สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2564 กล่าวคือมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20) และเตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574 (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28) ภาพที่เห็นได้ชัดเจนก็คือคนทำงานเจนเก่า ๆ ก็ทยอยเกษียณอายุไป โดยเฉพาะรุ่น Baby Boomers ที่เหลืออยู่ในระบบแรงงานน้อยลงทุกที ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ ๆ ก็เรียนจบและก้าวสู่การทำงาน ทำให้กลุ่มคน Gen Millennials และ Gen Z คือกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ในตลาดแรงงาน
แม้ว่าในทางทฤษฎี คน Gen Millennials และ Gen Z จะมีความแตกต่างกันพอสมควร อย่างไรก็ดี Gen Millennials ปลาย ๆ ที่ปัจจุบันยังอายุไม่ถึง 30 ปี หรือมีประสบการณ์ทำงานไม่ถึง 10 ปีก็ถือเป็นคนรุ่นใหม่เช่นกัน คนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดและไลฟ์สไตล์ในการทำงานที่ต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ อีกทั้งบทบาทของคนรุ่นใหม่นี้ค่อนข้างสำคัญต่อแนวโน้มการปรับตัวขององค์กรและนายจ้างอยู่พอสมควร เพราะมีบางอย่างที่พวกเขาเห็นต่างจากคนรุ่นก่อน เมื่อต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบแรงงาน หากองค์กรต้องปรับตัวเพื่อรองรับสมาชิกเป็นคนรุ่นใหม่ที่มากขึ้น หลัก ๆ แล้วต้องให้ความสำคัญในเรื่องใดบ้าง
ความอิสระและยืดหยุ่น
คนรุ่นใหม่รักอิสระ และอยากจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางสังคมในรูปแบบเดิม ๆ ที่พวกเขาเห็นว่าไม่ทันสมัย ไม่ตามโลก ซึ่งการเข้างานแปดโมงเช้าเลิกงานห้าโมงเย็นก็เป็นสิ่งที่พวกเขามองว่าล้าสมัยเช่นกัน พวกเขามองว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องเคร่งตามเวลานี้เป๊ะ ๆ หากทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อยและงานก็ออกมาดี หรือการทำงานที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ทั้งที่ทำงานเสร็จได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน พวกเขาจึงรู้สึกว่าความอิสระ ความยืดหยุ่น ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่ถูกจำกัดหรือบังคับ จูงใจให้คนทำงานได้มากกว่า ในเมื่อพวกเขารู้อยู่แล้วว่าต้องรับผิดชอบอะไร
โอกาสที่จะได้เติบโตในสายงาน
คนรุ่นใหม่ไม่กลัวการเปลี่ยนงานบ่อย ๆ หากงานที่ทำอยู่ทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังย่ำอยู่กับที่ ไม่เปิดโอกาสให้เติบโตไปได้มากกว่านี้ พวกเขาก็พร้อมที่ลาออกไปหางานใหม่ที่ท้าทายและมีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้มากกว่า ที่สำคัญ พวกเขายังกล้าพอที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม ๆ ที่ว่าต้องทำงานในสายงานที่ตัวเองเรียนจบมา หากสายงานเดิมไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ พวกเขาสามารถก้าวข้ามสายงานได้ พวกเขาจะพยายามปรับตัวและทำได้ดีด้วย ทักษะหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่มี ทุกวันนี้สามารถหาได้จากนอกห้องเรียน และหาในระหว่างทาง
กระหายการยอมรับ
คนรุ่นใหม่กระหายที่จะพิสูจน์ความสามารถของตนเอง ซึ่งเป็นเหมือนแพชชั่นในการทำงานของพวกเขาเลยก็ว่าได้ ดังนั้น หากพวกเขาตั้งใจทำอะไรแล้ว พวกเขาจะเต็มที่มากและต้องได้อะไรกลับมา คงจะดีไม่น้อยหากองค์กรเอื้อพื้นที่และสภาพแวดล้อมให้พวกเขาได้พิสูจน์ตัวเอง ให้โอกาสได้แสดงออกถึงของดีที่พวกเขามี ไม่ใช่แค่ให้ทำตามคำสั่งหรือทำแต่งานที่น่าเบื่อ ไม่มีความท้าทายใด ๆ เลย รวมถึงสนับสนุนให้พวกเขากล้าที่จะแสดงศักยภาพและความสามารถที่แท้จริงออกมาให้เต็มที่ ยอมรับว่าพวกเขามีของจากผลของงาน เท่านี้พวกเขาก็พร้อมที่จะทำงานให้แล้ว
ค่าตอบแทนที่เหมาะสมและสวัสดิการที่ดึงดูด
เงินอาจไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ที่สำคัญเราทำงานก็เพื่อหวังได้เงินที่เหมาะสม หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ฐานเงินเดือนเด็กจบใหม่ของพนักงานประจำจะอยู่ราว ๆ 12,000-20,000 บาท ในขณะที่ค่าครองชีพเมื่อรวมทุกอย่างแล้วเงินแทบไม่พอใช้ การเลือกงานของพวกเขาจึงหางานที่ให้ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกับภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ระดับการศึกษา และค่าครองชีพที่ต้องแบกรับ นอกจากนี้พวกเขายังคาดหวังเรื่องสวัสดิการที่น่าดึงดูดใจ โรคระบาดทำให้พวกเขาต้องการนายจ้างที่ใส่ใจในเรื่องสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
สมดุลของชีวิต
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าคนรุ่นใหม่รักอิสระ และพวกเขาต้องการความยืดหยุ่นในชีวิต ก็เพื่อที่จะได้จัดสมดุลของชีวิตได้อย่างลงตัว พวกเขาอาจทุ่มเทให้กับการทำงานมากก็จริง แต่พวกเขาก็ไม่อยากรับบทคนบ้างาน พวกเขาต้องการการพักผ่อนและฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ ต้องการเวลาไปใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งาน แม้ว่าในโลกความเป็นจริงไม่ เราสามารถแยกการทำงานกับชีวิตส่วนตัวออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด แต่อย่างน้อยก็ควรสมดุลแบบแนวคิด Work-Life Harmony เพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข โดยที่ชีวิตส่วนตัวก็ไม่ได้ถูกลดทอนลงไป