“ช่อ พรรณิการ์” นักอ่านประชาธิปไตยและคอนิยายทมยันตี
Highlight
- “ช่อ – พรรณิการ์ วานิช” กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าและนักการเมืองหญิงจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ เป็นนักอ่านและแฟนนวนิยายของทมยันตี นักเขียนอาวุโสที่มีบทบาททางการเมืองตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตย
- นวนิยายเล่มโปรดของช่อ ได้แก่ “เลือดขัตติยา” “A Thousand Splendid Suns” และ “Chanel an Intimate Life” ล้วนเป็นนวนิยายชั้นดีที่มีเนื้อหาและภาษาสวยงาม รวมถึงสร้างพลังให้กับผู้หญิง
- ช่อมองว่า ทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย และนักอ่านมีสิทธิในการไม่สนับสนุนผลงานของนักเขียนที่มีแนวคิดที่แตกต่างกับตนเอง ขณะเดียวกัน นักเขียนที่มองเห็นคุณค่าต่างจากแฟนคลับรุ่นใหม่ ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน
ในเวทีการเมืองไทย เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “ช่อ – พรรณิการ์ วานิช” นักการเมืองหญิงจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ และปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ด้วยบุคลิกแบบสาวสมัยใหม่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ไอเดียการแต่งกายสุดเก๋ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ตลอดเวลา ทว่าภายใต้ลุค “ผู้หญิงหัวก้าวหน้า” น้อยคนที่จะรู้ว่าเธอเป็นคอนวนิยายตัวยง โดยเฉพาะผลงานของ “ทมยันตี” หรือคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นักเขียนอาวุโสผู้ล่วงลับ ที่มีบทบาททางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และถือว่ายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
“เราก็เป็นคนชอบอ่านนิยายอยู่แล้ว 90% ของหนังสือที่อ่านในชีวิตเป็นนิยาย แม้ว่าหน้าตาจะดูเนิร์ด” ช่อเริ่มเล่าถึงวิถีนักอ่านของเธอ ก่อนที่จะหยิบนวนิยายเล่มโปรดเรื่องแรกขึ้นมา
เลือดขัตติยา
“ทมยันตีเขาจะมีนิยายแนวที่เขาเรียกเองว่าลิเกฝรั่ง ก็คือเจ้าหญิงเจ้าชาย อาณาจักรสมมติ ซึ่งช่ออ่านนิยายทมยันตีเล่มแรกโดยนามปากกาลักษณาวดี คือดั่งดวงหฤทัย ก็หวานจ๋อยหวานเจี๊ยบ พาฝัน ฟรุ้งฟริ้ง มุ้งมิ้ง ดรายไอซ์กระจุยมาก อ่านแล้วก็ อุ๊ย! เพลิน ชอบ เพราะเราเป็นคนชอบอ่านวรรณคดี พอมาอ่านนิยายทมยันตีมันมีความวรรณคดีไง เขาใช้ภาษาสวย แต่พอมาอ่านไปเรื่อยๆ ดั่งดวงหฤทัยไม่ใช่หนังสือที่เราชอบที่สุด” ช่อเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้รู้จักกับผลงานพาฝันของทมยันตี
ในฐานะอดีตนักศึกษาด้านรัฐศาสตร์และนักการเมือง ช่อกล่าวว่า นวนิยายของทมยันตีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอสนใจเรื่องการเมือง เพราะนวนิยายหลายเรื่องของนักเขียนผู้นี้ไม่ได้มีแค่เรื่องความรัก แต่ยังสอดแทรกประเด็นการเมืองด้วย เช่นเดียวกับเลือดขัตติยา ที่ไม่เพียงแต่เล่าเรื่องราวความรักต้องห้ามระหว่างเจ้าหญิงกับนายทหารเท่านั้น แต่ยังมีการขับเคี่ยวชิงอำนาจกันในเรื่อง ภายใต้ภาษาที่สวยงามตามลายเซ็นของนักเขียนอาวุโสผู้นี้
“เรื่องนี้มันบอกความเป็นจริงอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความรัก ความรักที่สมหวัง เรารักเขาและเขารักเรา อันนี้เรียกว่าสมหวังแล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน ก็คือเป็นความรักที่เรารู้สึกว่าโรแมนติก แม้ว่าจะจบแบบโศกนาฏกรรมที่อีกฝ่ายต้องฆ่าอีกฝ่าย มันก็ยิ่งเป็นความรักที่น่าประทับใจเข้าไปใหญ่ เพราะว่าไม่ได้อยู่ด้วยกันนี่แหละ แต่ว่าสุดท้ายแล้วคุณก็ทำให้คนที่คุณรักได้อยู่ในที่ที่ดีที่สุด เราก็เลยรู้สึกว่าชอบ” ช่อกล่าว
A Thousand Splendid Suns
A Thousand Splendid Suns ผลงานลำดับที่ 2 ของคาเลด โฮสเซนี นักเขียนชาวอัฟกัน-อเมริกัน ผู้เขียน The Kite Runner หรือในชื่อภาษาไทยว่า “เด็กเก็บว่าว” เป็นอีกหนึ่งนวนิยายเล่มโปรดของช่อ ที่เธอเล่าว่ามีเนื้อหาแตกต่างจากเลือดขัตติยา ทว่ามีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ ภาษาและการบรรยายที่สละสลวย
“คุณธนาธรเป็นคนแนะนำเล่มนี้และนักเขียนคนนี้ด้วยการโฆษณาแบบเกินจริงมากว่า ผมร้องไห้หนักมากตอนที่อ่านเล่มนี้ ปรากฏว่า เออ… ไม่โฆษณาเกินจริงฉันก็ร้องไห้หนักมากเช่นเดียวกัน” ช่อเล่าถึงการ “ป้ายยา” โดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ผู้ซึ่งหลงรักนวนิยายเรื่องนี้ และมักแนะนำให้หลายๆ คนได้อ่าน
นวนิยายของคาเลด โฮสเซนี มักจะเป็นเรื่องราวของชาวอัฟกันที่เป็นคนชายขอบในยุคที่กลุ่มตาลิบันครองอำนาจ ซึ่ง A Thousand Splendid Suns เป็นเรื่องราวของผู้หญิง ซึ่งถือว่าอยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหารในสังคมชายเป็นใหญ่
“เฟมินิสต์มากเล่มนี้ แล้วก็เป็นเรื่องที่อ่านแล้วทำให้รู้สึกว่ามีความเพื่อนหญิงพลังหญิง แต่ว่าในทางกลับกัน ช่อคิดว่า เล่มนี้มันสื่อสารไปถึงผู้ถูกกดขี่หรือผู้ที่ถูกกันให้อยู่ชายขอบทุกคนว่า ตัวคุณที่รู้สึกว่าไม่มีพลังอำนาจ ถ้าคุณคิดจะสร้างการเปลี่ยนแปลงน่ะ คุณสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ส่งผลแค่คุณ แต่มันส่งผลต่อสังคม ต่อที่ที่คุณอยู่”
ช่อกล่าวว่า ภายใต้ภาษาที่เพริศแพร้วนั้น นวนิยายเรื่องนี้มีเนื้อหาที่หนักหน่วง หม่นมืด หดหู่ และทำให้เธอเสียน้ำตา อย่างไรก็ตาม มันก็มอบความหวังให้ผู้อ่านอย่างที่สุดเช่นกัน
“เล่มนี้เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความหวัง ความหวังของการต่อสู้ของคนที่ดูเหมือนจะไม่มีทางสู้ ความหวังของประเทศที่ดูเหมือนไม่มีอนาคต แต่สุดท้ายแล้วมันมีอนาคต เพราะเราไม่ยอมให้มันไม่มีอนาคตไง เราสู้เพื่อให้มันได้กลับมามีอนาคตที่ดีอีกครั้งหนึ่ง ให้มันเป็นเมืองแห่งพระอาทิตย์อันแสนงามพันดวงอีกครั้งหนึ่ง” ช่อสรุป
Chanel an Intimate Life
นวนิยายชีวประวัติของ “โคโค ชาแนล” นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Chanel เขียนโดยลิซา เชนีย์ ที่ไม่เพียงแต่บอกเล่าที่มาที่ไปของแบรนด์หรูนี้เท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นถึงการต่อสู้ของโคโค ชาแนล ผู้หญิงหัวก้าวหน้าในศตวรรษที่ 20 ด้วย
สำหรับช่อ แบรนด์ Chanel คือสัญลักษณ์แห่งการ “ปลดแอก” ผู้หญิงในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นชุด Little Black Dress ที่ฝ่าขนบการแต่งกายของผู้หญิงในสมัยก่อน จากเสื้อผ้าที่หรูหราฟู่ฟ่า เน้นทรวดทรง กลายเป็นชุดทรงตรง สีดำ รวมทั้งกระเป๋าสะพาย ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงทำงานในยุคนั้น เรียกได้ว่า โคโค ชาแนล เป็นผู้หญิงที่มาก่อนกาล และต้องต่อสู้กับแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่หนักหนากว่าผู้หญิงในยุคปัจจุบันมาก
“อ่านแล้วมันทำให้รู้สึกว่าสมัยนี้เราต่อสู้กับอะไรมากแล้ว ผู้หญิงสมัยก่อนต่อสู้กับอะไรที่มากกว่าเราเยอะนะ คือแค่การที่เขาคิดจะเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง ก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมสมัยนั้นมองเขาเป็นเรื่องตลกขบขันว่า บ้าหรือเปล่า การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีแบรนด์เสื้อ มีร้านที่เป็นกิจการของตัวเอง มันก็ไม่ได้ทำให้ร่ำรวยหรือว่าสร้างเนื้อสร้างตัวได้หรอก มันก็คงเป็นแค่อาชีพยามว่างของพวกเมียน้อยเศรษฐี ซึ่งสำหรับผู้หญิงที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองสูง อย่างโคโค ชาแนล ช่อว่ามันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดนะ”
“มันทำให้เราเห็นว่า เราว่ายุคนี้มันมีความยากลำบากแล้ว ทุกยุคมันมีความยากลำบากของมัน แล้วเผลอๆ ยากกว่าเรา เรานี่เป็นคนแคระบนบ่ายักษ์เนอะ เรายืนอยู่บนผลประโยชน์ที่คนอื่นเขาต่อสู้กันมาตั้งเยอะแล้ว และเราก็จะทำต่อไปให้คนรุ่นหลังได้ยืนบนบ่าเราเหมือนกัน” ช่อกล่าว
เมื่อนักเขียนคนโปรดยืนอยู่คนละฝั่งทางการเมือง
ในยุคที่คนรุ่นใหม่ “ตาสว่าง” เกี่ยวกับสังคมและการเมืองมากขึ้น แต่หลายครั้งเรากลับพบว่า นักเขียนหลายคนที่เคยเป็นไอดอลทางความคิดของคนรุ่นใหม่ กลับมีท่าทีที่ตรงกันข้ามกับความเป็นไปของสังคม โดยเฉพาะทัศนคติที่มีต่อประชาธิปไตย ซึ่งกรณีที่ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายคือกรณีของทมยันตีที่มีบทบาทในการยุยงให้เกิดการสังหารหมู่ประชาชนและนักศึกษา ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ช่อกล่าวถึงกรณีนี้ว่า ส่วนตัวเธอเริ่มอ่านนวนิยายจากห้องสมุด โดยเลือกจากเนื้อหาและสำนวนที่ถูกใจ และไม่ได้ยึดติดกับตัวผู้เขียนแต่อย่างใด จึงไม่ได้รู้สึก “อกหัก” รุนแรงมากนัก เมื่อนักเขียนคนโปรดยืนอยู่คนละฝั่งทางการเมืองกับเธอ พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า ความเห็นและจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย และหากเราไม่ชอบที่จะถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก็ไม่ควรไปปิดกั้นคนอื่นเช่นกัน
“ช่อคิดว่าหลักการง่ายๆ คือ หนึ่ง คุณต้องยอมรับว่าสังคมนี้ไม่ได้มีทัศนคติทางการเมืองแบบเดียว สอง การที่คนที่คุณชอบ รัก ปลื้ม ดาราหรือใครก็ตาม มีทัศนคติทางการเมืองไม่ตรงกับคุณ เป็นสิทธิของเขา แต่ในฐานะที่คุณเป็นลูกค้า คุณสนับสนุนสินค้าของเขา คุณมีอำนาจเต็มที่ที่คุณจะแบน”
“เหมือนดาราฝั่งประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งก็ต้องต่อสู้กับเรื่องแบบนี้ด้วย ครั้งหนึ่งเขาก็เคยโดนแบน แล้วเขาก็บอกว่าฉันจะเชื่อแบบนี้ มันคือสิ่งที่ถูก และฉันก็ยอมรับว่าฉันมีราคาที่ต้องจ่าย คนฝั่งที่เป็นอนุรักษ์นิยมก็เช่นเดียวกัน คุณก็ต้องยอมรับนะ เพราะว่าในเมื่อสังคมกำลังเปลี่ยน และคนในสังคมกำลังเริ่มมองคุณค่าในแบบที่คุณไม่เห็นน่ะ เขามองคุณค่าของความเท่าเทียม คุณค่าของประชาธิปไตย แต่ถ้าคุณบอกว่าคุณไม่ให้คุณค่ากับสิ่งนี้ คุณก็มีราคาที่ต้องจ่าย นี่ก็คือเรื่องปกติ นี่ก็คือการต่อสู้ทางวัฒนธรรม” ช่ออธิบาย
ในฐานะแฟนนวนิยายของทมยันตี ที่สะสมผลงานของนักเขียนผู้นี้เกือบครบทุกเล่ม ช่อคิดว่าเธอไม่จำเป็นต้องเผานวนิยายของเธอทั้งคอลเลคชั่นทิ้ง เพราะหนังสือเหล่านี้สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับเธอในวัยเด็ก และจนกระทั่งเติบโตขึ้น เธอค้นพบว่านวนิยายหลายเรื่องสนับสนุนค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้แง่มุมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
“เราก็ศึกษาว่านิยายของทมยันตีมันทำให้เกิดคุณูปการหรือผลในทางลบใดๆ ต่อสังคมไทย แล้วก็มานั่งคุย ช่อชอบมาก เพลินมากที่ได้มานั่งถกเถียงว่าคู่กรรมสร้างทัศนคติแบบไหน ชาตินิยมแบบไหน ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ลบล้างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างไร หรือว่านิยายคลาสสิกเล่มอื่นๆ มากมายของทมยันตี มันส่งผลต่อสังคมหรือผู้อ่านอย่างไร และเรามองอย่างเท่าทันและรอบด้าน”
ช่อกล่าวว่า การอ่านหนังสือไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ตราบใดที่คนเราไม่คลั่งไคล้นักเขียนในระดับที่คนเหล่านั้นทำอะไรก็ไม่ผิด
“อันตรายอย่างเดียวที่จะเกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือของบุคคลที่มีแนวคิดทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยก็คือ เมื่อเราเชื่อเต็มร้อยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาพูดหรือเขียนนั้นถูกต้องและเราต้องเชื่อตาม ย้ำอีกครั้ง มันไม่มีอันตรายหรอกจากการอ่านหนังสือ ตราบใดที่เราไม่อ่านแล้วเราเชื่อทุกบรรทัดน่ะ” ช่อสรุป
อัลบั้มภาพ 19 ภาพ