ขอบเขตของ Free Speech สิทธิ์ที่อยากจะพูดอะไรก็ได้ทำได้แค่ไหน?

ขอบเขตของ Free Speech สิทธิ์ที่อยากจะพูดอะไรก็ได้ทำได้แค่ไหน?

ขอบเขตของ Free Speech สิทธิ์ที่อยากจะพูดอะไรก็ได้ทำได้แค่ไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องที่ดีเมื่อทุกคนมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นในแบบที่ตัวเองคิด อย่างไรก็ดี คำถามมีอยู่ว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างที่ว่านั้นมันมีขอบเขตอยู่ที่ตรงไหน เพราะทุกวันนี้ชุมชนโซเชียลมีเดียทั้งหลายกลายเป็นแหล่งยุยงส่งเสริมความเกลียดชังแพร่ระบาดไปทั่วโลกออนไลน์ ที่ยังส่งผลมาถึงการก่ออาชญากรรมบนโลกออฟไลน์ด้วยซ้ำ ดังนั้น มันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หากเสรีภาพนี้ถูกใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ถ้าทุกคนมีเสรีภาพแต่ไม่มีการควบคุม ไม่มีความรับผิดชอบ อยากพูดอะไรก็พูด จนอาจทำให้คนอื่นเจ็บปวดหรือเดือดร้อนล่ะ จะปรากฏเหยื่อของ Free Speech อีกเท่าไรกัน คนที่ตกเป็นเหยื่อ หากไม่แกร่งพอก็ต้องแพ้ไปอย่างนั้นหรือ

ทวิตเตอร์ เดิมทีก็เป็นดินแดนเสรีภาพอยู่แล้ว

สำหรับคนที่ใช้งานทวิตเตอร์อยู่แล้วจะทราบดี ว่าแต่เดิมนั้นทวิตเตอร์เชื่อในเรื่องของ Free speech มานานแล้ว ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทวีตเนื้อหาใด ๆ หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดก็ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วทวิตเตอร์เองก็จะไม่ได้ทำการเซนเซอร์ใด ๆ และอันที่จริง ก็ต้องบอกว่าเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ทวิตเตอร์ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่คงไว้ซึ่ง Free Speech ได้มากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เข้มงวดการตรวจสอบเนื้อหา

แต่ทุกอย่างก็มีกติกา มีกฎเกณฑ์ หากทวีตที่เรากดทวีตไปนั้นผิดกติกาของเจ้าของบ้าน เช่น มีการข่มขู่หรือสนับสนุนการทำร้ายตนเองหรือบุคคลอื่น มีภาพอนาจาร ส่งเสริมการใช้อาวุธรุนแรง เป็นการแสดงออกแบบที่ขาดความยั้งคิด จนอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ทวิตเตอร์ก็มีมาตรการในการจัดการเช่นกัน ซึ่งมันเคยเกิดขึ้นกับบัญชีของผู้ใช้งานที่ทรงอิทธิพลในระดับโลก อย่างกรณีของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถูกทวิตเตอร์แบนบัญชีที่ใช้งานเป็นการถาวรมาแล้ว

แม้ว่าทวิตเตอร์ในมือของอีลอน มัสก์ที่จะปรับเปลี่ยนเรื่องการยืนยันตัวตนผู้ใช้งานก่อนนั้น แน่นอนว่าก็มีผลต่อการแสดงความคิดเห็นแบบ Free Speech อยู่แล้ว จากที่เราเคยทวีตข้อความอะไรก็ได้ เพราะอาศัยประโยชน์จากการเป็นแอคฯ หลุม ไม่ต้องกลัวว่าจะคนอื่นจะรู้ว่าเราเป็นใคร กลายเป็นต้องเพลา ๆ ลงบ้าง โดยเฉพาะกับเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก ๆ ก็คงไม่ค่อยจะมีใครกล้าออกมาแสดงความคิดเห็นแบบสุดโต่งอย่างที่เคยทำ หากทำก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ การทวีตแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกับการที่เป็นแอคเคาท์หลุมที่ไร้ตัวตนอีกต่อไป

ดังนั้น หากทวิตเตอร์เปิดให้ใช้งานโดยที่ทุกแอคฯ ต้องยืนยันตัวตนก่อน เราอาจจะต้องคิดให้ดี ๆ คิดให้รอบคอบก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นอะไรออกมา เพราะต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเองทุกครั้ง เนื่องจากมันตามตัวตนของเราได้ง่ายขึ้น ทำอะไรก็รู้หมดว่าผู้ใช้บัญชีนี้เป็นใคร เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่ถูกปิดกั้นตามประชาธิปไตยอาจเกิดขึ้นจริงบนทวิตเตอร์ แต่ถ้ามีการยืนยันตัวตนชัดเจนแบบนั้นแล้ว จะมีคนที่กล้าทำจริง ๆ ได้แค่ไหน

ถ้าหาก Free Speech ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายกัน

Free speech จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิ เสรีภาพทางการแสดงออกของบุคคลสามารถทำได้โดยไม่ถูกปิดกั้นแม้ว่าจะจากภาครัฐเองก็ตาม เป็นสิ่งที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นถึงระบบการทำงาน แปลว่ามีข้อบกพร่องหรือสิ่งที่ประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยจึงออกมาพูด หากเป็นการติเพื่อก่อ ก็ต้องยอมรับความเห็นต่างแล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ใช่การปิดปากว่าห้ามพูด ส่วนในกรณีที่เป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก ความรุนแรงนั้นก็อาจต้องพิจารณาไปตามกฎหมาย

แต่ Free Speech ในแง่ของระหว่างตัวบุคคล มันอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายกันมากกว่าจะติเพื่อก่อ ในกรณีที่ถูกใช้โจมตีในเชิงถ้อยคำแบบ Hate Speech สร้างความเกลียดชังตัวบุคคล หรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคลในด้านลบไปในทางที่คุกคามและสร้างความเสียหายให้กับผู้ถูกกระทำ รู้สึกถูกดูถูกเหยียดหยามหรือถูกด้อยค่า แบบนี้ก็เริ่มจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเท่าใดนัก

เคยมีกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพที่ทุกคนมีอิสระเต็มที่ที่จะทำอะไรก็ได้ แม้ว่าการกระทำเหล่านั้นจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย แต่กฎหมายก็อาจจะไม่ได้คุ้มครองคนที่ตกเป็นเหยื่อเสมอไปก็ได้ กรณีคีอาห์ มอร์ริส สมาชิกสภานิติบัญญัติของมลรัฐเวอร์มอน พรรคเดโมแครต สตรีผิวดำที่ถูกคุกคามเรื่องสีผิว เชื้อชาติ และเหยียดเพศ เมื่อต่อสู้ไปจนถึงชั้นศาล แต่ศาลกลับพิจารณาว่าผู้คุกคามไม่มีความผิด เนื่องจากผลสอบสวนไม่พบเจตนาในการทำร้าย พร้อมระบุว่าการแสดงออกทางความคิดจะเป็นความผิดได้ก็ต่อเมื่อการแสดงออกทางความคิดนั้นเล็งเห็นผลว่าจะก่อให้เกิดการทำผิดกฎหมาย มันก็แค่การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี

ง่าย ๆ ก็คือแค่ลมปากหรือตัวอักษรจะไปฆ่าใครตายได้อย่างไร? แค่แสดงความคิดเห็นเฉย ๆ เอง

บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1791 นั้นเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันภาคภูมิใจมาก เพราะมันเป็นเหมือนกับกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพูดหรือแสดงออกก่อนเสมอ และเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการออกกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพทางการแสดงออก นั่นหมายความว่าต่อให้จะมีการเหยียดเพศ ดูหมิ่นชาติพันธุ์ หรือการบูลลี่กัน ก็มักจะไม่ถูกเอาผิด ถ้าไม่ได้เห็นผลที่ชัดเจนว่าผิดกฎหมาย ตราบใดที่เราเป็นผู้กระทำ และไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำเสียเอง เราก็จะรู้สึกดีที่มีเสรีภาพจะแสดงออกอย่างไรก็ได้

เพราะมันมีเส้นกั้นบาง ๆ ระหว่าง Free Speech และ Hate Speech หากการแสดงออกที่อ้างเสรีภาพนั้นทำร้ายคนบางกลุ่มเข้า คำพูดที่กระทบกระเทือนจิตใจอีกฝ่าย ก็ไม่ต่างอะไรกับการหันปากกระบอกปืนเข้าหา เนื่องจากจิตใจคนเรานั้นเปราะบางไม่เท่ากัน Free Speech ที่ขาดความยั้งคิด มองว่าก็แค่คำพูดที่ถ่ายทอดออกมาง่าย ๆ ไม่คิดอะไรด้วยลมปาก ปลายปากกา หรือแป้นพิมพ์ มันสามารถเปลี่ยนเป็นอาวุธที่ทิ่มแทงจิตใจคนฟังได้อย่างบาดลึก กลายเป็นแผลในใจใครสักคนได้เลยทีเดียว

ทุกวันนี้มีคนถูกทำร้ายด้วยถ้อยคำอยู่มากมาย ส่วนใหญ่เป็นคำพูดหยอกล้อ มุกตลกที่สร้างความขบขันในวงสนทนา หรือการวิจารณ์ในทางลบที่สร้างความอับอาย หารู้ไหมว่าคำพูดขำ ๆ เหล่านั่นแหละ กลายเป็นถ้อยคำที่ทำร้ายคนอื่นโดยที่ตัวคนพูดเองอาจรู้หรือไม่รู้ตัว ไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกถ้อยคำเหล่านั้นทำร้ายจิตใจ ย่อมคิดตาม เกิดความเครียดสะสมเป็นปมในใจ เผลอ ๆ จะกลายเป็นคนที่อ่อนแอในสายตาคนอื่น เพราะอดทนต่อคำพูดเล็กน้อยเหล่านั้นไม่ได้

เปิดช่องทางให้เกิดไซเบอร์บูลลี่

ทุกวันนี้ ไม่ว่าใครก็เคยเจอการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Cyberbullying กันได้มากขึ้น ใคร ๆ ก็เป็นเหยื่อได้ และใคร ๆ ก็เป็นผู้กระทำได้เช่นกัน เพราะสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายมาก และส่วนใหญ่ผู้ใช้งานก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อหรือหน้าตาจริงของตัวเอง จึงทำให้มีกลุ่มคนที่ชอบบูลลี่คนอื่นรู้สึกสนุกและได้ใจกับการกลั่นแกล้งคนอื่น เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หรือต่อให้ตามตัวได้ ทุกวันนี้แค่ไหว้สวยรวยกระเช้าก็จบแล้ว มันจึงเป็นเส้นกั้นบาง ๆ ของเสรีภาพในการแสดงออกที่จะทำร้ายผู้อื่นได้ด้วยช่องโหว่นั้น

การบูลลี่กันบนโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่มักจะทำไปเพื่อสร้างความอับอาย และความเสียหายต่อบุคคลอื่นโดยเจตนา การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง การใช้ถ้อยคำในเชิงลบ โพสต์ด่าทอ ล้อเลียน ใส่ร้าย ขู่ทำร้าย พูดจาส่อเสียด เหยียดเพศสภาพและชาติพันธุ์ มักจะทำกันอย่างโจ่งแจ้งด้วยการประจานลงบนโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความอับอาย เกิดความเสียหาย จากการแสดงความคิดเห็นที่ผู้กระทำอ้างว่ามีเสรีภาพที่จะทำ

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ยับยั้งชั่งใจได้ที่จะแสดงความคิดเห็นหรือไม่แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใด ๆ บ่อยครั้งที่เรื่องดราม่าทำให้คนอยากจะมีส่วนร่วม อินจัดจนต้องขอเกาะกระแสไปด้วย โดยเฉพาะกับบุคคลสาธารณะ มีการแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่าง ๆ นานา เพราะคิดว่าฉันทำได้ ฉันมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น เป็นคนสาธารณะก็ต้องยอมรับคำวิจารณ์ให้ได้ ซึ่งมันก็จริงอยู่ แต่เรามักจะไม่ลองคิดในมุมกลับว่าถ้าตนเองเป็นคนในดราม่านั้นดูบ้าง ที่โดนคนครึ่งค่อนแพลตฟอร์มตามด่า แถมยังอาจต้องเห็นข้อความเหล่านั้นไปตลอดชีวิต แบบนั้นคงไม่สนุกแน่ ซึ่งเขาก็มีสิทธิ์ที่จะไม่พอใจ แต่จะได้รับความยุติธรรมแค่ไหน เพราะคนที่ด่าเขาไปทั่วอ้างว่ามีเสรีภาพที่จะทำบนแพลตฟอร์มนั้น

เสรีภาพที่ทำได้แต่ต้องไม่ไร้ขอบเขต

โลกออนไลน์กลายเป็นสนามอารมณ์ที่เปิดกว้างให้เราทำอะไรได้อย่างเต็มที่ นั่นอาจทำให้เรารังแกผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน หากเราได้รับอิสระเต็มที่ แถมเสรีภาพที่คิดว่าตนเองมีก็ทำให้เราไม่ยับยั้งชั่งใจที่จะแสดง Free Speech ได้อย่างไม่หวั่นเกรง เกิดจากชาวเน็ตที่ไม่รู้จักคำว่าพอดีหรือเหมาะสม ในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งอะไรก็ตามที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้ว มันจะคงอยู่ตลอดไป

เราจะเห็นได้จากหลาย ๆ กรณี ที่การแสดงความคิดเห็นของชาวเน็ตที่มีแป้นคีย์บอร์ดเป็นอาวุธ สามารถใส่อารมณ์กับเรื่องราวต่าง ๆ ได้เต็มที่ราวกับปลดปล่อยด้านมืดในตัว ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องของใคร เรามักตัดสินเรื่องนั้น ๆ จากมุมมองความคิดของเราเองเพียงฝ่ายเดียว และไม่คิดที่จะยับยั้งชั่งใจให้หยุดมันไว้เพียงเป็นความคิด แต่เลือกที่จะปล่อยความคิดเหล่านั้นกลายเป็นข้อความสู่แพลตฟอร์มสาธารณะไปทำร้ายบุคคลอื่น ลืมนึกไปว่ากฎหมายหมิ่นประมาทก็มีอยู่ และการกระทำของตนเองก็อาจเข้าข่ายตามนั้น

เรามีสิทธิ์ที่จะคิดเรื่องแย่ ๆ หรือด่าใครก็ได้ที่เราไม่พอใจในใจ แต่ทุกสิ่งที่เราคิดในใจอาจไม่เหมาะที่จะพิมพ์ออกไป ดังนั้น การไตร่ตรองให้มาก ๆ ก่อนจะพิมพ์อะไร เป็นสิ่งที่คนทุกคนควรมีจิตสำนึก เราไม่จำเป็นต้องรับเอาเสรีภาพทุกอย่างที่เรามี หากมันจะเป็นการทำร้ายผู้อื่น อย่าเพิ่งร่วมทัวร์ หากตระหนักว่าคอมเมนต์เหล่านี้อาจทิ่มแทงใครสักคนอยู่ เราไม่มีทางรู้ว่าความอดทนต่อคำร้ายกาจต่าง ๆ นานาของแต่ละคนมีมากแค่ไหน เสรีภาพในการแสดงออกของเราอาจเป็นฝันร้ายของใครสักคนไปตลอดกาล ถึงอย่างนั้น หลาย ๆ คนก็ไม่แคร์หรอก เรามักจะมีแคมเปญที่ต่อต้านอะไรแบบนี้เสมอ หลังจากที่มีความสูญเสียเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แต่ประเดี๋ยวเดียวก็ลืม

ความรุนแรง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ทางกายภาพเท่านั้น

จากคำพูดธรรมดา ๆ ที่เป็นลมปาก หรือเป็นตัวอักษรที่พิมพ์จากคีย์บอร์ด หากไปกระทบกับใครเข้า มันก็มีความรุนแรงในตัวของมัน ไม่เพียงแต่ความหมายที่ปรากฏ เพราะมันรวมถึงการถูกมองข้ามความเป็นพิษในการอยู่ร่วมกัน ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังทั้งหลายปรากฏขึ้นโดยที่ต่างคนต่างอ้างว่าฉันมีสิทธิ์ที่จะพูด แต่ถ้ามันเป็นคำวิจารณ์รุนแรงที่ทำร้ายคนอื่น เสรีภาพนี้อาจจะไม่ใช่เสรีภาพที่ชอบธรรมเท่าไร อาจจะชอบธรรมตามกฎหมาย แต่ในเชิงศีลธรรม ถ้ามีใครสักคนต้องอ่อนแอก็แพ้ไปเพราะ Free Speech ที่ไร้ขอบเขตจริง ๆ มันก็คงไม่ใช่เรื่องที่บันเทิงเท่าไรนัก

ดังนั้น ไม่ว่าอนาคตข้างหน้า ทวิตเตอร์จะเปิดเสรีให้กับสิ่งที่เราจะทวีตลงไปได้มากแค่ไหน แม้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ตามเสรีภาพที่มี แต่เราก็ยังต้องตระหนักให้ได้ด้วยตนเองว่าสิ่งไหนควรไม่ควร สิ่งนั้นเหมาะสมหรือไม่ Hate Speech ที่เราพ่นออกไป โดยอ้าง Free Speech มีความอันตรายซ่อนอยู่มาก ต้องระลึกได้เองอยู่เสมอว่าความรุนแรงต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ทางกายภาพเท่านั้น เพราะมันอาจเกิดขึ้นในส่วนที่มองไม่เห็นอย่างจิตใจ เราต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งในวงจรนั้น รู้ว่า Free Speech ที่เหมาะสมนั้นมีขอบเขตอยู่ที่ตรงไหน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook