“อาจารย์ฮูก” กับหนังสือว่าด้วย “ครูเปลี่ยนโลก”
Highlight
- ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล หรือ “อาจารย์ฮูก” เป็นบุคลากรด้านการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทย
- ผศ.อรรถพลเชื่อว่า ครูคือเพื่อนของผู้เรียน ที่สามารถเรียนรู้และเติบโตจากการทำงานกับนักเรียนในห้องเรียน รวมทั้งเชื่อว่า การสอนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้
- เขาเชื่อว่า การเคารพเด็ก เรียนรู้จากเด็ก และทำให้เด็กเชื่อว่าเขามีความสำคัญ เป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการเรียนการสอน
ในช่วงเวลาที่คนจำนวนมากเริ่มตื่นตัวทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพ คนรุ่นใหม่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายวงการ วงการการศึกษาเองก็หนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงนี้ และในบรรดาครูยุคใหม่ที่ทำงานและเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษาไทย “ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล” หรือ “อาจารย์ฮูก” ถือเป็นครูที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งในการสร้างบุคลากรครูรุ่นใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนครูในระบบการศึกษาไทย จาก “เรือจ้าง” ที่หมดหน้าที่เมื่อลูกศิษย์ถึงฝั่ง ให้กลายเป็น “ผู้เรียนรู้ร่วมกันกับนักเรียน” และเป็นผู้ที่ใช้ห้องเรียนในการเปลี่ยนโลกได้ในที่สุด
จุดเริ่มต้นของการเป็น “ครูเปลี่ยนโลก”
ผศ.อรรถพล ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นครูว่า เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นครูตั้งแต่แรก แต่เมื่อได้เข้าเรียนในคณะครุศาสตร์ ก็ได้ทำกิจกรรมค่ายแนะแนว ค่ายพัฒนาชนบท รวมทั้งสอนพิเศษเด็กตามบ้าน ทำให้รู้สึกว่างานสอนเป็นงานที่ตนเองถนัดและทำได้ดี บวกกับการดูภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society ที่ทำให้เห็นภาพงานครูที่ไม่ใช่แค่การสอน แต่เป็นครูที่เข้าอกเข้าใจผู้เรียน สิ่งเหล่านี้ได้ก่อร่างภาพการเป็นครูให้กับ ผศ.อรรถพลในขณะนั้น จนกระทั่งได้ฝึกสอนนักเรียนในห้องเรียนจริง จึงเข้าใจว่าการสอนในห้องเรียนเป็นอย่างไร และมีอะไรที่ครูสามารถทำได้บ้าง
“ตอนที่เราเรียนในคณะมันก็เรียนภาคทฤษฎี อาจารย์เขาอาจจะยกตัวอย่าง หรือบางวิชาก็ไปสังเกตเด็กในชั้นเรียน แต่พอเป็นห้องเรียน มันเป็น 1:40 แล้วมันก็มีโต๊ะเก้าอี้ ต้องจัดกลุ่ม ประคองชั้นเรียนไป 50 นาที ทำอย่างไรที่จะทำให้บทเรียนบรรลุตามเป้าหมายได้ ซึ่งมันยากกว่า แล้วก็มันมีชีวิตในโรงเรียนด้วย เด็กไม่ได้อยู่กับเราแค่ตอนเรียน เดี๋ยวก็ต้องไปค่ายด้วยกัน ทำกิจกรรมตอนเย็นด้วยกัน โฮมรูมตอนเช้า มันทำให้ค่อนข้างเห็นภาพงานครูชัดเจนมากขึ้น”
จากการเรียนเพื่อเป็น “ครูสอนสังคมศึกษา” กับคณาจารย์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ตัวจริง ซึ่งมักจะกระตุ้นให้นิสิตเกิดการตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับการฝึกสอนในโรงเรียนสาธิต ที่ทั้งครูและนักเรียนมีอิสระในการคิด ไม่ถูกควบคุมเท่ากับโรงเรียนรัฐบาลอื่นๆ ทำให้ ผศ.อรรถพลสามารถเติบโต มีมุมมองเชิงวิพากษ์และรู้เท่าทันความเป็นไปทางการเมืองและสังคม นอกจากนี้ การเติบโตในยุคหลังพฤษภาทมิฬ และการทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ก็ทำให้ ผศ.อรรถพล มี “แว่นตา” ที่มองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้ครูผู้นี้มีเป้าหมายที่จะ “เปลี่ยนโลก” โดยมีหนังสือเกี่ยวกับการเป็นครูและการศึกษาหลายเล่มเป็นฐานคิด
ครูในอุดมคติ
หนังสือเล่มแรกที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ ผศ.อรรถพล ในการทำงานด้านการศึกษา คือวรรณกรรมเยาวชนยอดฮิตอย่าง “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” ผลงานของคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ซึ่ง ผศ.อรรถพลมองว่าเป็นหนังสือที่ให้ภาพของโรงเรียนที่ครูใส่ใจและเคารพในตัวตนของเด็กอย่างแท้จริง
“ผมอาจจะเชื่อมโยงกับครูใหญ่ในเรื่องนี้ รู้สึกว่าโจทย์อย่างโต๊ะโตะจังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะว่าเขาเป็นเด็กที่มีบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ใหญ่จะรู้สึกว่าเคารพเขาได้ เขาอาจจะมีบางอย่างที่มันเยอะมาก ถามตลอดเวลา หรือบางทีไม่อยู่ในกติกาของห้องเรียน แล้วครูใหญ่เขามีสายตาในการมองเด็กแต่ละคนและไม่ตัดสินเด็ก ไม่ปิดโอกาสเด็ก เขาพยายามทำความเข้าใจและหาจังหวะที่เหมาะสมในการเข้ามามีส่วนในการตั้งคำถาม ชวนเล่าเรื่อง หรือบางทีแค่อยู่ใกล้ๆ เด็กก็รู้สึกถึงการมีอยู่ของครูใหญ่ ซึ่งผมคิดว่านี่คือเรื่องสำคัญ” ผศ.อรรถพลกล่าว
สำหรับ ผศ.อรรถพล ครูคือเพื่อนของผู้เรียน ซึ่งแม้ว่าจะมีอายุมากกว่าก็ยังสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ผ่านการแชร์ประสบการณ์ และครูสามารถเรียนรู้จากตัวของผู้เรียนได้ด้วย
“ยิ่งสอนมานานเท่าไรก็ยิ่งพบว่า เราเรียนรู้จากผู้เรียนมากกว่า ผู้เรียนแต่ละรุ่นไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้น หัวใจก็คือมันไม่ใช่แค่เอาความรู้ในหัวของเราไปส่งให้เด็ก เราก็มีต้นทุนประมาณหนึ่ง แล้วก็มาเจอกัน เป้าหมายเทอมนี้คืออะไร มันมีอะไรบ้างที่คุณต้องทำให้ได้ เพื่อที่เวลาคุณอยู่ชั้นเรียนคุณจะอยู่ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เราก็ค่อยๆ ฝึกเขา ผ่านกระบวนการอยู่ด้วยกัน โยนโจทย์ ทำงานไปด้วยกัน”
ครูผู้เปลี่ยนแปลงห้องเรียน
หนังสือชุดต่อมาที่เป็นฐานคิดในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงห้องเรียนของ ผศ.อรรถพล ได้แก่ “ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม” โดยเปาโล แฟรเร ที่กล่าวถึงสิ่งที่ครูสามารถทำได้ในฐานะผู้ทำงานทางวัฒนธรรม นอกเหนือจากการรู้เท่าทันกลไกอำนาจในสังคม และ “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” โดยอดัม เคิล ซึ่งมีเนื้อหาตอบโต้กับผลงานของแฟรเร โดยมองว่า ครูสามารถทำงานในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนได้ทันที โดยไม่ต้องรอการเผชิญหน้า ต่อสู้กับระบบ หรือรอให้ระบบพังทลายก่อน
“สองเล่มนี้เป็นฐานคิดที่ทำให้เราเชื่อว่า เราเปลี่ยนห้องเรียนของเราคนเดียวไม่ได้ เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วย โดยการที่เชิญชวนคนทำงานทั้งหลาย ให้มาเกาะกลุ่มทำงานร่วมกัน แล้วก็สื่อสารประเด็นที่เป็นเชิงโครงสร้างแบบนี้ให้สังคมมองเห็น”
ผศ.อรรถพลยืนยันว่า ครูสามารถทำได้มากกว่าการสอน และที่จริงแล้ว “การสอนคือปฏิบัติการทางการเมือง”
“ผมเป็นครูสังคม วิชาของผมเป็นวิชาที่ ถ้าไม่เท่าทันวิชาตัวเอง เราจะเป็นเครื่องมือของรัฐโดยง่ายมาก แค่ผลิตซ้ำความรู้เดิม ค่านิยมเดิม และไม่อยู่กับปัจจุบันและอนาคตของเด็ก เช่น ถ้าเราตกร่องการสอนประวัติศาสตร์ตามขนบประเพณีแบบดั้งเดิม มันจะย้ำอดีตอยู่ตลอดเวลา มันจะไม่ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ พอเรามีแว่นตามองการศึกษาในมุมที่มันเป็นเชิงการศึกษาเชิงวิพากษ์หน่อย มันก็จะทำให้เห็นว่าห้องเรียนเราเปลี่ยนไปด้วยการแค่ส่งต่อความรู้ไปให้เด็ก โดยการตั้งคำถาม เรียนรู้ไปด้วยกันก็เปลี่ยนแล้ว แล้วมันทำให้เด็กกลายเป็นมีบทบาทเป็นคนที่ต้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วมสูงในการเรียนรู้”
นอกจากนี้ ผศ.อรรถพลยังกล่าวว่า งานครูไม่ใช่แค่การสอนซ้ำซากในห้องเรียนอีกต่อไป แต่เป็นการเตรียมคนเพื่อปัจจุบันและอนาคต ซึ่งครูสามารถเปลี่ยนสังคมได้ทุกวันผ่านการทำงานในห้องเรียน
“อยากให้สังคมเป็นแบบไหน เริ่มที่ห้องเรียนตัวเอง อยากให้สังคมนี้เคารพกัน อยากให้สังคมนี้มีพื้นที่ในการคุยกัน ก็เริ่มที่ห้องเรียนเรา อยากให้เด็กตั้งคำถามเป็น ก็เริ่มจากการฟังเด็กเยอะๆ แล้วก็ส่งเสริมให้เขาได้มีโอกาสตั้งคำถาม อยากให้เขามีความคิดเป็นของตัวเอง เป็นตัวของตัวเองได้ เราก็ต้องไม่รีบด่วนตัดสิน แล้วบอกว่าเขาคิดผิด แอคชั่นทุกอย่างของครูในห้องเรียน คือการสร้างวัฒนธรรมใหม่หมด”
อย่างไรก็ตาม ผศ.อรรถพลยอมรับว่า ความยากของภารกิจนี้คือ ครูไม่สามารถเปลี่ยนห้องเรียนของตัวเองตามลำพังเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับองค์กร ที่เต็มไปด้วยครูที่มีความเชื่อทางการศึกษาแตกต่างกัน และยังต้องใช้เวลาในการสื่อสารตัวตนและความเชื่อของครูที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปยังครูคนอื่นๆ ด้วย
ครูผู้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้
หนังสือชุดต่อมา ผศ.อรรถพลกล่าวว่า เป็นหนังสือชุดที่ตอบโจทย์สิ่งที่ตนอยากทำมาตลอด คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งโรงเรียน ซึ่งเขียนโดยกลุ่มนักวิชาการชาวญี่ปุ่น 3 คน ที่ทำงานเรื่องเรื่องโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ นำโดย มานาบุ ซาโต นักการศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเลือกทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กที่มักจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“เขาพูดถึงกระบวนการที่ครูจะเกาะกลุ่มกัน และใช้พลังกลุ่มในการทำให้ตัวเองเติบโตขึ้น เรียนรู้จากห้องเรียน คือ 3 คนนี้ อยู่ในชุดความคิดเดียวกัน คือเคารพว่าครูเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่แค่รอใครมาฝึก”
ผศ.อรรถพลกล่าวถึงข้อดีของหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ว่า หนังสือชุดนี้ไม่ใช่แค่ลอกกิจกรรมมาเพื่อให้ครูทำตาม แต่บอกหลักคิดในการทำกิจกรรม มุมมองต่อปัญหา เหตุผลที่เลือกวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่อยู่บนฐานคิดทฤษฎีทางการศึกษา
“มันกลายเป็นงานของผมช่วง 5 ปีหลัง ทำงานด้วยความเชื่อนี้ ผมจะไม่มองว่าครูไม่เก่ง เพียงแต่ความเก่งของเขา ยังค้นไม่พบต่างหาก แล้วห้องเรียนของเขาคือที่ที่เขาจะใช้ในการเรียนรู้ที่ดีที่สุด”
หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ กลายเป็นคัมภีร์ที่ ผศ.อรรถพล ใช้ในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในโรงเรียน เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยของนักการศึกษาญี่ปุ่นกลุ่มนี้ ทำงานร่วมกับโรงเรียน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนพุทธจักรวิทยากับโรงเรียนวัดหัวลำโพง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โดยให้ครูต่างวิชาจับคู่กัน เพื่อแบ่งปันไอเดียการสอน และครูทั้งคู่ต้องผลัดกันสังเกตการณ์ห้องเรียนของแต่ละคน กิจกรรมนี้ช่วยให้ครูแต่ละคนได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการสอน และได้มองเห็นตัวตนของเด็กๆ ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป รวมทั้งจัดกิจกรรมชวนคุยหลังจากการสอน ซึ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในกลุ่มครู และกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของโรงเรียนในที่สุด
“อานิสงส์มันเป็นอย่างนี้ครับ โรงเรียนนี้เล็ก เขามีแค่ 9 ห้องเรียน คุยกันอย่างนี้ทุกอาทิตย์ ครูรู้จักเด็กหมดเลย ผอ. ก็รู้จักเด็กไปด้วย เพราะว่าพูดชื่อนี้อีกแล้ว มีเด็กพิเศษเรียนร่วม เพื่อนที่ประกบเขา ตอนนี้เป็นแบบนี้ วิชานี้เป็นแบบนี้ เด็กคนนี้อยู่ ม.1 ขึ้นไป ม.2 ม.3 ก่อนเด็กจะขึ้นไปถึงห้องเรียนเขา คุณครูรู้จักเด็กคนนี้มาก่อนแล้ว พอรู้ว่าปีหน้าเด็กคนนี้จะขึ้นมา ม.4 แล้วนะ ก็จะต้องเตรียมการแล้ว เพราะว่าเขามีความช้าบางอย่างอยู่ มันเลยกลายเป็นคุณครูเขาคุยกันเรื่องเด็ก ไม่ได้คุยเรื่องปัญหาของโรงเรียน”
“คนเป็นครูทุกคนจะมีพลังบวกเมื่อคุยกันเรื่องเด็ก เมื่ออยู่กับห้องเรียนตัวเอง เมื่ออยู่กับเด็ก เพราะว่ามาเป็นครูก็เพราะอยากจะมาอยู่ตรงนี้แหละ แล้วมันปลุกความกระตือรือร้นอยากจะหาวิธีการใหม่ๆ มาใช้” ผศ.อรรถพลเล่า พร้อมเสริมว่า การที่ครูได้ทำความรู้จักเด็กเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง ทำให้สามารถติดตามดูแลในกรณีที่เด็กประสบปัญหาหรือกำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะโรงเรียนคุยกันเรื่องเด็กจริงๆ
ครูผู้เปลี่ยนแปลงระบบ
แม้ว่าหน้าที่ของ ผศ.อรรถพล คือการสอนวิชาสังคมศึกษา แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การทำงานของเขาทำให้เขาได้เห็นปัญหาเชิงระบบของระบบการศึกษามากขึ้น ดังนั้น หนังสืออย่าง “Teacher Education around the World”, “Global Education Reform” และ “Global Education Inc.” จึงกลายเป็นแหล่งข้อมูลและกรณีศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาทั่วโลก และแนวทางในการแก้ปัญหา ที่ ผศ.อรรถพลเลือกหยิบมาอ่าน
ปัญหาหนึ่งที่ ผศ.อรรถพลพบทั้งในระบบการศึกษาไทยและอเมริกัน คือปัญหาที่เรียกว่า “School Market” คือการปล่อยให้โรงเรียนต่างๆ แข่งขันกัน เอาชื่อเสียงและคุณภาพมาแย่งเด็ก ซึ่งเป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ทางการศึกษา และทำให้การออกนโยบายการศึกษาไทยซ้ำรอยกับระบบอเมริกัน เช่น ระบบค่ารายหัวเด็ก ที่โรงเรียนไหนได้เด็กเยอะ ก็จะได้รับเงินสนับสนุนเยอะ ทำให้โรงเรียนใหญ่ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่โรงเรียนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็จะเล็กลงเรื่อยๆ เช่นกัน
“ผมคิดว่ามองอเมริกาแล้วเห็นปัญหาโรงเรียนไทยชัดมากเลย โจทย์เดียวกันเลย หนึ่ง โรงเรียนหนึ่งมีหลายหลักสูตร สามารถเข้าโครงการโน้น โปรแกรมนี้ได้ ต้องจ่ายเพิ่มเอง ซึ่งเราก็นำความคิดพวกนี้มาใช้เยอะมาก”
เพราะฉะนั้น ในการทำงานช่วงหลายปีหลัง หนังสือชุดนี้จึงเหมือนเป็น “แสงนำทาง” ของ ผศ.อรรถพล ในการมองสังคมไทยและการศึกษาไทย ซึ่งหลายปัญหาไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยถกเถียงกันด้วยซ้ำ
“อย่างผมอยู่ครุศาสตร์ คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ก็ไม่ได้ยึดโยงกับโรงเรียน นอกจากส่งเด็กฝึกสอน อย่างโควิด-19 เห็นชัดเจนเลย ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างรับสถานการณ์ฉุกเฉินไปด้วยกัน โดยที่ไม่ได้สนับสนุนกัน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยเปิดมุมมองเราว่าประเทศอื่นเขาทำกันอย่างไรบ้าง”
ครูเปลี่ยนโลก
หนังสือเล่มสุดท้ายที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของ ผศ.อรรถพล คือ “Teaching to Change the World” หรือการสอนเปลี่ยนโลก ซึ่งรวมหัวข้อเกี่ยวกับการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม ผ่านการสอนของครู เช่น การใช้ห้องเรียนในการสร้างความเชื่อเรื่องการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย การสร้างห้องเรียนที่ทำให้เด็กสามารถเชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบ รวมทั้งการสร้างความรู้ข้ามวิชา
“อันนี้เป็นเล่มที่กำลังอ่านแล้วชอบมากๆ เพราะว่า สอนเปลี่ยนโลก ตั้งแต่ในห้องเรียนตัวเอง ในโรงเรียนตัวเอง แล้วก็เหนืออื่นใดคือตัวเองสอนตัวเอง ว่าเราจะหาวิธีการอย่างไรที่ทำให้สังคมเรามันดีขึ้นได้ ผ่านคนรอบตัวเรา โรงเรียนของเรา เพื่อนต่างโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันให้มาแลกเปลี่ยนกัน”
“มันพูดถึงประชาธิปไตย ความหลากหลาย ความเป็นธรรมในโรงเรียน เรื่องแนวปฏิบัติ ทำอย่างไรจะทำให้เด็กเห็นตัวเองเติบโตขึ้น เป็นคนที่ดีขึ้นได้ ผ่านกระบวนการประเมินผลแนวใหม่ที่มันไม่ได้ตัดสินเด็ก แล้วก็เรื่องสำคัญคือการเปลี่ยนวัฒนธรรมในโรงเรียนจะทำอย่างไร วัฒนธรรมโรงเรียนเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือคุณครูเขาจะมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น” ผศ.อรรถพลสรุป
อัลบั้มภาพ 36 ภาพ