พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย ที่ทำลายอนาคตหน้าที่การงาน

พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย ที่ทำลายอนาคตหน้าที่การงาน

พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย ที่ทำลายอนาคตหน้าที่การงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ คงเป็นเรื่องยากพอดูหากจะตามหาคนวัยทำงานสักคนที่ไม่มีบัญชีโซเชียลมีเดียเลยแม้แต่บัญชีเดียว ไม่มีแบบที่ไม่เคยมี ไม่เคยเปิดใช้ ไม่รู้จักว่าเฟซบุ๊กคืออะไร เพราะการมีบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นเครือข่ายที่ใช้ติดตามข่าวสาร อัปเดตชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงติดตามชีวิตพวกเพื่อน ๆ หรือผู้คนที่น่าสนใจ เป็นเรื่องปกติธรรมดามากของคนในสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งเราสามารถโพสต์และแบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจลงบนจอได้อย่างไม่รู้สึกเคอะเขิน ที่จะให้คนอื่น ๆ มีส่วนรับรู้ชีวิตของเรา เข้าใจว่าเป็น “พื้นที่ส่วนตัว” ที่จะทำอะไรก็ได้

อย่างไรก็ดี “พื้นที่ส่วนตัว” ที่เรามักใช้โพสต์กิจกรรม “ส่วนตัว” ซึ่งทุกคนสามารถเห็นและเข้าถึงได้แบบสาธารณะนั้น อาจจะรู้สึกเป็นส่วนตัวได้ไม่เต็มปาก ในเมื่อทุกคนสามารถเห็นได้หมด มันเป็นพื้นที่ส่วนตัวจริง ๆ หรือส่วนตัวแบบสาธารณะกันแน่ แล้วถ้าหากว่าคนที่เข้ามาเห็นดันเป็น “นายจ้าง” ด้วยแล้วล่ะก็ คงต้องคิดให้มาก ๆ หน่อยแล้วล่ะก่อนที่จะกดโพสต์อะไร เพราะเรามีสิทธิ์ตกงานหรือถูกปฏิเสธการจ้างงานได้ เพราะกิจกรรมต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย

แม้ว่าการขอชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียของลูกจ้างมาพิจารณายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าสามารถทำได้หรือไม่ได้ เหมาะสมหรือไม่ที่จะขอดูหน้าไทม์ไลน์โซเชียลมีเดียของลูกจ้าง เพราะองค์กรต่าง ๆ มักจะขอดูพวกโซเชียลมีเดียของผู้สมัครงาน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคุณสมบัติในการรับเข้าทำงาน แถมยังพบกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้องค์กรตัดสินใจไม่รับสมัครพนักงานคนนั้น ๆ อีกต่างหาก มีผลการศึกษาจากต่างประเทศ ที่พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของนายจ้างจะพิจารณากิจกรรมบนโซเชียลมีเดียของผู้สมัครก่อนที่จะจ้างงาน และ 79 เปอร์เซ็นต์ของฝ่ายบุคคลจะปฏิเสธผู้สมัครงาน เนื่องจากสิ่งที่พบในโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ สำหรับพนักงานปัจจุบันที่กำลังทำงานในองค์กรอยู่ ก็เคยมีกรณีที่ลูกจ้างถูกให้ออกจากงานเพราะโพสต์บ่นเรื่องงานบนโซเชียลมีเดียมาแล้วด้วย ดังนั้น เราจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียทั้งในปัจจุบันและในอดีตของเรากันให้มากขึ้น คิดก่อนโพสต์ และอะไรที่ไม่น่าไว้ใจก็ลบทิ้งไป (แต่ก็ตามรอยจาก Digital Footprint ได้อยู่ดี) หากไม่อยากเป็นคนตกงานหรือพลาดงานที่คาดหวังไว้ อย่าให้พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียมาทำลายอนาคตหน้าที่การงาน

ปรากฏโพสต์ที่ไม่เหมาะสม

เพราะหลายคนมองว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่จะโพสต์ระบายอะไรลงไปก็ได้ จึงไม่ได้สนใจความเหมาะสมของสิ่งที่โพสต์ อาจจะโพสต์บ่นเจ้านายเก่า หรือเรื่องราวลบ ๆ ที่เกิดขึ้นในออฟฟิศ จงใจให้ร้ายนายจ้างไปในทางเสียหาย นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อความในเชิงดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น เหยียดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ข้อความที่แสดงความก้าวร้าวและหยาบคาย สิ่งผิดกฎหมาย คำพูดที่สร้างความเกลียดชังทั้งหลาย (Hate speech) แชร์พวกคอนเทนต์ที่ไม่มีคุณภาพ ข่าวปลอม ข่าวลือ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำลายภาพลักษณ์ของเราได้ ทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพ ไม่สามารถเก็บอารมณ์ ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ แม้จะอึดอัดใจก็ไม่หาวิธีแสดงออกที่เหมาะสม

การแสดงตัวตนที่แท้จริงในโลกออนไลน์ เหมาะสมต่อองค์กรหรือไม่

หลายคนมองว่าการที่คนเราจะโพสต์เรื่องต่าง ๆ ลงในโลกออนไลน์นั้น มันเป็นเรื่องของชีวิตส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างสามารถส่งผลกระทบถึงกันได้หมด โดยเฉพาะตัวตนที่แท้จริงของเราที่แสดงออกลับหลังผู้อื่น ยิ่งตัวตนจริง ๆ ของเราน่ากลัวแค่ไหน มันก็ส่งผลไปถึงไปถึงภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในเรื่องการทำงานได้มากเท่านั้น ต่อหน้าทำอย่าง สวมหน้ากากเป็นพนักงานดีเด่น แต่ลับหลังเอาเรื่องของเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายไปโพสต์โพนทะนาได้ขนาดนั้น มันสื่อให้เห็นความหน้าไหว้หลังหลอกและไม่จริงใจที่สุด จริงอยู่ว่าเรามีสิทธิ์ที่จะไม่พอใจเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายจนอยากระบาย แต่นายจ้างก็มีสิทธิ์กำจัดคนที่ทำให้เขาเสียหายเช่นกัน

นำเสนอภาพเชิงลบของตัวเอง

กลับไปที่จุดเริ่มต้น ที่ทุกคนมองว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่จะโพสต์ระบาย จะกดแชร์ความสนใจส่วนตัวของตัวเองอย่างไรก็ได้ ก็ต้องพึงระวังว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะเป็นการนำเสนอภาพเชิงลบของตนเองให้กับคนอื่นได้รู้ด้วย เช่น หลายคนต้องการนำเสนอภาพลักษณ์เฟียส ๆ แรง ๆ ดูแบด ๆ ให้กับเพื่อนหรือผู้ติดตามได้เห็น หรือแสดงออกในประเด็นละเอียดอ่อนชัดเจนเพื่อให้เพื่อนหรือผู้ติดตามรู้ว่าตนเองเห็นด้วยหรือเข้าข้างฝ่ายไหน มันจะกลายเป็นอคติ ต้องยอมรับว่าทัศนคติบางอย่างมันอาจเป็นปัญหาต่อการทำงาน และองค์กรไม่ได้ต้องการคนทำงานที่เฟียส ๆ แรง ๆ ไม่ต้องถึงกับพยักหน้ารับทุกอย่างโดยไม่โต้เถียง แต่ต้องไม่ใช่พฤติกรรมหยาบคายก้าวร้าว

โกหกแล้วลืม

ในคนที่มีพฤติกรรมเสพติดโซเชียลมีเดียมาก ๆ จะถึงขั้นหมกมุ่นอยู่กับการอัปเดตทุกสิ่งอย่างในชีวิตลงโซเชียลมีเดียเพื่ออวดให้เพื่อนหรือผู้ติดตามได้รู้ อีกทั้งยังพยายามปรุงแต่งชีวิตบนโลกเสมือนให้เกินจริงจากที่เป็นอยู่ไปมาก ๆ เพื่อเรียกยอดไลก์ ให้คนเข้ามาแสดงคอมเมนต์ เกิดวันหนึ่งที่ยื่นใบลางานกะทันหันโดยให้เหตุผลว่าป่วย ขอนอนพักผ่อนอยู่บ้าน แต่รูปและสถานที่เช็กอินในโซเชียลมีเดียกลับไปโผล่อยู่ที่อื่น เราอาจคิดว่าในบรรดาผู้ติดตามหรือเพื่อนไม่มีคนในที่ทำงานก็จริง แต่ใครจะรู้ว่านายจ้างของเราอาจแฝงตัวเป็นใครสักคนมาติดตามชีวิตเราอยู่ตั้งนานแล้วก็เป็นได้ อีกทั้งโลกใบนี้มันยังแคบกว่าที่คิด พวกเขาสามารถรู้ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องหยิบโทรศัพท์มากดเช็กเองด้วยซ้ำ

ทัศนคติที่ตื้นเขินและการกระทำที่ไร้ความคิด

หลายคนเลือกให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่ใช้ระบายเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต มีสาระบ้างไม่มีสาระบ้าง ก็ไม่ได้สนใจ ไม่ได้คิดว่าจะมีใครมาจริงจังอะไรกับสิ่งที่โพสต์หรือแชร์ลงบนโซเชียลมีเดีย แต่ทว่าข้อเท็จจริงทางจิตวิทยาที่บรรดานายจ้างให้ความสำคัญ เขาก็หาวิเคราะห์จากโพสต์บ่นนั่นบนนี่ สารพัดเรื่องสัพเพเหระในชีวิตประจำวันของเรานี่แหละ สิ่งที่คนเราพูดหรือพิมพ์ออกมา มันมักจะแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนแบบไหน อย่างการโพสต์เรื่อยเปื่อยวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงความไร้สาระและหมกมุ่น เอะอะอะไรก็โพสต์ไว้ก่อน นี่ยังไม่นับเนื้อความที่อาจแสดงให้เห็นทัศนคติที่ตื้นเขินเกินกว่าจะมองข้าม ตรรกะวิบัติ และการโพสต์ไม่คิดที่มักจบด้วยการหงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook