5 หนังสือสร้างตัวตนของ “ไอซ์ รักชนก”

5 หนังสือสร้างตัวตนของ “ไอซ์ รักชนก”

5 หนังสือสร้างตัวตนของ “ไอซ์ รักชนก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ไอซ์ - รักชนก ศรีนอก คนธรรมดาที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมไทยอย่างเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ จนได้ฉายาว่า “เครื่องด่า” แห่งฝ่ายประชาธิปไตย
  • นอกจากจะ “ตาสว่าง” จากการตั้งคำถามกับสังคมและการเมืองแล้ว ไอซ์ยังมี “หนังสือ” เป็นเครื่องมือสำคัญในการเติบโตและเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย
  • “Harry Potter”, “The Alchemist”, “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ”, “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” คือหนังสือ 5 เรื่อง ที่สร้างตัวตนของไอซ์จนถึงทุกวันนี้

ไอซ์ รักชนก ศรีนอกไอซ์ รักชนก ศรีนอก

ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ชื่อของคนธรรมดาอย่าง “ไอซ์ - รักชนก ศรีนอก” กลายเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นหูคุ้นตาในสื่อต่างๆ จากการส่งเสียงตั้งคำถามถึงประเด็นทางการเมืองและสังคมอย่างเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ จนเธอได้ชื่อว่าเป็น “เครื่องด่า” อีกคนหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ เธอยังยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เธอเป็นคนหนึ่งที่เคยเห็นด้วยกับการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และ “ตาสว่าง” ในที่สุด เมื่อเธอเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสภาพสังคมไทยหลังการรัฐประหาร และมี “หนังสือ” เป็นตัวช่วยในการเปิดโลกของเธอให้กว้างขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของเธอมาอย่างยาวนาน

“หนังสือบนชั้นส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือประเภทสืบสวนสอบสวน คือมี 3 ชั้น ต่อมาก็จะเป็นวรรณกรรมระดับโลกที่เขาแนะนำให้อ่าน จะเสิร์ชหา 100 เล่มที่ควรอ่าน ก็จะมี “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” “Midnight Children” “ใต้เวิ้งฟ้า” “Beloved” “The Godfather” “Walden” “Don Quixote” พวกนี้มันก็จะเป็น 100 เล่มที่ทุกคนควรอ่านก่อนตายในชีวิต” ไอซ์เริ่มแนะนำชั้นหนังสือของเธอ ก่อนจะเลือกหยิบหนังสือ 5 เล่ม ที่สร้างตัวตนของเธอออกมาให้เราได้รู้จัก

“Harry Potter” วรรณกรรมของคนรุ่นใหม่

สำหรับคนเจนวาย คงไม่มีใครไม่รู้จัก “Harry Potter” วรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซี ผลงานของเจ. เค. โรว์ลิง เป็นเรื่องราวว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างพ่อมดน้อยแฮร์รี พอตเตอร์ กับจอมมาร ลอร์ด โวลเดอมอร์ ที่กลายเป็นวรรณกรรมขายดีระดับโลก และภาพยนตร์แนวแฟนตาซีอันโด่งดัง

สำหรับไอซ์ หนังสือ “Harry Potter” เป็นหนังสือชุดแรกที่ทำให้เธอรักการอ่าน จากเรื่องราวในโลกเวทย์มนตร์ที่ดูราวกับเป็นโลกที่มีอยู่จริง รวมทั้งเนื้อหาในแต่ละภาคที่เติบโตไปพร้อมกับผู้อ่าน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดก็ตาม นอกจากนี้ ตัววรรณกรรมและภาพยนตร์ “Harry Potter” ยังเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้ไอซ์และแฟนๆ ทุกเพศทุกวัยกลับมาพักพิงได้ทุกเมื่อด้วย

“เราจำทุกมุมในฮอกวอร์ตส์ได้ เราจำชื่ออาจารย์ได้ทุกคน เราจำว่าเขาสอนอะไร และเราก็รู้ว่าเขานิสัยอย่างไร ทุกคาถาเราจำได้หมดเลย ถ้าต้องป้องกันตัวคือฉันสบายแล้ว เหลือแค่จับไม้กายสิทธิ์ของจริงแค่นั้นเอง มันเหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสมัยวัยเด็กของเราเลย ที่กลับไปอ่านแล้วเราจะอบอุ่นใจทุกครั้ง มันดูเหมือนจะเกินไปนะ แต่ “Harry Potter” มันให้ความรู้สึกนั้นจริงๆ

“The Alchemist” ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน

หนังสือสร้างตัวตนเล่มที่ 2 ของไอซ์ คือ “The Alchemist” โดยเปาโล คูเอลโญ หรือชื่อภาษาไทยว่า “ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเด็กหนุ่มเลี้ยงแกะ ที่ฝันเห็นขุมทรัพย์ในพีระมิดที่อียิปต์ และออกเดินทางผจญภัยอย่างยาวนานเพื่อค้นหาขุมทรัพย์นั้น ก่อนที่จะได้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ขุมทรัพย์นั้นอยู่ไม่ไกลจากตัวเขาเลย

ไอซ์กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า หลังจากที่อ่านจบ เธอรู้สึกว่า “The Alchemist” เป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่ง แต่ยังมองไม่เห็นอะไรมากนัก จนกระทั่งเมื่อเธอโตขึ้น

“พอเราโตขึ้น เราเริ่มเข้าใจประโยคที่ว่า “ขุมทรัพย์จริงๆ แล้วมันอยู่ที่หน้าบ้านเรา มันอยู่ใกล้ตัวเรา” มันคือธีมของหนังสือเล่มนี้ แต่กว่าที่เราจะรู้ว่าขุมทรัพย์นี้มันอยู่ใกล้ตัวเรา เป็นคนรักของเรา เป็นคนข้างๆ ที่อยู่ในครอบครัว เป็นเพื่อน เป็นสุขภาพที่ดี เป็นบ้านที่น่าอยู่ คือกว่าเราจะรู้ว่ามันเป็นสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ เราต้องออกไปใช้ชีวิตให้ครบทุกรูปแบบ ให้เจออะไรมาครบทุกอย่าง โดนหลอก โดนต้มตุ๋น มีความสุข มีความทุกข์ หลงทาง ไปเจอชีวิตทุกรูปแบบ คุณถึงได้รู้ว่าสิ่งเล็กๆ เหล่านี้แหละ มันคือขุมทรัพย์ที่อยู่ใกล้ๆ ตัวคุณ

“เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ”

“เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” (Sapiens: A Brief History of Humankind) ผลงานของยูวัล โนอา ฮารารี หนังสือสารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นับตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษที่เป็นลิง และพัฒนามาเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร โดยอธิบายถึงปัจจัยต่างๆ พร้อมแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ด้วยสำนวนการเล่าเรื่องที่สนุกสนานเหมือนอ่านนวนิยายเลยทีเดียว

“ที่เราชอบเล่มนี้เพราะว่ามันทำให้เราได้คำตอบอะไรหลายๆ อย่าง อย่างเช่น เรื่องศาสนา ความเป็นจักรพรรดิ หรือแม้กระทั่งเรื่องเงิน คือทุกสิ่งทุกอย่างมันมาจากเรื่องเล่าที่มนุษย์ทำให้คนอื่นๆ เชื่อ ศาสนาก็ทำให้คนที่อยู่ในชุมชนเชื่อและนับถือในสิ่งเดียวกัน ส่วนความเป็นจักรพรรดิ ความเป็นพระราชา ความเป็นพระมหากษัตริย์ก็เหมือนกับสร้างเรื่องราว เป็นสมมติเทพมาเกิด ทุกอย่างมันก็คือเรื่องเล่าที่ใครมาทำให้คุณเชื่อได้ไหม แล้วทำให้คนเชื่อเยอะได้มากแค่ไหน ถ้ายิ่งทำให้คนเชื่อได้เยอะมาก คุณก็จะมีคนเข้ามาอยู่ในชุมชนของคุณมาก อะไรแบบนี้ ก็เลยทำให้รู้สึกว่าเล่มนี้ดี” ไอซ์กล่าว

“หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว”

“หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” หรือ One Hundred Years of Solitude ผลงานวรรณกรรมระดับคลาสสิกของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนชาวโคลอมเบีย เจ้าพ่อแห่งสไตล์ “สัจนิยมมหัศจรรย์” และเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของละตินอเมริกา ที่ไม่ใช่แค่ประเทศ “โลกที่สาม” แต่เป็นดินแดนแห่งนักสู้ที่ไม่ยอมตกเป็นทาสใคร

นวนิยาย “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” บอกเล่าเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ อย่างครอบครัวบวนเดีย ที่ได้รับผลกระทบจากระบอบเผด็จการและทุนนิยม ในบรรยากาศแห่งความขัดแย้ง ความฉ้อฉล ความล่มสลาย และความเงียบงัน ซึ่งแม้จะมีเนื้อหาที่หนักหน่วง แต่ไอซ์ก็รู้สึกสนุกไปกับการเล่าเรื่องที่กระชับและมีสีสัน รวมทั้ง “เรื่องราวเบื้องหลัง” ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องเล่าอันมหัศจรรย์เล่มนี้

“มันบอกใบ้อะไรหลายๆ อย่างไว้ในเล่มนี้ ส่วนหนึ่งก็คือเรื่องการสังหารหมู่ คือคนในหมู่บ้านถูกเรียกไปแล้วถูกฆ่าที่จัตุรัสแห่งหนึ่ง โดนกราดยิงแล้วก็ตายหมดเลย พอตายหมด เขาก็เอาศพไปทำลาย แล้วก็มีคนคนหนึ่งที่รอดมาได้จากเหตุการณ์นี้ เขาก็พยายามบอกทุกคนว่ามันมีคนตายหลายพันคนในเหตุการณ์นี้ แต่ไม่มีใครเชื่อเขา บอกว่าคุณโกหก ถ้าสมมติว่ามีคนตายจริงต้องมีคนรู้สิ นี่ไม่มีคนรู้ได้ยังไง เขาก็พยายามถามว่า ผัวคุณล่ะไปไหน ลูกสาวคนนั้นหายไปไหน ทุกคนก็ตอบไม่ได้นะ แต่ทุกคนก็เลือกที่จะ “ไม่เป็นไรนี่” ก็ลืมๆ มันไป”

“เรารู้สึกว่ามันทาบทับกับเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ในโลกนี้ อย่างในไทย 6 ตุลา 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ เสื้อแดง 53 หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ ทุกอย่างมันถูกทำให้หายไปโดยอำนาจรัฐ แล้วมันเหมือนกันเลยคือหลายคนพยายามป่าวประกาศบอกสังคมว่ามันมีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง มีคนโดนทำร้าย มีคนโดนละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่บางคนอาจจะคิดว่าแล้วไง ไม่เกี่ยวกับฉัน ไม่ใช่คนในบ้านฉัน แล้วยังไง

ความประทับใจจาก “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ทำให้ไอซ์เริ่มเก็บสะสมผลงานของมาร์เกซเล่มอื่นๆ ด้วย

“การอ่านวรรณกรรมมันดีอย่างหนึ่งตรงที่ทำให้เราได้เข้าใจความรู้สึกแบบในสมัยก่อน ฉากในสมัยก่อนว่าสังคมสมัยก่อนมันเป็นอย่างไร บางเล่มเราก็จะ เฮ้ย.. มันเคยมีสังคมอะไรแบบนี้อยู่ด้วยจริงเหรอ มันก็อาจจะทำให้เราอยากกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของแถวๆ นั้นมากขึ้น แล้วเราก็จะได้รู้ว่า อ๋อ... สมัยก่อนมันมีการต่อสู้มาก่อนหน้านี้นะ มันถึงมาเป็นตรงนี้ หรือก่อนหน้าโน้นไปอีก มันเป็นอย่างไร มันก็จะบอกเล่าผ่านหนังสือ” ไอซ์อธิบาย

“ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี”

“ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” โดยณัฐพล ใจจริง เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองไทยในยุคสงครามเย็น ที่มีตัวละครหลักเป็นรัฐบาลไทย ชนชั้นสูงของไทย และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตื่นรู้ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน และยังเป็นการเปิดศักราชใหม่ของหนังสือวิชาการ ที่คนทั่วไปเคยมองว่าอ่านยากและน่าเบื่อ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ หนังสือประวัติศาสตร์เชิงวิชาการเหล่านี้กลับให้ข้อมูลใหม่ๆ ที่หาไม่ได้จากในตำราเรียน ทำให้เกิดเป็นกระแส “หนังสือประวัติศาสตร์ฟีเวอร์” ที่ไม่ว่าจะไปงานไหนก็ “บูทแตก” ทุกครั้ง

สำหรับไอซ์ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” เป็นหนังสือที่ทำให้เธอ “ตาสว่าง” เกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อการเมืองไทย โดยการเติมเนื้อหนังประวัติศาสตร์การเมืองที่มากกว่าข้อมูลที่เธอเคยได้รู้มาก่อน

มันอธิบายความขัดแย้งในปัจจุบันว่าจุดเริ่มต้นมันมาจากอะไร แล้วกระบวนการที่สร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งเหล่านี้มันเริ่มมาจากไหน รวมทั้งการสร้างโฆษณาชวนเชื่อแล้วทำให้คนกลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่คลั่งเจ้ามากๆ อย่างนี้ กระบวนการมันเป็นอย่างไร เล่มนี้อธิบายได้ค่อนข้างดี ถามว่าเล่มอื่นมันดีไหม มันก็ดีเหมือนกัน ข้อมูลมันแน่นเหมือนกัน แต่ว่าเล่มนี้มันดันส่งผลมาจนถึงปัจจุบันตอนนี้ ที่เรายังมีชีวิตกันอยู่ แล้วความขัดแย้งมันก็ยังอยู่”

นอกจากข้อมูลแน่นๆ แล้ว จุดเด่นของ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” คือวิธีการผูกเรื่องและเล่าเรื่องราวจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ไอซ์บอกว่า “แซ่บ” จริงๆ

“ตั้งแต่บทแรกเลย มันแซ่บจริงๆ คือถ้าใครชอบอ่านหนังสือหักเหลี่ยมเฉือนคม สามก๊ก Game of Thrones เล่มนี้มันฟีลประมาณนั้นเลย ทหาร ตำรวจ ชนชั้นนำต่างๆ แย่งชิงอำนาจ แบ่งเป็นหลายก๊กหลายเหล่า แล้วก็ตีกัน ตบกัน เดี๋ยวก็หักหลังกัน เดี๋ยวก็คนนี้ตีกับคนนั้น แล้วก็ดีกัน แล้วก็มาร่วมมือ แล้วก็ไปตีกับคนนี้ใหม่ สักพักไอ้ที่ร่วมมือกันก็แยกกัน สนุก” ไอซ์ยืนยันหนักแน่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ ของ 5 หนังสือสร้างตัวตนของ “ไอซ์ รักชนก”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook