พฤติกรรมคุกคามทางเพศ เพศไหนก็ต้องรู้ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ
“โลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน” เป็นคำกล่าวที่เรามักจะได้ยินเป็นประจำจากปากคนทั่ว ๆ ไปในสังคม ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความน่าหดหู่ ความหวาดกลัว และอันตรายต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงแม้ปากจะพร่ำบ่นว่าโลกอยู่ยาก แต่ลึก ๆ แล้วทุกคนน่าทราบดีว่าโลกที่ว่าไม่ได้หมายถึงดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกมากกว่าที่ทำให้โลกอยู่ยาก หรือก็คือ “มนุษย์” นั่นเอง
ทุกวันนี้การมีชีวิตอยู่ในสังคมให้ได้อย่างปกติสุขถือเป็นเรื่องที่ยาก หลายคนรู้ว่าเมื่อไรก็ตามที่ต้องออกไปพบปะผู้คนอื่น ๆ จะมีเรื่องที่ค่อนข้างอันตรายตามมาเสมอ ความร้อยพ่อพันแม่ ความรู้หน้าไม่รู้ใจ ความมือถือสากปากถือศีลของคน ทำให้เราแทบจะไว้ใจใครไม่ได้เลย เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งที่เขาทำเป็นปฏิบัติต่อเราดี ๆ นั้น ทำไปเพราะความจริงใจธรรมดา หรือมีอะไรแอบแฝงหรือไม่
เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน การแสดงออกแบบ “คุกคามทางเพศ” เป็นเรื่องแรก ๆ ที่น่ากังวล เนื่องจากเราสามารถตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดก็ตาม ไม่จำกัดเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่จะโดน เพศชายหรือเพศทางเลือกอื่น ๆ ก็มีโอกาสที่จะถูกกระทำเช่นเดียวกัน โดยคนที่แสดงพฤติกรรมคุกคามทางเพศก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนต่างเพศเสมอไป ที่สำคัญ พฤติกรรมหลาย ๆ อย่างนั้นอาจจะดูปกติธรรมดามาก ๆ จนเหยื่อไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่ากำลังถูกคุกคามทางเพศ
การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) หมายถึง ลักษณะการประพฤติที่ไม่ดีต่อบุคคลอื่น ทั้งเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้ามโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม ซึ่งการกระทำเหล่านั้นมีวัตถุประสงค์ทางเพศเป็นหลัก แต่มักจะอ้างไปในทางอื่น มีทั้งการแสดงออกทางสายตา คำพูด และการปฏิบัติที่ส่งผลต่อจิตใจหรือร่างกายของอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ปลอดภัย กังวล อึดอัด กลัว ถูกด้อยค่า จนอาจไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงอาจนำไปสู่การกระทำความผิดล่วงละเมิดทางเพศในอนาคตได้อีกด้วย ทำให้เหยื่อได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง
นั่นแปลว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่ว่าจะต้องมีการสัมผัสถึงเนื้อถึงตัวเพียงเท่านั้น เพราะยังมีลักษณะการคุกคามแบบอื่นที่ไม่จำเป็นต้องสัมผัสกัน แต่ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยได้ ดังนั้น การคุกคามทางเพศจึงเกิดขึ้นได้ทุกที่ อาจเป็นที่ทำงาน โรงเรียน บ้าน ในพื้นที่สาธารณะ หรือแม้แต่ในโลกออนไลน์ และแม้ว่าการคุกคามทางเพศจะเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนมากเหยื่อมักจะเป็นผู้หญิง เด็ก และวัยรุ่น ทำให้กลุ่มคนนอกเหนือจากนี้มักถูกเมินเฉย หรือได้รับความสนใจน้อยกว่าหากถูกคุกคามทางเพศ
พฤติกรรมการคุกคามทางเพศนั้นอาจมี 2 รูปแบบหลัก ๆ มาดูกันว่าพฤติกรรมใดบ้างที่ส่อเค้าว่าเราอาจจะกำลังถูกคุกคามทางเพศอยู่
การคุกคามทางเพศด้วยคำพูดหรือการสื่อสาร
- เป็นพฤติกรรมคุกคามทางเพศโดยที่เหยื่อไม่ได้ถูกรุกล้ำทางร่างกายโดยตรง ไม่ได้มีการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัว แต่เป็นการใช้คำพูดหรือตัวอักษร ไม่ว่าจะการเขียนหรือการส่งข้อความที่ส่อไปในทางเพศ รวมถึงการคุกคามทางสายตาหรือด้วยอวัจนภาษา ทำให้เหยื่อรู้สึกรำคาญ อึดอัด กังวล ไม่ปลอดภัย เช่น
- การพูดหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา และพฤติกรรมของเหยื่อ ในเชิงเหยียด ด้อยค่า คือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไร้ซึ่งอำนาจหรือรู้สึกด้อยกว่า เพื่อที่ให้เหยื่อรู้สึกว่าอีกฝ่ายเหนือกว่า และจะทำอะไรกับเหยื่อก็ได้
- การใช้มุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ มุกข่มขืน มุกกึ่งขำกึ่งลามก มุกทะลึ่ง หรือที่เรียกว่า Dirty Joke
- การพูดจาสองแง่สองง่าม คำพูดพวกนี้ไม่ถือเป็นมุกตลก แต่เป็นคำพูดที่ชวนให้คิดไปในเรื่องเพศ หรืออาจจะเป็นพวกคำผวน เป็นลักษณะคำพูดที่ไม่ได้สื่อออกมาตรง ๆ แต่มีความหมายแอบแฝงไปในเรื่องเพศ
- การผิวปากหรือส่งเสียงหยอกล้อ เป็นการแซว ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด
- การร้องขอหรือส่งข้อความซ้ำ ๆ เพื่อขอนัดเจอ ขอเบอร์ หรือข้อมูลส่วนตัว ทั้งที่ถูกปฏิเสธ
- การร้องขอการกอด จูบ มีเพศสัมพันธ์ หรือพวกวิดีโอและรูปภาพส่วนตัว
- การใช้คำพูดหรือส่งข้อความในเชิงข่มขู่ เมื่ออีกฝ่ายไม่ยินยอมที่จะทำตามคำขอ
- การใช้คำพูดหรือส่งข้อความในเชิงลวนลาม แทะโลม
- การปล่อยข้อมูลส่วนตัวหรือสร้างข่าวลือเกี่ยวกับเหยื่อในทางที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเกิดความเสียหาย
- การส่งภาพ วิดีโอ หรือเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาอนาจาร ลามก เรื่องทางเพศ ให้กับอีกฝ่าย
การจ้องมองส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของอีกฝ่าย เป็นอวัจนภาษาอย่างหนึ่งที่ทำโดยสายตา อาจจ้องมองที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือพยายามจะจ้องมองเรือนร่าง ด้วยแววตาที่ส่อไปในคุกคามทางเพศชัดเจน แม้ว่าจะยังไม่มีการถึงเนื้อถึงตัว แต่เหยื่อรู้สึกได้ว่าถูกลวนลาม
การคุกคามทางเพศทางร่างกาย
เป็นการคุกคามทางเพศที่เริ่มมีการล่วงละเมิดที่รุนแรงขึ้น มีการใช้ร่างกายและกำลังเพื่อคุกคามอีกฝ่าย โดยอาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศถึงขั้นใช้ความรุนแรงและใช้กำลังข่มขืนได้ เช่น
- การเข้าประชิดตัวเหยื่อหรือพยายามจะเข้ามาอยู่ใกล้ตัวเหยื่อมากผิดปกติ
- การสัมผัสร่างกายของอีกฝ่าย ลูบไล้ จับ และแตะต้องร่างกายโดยที่เจ้าตัวไม่อนุญาต ไม่เว้นแม้แต่การจับมือ หรือโดนเบียดบนรถสาธารณะอย่างเจตนา โดยอาศัยจังหวะให้เหมือนกับการบังเอิญหรือเป็นอุบัติเหตุ แต่บางรายอาจจับหรือสัมผัสร่างกายของเหยื่อโดยตรง
- การละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น การเข้าหาเหยื่อในพื้นที่ส่วนตัวโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น เข้ามาในห้องนอนตอนไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย ทำให้ต้องอยู่ด้วยกันสองต่อสอง เข้ามาในห้องตอนที่เหยื่อหลับ หรือตอนที่เหยื่อกำลังทำธุระส่วนตัวบ่อย ๆ
- การสตอล์ก (Stalk) เป็นสะกดรอยตามเหยื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ
- การกีดกัน ขัดขวางไม่ให้เหยื่อเดินผ่านจุดใดจุดหนึ่ง ดักทางเหยื่อ
- การเปิดเผยอวัยวะสงวนให้เหยื่อเห็นโดยเจตนา ทั้งเพื่อยั่วยวนหรือทำให้รู้สึกอับอาย
- การกลั่นแกล้งด้วยการพยายามจะปลด ถอด หรือเปลื้องเครื่องแต่งกายเหยื่อ เช่น ดึงกางเกง ถกกระโปรง ถอดเสื้อ ปลดสายเสื้อชั้นใน
- การแสดงท่าทีเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ หึงหวง แบบที่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกัน
- การบีบบังคับให้เหยื่อยินยอมต่อการถูกคุกคามทางเพศ อาจมีการใช้หน้าที่การงาน ผลการเรียน ชื่อเสียง หรือผลประโยชน์อื่น ๆ หรือข่มขู่ให้เหยื่อกลัว เพื่อให้เหยื่อยินยอม
เราจะปกป้องตนเองได้อย่างไรบ้าง
ในเมื่อเราทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศได้ทุกคน ไม่ยกเว้นเพศและวัย อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งรุนแรงกว่า ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าการคุกคามทางเพศนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่จะปล่อยผ่านได้ การปลอบตัวเองว่าไม่เป็นไร หรือพยายามหลีกเลี่ยงก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะถ้าคนผู้นั้นทำกับเราไม่ได้ ก็อาจจะไปทำกับคนอื่น ๆ แทนอยู่ดี
เมื่อเราตกเป็นเหยื่อหรือพบเห็นการกระทำดังกล่าว ก็ต้องรู้จักวิธีการป้องกันตัวเองให้เหมาะสม ที่สำคัญ การกระทำดังกล่าวมีโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คนทำผิดกฎหมายก็สมควรได้รับโทษทางกฎหมาย ควรรวบรวมหลักฐานแจ้งกับทางต้นสังกัดหรือแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเอาผิด ต้องหยุดพฤติกรรมของผู้ทำผิด จะได้ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจกับผู้อื่น วิธีที่พอจะกระทำได้มีดังนี้
- อย่าเพิกเฉย เพราะการเพิกเฉยไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น การยอมหรือทำเป็นไม่สนใจมีแต่จะทำให้อีกฝ่ายได้ใจ มันจึงไม่ช่วยให้การคุกคามทางเพศยุติลง แล้วเราต้องอดทนไปอีกถึงเมื่อไร
- เรียนรู้ที่จะปฏิเสธเมื่อตกเป็นเหยื่อของการคุกคาม เช่น ขอร้องให้หยุด หรือแสดงออกถึงความรู้สึกไม่พอใจ แสดงออกว่าเราไม่ยอมที่จะตกเป็นเหยื่อ
- ร้องเรียนกับผู้มีอำนาจหรือแจ้งความเอาผิด หากตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ ควรรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ แล้วร้องเรียนกับผู้มีอำนาจหรือคนที่เชื่อใจได้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
- พยายามเอาชนะความกลัวหรือความรู้สึกอับอาย หากเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ ต้องสู้และเรียกร้องสิทธิ์ที่พึงจะได้รับการคุ้มครอง การปกป้องในชีวิต ในเมื่อมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ต้องรู้จักที่จะปกป้องสิทธิ์ของตนเอง
- ไม่เพิกเฉยต่อผู้เป็นเหยื่อ ในกรณีที่เป็นผู้พบเห็น และเหยื่อที่ถูกคุกคามโดยตรงรู้สึกกลัว อับอาย ต้องให้กำลังใจเหยื่อ อย่าโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อ ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์จะโดนกระทำหากไม่เต็มใจ อย่าเพิกเฉยต่อพฤติกรรมเหล่านั้น ต้องมีความเคลื่อนไหว เพื่อให้รู้ว่าการกระทำเหล่านั้นมันผิด เคลื่อนไหวเองไม่ได้ ให้พยายามปรึกษาคนอื่นที่มีอำนาจมากพอ อย่าปล่อยให้เหยื่อโดนกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- อย่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับพฤติกรรมคุกคามเหยื่อ บ่อยครั้งที่การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นโดยที่ไม่ทันรู้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังคุกคามคนอื่นอยู่ เพราะหลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แม้แต่การร่วมหัวเราะกับพวกมุกตลกทางเพศก็ถือว่ามีส่วนร่วมและส่งเสริมการคุกคามทางเพศแล้ว อย่ามองว่ามันเป็นเรื่องปกติ เพราะคนที่โดนเขาไม่สนุกด้วย