เอาตัวรอดจากการเมืองในที่ทำงานด้วยการ อยู่ให้เป็น

เอาตัวรอดจากการเมืองในที่ทำงานด้วยการ อยู่ให้เป็น

เอาตัวรอดจากการเมืองในที่ทำงานด้วยการ อยู่ให้เป็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเมืองในที่ทำงาน เป็นปัญหาสุดคลาสสิกของบรรดามนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ไม่ว่าจะในหน่วยงานราชการ เอกชน องค์กรเล็ก องค์กรใหญ่ องค์กรไทย หรือองค์กรต่างชาติ เราล้วนมีโอกาสที่จะต้องเข้าไปพัวพันเป็นส่วนหนึ่งในเกมได้ทั้งสิ้น ต้องเผชิญกับสถานการณ์น่าอึดอัด ผจญภัยสารพัดรูปแบบเพื่อให้อยู่รอด บางคนอาจต้องลุกขึ้นสู้รบตบมือ หรือบางคนต้องพยายามสงบปากสงบคำก้มหน้าทำงานไปอย่าได้ปริปาก และสำหรับคนที่อ่อนแอก็ต้องแพ้ไป ถึงขั้นยื่นใบลาออกกันไปข้างก็มีไม่น้อยเช่นกัน

การเมืองในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งมาคู่กับการทำงาน ถึงแม้ว่าดูเผิน ๆ ใครต่อใครก็อาจจะทำงานสามัคคีเข้าขากันดี ดูรักใคร่ ปรองดอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่จริง ๆ แล้วเป้าหมายการทำงานไม่มีใครอยากจะย่ำอยู่กับที่ ทุกคนอยากเลื่อนตำแหน่ง อยากขึ้นเงินเดือน อยากประสบความสำเร็จในการทำงาน เมื่อเราพยายามทำผลงานของตัวเองให้ดีเพื่อไปจุดนั้น ระหว่างทางก็มีทั้งคนสนับสนุนและอิจฉา ซึ่งคุณก็อาจสร้างศัตรูในมุมมืดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

การเมืองในที่ทำงานไม่เพียงแต่เป็นเรื่องระดับบุคคล เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นปัญหาในระดับองค์กร องค์กรส่วนใหญ่มักอยากเห็นพนักงานรักใคร่สามัคคี ปรองดอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้องค์กรได้ประโยชน์สูงสุด แต่ก็มีบางองค์กรที่มีวิธีการปกครองคนที่ต่างไปจากนั้น โดยใช้วิธีการ “Divide and Rule” หรือ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” ลักษณะนี้นำไปสู่ “การเมืองในที่ทำงาน” ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

แบ่งแยกแล้วปกครอง ทำให้คนต้องแตกแยกกัน

วิธีนี้เป็นลักษณะของ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” คือความพยายามแยกให้คนแตกออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จากนั้นค่อยปกครองกลุ่มเล็กนั้นอีกที เพราะกลุ่มเล็กสามารถปกครองได้ง่ายกว่า วิธีการนี้ส่วนมากจะใช้ในองค์กรใหญ่ มีหลายแผนก แต่ละแผนกมีพนักงานหลายคนหลายระดับงาน พนักงานแต่ละคนจะมีความทะเยอทะยานอยู่ในตัว ที่จะพยายามชิงดีชิงเด่นกันเพื่อสร้างผลงาน ซึ่งก็อาจมีแผน “เลื่อยขาเก้าอี้” ของอีกฝ่ายที่เป็นคู่แข่งด้วย

เทคนิคนี้จะสร้างหรือกระตุ้นให้พนักงานแบ่งแยกแข่งขันกัน เป็นวิธีที่ช่วยดึงศักยภาพที่มีอยู่ของพนักงานแต่ละคนออกมา เพราะทุกคนต้องเร่งทำผลงานเพื่อเอาตัวรอด ใครไม่มีผลงานพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ก็ต้องออกไป ทำให้สุดท้ายองค์กรจะเหลือแต่ทรัพยากรบุคคลที่คัดมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพต่อองค์กรจริง ๆ เพื่อให้องค์กรได้ประโยชน์มากที่สุด ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องปกครองคนกลุ่มเล็กที่ถูกแบ่งแยกกันแล้ว ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อท้าทายอำนาจส่วนกลางด้วย

เมื่อทุกคนต่างพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ เค้นศักยภาพของตัวเองออกมาแข่งขัน ถ้าไปได้สวย ก็อาจกลายเป็นตัวเต็ง เป็นคนที่ถือไพ่เหนือกว่า จึงอาจจะมีเพื่อนร่วมงานหลายคนแอบหมั่นไส้ รู้สึกอิจฉาอยู่ในใจ และบางทีก็อาจหาโอกาสเอาชนะบ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนร่วมงานจึงกลายเป็นศัตรูกันไปโดยปริยาย เพราะการแบ่งแยกแข่งขันกันเช่นนี้

แม้ว่าวิธีนี้จะใช้ได้ผล แต่สภาพของการทำงานร่วมกันในออฟฟิศ แทบไม่ต่างจากการต้องทำ “สงครามประสาท” ใส่กันอยู่ทุกวัน เพื่อนร่วมงานอาจเดินเข้ามาหาเราด้วยรอยยิ้ม ทักทายอย่างเป็นกันเอง แต่ในใจเขาคิดอะไรอยู่ก็ไม่อาจคาดเดาได้ เมื่อเราไม่รู้ว่าใครคือมิตรแท้ และใครคือศัตรูในคราบของมิตร บรรยากาศการทำงานก็อาจจะอึดอัด ไม่น่าอยู่ เพราะมัวแต่หวาดระแวงเพื่อนร่วมงานกันเอง ไม่กล้าไว้ใจใคร ท้ายที่สุดอาจตั้งป้อมกลายเป็นศัตรูกันเอง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีคลื่นใต้น้ำ ถ้าเป็นทีมลูกรักก็สนับสนุนทุกอย่าง แต่ถ้าตั้งตัวเป็นปรปักษ์ก็จะกลายเป็นทีมลูกชังทันที

อยู่ให้เป็นคือทางรอด แต่แบบไหนคืออยู่เป็น

เราไม่สามารถหนีการเมืองในออฟฟิศได้เลย เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีการใช้อำนาจบางอย่างเพื่อให้งานบรรลุผลหรือเพื่อปกครองให้คนในองค์กรอยู่ร่วมกันได้อยู่แล้ว ดังนั้น วิธีรับมือกับเกมการเมืองในที่ทำงานมีเพียงวิธีเดียว คือ “การอยู่ให้เป็น”

คนทำงานล้วนแล้วแต่อยากก้าวหน้าด้วยกันทั้งนั้น เพราะการแข่งขันมันสูง ปลายทางจึงไม่ได้มีที่ยืนที่พอสำหรับทุกคน คนที่จะได้ไปต่อคือคนที่เก่ง แกร่ง และยอดเยี่ยม อย่างไรก็ดี แค่นี้มันไม่พอที่จะเรียกว่า “อยู่เป็น” ต้องมีไหวพริบและชั้นเชิงในการเอาตัวรอด บางสถานการณ์อาจต้องพึ่งเล่ห์เหลี่ยมบ้างด้วยซ้ำไป ในองค์กรใหญ่ ๆ เราอาจเจอเกมที่รุนแรงชนิดที่ว่าถ้าเราไม่ล่าก่อนก็อาจต้องกลายเป็นผู้ที่ถูกล่าเลยก็เป็นได้ แต่ถ้าเกมไม่ได้เล่นกันแรง เราอาจใช้วิธีการตั้งรับให้ได้ก็พอแล้ว อย่าเป็นฝ่ายเริ่มสร้างศัตรูก่อน จะคิดจะทำอะไรต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน

การรู้เรา รู้เขา คือวิธีการเตรียมรับมือที่ดีที่สุด ก่อนอื่นรู้เรา รู้หน้าที่ของตัวเอง สนใจตัวเองก่อนจะไปใส่ใจเรื่องคนอื่น เตรียมทางหนีทีไล่ไว้ว่าถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น เราพึ่งพาใครได้บ้าง จากนั้นมาเริ่มรู้เขา หมั่นสังเกตนิสัยใจคอของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิด เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรเข้าหาใคร ทำงานอย่างมีสติอยู่เสมอ อย่าทำงานด้วยอารมณ์ พูดให้น้อย ฟังให้มาก เพราะข้อมูลทุกอย่างจำเป็นต่อการปรับตัว ที่สำคัญ อย่าลืมพัฒนาตนเอง ทุกอย่างต้องพิสูจน์กันด้วยผลงาน เรื่องผลงานก็จะพลาดไม่ได้เด็ดขาด

การเข้าหาเพื่อนร่วมงานจึงสำคัญมากต่อสถานการณ์เกมการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ขัดแย้งให้มากที่สุด อย่าปะทะถ้าไม่จำเป็น จะต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีอำนาจหน้าที่และสิทธิ์มีเสียงมากแค่ไหน และควรคิดให้รอบคอบทุกครั้งก่อนที่จะพูดอะไรออกไป หรือตัดสินใจทำอะไรซึ่งอาจกระทบกับคนหมู่มาก และหากต้องเผชิญหน้ากัน ควรใช้วิธีพูดกันอย่างประนีประนอมด้วยเหตุผล แทนที่จะให้อารมณ์เป็นตัวชี้นำ เพราะมีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง

เพื่อนแท้ในที่ทำงาน ควรจะหาผูกมิตรไว้บ้าง อย่างน้อยที่สุดการมีมิตรก็ดีกว่ามีศัตรู แม้ว่าจะไม่อาจวางใจหรือไว้ใจใครได้อย่างสนิทใจก็ตาม ใช้ใจซื้อใจเพื่อนร่วมงาน พยายามอย่าสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น และต่อให้สนิทกันแค่ไหนก็ไม่ควรเล่าความลับของตัวเองให้ฟัง เพราะอาจจะถูกแบล็คเมล์ภายหลัง รวมต้องสังเกตวัฒนธรรมองค์กรด้วย เพื่อจะได้ปรับตัวให้เข้ากับองค์กร หรือถ้าไม่ชอบวัฒนธรรมองค์กรแบบที่เป็นอยู่ จะได้หาทางเลือกอื่นเผื่อไว้

แม้ว่าสมรภูมิการเมืองในออฟฟิศจะดุเดือดเพียงใด ต้องรับมือให้เป็น เพราะถ้าเรา “เก่ง” “แกร่ง” และมี “คุณธรรม” มากพอ ไม่ว่าอย่างไรก็อยู่รอดได้!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook