามารถแสดงออกได้ คุณสามารถคิดได้ ตอบอะไรก็ตอบมาเถอะ เปิดโอกาสให้คุณตอบ และอาจจะเพิ่มกระบวนการว่า เมื่อเขาตอบแล้ว เราจะถามเด็กคนอื่นว่าคิดเห็นยังไงกับคำตอบของเพื่อน ให้เขาช่วยกันฟีดแบ็ก ซึ่งเราก็ต้องไม่ตัดสินว่าคิดแบบนี้มันผิดหรือมันถูก” ครูหนึ่งอธิบาย
ด้านใยบัวก็สะท้อนว่า คุณครูทุกคนพร้อมพูดคุย รับฟัง และให้คำปรึกษากับนักเรียนเสมอ โดยไม่มีการตัดสินว่าผิดหรือถูก ซึ่งทำให้พื้นที่ของห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ทำให้สบายใจที่จะได้พูดคุยกับคุณครูและเพื่อนร่วมชั้น โดยไม่รู้สึกกลัวหรือกังวลว่าจะพูดหรือตอบคำถามผิด
“ที่นี่เราใช้วัฒนธรรมว่า มันคือสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน ถ้าเกิดว่าเราไม่ได้มีวัฒนธรรมที่ทุกคนเคารพกัน รับฟังกัน เปิดใจ แล้วก็ทำให้เห็นว่าเวลาจะมองเรื่อง ๆ หนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเฮโลและมองด้วยกันมุมเดียว ถ้าไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ เราจะอยู่ด้วยกันไม่ได้เลย แล้วเราก็เชื่อว่าไม่ใช่แค่ในโรงเรียนนี้ ในประเทศเราหรือแม้แต่ในโลกของเรา มันไม่ได้มีคนที่คิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทำยังไงดีให้คนที่คิดต่างกัน อยู่ด้วยกันได้ อันนี้เป็นวัฒนธรรมรากฐานที่เราวางไว้” ครูเด้นท์เสริม
การทดสอบที่ไม่เน้นการท่องจำ
“การทดสอบคือกระบวนการเรียนรู้หนึ่ง เรามองว่ามันเป็นขั้นตอนหนึ่ง ดังนั้น วิธีการทดสอบของเราไม่ได้ยึดติดกับการสอบแต่ปรนัยหรืออัตนัย เราให้อิสระคุณครูในการออกแบบการประเมินผลของเด็ก ซึ่งวิธีการทดสอบของเรามีหลากหลาย โดยที่เราไม่ได้กำหนดว่าต้องมีสอบกลางภาค เรามีตารางเวลาสอบปลายภาคให้ แล้วแต่คุณครูจะนัดเด็กประเมินหรือไม่ประเมิน” ครูหนึ่งชี้
โดยทั่วไปแล้ว การทดสอบและการประเมินผลคือ “ฝันร้าย” ของเด็กและคุณครูหลายคน เพราะมันมีผลต่อชีวิตของพวกเขา อาจทำให้เขาถูกตัดสินหรือถูกมองว่า “เรียนล้มเหลว” แต่โรงเรียนสาธิต มธ. ก็พยายามเปลี่ยนภาพจำเหล่านั้น และทำให้การประเมินผลเป็น “สิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาตัวเอง” เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้สิ้นสุดแค่สอบเสร็จแล้วทิ้งไป
“การประเมินคือการรวบรวมหลักฐาน รวบรวมข้อมูล เพื่อที่จะบ่งบอกว่า คน ๆ หนึ่งมีความสามารถแค่ไหน แล้วจุดมุ่งหมายของการประเมินก็คือ เมื่อเรารู้ว่าคนนี้มีความสามารถประมาณนี้ เราจะเติมให้เขายังไง เราจะต่อยอดยังไง บทบาทครูก็เลยเปลี่ยนไป” ครูเด้นท์อธิบาย
ชีวิตในโรงเรียนที่ได้เป็นตัวเอง
“โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” แนวคิดนี้ทำให้โรงเรียนสาธิต มธ. เปิดพื้นที่ให้เด็กนักเรียนได้แสดงตัวตนผ่าน “เครื่องแต่งกาย” รวมทั้งการทาเล็บและทำสีผม เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจและค้นหาอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเอง
“ในช่วงม.ต้น เขาต้องการหาอัตลักษณ์ของตัวเอง หาความเป็นตัวตนของตัวเอง เราเคยคุยกันว่า ถ้าเขาไม่สำรวจ ไม่ค้นหาตัวเองในตอนนี้ แล้วเขาจะใช้เวลาตรงไหนในการค้นหา เราก็เลยคิดว่า เครื่องแต่งกายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาได้ค้นหาตัวตนของเขาเจอ”
“ด้วยความที่เป็นนิเวศการเรียนรู้ มีคุณครู ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง เราเคยคุยกันว่าทำไมคุณครูถึงทำอันนี้ได้ แล้วทำไมนักเรียนทำไม่ได้ มันมีความแตกต่างกันตรงไหน ถ้าบอกว่าแตกต่างเรื่องอายุ เราเป็นครู มีหน้าที่ในการชี้แนะนักเรียน ถ้าแม่เขาอนุญาต ครอบครัวเขาอนุญาต แล้วทำไมเราถึงจะไม่อนุญาต” ครูหนึ่งกล่าว
ด้านแพมและใยบัวก็แสดงความคิดเห็นว่า การที่เลือกได้ว่าจะแต่งตัวอย่างไร ช่วยเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สำรวจตัวเองและรู้จักตัวเองมากขึ้น และได้เรียนรู้ตัวตนของผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งนี้ การใส่ชุดไปรเวทหรือการทำสีผม ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการเรียนเลยแม้แต่น้อย
“หนูคิดว่ามันก็ขึ้นอยู่กับตัวเอง ว่าเราตั้งใจกับการเรียนมากแค่ไหน ถ้าทำสีผมเราจะเรียนแย่ลงเหรอ หนูคิดว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องนั้นเลย แต่ถ้าออกไปข้างนอก ก็อาจจะถูกมองในอีกมุมมองหนึ่ง แต่ถ้าในโรงเรียน ในตัวเราเอง เรารู้ตัวเองว่าทำได้มากแค่ไหน” ใยบัวกล่าว
นักเรียนคือศูนย์กลางของการเรียนรู้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทยคือ “อำนาจรวมศูนย์” ซึ่งมีผู้ใหญ่เป็นศูนย์กลางของการจัดการศึกษา นั่นจึงเป็นความท้าทายที่โรงเรียนสาธิต มธ. ต้องการเปลี่ยนแปลง โดยครูเด้นท์ระบุว่า ระบบการศึกษาในแบบอุดมคติที่โรงเรียนต้องการสร้างคือ “การจัดการศึกษาที่เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง”
“คุณครูแทบจะทั้งประเทศเข้าใจเรื่องนี้ ตระหนักเรื่องนี้ดีมาก ว่าคนที่เป็นศูนย์กลางที่แท้จริงในการจัดการศึกษาคือเด็ก ผู้เรียนต่างหากล่ะ เขาต้องการอะไร ลักษณะของเขาเป็นแบบไหน เจเนเรชั่นของเขาเป็นแบบไหน บริบทแวดล้อมเขาเป็นยังไง เมื่อเราเห็นความต้องการของเด็ก ครูต้องเป็นผู้สนับสนุน เพื่อให้แต่ละคนเติบโตได้ตามสิ่งที่ตัวเองเป็น” ครูเด้นท์ชี้
“โดยส่วนตัวมองว่าคนไทยมีศักยภาพ ถ้าปล่อยให้เขาได้คิด ได้มีอิสระ ไม่ว่าจะเป็นทั้งตัวคุณครูเองหรือเด็กนักเรียนเอง คิดว่าอนาคตมันไปต่อได้ เพียงแต่ว่าภาครัฐอาจจะต้องส่งเสริมให้ถูกจุด ปล่อยอิสระให้โรงเรียนได้ทดสอบทดลอง อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ปกครองมีส่วนอย่างมากในการพัฒนามนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่แค่นักเรียนกับครู แต่ผู้ปกครองก็ต้องมีความเข้าใจ มันต้องเป็นความร่วมมือของทั้งสามด้าน” ครูหนึ่งกล่าวปิดท้าย
ภาพโดย: Ditsapong K.