สังเกตเด็ก ๆ สุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงหรือไม่

สังเกตเด็ก ๆ สุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงหรือไม่

สังเกตเด็ก ๆ สุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงหรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันนี้ อายุของอาชญากรที่ก่อคดีต่าง ๆ ตามหน้าสื่อมีแนวโน้มที่จะน้อยลงทุกวัน ในรอบปีที่ผ่าน ๆ มา เราจะได้ยินได้เห็นข่าวการก่อคดีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำผิดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากลักษณะคดีที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุสะเทือนขวัญในตัวของมันเองแล้ว เรื่องที่น่าตกใจกว่าคือไม่น่าเชื่อว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นเพียงเด็กหรือเยาวชนเท่านั้น ที่เราเห็นเด็กที่สุดอาจเป็นเด็กวัยประถมที่แกล้งเพื่อนจนปางตาย หรือเด็กวัยรุ่นที่ก่อเรื่องชกต่อยทำร้ายร่างกายคนอื่นจนบาดเจ็บสาหัส หรือเลวร้ายถึงขั้นฆ่าแกงกันก็มี อายุเพียงสิบกว่าๆ ก็เป็นฆาตกรฆ่าคนตายแล้ว

การที่เราต้องมานั่งอ่านข่าวดูข่าวอาชญากรรมที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำความผิดดูเหมือนจะยังไม่เลวร้ายพอ เพราะเราจะเห็นว่าการกระทำความผิดนั้นแยบยลมาก หรือมีการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ อย่างโหดเหี้ยม ไม่ต่างจากอาชญากรผู้ใหญ่เลยด้วยซ้ำไป การที่เด็กและเยาวชนก่อคดีได้ขนาดนี้เป็นเรื่องที่ผิดปกติมากในสังคม ถึงกระนั้นปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ใช่เพิ่งมี มันมีมานานมากแล้ว หากแต่ผู้ใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างถูกทาง

อย่างไรก็ดี ปัญหานี้อาจเริ่มต้นป้องกันได้จากสถาบันครอบครัว คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องใส่ใจให้ความสำคัญกับปัญหานี้ให้มากขึ้น รวมถึงคอยสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานว่าสุ่มเสี่ยงจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ก่อนที่จะสายเกินไป เนื่องจากพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กนั้น ถ้าพบเร็วตั้งแต่วัยเด็ก ก็ยังมีโอกาสแก้ไขได้ทัน

โมโหร้ายจนควบคุมตัวเองไม่ได้

เด็กเล็ก ๆ ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมก้าวร้าวได้แล้ว เมื่อพวกเขาเริ่มมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จะเริ่มมีการแสดงออกเมื่อรู้สึกไม่พอใจ หากเด็กมีอารมณ์โกรธที่รุนแรง โหโหร้ายแบบที่ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ อาละวาดเวลาที่โกรธ ทำลายข้าวของ ทำร้ายตัวเอง ทุบตีพ่อแม่หรือคนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ เมื่อพ่อแม่พยายามจะควบคุมแล้วแต่ก็พบว่ามันยากมาก สอนแล้วก็ไม่เชื่อฟัง หากเป็นเช่นนี้แนะนำให้ไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กจะดีกว่า ให้แพทย์วินิจฉัยว่าต้องให้การรักษาอย่างไรเพื่อหยุดพฤติกรรมแบบนั้น ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือน่าอายแต่อย่างใด ดีกว่าปล่อยให้เติบโตไปแบบนั้น จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวของเด็กได้

พฤติกรรมเลียนแบบ

การเลียนแบบเป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ เรามักจะทำตามสิ่งที่พบเห็นแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่เป็นวัยกำลังเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมที่เด็กเห็นล้วนมีอิทธิพลต่อตัวเด็ก เริ่มจากการแสดงออกด้วยการเลียนแบบเพราะรู้เท่าไม่ถึงการ หากไม่มีใครคอยอบรมสั่งสอนว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นพฤติกรรมไม่ดี ไม่ควรเลียนแบบ ก็จะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา และยิ่งเห็นว่าทำแล้วมีคนให้ความสนใจ ทำแล้วเท่ บวกกับความคึกคะนองตามวัยและคบเพื่อนที่ไม่ดี ก็จะมีการเลียนแบบพฤติกรรมกันในกลุ่มเพื่อที่จะได้มีเพื่อน ส่วนในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็นเป็นประจำ เด็กก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นมา เพราะถ้าพ่อแม่ทำได้ พวกเขาก็ทำได้เหมือนกัน เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

ดูจากเพื่อนของลูก

เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่เริ่มเข้าสังคมใหม่ ๆ ได้ทำความรู้จักกับคนอื่น ๆ นอกเหนือจากคนในครอบครัว มีแนวโน้มที่เด็กจะติดเพื่อน และติดเอาพฤติกรรมของเพื่อนมาด้วยหากเลือกคบเพื่อนที่ไม่ดี เนื่องจากจะพยายามทำตัวให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มแก๊ง ให้เข้ากับคนอื่น ๆ ในกลุ่มได้ อาจมีการชักชวนกันไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร เช่น ยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน การใช้ความรุนแรงในโรงเรียน พ่อแม่จึงจำเป็นต้องให้เวลาในการสอดส่องบุตรหลานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยที่ไม่จับผิดจนเด็กรู้สึกอึดอัด ไม่ใช่การเรียกมาคุยแล้วบอกให้เลิกคบเพื่อนคนนั้น ไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจจะเตลิดได้ แต่ต้องค่อย ๆ สอนอย่างเข้าใจ ให้รู้ผิดชอบชั่วดี ถ้าเห็นว่าไม่ดี พวกเขาจะถอยออกมาเอง

เคยประสบพบเจอกับความรุนแรงมาก่อน

เด็กที่เคยถูกล่วงละเมิดหรือมีประสบการณ์จากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาโดยนิยมใช้ความรุนแรง ส่วนหนึ่งคือพฤติกรรมเลียนแบบพ่อแม่ เห็นพ่อแม่ทำได้ ทำแล้วไม่ผิดเป็นเรื่องปกติก็เลยทำตาม แต่อีกส่วนมาจากบาดแผลในใจเด็กที่เคยเป็นผู้ถูกกระทำ ผลพวงจากการที่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายแบบนั้นเป็นเหมือนกับแรงขับให้เด็กมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง เป็นความผิดปกติทางด้านสังคมที่พยายามจะแก้แค้นในสิ่งที่ทำให้ตนเองรู้สึกทุกข์ทรมาน มีบุคลิกต่อต้านสังคม จึงแสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรง ขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ขาดความยับยั้งชั่งใจ ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัวสิ่งใด และที่สำคัญคือ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

เลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย

เมื่อมีข่าวการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ ฆาตกรมักจะถูกนำตัวไปตรวจสุขภาพจิตว่าป่วยเป็นโรคจิตเภทหรือเป็นเพียงพฤติกรรมที่ต่อต้านสังคม ในรายที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคจิตเภท ส่วนใหญ่แล้วจะพบว่าพื้นฐานวัยเด็กของพวกเขามีปัญหา เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ พ่อแม่เลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยไม่อบรมสั่งสอน ถูกปฏิเสธจากคนในครอบครัว ปฏิเสธการมีตัวตนในสังคม หรือถูกทอดทิ้ง นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกเขาใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เนื่องจากพวกเขาไม่เคยรู้สึกว่าตนเองปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัวหรืออยู่ในสังคม จึงพยายามที่จะสร้างความปลอดภัยด้วยตัวเอง พวกเขาคิดว่าความรุนแรงสามารถปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยจากสิ่งต่างๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook