“เอกไอดอล-อินฟลูเอนเซอร์” วิชาแห่งอนาคตจากรั้วศิลปากร
Highlight
- เอกการจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ เอกวิชาน้องใหม่จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- เปิดการเรียนการสอน เตรียมพร้อมผู้เรียนที่ต้องการทำอาชีพในแวดวงออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง
- สิ่งสำคัญของการเป็นไอดอลหรืออินฟลูเอนเซอร์ คือ การหาอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองให้เจอ รวมถึงเตรียมพร้อมและฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น
- วิชาเปิดใหม่ที่น่าสนใจคือ งานอดิเรกศึกษา (Hobby Studies) และการรับมือกับแฟนคลับ ซึ่งเป็นวิชาที่สำคัญสำหรับการทำอาชีพไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์
- แม้เทรนด์ตลาดโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับการใช้อัตลักษณ์และการขายของไปอีกนาน ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงก็เป็นอีกทางหนึ่งที่เด็กรุ่นใหม่ควรทำ
เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของมนุษย์ยุคใหม่มากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ก็หันมาพึ่งพาโลกออนไลน์เพื่อให้สินค้าถูกมองเห็นมากขึ้นตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากเม็ดเงินที่ไหลบ่าเข้าสู่ธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างรายได้ให้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์แทบทุกวงการ จึงไม่แปลกนักหากอาชีพ “ไอดอล” และ “อินฟลูเอนเซอร์” จะกลายเป็นอาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่หลายคน นั่นจึงเป็นที่มาของ “เอกการจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์” เอกวิชาน้องใหม่จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เน้นการ “สร้างอัตลักษณ์” ของผู้เรียนเพื่อตอบโจทย์ตลาดออนไลน์ที่โตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
เอกการจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจในปัจจุบันต้องอาศัย “ช่องทางออนไลน์” เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ตลาดออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นเท่าตัว คนส่วนใหญ่พึ่งพาและมีแนวโน้มที่จะจับจ่ายซื้อของตาม “การรีวิว” ของคนมีชื่อเสียง ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนทำให้อาชีพรีวิวสินค้าหรืออินฟลูเอนเซอร์ กลายเป็นอาชีพสุดฮอตที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากเป็น
ไม่ใช่แค่อินฟลูเอนเซอร์เท่านั้นที่กลายเป็นอาชีพสุดร้อนแรงในยุคนี้ อาชีพ “ไอดอล” ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพของคนมีฝัน ที่มีความสามารถและทักษะการแสดงในด้านต่าง ๆ นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ ดร.นลิน เพ็ชรอินทร์ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาธุรกิจดนตรีและบันเทิง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่าคณะควรเปิด “เอกการจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์” เพื่อเตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่สู่ตลาดออนไลน์ที่กำลังเติบโต
“เรามีเทรนด์ของอินฟลูเอนเซอร์มาบอกเราว่า สิ่งนี้น่ากิน สิ่งนี้น่าใช้ ที่นี่น่าไปเที่ยว แล้วเราก็มีรายการไอดอล มีเทรนด์ของการทำ T-Pop ขึ้นมา แล้วเรายังมองไปถึงว่า คาแรกเตอร์ของเด็กทุกวันนี้ เขาไม่ได้มองหาอะไรที่เกินตัวหรือไกลตัว เขาไม่ได้มองอาชีพปกติที่มีอยู่ เขาไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร เขาอยากเป็นเจ้านายตัวเอง อยากดูแลตัวเอง อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันคือการสร้างตัวตนของเขา และเราค่อนข้างมั่นใจว่าเด็กในเจเนเรชั่นนี้ค่อนข้างให้ความสนใจกับอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเอง ก็เลยเป็นที่มาว่าเราน่าจะเปิดเอกนี้ขึ้น” ดร.นลิน เริ่มต้นเล่า
“ไอดอลกับอินฟลูเอนเซอร์คือโมเดลที่ให้คนเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งถ้าพิจารณาดี ๆ ทั้งสองอย่างมีองค์ประกอบที่เหมือนกัน ทั้งการสร้างและฐานแฟนคลับ แต่ว่าเป้าหมายคือการหาตัวตนของตัวเอง และใช้ทักษะนี้ในการทำธุรกิจของตัวเองในรูปแบบตัวเอง รู้จักนำเสนอ รู้จักทำคอนเทนต์ ให้กลายเป็นของตัวเอง” ดร.นลินอธิบาย
ธุรกิจที่ต้องใช้อัตลักษณ์ตัวตนและทักษะ
แม้หลายคนจะมองว่า ปัจจัยสำคัญของอาชีพอินฟลูเอนเซอร์และไอดอลคือ “หน้าตา” แต่ ดร.นลิน ชี้ว่า สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ “ทักษะ” และคนทั่วไปจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าอาชีพเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “วงการบันเทิง” โดยยกตัวอย่าง “พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์ชื่อดังและหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของยุค ที่มีผู้ติดตามดูไลฟ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งผู้ชมหลายคนก็ก็ไม่ได้เข้ามาซื้อของ เพียงแต่เปิดดูเพื่อความบันเทิง
“ถ้าเรามองแค่ธุรกิจดนตรีและบันเทิง มันก็จะมีแค่นี้ แต่ถ้าเราแปลความมากกว่านั้น คุณมีตลาดทั้งโลกเลย คุณเป็นอะไรก็ได้ แม้แต่คนเป็นหมอก็ยังมีสิทธิ์เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ถ้ามองแบบนี้ ตลาดเราก็เยอะ และนั่นคือสิ่งที่เราโฟกัสให้เด็กเป็น” ดร.นลินกล่าว
ด้วยเป้าหมายที่จะผลักดันผู้เรียนให้สามารถเข้าสู่ตลาดยุคใหม่ วิชาที่ผู้เรียนในเอกวิชาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ฯ ต้องเรียน จึงประกอบด้วย 3 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ ด้านธุรกิจ, ด้านทักษะ และด้านเทคโนโลยี โดยผู้เรียนจำเป็นต้องเข้าใจโครงสร้างของธุรกิจ ทั้งในเรื่องการตลาด ประชาสัมพันธ์ กฎหมายธุรกิจ รวมไปถึงความรู้พื้นฐานอื่น ๆ ในการทำธุรกิจ
“ทักษะเป็นสิ่งที่เราจะขุดเขาขึ้นมาว่า เขาต้องมีทักษะอะไรบ้าง ที่ทำให้เขามีคาริสมา มีเสน่ห์ และหาตัวเองเจอ ก็จะประกอบไปด้วยการร้อง การเต้น และการแสดง” ดร.นลินเล่า “แล้วก็มีทักษะด้านอื่น ๆ ที่จะพัฒนาตัวเขาเองให้กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการพูดโน้มน้าวจิตใจ เราต้องพูดกับคนให้รู้เรื่อง ต้องรู้ว่าเราพูดอะไร และพูดอย่างไรให้คนแต่ละกลุ่มสนใจฟัง รวมไปถึงทักษะการไลฟ์ ที่ต้องทำการไลฟ์สตรีมมิ่งในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่อาจจะเปลี่ยนไปทุกวัน และการแต่งหน้าที่ก็เป็นส่วนของทักษะ ซึ่งเป็นส่วนที่เยอะที่สุดที่จะหาตัวตนหรือหาคาแรกเตอร์ของเขาออกมา ให้รู้ว่าเขาเจ๋งตรงไหน ต้องโชว์อะไรให้ใครดู”
วิชาใหม่เพื่อไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์
ความท้าทายในการสร้างเอกวิชาใหม่ คือวิชาที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าถึงและสามารถเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกันมากที่สุด โดย ดร.นลิน ได้ยกตัวอย่างวิชาที่น่าสนใจและเป็นวิชาที่ไม่เคยมีใครเคยได้ยินมาก่อน นั่นคือวิชา งานอดิเรกศึกษา (Hobby Studies) ที่จะช่วยดึงอัตลักษณ์ตัวตนของผู้เรียนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นผ่านการทำงานอดิเรก
“เด็กแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน ทุกคนมีงานอดิเรกที่ไม่เหมือนกัน เราไม่มีทางสร้างตัวตนคนจากการบอกว่า ทุกคนไปเรียนทำขนม ทุกคนไปเรียนเย็บผ้า ไม่มีทาง แล้วงานอดิเรกที่ทุกคนมองข้าม มันคือคาแรกเตอร์จริง ๆ ที่คุณไปทำ” ดร.นลินชี้
ด้านณฤทัย ตันสุขเกษม อดีตสมาชิกวงไอดอล Siamese Kittenz ก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อการก่อตั้งเอกวิชาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ฯ ว่าจะช่วยเตรียมความพร้อมและสร้างทักษะให้คนที่มีความฝัน สามารถทำงานอยู่ในแวดวงนี้อย่างมีความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริง
“การที่เรามีทักษะต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ดีมาก ยิ่งไอดอลหรืออินฟลูเอนเซอร์ ไม่จำเป็นต้องเป็นเบื้องหลังก็ได้ แต่เราก็ควรจะเข้าใจงานเบื้องหลัง เพราะมันจะเข้าหากันตรงกลางและทำงานง่ายขึ้น” ณฤทัยกล่าว พร้อมยกตัวอย่าง 2 วิชาที่เธอมองว่าน่าสนใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือวิชาธุรกิจที่ทั้งคนเบื้องหน้าและเบื้องหลังควรเข้าใจ
“แล้วก็มีอีกวิชาหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ คือวิชารับมือกับแฟนคลับ เรารู้สึกว่ามันเป็นวิชาที่น่าสนใจมาก และคิดว่าหลายมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้ หรือในวงการเองก็อาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เท่าที่ควร แต่พอมีวิชานี้ขึ้นมา เรารู้สึกว่าเป็นจุดแรกที่ดีมาก ที่ศิลปินหรือคนดูแลจัดการวงควรรู้ว่า เราจะรับมืออย่างไร บริหารอย่างไร เพราะการทำงานเหล่านี้ต้องอยู่กับแฟนคลับเป็นหลักอยู่แล้ว” ณฤทัยอธิบาย
เติบโตรับโลกที่เปลี่ยนแปลง
แม้อาชีพไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์อาจจะดูเป็นเส้นทางอาชีพที่ไม่มั่นคงนัก แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่หลายสิ่งรอบตัว การปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เป็นทางหนึ่งที่เด็กยุคใหม่ควรเตรียมตัวให้พร้อม เช่นเดียวกับสถานศึกษา ครอบครัว และสังคม
“วงการไม่อยู่นิ่ง ไม่มีทางหยุดนิ่ง แล้วทุกวันนี้มันแทบจะเปลี่ยนปีชนปี นั่นคือเหตุผลที่เรามองว่าเอกวิชานี้จะเป็นสาขาที่พร้อมปรับเปลี่ยนตามเทรนด์ตลอดเวลา และเราก็ค่อนข้างมั่นใจว่า เทรนด์ตลาดโลกในอนาคตก็ไม่ได้หนีการขายของ การใช้อัตลักษณ์ของเรา และไม่ได้หนีโลกออนไลน์ไปเลยแน่นอน เราต้องอยู่กับมันอีกนาน แต่ในรายละเอียด มันต้องปรับกันแทบจะวันชนวัน แต่เราก็ได้เตรียมสิ่งนั้นไว้แล้ว ว่าเราจะปรับเปลี่ยนพัฒนาอย่างไรให้ทัน” ดร.นลินกล่าวปิดท้าย