“เด็กจบใหม่” เป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน วางตัวอย่างไรดี

“เด็กจบใหม่” เป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน วางตัวอย่างไรดี

“เด็กจบใหม่” เป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน วางตัวอย่างไรดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเราได้ก้าวขาพ้นวัยเรียนจนเข้าสู่วัยทำงาน หลาย ๆ คนคงจะรู้สึกเครียดและตื่นเต้นไม่น้อย ก่อนอื่นเลยคือเรื่องการหางานทำ ซึ่งถ้าหางานทำได้แล้ว อีกสเต็ปที่เราจะต้องเผชิญก็คือ การเป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน การเริ่มต้นทำงานครั้งแรก เราจะเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ใด ๆ มาก่อน ไม่รู้ทั้งเรื่องงานและการใช้ชีวิตในที่ทำงาน อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้ได้ แม้ต้องใช้เวลาบ้างก็ตาม ซึ่งถ้าหากเราเป็นบัณฑิตจบใหม่ที่ได้เข้าไปทำงานในองค์กรต่าง ๆ เราจะวางตัวอย่างไรดีเพื่อเป็นการปูทางให้งานแรกราบรื่นที่สุด

ทำการบ้านเกี่ยวกับตำแหน่งงานและหน้าที่ของตนเองให้ดี

เด็กจบใหม่เพิ่งมีงานทำเป็นครั้งแรก ได้เริ่มงานหมาด ๆ คงจะรู้สึกตื่นเต้นกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ช่วงเปลี่ยนผ่านจากชีวิตวัยเรียนมาเป็นคนทำงานเต็มตัวห่างกันเพียงไม่กี่เดือน อาจจะยังปรับตัวไม่ทัน วางตัวไม่ถูก รู้สึกเก้ ๆ กัง ๆ อะไรก็ผิดที่ผิดทางไปหมด ข้อแนะนำง่าย ๆ คือก่อนหน้าที่จะเริ่มงาน ควรเตรียมความพร้อมด้วยการทำการบ้านเกี่ยวกับงานของตัวเองให้ดี เช่น ตำแหน่งงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะรู้คร่าว ๆ ตั้งแต่ตอนที่สมัครงานและไปสัมภาษณ์งานแล้ว รวมถึงรื้อฟื้นสกิลต่าง ๆ ที่มีขึ้นมา เพื่อให้ตนเองพร้อมที่จะทำงานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ให้ความสำคัญกับการทักทายและการแนะนำตัว

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานเริ่มต้นได้ด้วยการทักทาย ซึ่งมันก็ดูจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ใครเขาทำกัน เราก็ควรทำให้ติดเป็นนิสัย ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มเข้าทำงาน อย่าลืมแนะนำตัวกับทุกคน ฝากเนื้อฝากตัวด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตร สร้างความประทับใจแรกด้วยการ มีมารยาท มีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน รวมถึงพยายามจำชื่อเพื่อนร่วมงานให้ได้เร็วที่สุด ชวนคุยก่อนบ้างตามโอกาสไม่ต้องเขินอาย (แต่มีมารยาท) จะทำให้เราดูเป็นคนน่าคบหา น่าเอ็นดู เวลาที่ต้องติดต่องานกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ จะรู้ว่าการเป็นที่รักนั้นคือใบเบิกทางชั้นดี ที่ทำให้อะไรต่ออะไรมันง่ายขึ้นเยอะ

สังเกตสิ่งที่คนอื่นทำ

ทำนองเดียวกันกับสำนวนที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” นั่นเอง มันคือ การสังเกตว่าเพื่อนร่วมงานที่นั่งข้าง ๆ เขาทำอะไรกันยังไง ใช้ชีวิตที่ออฟฟิศกันแบบไหน เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าการทำงานที่นี่เราจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร มีอะไรที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรบ้าง ซึ่งมันจะช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับที่ทำงานใหม่ได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เราได้เห็นภาพรวมของการทำงานอีกต่างหาก สิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องให้ใครสอน เพราะเราสามารถเรียนรู้ได้เอง อย่างไรก็ดี ไม่ได้แปลว่าเราต้องเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่นมาเสียหมดทุกอย่าง อะไรที่ดูแล้วไม่สมเหตุสมผล หรือไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำ จะเลี่ยง ๆ ไปก็ได้

ไม่เข้าใจต้องถาม

นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การที่เราเป็นเด็กจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์อะไรเลย เริ่มทำงานที่นี่เป็นที่แรก หรือเพิ่งเข้างานมาใหม่ เราคือคนใหม่ที่เริ่มจากศูนย์ เริ่มจากการที่ไม่รู้อะไรของที่นี่เลย ส่วนใหญ่แล้วพวกเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าก็จะมาสอนงานให้อย่างใกล้ชิด ซึ่งก็จะกินระยะเวลาไปประมาณหนึ่ง อาจจะประมาณ 1 สัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์ ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มปล่อยให้เราทำงานเองทั้งหมด ฉะนั้น อะไรที่ไม่เข้าใจหรือเหมือนจะเข้าใจแต่ไม่ชัวร์ว่าใช่หรือเปล่า ต้องรีบถามให้แน่ใจ อย่าปล่อยให้ตัวเองเข้าใจผิด ๆ ถูก ๆ จนทำงานเสียหาย เพราะนั่นเรื่องใหญ่กว่าเยอะ

ถามอย่างมีชั้นเชิง

เมื่อเริ่มทำงานไปสักระยะ อาจประมาณ 1-2 เดือน เราจะเริ่มปรับตัวได้ ได้เรียนรู้ทั้งงานและชีวิตในที่ทำงานเกือบครบทุกอย่าง แม้ว่าจะยังใหม่อยู่ก็จริง แต่ในเวลานี้เราจะไม่ใช่คนที่ไม่รู้ประสีประสาชนิดที่ว่าทุกอย่างเป็นศูนย์อีกต่อไป ดังนั้น หากมีอะไรที่ยังไม่เข้าใจหรือต้องการความชัดเจน การตั้งคำถามกับเพื่อนร่วมงานที่อายุงานมากกว่าอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีสักเล็กน้อย ไม่เช่นนั้นจะดูว่าเราเป็นคนเข้าใจอะไรยาก ทำงานกับคนอื่นแล้วทำให้คนอื่นรู้สึกว่างานสะดุดไปด้วย ง่าย ๆ ก็คือ ฉลาดที่จะถาม ถามคำถามที่มีชั้นเชิงมากกว่าเดิมแบบคนมีกึ๋น เราจะดูเป็นมืออาชีพกว่าเดิม

สื่อสารให้มาก อย่าขาดการติดต่อ

เป็นเรื่องปกติของคนที่เพิ่งทำงานใหม่ ๆ ดูที่คนอื่นเขาสอนมันอาจจะง่าย แต่พอได้ลงมือทำเองแล้ว เราก็จะพบว่าอะไรบ้างที่มันเป็นปัญหา บางเรื่องก็แก้ปัญหาเองได้ บางเรื่องก็ไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือ อย่าเงียบแล้วพยายามทำต่อไปแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรต้องบอกต้องถามต้องอัปเดต สื่อสารกับคนในทีมให้มาก อย่าขาดการติดต่อไปนั่งทำงานเงียบ ๆ คนเดียว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นอะไรผิดถูกหรืองานเสียหายก็จะไม่มีใครรับรู้ ไม่มีใครชี้แนะให้ได้ กว่าจะรู้อีกทีคืองานเสร็จแต่งานใช้ไม่ได้เลย อาจทำให้คนอื่น ๆ รู้สึกไม่ไว้ใจที่จะให้เราทำงาน และอาจโดนเพ่งเล็งได้

จด จำ และนำไปใช้

ช่วงเรียนรู้งาน สิ่งที่สำคัญมากต้องมีติดตัวอยู่ตลอดเวลาคือสมุดโน้ตเล่มเล็ก ๆ กับปากกาหรือดินสอ หรือจะใช้พวกเทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือช่วยก็ได้ ถ้าเราไม่ใช่มนุษย์อัจฉริยะ เราก็ไม่สามารถที่จะจำทุกสิ่งอย่างที่เขาสอนเพียงครั้งเดียวได้ด้วยสมองน้อย ๆ นี้หรอก รับฟังมาแค่ประเดี๋ยวเดียวเดี๋ยวก็ลืมหมดแล้ว การจดบันทึกไว้จะช่วยให้เราเก็บรายละเอียดงานเหล่านั้นไว้ได้นานเท่านาน นานมากพอจนกว่าเราจะจำได้และไม่จำเป็นต้องใช้มันอีกนั่นเอง เห็นอะไรที่นอกเหนือจากที่เขาสอน แต่พบว่าน่าสนใจก็พยายามจำไว้ เพื่อที่จะนำไปใช้เมื่อต้องลุยงานด้วยตัวคนเดียว

รักษามารยาทในการเข้าสังคม

มารยาท เป็นสิ่งที่ไม่ต้องสอนทุกคนก็ควรต้องมี มันคือสิ่งสำคัญที่เราต้องใช้เมื่ออยู่ร่วมกัน ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้น่าอยู่ขึ้น ทำให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันเป็นไปในทิศทางที่เอื้อต่อการสร้างสัมพันธภาพและการทำงานร่วมกันมากกว่าที่เคย จำไว้ว่าโลกของการทำงานมักจะทำงานเป็นทีม เราจึงไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นคนแบบไหนก็ตาม สิ่งที่ต้องมีก็คือมารยาทในการอยู่ร่วมกัน ระมัดระวังเรื่องการวางตัว ภาษากาย รวมถึงข้อความที่พิมพ์ อย่าทำให้คนอื่นรู้สึกอึดอัดถึงการมีอยู่ของตัวเรา เกรงใจและให้เกียรติกันให้มาก

รีวิวตัวเอง

ในช่วงที่กำลังเรียนรู้งาน หรือจะเป็นช่วงที่เริ่มทำงานได้เองแล้ว ควรมีการรีวิวการทำงานของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เป็นไปได้ควรทบทวนตัวเองทุกวัน เพื่อตรวจสอบตัวเองว่าที่ทำอยู่นี้ดีแล้วหรือยัง ถูกต้องหรือไม่ ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง และให้คะแนนตัวเองอยู่ที่เท่าไร โดยอาจถามจากเพื่อนร่วมงานหรือบรรดาพี่ ๆ ในที่ทำงานที่เกี่ยวข้องด้วยก็ดี ขาดตกบกพร่องที่ตรงไหนก็ลองขอคำแนะนำจากคนอื่น ลองเปิดใจแล้วขอให้เขาช่วยวิจารณ์ดูก็ได้ จะได้รู้ว่ามาถูกทางแล้วหรือยัง มีอะไรที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไปหรือไม่ คำแนะนำดี ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้เราปรับปรุงตัว

อย่าตกม้าตายเรื่องเวลา

เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ และการรักษาเวลาก็เป็นสิ่งที่มืออาชีพเขาทำกัน ยิ่งกับพนักงานใหม่ การมาสายตั้งแต่วันแรก ๆ หรือหายไปในบางช่วงเป็นเวลานาน ๆ คือเรื่องที่จะทำให้เราถูกเพ่งเล็งและเดือดร้อนได้อนาคต ยิ่งงานการไม่เดินด้วยก็ยิ่งแย่ จงทำตัวให้คนอื่นเขารู้สึกไว้ใจที่จะปล่อยให้เราทำงานคนเดียว เป็นคนตรงต่อเวลา รู้กาลเทศะ เรามีเวลาในการทำงานประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวันก็ควรรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ไม่จำเป็นที่ต้องหมกมุ่นนั่งทำงานอยู่กับที่ตลอดเวลา แต่ต้องรู้ว่าจะทำงานให้เสร็จทันเวลาได้อย่างไร โดยที่งานมีคุณภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook